ห่วงชาวบ้านท้ายเขื่อน 'ประยุทธ์'บี้ผู้ว่าฯรับมือ


เพิ่มเพื่อน    

    สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานอาหารและสิ่งของแก่ผู้ประสบอุทกภัยใน จ.นครพนม  "นายกฯ" ห่วง ปชช.พื้นที่รับน้ำท้ายเขื่อน สั่งผู้ว่าฯจังหวัดเสี่ยงเตรียมพร้อมรับมือ "ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ" เตือนทั่ว ปท.เผชิญฝนตกหนักตลอดสัปดาห์ "กรมชลประทาน" แจ้ง 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาคุยเกษตรกรงดทำนาปีต่อเนื่อง เสียสละเปิดพื้นที่รับน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วม 
    เมื่อวันที่ 2 ก.ย. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้นายศุภชัย ภู่งาม องคมนตรี ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เชิญสิ่งของพระราชทานมอบแก่ประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอท่าอุเทนและอำเภอบ้านแพง จ.นครพนม  จำนวนรวมทั้งสิ้น 600 ชุด พร้อมกับพระราชทานอาหาร แก่ผู้มารับสิ่งของพระราชทานในครั้งนี้ทุกคน ซึ่งนำมาซึ่งความปลาบปลื้มและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวจังหวัดนครพนม และนับเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจอย่างสูงสุดให้กับประชาชนชาวจังหวัดนครพนมเป็นล้นพ้น
    ทั้งนี้ ปัจจุบัน จ.นครพนม ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอบ้านแพง, ศรีสงคราม, นาทม, นาหว้า, ท่าอุเทน, อำเภอเมืองนครพนม และธาตุพนม 
   พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ห่วงใยสถานการณ์น้ำในหลายพื้นที่ หลังฝนตกต่อเนื่อง ทำให้ปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งเพิ่มขึ้น ทางการต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนเป็นการด่วน เพื่อเตรียมรองรับน้ำที่จะไหลเข้ามาสมทบอีก 
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวว่า นายกฯ ติดตามข้อมูลสถานการณ์ฝนและปริมาณน้ำทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยเขื่อนวชิราลงกรณจะระบายน้ำเพิ่มขึ้นในช่วง 4-7 ก.ย.61 และเขื่อนศรีนครินทร์ จะระบายน้ำเพิ่มขึ้นในช่วง 7-13 ก.ย.61 ซึ่งจะส่งผลให้พื้นที่รับน้ำท้ายเขื่อนตามแนวริมลำน้ำและพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม น้ำล้นตลิ่ง หรือน้ำไหลหลากได้ 
    "นายกฯ ได้สั่งการไปยังจังหวัดเสี่ยงภัยคือ จ. กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม สมุทรสงคราม ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา เตรียมการป้องกันความเสียหายและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ทั้งการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง เช่น จ.นครพนม อาจได้รับผลกระทบจากระดับน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอีก จึงขอแจ้งเตือนให้ประชาชนในทุกพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำ โดยขนย้ายสิ่งของ เครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ และสัตว์เลี้ยงขึ้นที่สูง หรือสถานที่เหมาะสม" พล.ท.สรรเสริญกล่าว 
ทั่ว ปท.รับมือฝนหนัก
    โฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมใน 8 จังหวัด ได้แก่ จ.นครพนม บึงกาฬ สกลนคร เพชรบุรี นครนายก ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ และอุบลราชธานี โดยหน่วยงานภาครัฐได้ผนึกกำลังเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมทั้งแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว 
