สธ.สอบสาวดับ4 ติด'เอดส์'ร้านสัก


เพิ่มเพื่อน    

    หมอชี้จำเป็นต้องตรวจพิสูจน์สาว 4 คนไปสักที่ร้านเดียวกันแล้วติดเชื้อเอชไอวีเสียชีวิตหมดภายใน 5 เดือน ระบุเชื้อเอชไอวีมีระยะฟักตัวนานจนถึงปรากฏอาการนานเป็นปี แต่เตือน การสักลาย สักคิ้ว มีโอกาสติดเชื้อสูงหากใช้เข็มเก่า โดยเฉพาะตามร้านตลาดนัดกลางคืน อย่าได้เสี่ยงเป็นอันขาด เพราะเท่าที่พบเป็นร้านเถื่อน สธ.ส่งเจ้าหน้าที่ค้นหาความจริง
    เมื่อวันที่ 2 กันยายนนี้ นพ.เมธิพจน์ ชาตะเมธีกุล ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงกรณี น.ส.ขวัญ อายุ 22 ปี พร้อมเพื่อนสาวรวม 4 คน เสียชีวิตจากการติดเชื้อไวรัสในกระแสเลือด (เอชไอวี) ในเวลา 1 เดือนต่อมา ภายหลังไปสักลายที่ร้านแห่งหนึ่งในตลาดนัดคลองหลอด สายใต้ใหม่ กรุงเทพมหานคร ว่า กรณีดังกล่าวต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดก่อนว่าผู้เสียชีวิตทั้งหมดเสียชีวิตจากการติดเชื้อเพราะใช้เข็มสักลายหรือไม่ หรือการติดเชื้อเอชไอวีเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์มาก่อนแล้ว 
    "แน่นอน โอกาสติดเชื้อเอชไอวีจากการใช้เข็มซ้ำกับคนอื่นย่อมมีโอกาสเสี่ยงสูง และอาจเสี่ยงติดเชื้อทางกระแสเลือดได้อีกหลายโรค อาทิ โรคไวรัสตับอักเสบบีและซี เชื้อรา เป็นต้น"
    นพ.เมธิพจน์กล่าวว่า ที่ข่าวระบุว่าผู้ตายเสียชีวิตจากการติดเชื้อเอชไอวีใน 1 เดือนนั้น มีโอกาสเป็นไปได้ค่อนข้างยาก เพราะระยะ 1 เดือนเป็นระยะที่เชื้อเริ่มฟักตัวจนถึง 6 เดือน จากนั้นนับตั้งแต่เวลาเริ่มรับเชื้อเข้ามาในร่างกายจนเริ่มปรากฏอาการประมาณ 3-5 ปี หรือนานกว่านั้น โดยอาการระยะแรกๆ ของโรคคล้ายกับป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่และอ่อนเพลีย ส่วนกรณีดังกล่าวผู้เสียชีวิตอาจติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ ไม่มีทางที่จะเสียชีวิตจากเอชไอวีภายใน 1 เดือน
    เบื้องต้นตั้งข้อสังเกตว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้เสียชีวิตจะมีเม็ดเลือดขาวซีดีโฟร์ ระบบภูมิคุ้มกันต่ำมาก และมีอาการอื่นแทรกซ้อน แต่หากเกิดขึ้นพร้อมกันทั้ง 4 ราย ก็ยังมองว่าเป็นไปได้ยากอีก ดังนั้น หากแพทย์สามารถเจาะเลือดและบ่งบอกความรุนแรงของโรคได้ อาจทราบว่าผู้เสียชีวิตติดโรคมาก่อนมีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ ซึ่งกรณีเช่นนี้ในพื้นที่กรุงเทพฯ ยังไม่พบมาก่อน
    นพ.เมธิพจน์กล่าวว่า ร้านสักลายเป็นการประกอบกิจการสักผิวหนัง หรือเจาะส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกาย ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2558 ผู้เปิดร้านหรือกิจการจะต้องยื่นขอใบอุญาตประกอบกิจการต่อกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย สธ.จะเป็นผู้ตรวจสอบมาตรฐานและดูแลกิจการดังกล่าว ซึ่งพบว่าร้านสักลายที่เปิดตามตลาดนัดกลางคืน มักเป็นร้านสักเถื่อน ลักลอบเปิดกิจการ โดยหากเจ้าหน้าที่ตรวจสอบไม่พบใบอนุญาตสามารถดำเนินการตามกฎหมายได้ทันที นอกจากนี้ การติดเชื้อเอชไอวีไม่เพียงสามารถติดต่อจากเข็มสักลาย แต่ปัจจุบันซึ่งนิยมสักคิ้วสามมิติหรือหกมิติ เพนต์คิ้วโดยใช้เข็มนั้น มีความเสี่ยงติดเชื้อได้เช่นเดียวกัน 
