'ชำนาญ' เผยคำวินิจฉัยส่วนตนคดีสลายพธม. 'สมชาย-ชัย' ควรรับผิดชอบ


เพิ่มเพื่อน    

31 ส.ค.61 - นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ ประธานแผนกคดีล้มละลายในศาลฎีกาและกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ (ก.ต) ในศาลฎีกา ในฐานะองค์คณะผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์ ได้เผยแพร่เอกสารคำวินิจฉัยส่วนตนชั้นอุทธรณ์ ในคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2551 ที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นโจทก์ฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) (น้องชาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง) และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) เป็นจำเลยที่ 1-4 ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 และต่อมาในชั้นอุทธรณ์ของศาลฎีกาฯ พิพากษายืนยกฟ้องจำเลยที่ 4 ที่ ป.ป.ช.ได้ยื่นอุทธรณ์เข้ามาเพียงคนเดียว

โดยนายชำนาญมีคำวินิจฉัยส่วนหนึ่งสรุปได้ว่า โจทก์อุทธรณ์ข้อกฎหมายว่า การแถลงนโยบายต่อรัฐสภานั้นสามารถดำเนินการเลื่อนวันประชุมรัฐสภาหรือเปลี่ยนสถานที่ประชุมเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนผู้ชุมนุมได้ จึงเห็นควรวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายก่อนว่า จำเลยที่ 1 ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา อาจเลื่อนการแถลงนโยบายหรือเปลี่ยนสถานที่ประชุมได้หรือไม่ แม้โจทก์จะไม่ได้อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ทั้งไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษนายชัยมาด้วย แต่มีความจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัย เพราะนอกจากจะต้องวินิจฉัยถึงการกระทำความผิดแล้ว ยังต้องคำนึงถึงการแก้ไขปัญหาเพื่อป้องกันความสูญเสียแก่ประเทศชาติและประชาชนที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต

จำเลยที่ 1 ให้การว่าการแถลงนโยบายเป็นหน้าที่เพื่อประเทศจะได้มีคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินตามรัฐธรรมนูญ แต่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้การว่าได้ขอให้มีการเลื่อนหรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีไป จำเลยที่ 4 แก้อุทธรณ์ว่าการเลื่อนหรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายของจำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรีต่อรัฐสภาไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 4 และบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 176 เป็นเงื่อนไขข้ออ้างสำคัญของฝ่ายการเมืองว่าไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือเลื่อนกำหนดการแถลงนโยบายเกินกว่า 15 วันนับแต่วันเข้ารับหน้าที่ได้

เห็นว่าตามมาตรา 176 ไม่มีบทกฎหมายใดกำหนดว่าการไม่แถลงนโยบายตามบทบัญญัติดังกล่าวเป็นความผิด ทั้งไม่ใช่เหตุตามกฎหมายที่จะมีผลให้จำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง แม้จะกำหนดให้เป็นหน้าที่ต้องแถลงนโยบาย ก็มีผลบังคับเพียงให้ต้องดำเนินการแถลงนโยบายโดยชี้แจงต่อรัฐสภาให้ชัดแจ้งว่าจะดำเนินการใด ในระยะเวลาใด เพื่อบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ แต่มิได้บังคับว่าต้องทำภายในกำหนดเวลาที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยไม่อาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ เพราะแม้ยังไม่ได้แถลงนโยบาย จำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรีก็ยังมีอำนาจบริหารราชการแผ่นดินกรณีที่สำคัญและจำเป็นเร่งด่วนไปพลางก่อนเพียงเท่าที่จำเป็นได้

“ทั้งอาจมีเหตุสุดวิสัยเช่นเดียวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามคำฟ้องในคดีนี้ที่อาจทำให้ไม่สามารถแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายในกำหนดเวลาตามกฎหมายได้ การยืนยันหรือฝืนสถานการณ์ที่เล็งเห็นได้ว่าอาจเกิดความสูญเสียแก่ชีวิตร่างกายของประชาชนไม่แต่เฉพาะผู้มาชุมนุม แต่ยังรวมไปถึงเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องที่จำเป็นต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนในสถานการณ์เผชิญหน้าเช่นนั้น จึงไม่ควรได้รับการรับรองว่าถูกต้อง แม้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 176 บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีที่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา แต่การจะแถลงนโยบาย ณ สถานที่ใด กำหนดเวลาใดนั้นย่อมอาจขยายหรือย่นระยะเวลาได้ตามความจำเป็นโดยต้องคำนึงถึงความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง” นายชำนาญ ระบุตอนหนึ่ง

การเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้องช่วงค่ำวันที่ 6 ต.ค. 2551 ไม่มีเหตุที่จำเลยที่ 1 จะเชื่อว่าการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาจะเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย จำเลยที่ 1 และคณะรัฐมนตรี รวมทั้งนายชัย ประธานรัฐสภา ซึ่งอาสาเข้ามาบริหารประเทศมิได้ตระหนักถึงหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของบ้านเมือง และความปลอดภัยในชีวิตของประชาชน การไม่หลีกเลี่ยงภยันตรายที่เล็งเห็นได้ว่าจะต้องขึ้นด้วยการไม่เลื่อนหรือย้ายสถานที่ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา เป็นเหตุให้มีการเผชิญหน้า ปะทะกัน เกิดความสูญเสียต่อชีวิต ทรัพย์สิน งบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งเกิดความเกลียดชังกันระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

จึงเป็นความรับผิดชอบโดยตรงของฝ่ายการเมืองคือจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี และนายชัย ซึ่งเป็นประธานรัฐสภาในขณะนั้น แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ โดยขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 มาด้วย จึงไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามที่โจทก์ฟ้องได้ และการไม่หลีกเลี่ยงภยันตรายที่เล็งเห็นได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นด้วยการไม่เลื่อนหรือย้ายสถานที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 3 ซึ่งดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. และจำเลยที่ 4 ผบช.น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"