สทนช.สั่งผุดแผน เผชิญภาวะวิกฤติ คุมเข้มเขื่อนใหญ่


เพิ่มเพื่อน    

    สทนช.สั่งทุกหน่วยทำแผนเผชิญภาวะวิกฤติ คุมเข้มเขื่อนใหญ่ที่ระดับน้ำเกินเกณฑ์ "วชิราลงกรณ-ศรีนครินทร์" ระบายเพิ่ม 5-10 ล้าน ลบ.ม. พร้อมบริหารจัดการน้ำภาคอีสานทั้งระบบแก้ท่วม-แล้งซ้ำซาก เล็งใช้ "ถ้ำหลวงโมเดล" จ่ายเยียวยาเกษตรกรพื้นที่รับน้ำ
    ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ ชั้น 3 กรมชลประทาน สามเสน เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำว่า ที่ประชุมได้สั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบคาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 35 แห่ง และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีความจุมากกว่า 50 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยจะต้องคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้า ปริมาณน้ำไหลล้นทางระบายน้ำล้น พร้อมให้เสนอแผนเผชิญภาวะวิกฤติ แผนระบายน้ำ ตลอดจนแผนที่แสดงผลกระทบจากการระบายน้ำกรณีระบายน้ำปริมาณต่างๆ รวมทั้งให้บริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำที่มีความจุเกิน 80% และมีระดับน้ำสูงกว่าเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำ โดยให้หน่วยงานที่รับผิดชอบส่งเกณฑ์การควบคุมระดับน้ำอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางให้ สทนช. เพื่อใช้สำหรับติดตามกำกับต่อไป
    นอกจากนี้ ได้ให้ทุกหน่วยงานตรวจสอบระบบควบคุม อาคารบังคับน้ำต่างๆ ให้อยู่ในสภาพดี ใช้การได้ หากพบว่าชำรุด ต้องเร่งซ่อมแซมโดยด่วน รวมทั้งให้จัดทำคู่มือในการตรวจสอบความมั่นคงของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อให้หน่วยงานท้องถิ่นใช้เป็นคู่มือมาตรฐานในการตรวจสอบ การบำรุงรักษา และให้กรมทรัพยากรน้ำเชื่อมโยงระบบเตือนภัยล่วงหน้าสำหรับพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย-ดินถล่ม
    "ระหว่างวันที่ 30 ส.ค.ถึง 1 ก.ย. ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยจนเกิดฝนตกหนักและตกซ้ำที่เดิม โดยเฉพาะพื้นที่ภาคอีสานตอนบน บริเวณนครพนม หนองคาย มุกดาหาร สกลนคร ภาคเหนือ บริเวณน่าน พะเยา เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังทำให้เกิดฝน จึงต้องเฝ้าระวังและคุมเข้มการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ตั้งแต่เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี, เขื่อนแก่งกระจาน จ.เพชรบุรี, เขื่อนปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่มีปริมาณน้ำระดับน้ำเกินเกณฑ์ควบคุม และปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80 ของความจุอ่าง ด้วยการเร่งระบายและพร่องน้ำต่อเนื่อง" นายสมเกียรติ ระบุ
    ทั้งนี้ จากการคาดการณ์ของปริมาณน้ำฝนช่วง 2-3 วัน จากอิทธิพลหย่อมความกดอากาศต่ำในภาคเหนือ อาจเกิดน้ำท่วมฉับพลันและดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ ขณะเดียวกันจะปรับแผนการระบายน้ำใหม่ใน 2 เขื่อนหลักที่มีน้ำสูงกว่าร้อยละ 90 และฝนตกต่อเนื่องเติมน้ำลงอ่าง เพราะช่วงกลางเดือน ก.ย.จะมีฝนมากขึ้น คือ เขื่อนวชิราลงกรณ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 93 ระบายน้ำออกวันละ 53 ล้าน ลบ.ม. จนถึงวันที่ 3 ก.ย. จากนั้น จะปรับการระบายเพิ่มอีกวันละ 5-10 ล้าน ลบ.ม. เป็นวันละ 58-63 ล้าน ลบ.ม. ส่วนเขื่อนศรีนครินทร์ มีปริมาณน้ำอยู่ร้อยละ 90 ระบายน้ำออกวันละ 25 ล้าน ลบ.ม. จากนั้นจะปรับการระบายเพิ่มอีกวันละ 5 ล้าน ลบ.ม. โดยไม่กระทบพื้นที่ท้ายน้ำบริเวณแควใหญ่และแม่กลอง 
    อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แม้อ่างเก็บน้ำหลายแห่งจะมีปริมาณน้ำค่อนข้างมาก แต่ก็มีอ่างเก็บน้ำจำนวนไม่น้อยที่มีปริมาณค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมความพร้อมและมาตรการรับมือสถานการณ์น้ำน้อยด้วย โดยให้เตรียมการจัดทำแผนการส่งน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง หากพบว่ามีพื้นที่ที่จะเกิดภัยแล้งหรือฝนทิ้งช่วง ให้ดำเนินการช่วยเหลือโดยเร่งด่วน เช่น การทำฝนเทียม 
    ที่โรงแรมโฆษะ อ.เมืองฯ จ.ขอนแก่น นายปรีชา  สุขกล่ำ รักษาการที่ปรึกษาด้านบริหารจัดการน้ำ สทนช. เป็นประธานในการประชุมติดตามและประเมินผลการบริหารจัดการน้ำกลุ่มลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) โดยมุ่งหวังให้ได้ข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางปรับปรุงการบูรณาการทำงานของหน่วยงานด้านน้ำของประเทศ ซึ่งมีอยู่กว่า 30 หน่วยงาน เพื่อให้สามารถแก้ไขวิกฤตการณ์น้ำด้านต่างๆ ได้ตรงกับสภาพปัญหาและบริบทของพื้นที่