    ด้านนายสำเริง แสงภู่วงค์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤติ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงสำคัญว่า วันนี้ยังคงมีฝนตกหนักบางพื้นที่ โดยมีพื้นที่เสี่ยงภัยฝนตกหนักถึงหนักมาก 16 จังหวัด แบ่งเป็น ภาคเหนือ จ.เชียงราย พะเยา น่าน แม่ฮ่องสอน ตาก, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.หนองคาย บึงกาฬ นครพนม, ภาคตะวันตก จ.กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์, ภาคตะวันออก นครนายก ปราจีนบุรี จันทบุรี ตราด  
    "ตลอด 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีฝนตกปานกลางถึงหนักในภาคเหนือ จ.แพร่ 46.2 มม. ภาคกลาง จ.กรุงเทพมหานคร 50.5 มม. และภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี 44.5 มม. ยะลา 41.4 มม. นครศรีธรรมราช 35.5 มม. โดยในช่วงวันที่ 3-7 ก.ย.61 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้" นายสำเริงกล่าว
    ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันอัตราการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 820 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายเขื่อนจะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 30-50 ซม. ซึ่งศูนย์เฉพาะกิจฯ ได้ประสานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พิจารณาปรับแผนลดการระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ เพื่อป้องกันผลกระทบพื้นที่ท้ายน้ำให้เกิดน้อยที่สุด รวมไปถึงแจ้งจังหวัดและราษฎรให้ทราบแผนการระบายน้ำล่วงหน้า โดยพบขณะนี้น้ำสูงกว่าตลิ่งที่ อ.พยุหคีรี จ.นครสวรรค์ 
    "กรมชลประทานได้มีหนังสือแจ้งจังหวัดเพื่อสร้างการรับรู้ให้แก่พื้นที่ 22 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อขอความร่วมมือชาวนาไม่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหลังการเก็บเกี่ยวข้าวนาปีแล้ว เนื่องจากเป็นช่วงฤดูน้ำหลาก ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงแนวโน้มน้ำสูงขึ้น โดยมีน้ำสูงกว่าตลิ่งที่ จ.หนองคาย จ.นครพนม จ.มุกดาหาร และ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และต้องเฝ้าระวังบริเวณ จ.บึงกาฬต่อเนื่อง" ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯกล่าว
    นายสำเริงกล่าวว่า ศูนย์เฉพาะกิจฯ ยังเฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ มีปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มี 53,545 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 75 ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางมี 3,143 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 61 รับน้ำได้อีก 19,420 ล้าน ลบ. ม. อ่างฯ ที่ความจุเกิน 100% ขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนน้ำอูน 108% ลดลง 1%, เขื่อนแก่งกระจาน 107% ลดลง 1% และขนาดกลาง 22 แห่ง ลดลง 11 แห่ง ซึ่งอยู่ในภาคเหนือ 2 แห่ง  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 แห่ง ภาคกลาง 1 แห่ง และภาคตะวันออก 3 แห่ง  
    ผอ.ศูนย์เฉพาะกิจฯ กล่าวว่า ส่วนอ่างเฝ้าระวังที่ความจุ 80-100% เป็นอ่างฯ ขนาดใหญ่ 5 แห่ง เขื่อนวชิราลงกรณ 94%, เขื่อนศรีนครินทร์ 91%, เขื่อนรัชชประภา 86%, เขื่อนขุนด่านปราการชล 86%, เขื่อนปราณบุรี 79% ขนาดกลาง 64 แห่ง เพิ่มขึ้น 9 แห่ง แยกเป็น ภาคเหนือ 8 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 36 แห่ง, ภาคตะวันออก 12 แห่ง, ภาคกลาง 4 แห่ง และภาคใต้ 4 แห่ง สำหรับอ่างเฝ้าติดตามที่ความจุน้อยกว่า 30% เป็นขนาดใหญ่ 2 แห่ง ได้แก่ เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนทับเสลา ขนาดกลาง 38 แห่ง ได้แก่ ภาคเหนือ 2 แห่ง,    ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 26 แห่ง, ภาคตะวันออก 4 แห่ง, ภาคกลาง 1 แห่ง, ภาคใต้ 5 แห่ง ต้องวางแผนเก็บกักน้ำและเติมน้ำโดยประสานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรในการปฏิบัติการฝนหลวงต่อเนื่อง
