หวั่นวิกฤติคลัง รุมจวก'ฝักถั่ว' ปั๊ม'งบ'ปี2562


เพิ่มเพื่อน    

    นักวิชาการซัดสภาตรายางเร่งผ่านงบ 62 เสี่ยงวิกฤติฐานะการคลังในอนาคต บี้แจงงบทหารเพิ่ม 20% จำเป็นอย่างไร แนะรัฐบาลใหม่แก้ไขลดขาดดุล ทบทวนเมกะโปรเจ็กต์ "วัชระ" จวก สนช.แค่ผ้าเช็ดท็อปบูต จัดงบประมาณเอาใจ คสช.
    เมื่อวันที่ 2 กันยายน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้แสดงความเห็นกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ผ่านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท โดยใช้เวลาเพียง 3 ชั่วโมงว่า เป็นกระบวนการจัดทำงบประมาณที่ขาดการตรวจสอบถ่วงดุล ขาดการมีส่วนร่วม และไม่ได้เกิดจากความเห็นชอบของประชาชนผ่านผู้แทนอันชอบธรรม ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการกำหนดงบประมาณและการเก็บภาษี สนช.ไม่ได้ทำหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายงบประมาณ จึงมีฐานะเป็นเพียงสภาตรายางให้รัฐคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เท่านั้น 
    ทั้งนี้ ขอเสนอให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งทำการทบทวนและแก้ไขงบประมาณปี 2562 เสียใหม่ เนื่องจากพบว่าการจัดสรรงบประมาณปี 2562 มีสิ่งที่ต้องแก้ไขหลายประการด้วยกัน มีงบประมาณรายจ่ายสูงถึง 3 ล้านล้านบาท และมีการทำขาดดุลงบประมาณสูงถึง 4.5 แสนล้านบาท ควรลดการขาดดุลลงเนื่องจากมีความจำเป็นน้อยลงในการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและมีความจำเป็นในการลดความเสี่ยงของวิกฤติฐานะการคลังในอนาคต นอกจากนี้ อาจจะเกิดสภาวะที่การใช้จ่ายภาครัฐอาจไปแย่งเม็ดเงินจากภาคเอกชนและดันอัตราดอกเบี้ยในระบบให้สูงขึ้นได้ ทำให้ผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการใช้จ่ายของภาครัฐถูกหักล้างด้วยการลดลงของการลงทุนภาคเอกชน อันเป็นผลจากต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มสูงขึ้น หรือที่เรียกกันว่า เกิด Crowding out Effect นั่นเอง 
    นายอนุสรณ์กล่าวว่า รัฐบาลหลังการเลือกตั้งควรทบทวนโครงการขนาดใหญ่ที่ต้องอาศัยเงินกู้จำนวนมาก และมีความเสี่ยงต่อฐานะทางการคลังและควรทบทวนสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากเกินพอดีเพื่อดึงดูดการลงทุนของต่างชาติที่ทำให้รัฐสูญเสียเงินรายได้ภาษีจำนวนมาก กำหนดกรอบความยั่งยืนทางการคลังเพื่อให้ประเทศสามารถจัดทำงบประมาณสมดุลได้ภายใน 5 ปีข้างหน้าหลังจากที่ได้มีการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 ต้องมีการบริหารการชำระหนี้สาธารณะให้ดีเพื่อไม่ให้เกิดการกระจุกตัวของการชำระหนี้ในอนาคตจนกระทบสภาพคล่องในอนาคต รายจ่ายประจำยังคงเพิ่มขึ้น 4-5% ขณะที่รายจ่ายเพื่อการลงทุนเพิ่มเพียง 1% สะท้อนยังไม่มีการปฏิรูปโครงสร้างงบประมาณ เพราะรายจ่ายเพื่อการลงทุนยังคงมีสัดส่วนเพียงแค่ 22% ซึ่งควรปรับโครงสร้างให้เพิ่มเป็น 30% ของงบประมาณรายจ่าย และต้องทำควบคู่กับการปฏิรูประบบราชการและรัฐวิสาหกิจ 
     "รัฐบาลและ สนช.ต้องชี้แจงต่อสาธารณชนด้วยว่า งบประมาณกลาโหมงบความมั่นคงที่เพิ่มขึ้น 20-21% นั้นมีความจำเป็นอย่างไร ทั้งที่ภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงลดลงและไม่มีสัญญาณใดๆ ที่จะเกิดสงครามในภูมิภาคนี้ กองทัพได้รับการจัดสรรงบประมาณตลอดระยะเวลา 4 ปีของรัฐบาล คสช 9.38 แสนล้านบาท ขอเสนอให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งยกเลิกการสั่งซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่ไม่จำเป็นและไม่มีคุณภาพ โดยนำเงินมาจัดสรรเพื่อการเพิ่มสวัสดิการให้นายทหารชั้นผู้น้อย หรือโยกงบประมาณไปซื้ออุปกรณ์ทางการแพทย์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนหรืออุปกรณ์ทางการศึกษาสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลนจะดีกว่า" นายอนุสรณ์ระบุ    ขณะเดียวกัน สังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจในระดับสูงติดอันดับโลก มีสัดส่วนของหนี้สินต่อรายได้สูงมาก จึงควรจัดทำงบประมาณมุ่งเป้าหมายไปกลุ่มคนผู้มีรายได้น้อยและคนยากจนเพิ่มขึ้น ขณะที่การจัดซื้ออาวุธจากต่างประเทศไม่ก่อให้เกิดผลผลิตใดๆ ในระบบเศรษฐกิจ และไม่ก่อให้เกิดสวัสดิการใดๆ ต่อประชาชน ส่วนงบกลางสูงขึ้นเกือบ 5 แสนล้านบาท ซึ่งมักไม่มีรายละเอียดรายการการใช้จ่ายทำให้เงินสาธารณะ อาจใช้จ่ายอย่างไม่มีประสิทธิภาพ รั่วไหลได้ง่าย หากมีการใช้จ่ายงบก้อนนี้ ควรชี้แจงรายละเอียดต่อประชาชนและควรผ่านการพิจารณาโดยรัฐสภาหลังการเลือกตั้งด้วย 