    นายบุญสม ชลพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารจัดการน้ำ สทนช. กล่าวว่า สถานการณ์น้ำที่เกิดขึ้นในภาคอีสานขณะนี้เกิดจากอิทธิพลของพายุที่พาดผ่านเข้ามาในพื้นที่ต่อเนื่องกัน 2 ลูก ดังนั้นพื้นที่จังหวัดที่กำลังประสบกับสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ในขณะนี้ ทุกหน่วยงานกำลังเร่งบริหารจัดการน้ำและผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขง และเมื่อกลับเข้าสู่สภาพเดิม จะต้องมีการวางแผนการเพาะปลูกและการทำการเกษตรให้กับพื้นที่ที่ประสบภัยทันที โดยในเดือน ก.ย.นี้ มีการคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนนั้นจะตกลงมา แต่ไม่มากนัก การบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือกับภาวะภัยแล้งจากนี้ไปนั้นสำคัญ 
    "วันนี้เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น ซึ่งรับผิดชอบกลุ่มจังหวัดภาคอีสานตอนกลาง มีปริมาณน้ำเก็บกักเพียงร้อยละ 28 ของความจุอ่าง มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้งานได้เพียง 100 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นการเติมน้ำจึงมีความจำเป็นอย่างมากในการมีน้ำหมุนเวียนไว้ใช้งานตลอดทั้งช่วงฤดูแล้ง ขณะที่เขื่อนลำปาว จ.กาฬสินธุ์ จากแผนการบริหารจัดการน้ำด้วยการเก็บกักน้ำไว้ใช้ตลอดทั้งปี น้ำในเขื่อนลำปาวจะต้องมีความจุอยู่ที่ 1,600 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งขณะนี้มีอยู่ที่ 1,200 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นการบริหารจัดการน้ำในระยะนี้จะต้องสัมพันธ์กันในภาพรวมทั้งหมด” นายบุญสมระบุ
    ขณะที่นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวทางบริหารจัดการน้ำจากนี้ น้ำที่เข้าเอ่อท่วมที่ไหน เกิดจาก 2 สาเหตุ คือจากภัยธรรมชาติ และเกิดจากบริหารจัดการน้ำ จะต้องมีแผนล่วงหน้า เพราะต้องการเบี่ยงน้ำไปพักในพื้นที่เกษตร เพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ โดยจะใช้ถ้ำหลวงโมเดลมาเป็นต้นแบบ เบี่ยงน้ำเข้าที่พื้นที่เกษตรกรรับน้ำเพื่อช่วยเยาวชนนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 คนออกมา ซึ่งพื้นที่ของเกษตรกรที่เสียสละรับน้ำต้องมีมาตรการช่วยเหลือพิเศษ มากกว่าที่กระทรวงการคลังกำหนดเกณฑ์ภัยพิบัติในปัจจุบัน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังหาแนวทางช่วยในเรื่องค่าเสียโอกาสของเกษตรกรที่ผลผลิตเสียหาย ซึ่งถ้าพื้นที่เศรษฐกิจท่วม ความเสียหายจะมีมูลค่ามหาศาลและฟื้นฟูยาก
    ที่ จ.ชัยนาท นายสุรชาติ มาลาศรี ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 12 ทำหนังสือแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำลุ่มเจ้าพระยา ฉบับที่ 3 ไปยังผู้ว่าราชการ 7 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ได้แก่ ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา และลพบุรี ให้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ และประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริษัท ห้างร้านที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ งานก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง แพร้านอาหาร และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากปริมาณน้ำเจ้าพระยาที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ที่สถานีวัดน้ำ C2 เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับมีปริมาณฝนตกกระจายตัวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 
    ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ไหลผ่านจังหวัดมุกดาหาร วัดที่ศูนย์อุทกวิทยาที่ 3 มุกดาหาร ล่าสุดอยู่ที่ 12.87 เมตร ระดับวิกฤติ 12.50 เมตร สูงกว่าระดับวิกฤติ 37 เซนติเมตร โดยเพิ่มสูงขึ้นจากเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 3 เซนติเมตร ทั้งนี้ น.ท.อมรศักดิ์ ชนะศึก หัวหน้าสถานีเรือมุกดาหาร ได้นำกำลังพลพร้อมเรือออกลาดตระเวนบริเวณที่ถูกน้ำโขงเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร ที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง และบริเวณปากลำห้วยมุก ซึ่งเป็นลำห้วยสาขาที่ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชน
    ที่ จ.อ่างทอง นายวีร์รวุทธ์ ปุตระเศรณี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง ได้ประกาศเตือนเตรียมความพร้อมรับมือน้ำเหนือ โดยได้ลอกคลองที่เป็นทางระบายน้ำตามจุดต่างๆ ในพื้นที่เศรษฐกิจ และนำเสาเข็มเสริมแนวเขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะจุดที่เปราะบางอย่าง อ.ป่าโมก ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำแอ่งกระทะ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"