แจ้ง 22 จว.งดทำนาปี
    ขณะที่นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวถึงการทำหนังสือขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัด 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา ให้ทำความเข้าใจกับเกษตกรในพื้นที่ลุ่มต่ำตามโครงการปรับเปลี่ยนปฏิทินการปลูกข้าวให้งดทำนาปีต่อเนื่องว่า จากการสำรวจล่าสุดพื้นที่ปลูกข้าวใน 22 จังหวัดลุ่มเจ้าพระยา มี 7.060 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 2.920 ล้านไร่ คาดว่าจะเก็บเกี่ยวเสร็จกลางเดือนนี้ ซึ่งกรมชลประทานขอความร่วมมือเกษตรกรพื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่งดังกล่าว เมื่อเก็บเกี่ยวเสร็จให้เกษตรกรงดปลูกข้าวนาปีต่อเนื่อง โดยจะนำปลาไปปล่อยเพื่อให้ทำประมงเป็นอาชีพเสริม  
    "พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง ซึ่งกรมชลประทานส่งน้ำให้ปลูกข้าวนาปีครั้งที่ 1 เร็วขึ้นตั้งแต่ 1 พ.ค. ได้แก่ ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด ทุ่งโพธิ์พระยา และระบายน้ำบางส่วนผ่านโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบันลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ เพื่อจะได้เก็บเกี่ยวได้ทันก่อนน้ำหลาก อีกทั้งกรมชลประทานขอใช้พื้นที่ทั้ง 12 ทุ่ง 1.2 ล้านไร่ เป็นพื้นที่รองรับน้ำนองชั่วคราว รับน้ำได้ 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร" นายทองเปลวกล่าว  
    อธิบดีกรมชลประทานกล่าวว่า ในส่วนพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนบนได้ทำเป็นที่รับน้ำคือ ทุ่งบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และบางส่วนของสุโขทัย ได้ขยายพื้นที่รับน้ำเพิ่ม จากเดิมปี 2560 โครงการบางระกำโมเดลมี 265,000 ไร่ รับน้ำได้ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร ปีนี้มีพื้นที่ 382,000 ไร่ รับน้ำได้ 550 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งขณะนี้เก็บเกี่ยวข้าวหมดแล้ว พร้อมใช้เป็นพื้นที่รับน้ำนอง 
    "แผนบริหารจัดการน้ำช่วงเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงฝนตกชุกที่สุดของปีนั้น จะเร่งระบายน้ำผ่านทางลำน้ำสายหลักออกทะเลเร็วที่สุด หากมีน้ำหลากมากจะพิจารณาตัดยอดน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 13 ทุ่งในเวลาที่เหมาะสม โดยโครงการนี้ดำเนินการมาเป็นปีที่ 2 ซึ่งปีที่แล้วประสบความสำเร็จตัดยอดน้ำหลากช่วยลดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง อีกทั้งน้ำที่เก็บไว้เกษตรกรสามารถนำไปใช้เพาะปลูกต่อในช่วงฤดูแล้ง" อธิบดีกรมชลประทานกล่าว
    ที่ จ.สกลนคร นายนิพนธ์ มังกรแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสกลนคร กล่าวถึงสถานการณ์ปริมาณน้ำเขื่อนน้ำอูนว่า วันที่ 2 ก.ย. คิดเป็นร้อยละ 108.29 ทยอยลดลงจากเมื่อ 1 ก.ย. ปริมาณน้ำส่วนเกินระดับเก็บกัก 43.12 ล้าน ลบ.ม. ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ควบคุม แต่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ไม่มีฝนตกเหนือเขื่อน ปริมาณน้ำไหลเข้าประมาณ 3 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าปริมาณน้ำระบายออก ที่สามารถระบายน้ำได้วันละประมาณ 7 ล้าน ลบ.ม.
    "ภาพรวมอ่างเก็บน้ำทุกแห่งในพื้นที่จังหวัดสกลนคร มีปริมาณน้ำคิดเป็นร้อยละ 92.65 โดยมีอ่างเก็บน้ำที่เกินระดับเก็บกักจำนวน 5 แห่ง อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ" ผอ.โครงการชลประทานสกลนครกล่าว. 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"