    นายอนุสรณ์กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้ในงบประมาณเป็นยุทธศาสตร์ที่คิดแบบราชการ ไม่ได้ผนวกเอาวิสัยทัศน์ระยะยาวเข้าไปด้วย จึงมีความเห็นว่าควรจัดทำงบประมาณเชิงยุทธศาสตร์โดยกำหนดไว้ 10 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างอำนาจและส่งเสริมประชาธิปไตยให้เข้มแข็งมั่นคง 2.ยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน โดยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเอาคุณภาพชีวิตของพลเมืองเป็นศูนย์กลาง 3.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงและ Greater Thailand/New Siam ยุทธศาสตร์นี้จะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ความมั่นคงของรัฐบาล 4.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเครือข่ายความร่วมมือยุทธศาสตร์ลดอำนาจการผูกขาด สร้างความเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ เพิ่มการแข่งขัน เสรีภาพในการประกอบการ 5.ยุทธศาสตร์ด้านลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม 6.ยุทธศาสตร์พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ทุกช่วงวัยและการปรับโครงสร้างประชากรให้เหมาะสม 7.ยุทธศาสตร์การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง 8.ยุทธศาสตร์การปฏิรูประบบราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคการเมือง 9.ยุทธศาสตร์ศูนย์กลางอาหาร การท่องเที่ยวและบริการทางการแพทย์ของโลก และยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมเป้าหมาย และ 10.ยุทธศาสตร์บูรณาการสู่การเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค 
    ทางด้านนายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เท่าที่ฟังเสียงสะท้อนจากพี่น้องประชาชน รู้สึกอึดอัดและต้องการให้มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณว่าเป็นไปเพื่อประชาชนทั้งประเทศหรือเพียงเพื่อหมู่คณะของ คสช. เท่านั้น ซึ่งงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท สูงที่สุดนับแต่มีประเทศไทย แต่ข่าวการคอร์รัปชันก็มากที่สุดนับแต่มีรัฐบาลมาตั้งแต่ พ.ศ.2475
    อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรีจะมาย้อนถามว่ามีทุจริตตรงไหน ให้ยื่นหลักฐานมา ตนส่งให้ตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว ตั้งแต่เรื่องข้าราชการทุจริตงบคนจนในกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การทุจริตการงบประมาณไอซีทีของรัฐสภาใหม่ เป็นต้น ในงบประมาณปี 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการจ่ายค่าโง่ในคดีกล้ายาง มีการตั้งงบประมาณไว้ถึง 211 ล้าน นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสงสัยถึงการจัดงบประมาณซื้อดาวเทียม รวมถึงงบผูกพันการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือ ล้วนสะท้อนให้เห็นถึงการจัดงบประมาณตามใจผู้มีอำนาจใน คสช.ทั้งสิ้น
    "คสช.ควรคำนึงว่า แม้คณะ คสช.จะยิ่งใหญ่ มีอำนาจสูงสุด แต่อำนาจท่านก็เหมือนยาทั่วไป ที่ต้องมีวันหมดอายุ เมื่อท่านหมดอำนาจ หากจัดสรรงบประมาณไม่เที่ยงธรรม เช่น บอกว่าเห็นใจคนจน รักคนจน ให้คนจนคนละ 200 บาท แล้วท่านเอาเงินแผ่นดินให้เจ้าสัวทีละ 200 ล้านบาท ระวังท่านจะไม่มีแผ่นดินอยู่เหมือนนายทักษิณ ชินวัตร ส่วน สนช.ที่ไม่กล้าอภิปรายตัดงบประมาณแม้แต่บาทเดียวนั้น เพราะ สนช.ทั้งหลายคือลูกน้องหรือผู้ใต้บังคับบัญชาของ คสช. แล้วใครจะกล้าตัดงบประมาณของเจ้านายผู้มีพระคุณ หากพูดไม่เข้าหูหรือนั่งหลับในที่ประชุม อาจอดเป็น ส.ว.แต่งตั้งสมัยหน้าได้ง่ายๆ สนช.จึงไม่ใช่เพียงแค่เป็นสภาตรายางหรือสภาฝักถั่วเท่านั้น เพราะ สนช.ปัจจุบันไม่แตกต่างอะไรกับผ้าเช็ดท็อปบูตให้แวววาวดูอร่ามงามสะอาดตา" นายวัชระกล่าว
    วันเดียวกัน พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แนะให้กระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวบรวมครูพิเศษ โดยบูรณาการภารกิจผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยการนำร่องในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยจากนี้จะให้หน่วยงานรัฐบันทึกข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญในรูปแบบของ Big Data ทั้งในด้านวิชาการและทักษะฝีมือในสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางให้สถานศึกษาทั่วประเทศสามารถเข้าถึงบุคคลเหล่านี้ในฐานะครูพิเศษได้อย่างทั่วถึง ตั้งเป้าหมายให้ได้ 500 คน ภายในปีนี้.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"