    “สำหรับผู้อยากสักลาย สักคิ้วที่ต้องใช้เข็ม ขอให้เลือกร้านที่มีใบอนุญาตถูกต้อง เพราะทาง สธ.จะมีการตรวจสอบมาตรฐาน โดยจะต้องผ่านการตรวจสอบระบบฆ่าเชื้อ มีความสะอาดตามเกณฑ์กำหนด ไม่แนะนำให้ไปสักตามร้านเถื่อน เช่น ร้านที่ลักลอบเปิดตามบ้าน ตรอกซอย เป็นต้น ครอบคลุมร้านสักคิ้ว หากมั่นใจที่จะสักแล้วต้องให้ผู้ที่จะทำการสักนั้นเปิดโชว์เข็มจากบรรจุภัณฑ์ที่เปิดใหม่ให้เห็น โดยต้องแกะโชว์ให้เห็นชัดเจน ไม่ใช่ใช้เข็มเก่า แม้การเปิดเข็มสักใหม่จะมีรายจ่ายสูงกว่า แต่คุ้มค่ามากกว่าการเสี่ยงใช้เข็มซ้ำกับผู้อื่นแน่นอน” นพ.เมธิพจน์ระบุ
    กรณีหญิงสาวไปสักลายแล้วเสียชีวิตด้วยเชื้อเอชไอวี ญาติสงสัยว่าอาจติดเชื้อมาจากเข็มสักนั้น ผู้เสียชีวิตเป็นชาวจังหวัดเลย โดยนายเดชา พ่อของผู้ตาย เปิดเผยว่า ลูกสาวไปอยู่กับน้าที่จังหวัดปทุมธานี ได้โทร.มาบอกตนเมื่อเดือนพฤษภาคมว่าปวดท้องมาก ไปหาหมอที่โรงพยาบาลลำลูกกา หมอบอกว่าติดเชื้อไวรัสในกระแสเลือดและให้ยามากิน หลังจากนั้นก็ปวดท้องเรื่อยมา และลูกเล่าให้ฟังว่า เมื่อปลายเดือนมีนาคมได้ไปสักลายแฟชั่นพร้อมกับเพื่อนรวม 4 คน ที่ตลาดนัดคลองหลอด กทม. จากนั้นก็มีอาการปวดเนื้อปวดตัว ปวดในช่องท้องบ่อย กระทั่งเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ลูกไปหาป้าที่เชียงใหม่และมีอาการหนักขึ้น ป้าพาเข้า รพ.นครพิงค์ หมอบอกว่าติดเชื้อเอชไอวีระยะที่ 3 กระทั่งเสียชีวิตเมื่อวันที่ 31 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากนั้นก็ได้ข่าวว่าเพื่อนอีก 3 คนก็เสียชีวิตทั้งหมด
    นางอุภัยพร มหานิน นักพัฒนาสังคมชำนาญการพิเศษ เปิดเผยว่า หลังทราบข่าวตนได้รีบเข้าพบผู้ปกครองของ น.ส.ขวัญฤดี เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น โดยจากนี้จะมีขั้นตอนการสอบข้อมูลทั้งผู้เสียชีวิตและผู้ปกครอง เพื่อที่จะนำข้อมูลเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ หลังจากนั้นก็จะพิจารณามอบเงินช่วยเหลือต่อไป
    ด้านนายเดชาได้นำใบรับรองแพทย์ รพ.นครพิงค์มาแสดง ซึ่งระบุว่า น.ส.ขวัญฤดีติดเชื้อเอชไอวีขั้นที่ 3 พร้อมกับนำหนังสือรับรองการตายที่ รพ.เลยออกให้มาแสดงด้วย ระบุว่าโรคที่เป็นสาเหตุการตาย ระยะเริ่มต้นตั้งแต่เป็นโรคจนกระทั่งเสียชีวิตมีด้วยกัน 3 โรค 
    พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผอ.สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า การสักตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งหมดมีความเสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี รวมถึงเชื้อโรคติดต่ออื่นๆ หากอุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ไม่สะอาด ส่วนกรณีมีข่าวหญิงเสียชีวิตเพราะติดเชื้อเอชไอวี ยังตอบไม่ได้ว่าติดเชื้อจากสักหรือไม่ ต้องรอให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน
    มีรายงานว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณี น.ส.ขวัญฤดีเสียชีวิต และให้ค้นหาผู้เสียชีวิตอีก 3 คน ตามที่ญาติของ น.ส.ขวัญฤดีระบุว่าทั้งหมดเสียชีวิตจากเชื้อเอชไอวี หลังไปสักที่ร้านเดียวกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"