จีดีพีโต...แต่ทำไมชาวบ้านหัวโต?


เพิ่มเพื่อน    

      เมื่อวาน.......

      เป็นวันอาทิตย์ต้นเดือน (๒ ก.ย.๖๑)

      ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม จะหาอะไรกินแถวๆ โลตัส พระราม ๔

      อื้อฮือ.........

      ต้องบอกว่า ถึงขั้นเบียดกันเดินเลยทีเดียว!

      ไหนใครว่า เศรษฐกิจรัฐบาล คสช.ที่จีดีพีโต ๔.๘% ทำให้คนระดับบน "รวยกระจุก" อยู่กลุ่มเดียว

      ส่วนคนระดับล่างๆ........

      เงินไม่ไหลออกมาหมุนเวียนสู่มือ ชาวไร่-ชาวนา ชาวบ้านร้านตลาด คนยาก-คนจน ทั่วๆ ไป แห้งแหงแก๋ไปทั้งหมดไงล่ะ?  

      มองผาดๆ คิดเผินๆ จะเกิดความรู้สึกอย่างนั้น และดูกันให้ครบวงจรแล้ว มันก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ

      คือกลุ่มธุรกิจการค้าระดับใหญ่ รวยแล้ว-รวยเพิ่ม

      ส่วนกลุ่มธุรกิจการค้าระดับเล็ก เรื่อยไปถึงกลุ่มเกษตรกร และคนทำมาหากินระดับย่อยๆ

      "ฝืดมาก"!

      แต่ที่แน่นโลตัส หรือตามร้านค้า-ร้านขายทั่วไป นั่นเพราะเป็นช่วงต้นเดือน เงินเดือนเพิ่งออกหรอก

      อีกซัก ๑๐ วัน ไปใหม่ซี

      เดินเบียดแต่อากาศห้าง แต่ร้านค้า ร้านอาหาร "ทหารม้า" มากกว่าคนนั่ง!

      เห็นรัฐบาลแถลง ครึ่งปีแนวโน้มขยายตัวทางเศรษฐกิจดีขึ้น เผลอๆ ถึงไตรมาส ๔ ปลายปี จีดีพีอาจเฉี่ยว ๕% ด้วยซ้ำ

      โตมาจากไหน?

      หลักๆ ก็จากภาคส่งออก การบริโภค การจับจ่ายใช้สอยภายใน การท่องเที่ยว และการลงทุนภาครัฐ

      ส่งออก, ท่องเที่ยวและการลงทุนภาครัฐ ไม่ต้องพูดถึง พอเข้าใจได้

      แต่การบริโภคภายใน ตัวไหนนะ ที่คนไทยบริโภคจนดัชนีพุ่ง?

      ไปดู ก็ "รถเก๋ง" นั่นเอง!

      ซื้อกันจนยอดขายรถยนต์ส่วนบุคคลแค่ครึ่งปี ขยายตัวไปร่วม ๒๐%

      เพราะอย่างนี้ ไปทางไหนๆ รถติดแทบไม่ขยับทางนั้น ยิ่งทางด่วนด้วยแล้ว

      ก่อนโน้น กลัวรถติด ยอมจ่ายเงินขึ้นทางด่วน เพื่อหนีรถติด

      แต่ตอนนี้ ใครอยาก "รถติด" แล้วต้อง "จ่ายตังค์" ต้องขึ้นทางด่วน!

      มันก็แปลก?  

      สำหรับเมืองไทยและคนไทย บ่นว่าจน เศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีเงิน

      แต่ซื้อรถกันโครมๆ จนถนนไม่พอวิ่ง

      ถนนไม่พอรถ รัฐบาลก็เร่งสร้าง "รถไฟฟ้า" แหย่ขาออกชานกรุงเป็นสิบๆ สาย

      แต่บริษัทก่อสร้างที่ประมูลได้ ก็เวียนอยู่แค่ ๓-๔ บริษัทเดิม

      สมมุติขยายถึง ๑๐๐ สาย

      มันก็ไอ้ ๓-๔ บริษัทนี่แหละ "แบ่งกันได้" จนเกิดคำถามที่อยากถามรัฐบาลเหมือนกันว่า

      ๓-๔ บริษัท ที่เหมือน "ผูกขาด-มัดคอ" นี้

      แต่ละบริษัท........

      มี "กี่มือ-กี่ตีน" ที่สามารถสร้างแต่ละสายให้เสร็จได้ตามสัญญา?

      รวมแล้ว ค่าก่อสร้างกระจุกอยู่แค่ ๓-๔ บริษัทเป็นล้านล้านบาท

      นอกจากงาน "เหมือนผูกขาด" ที่ไม่เร็วขึ้นแล้ว

      งานยังกระจุก การจ้างงาน การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง การจับจ่ายใช้สอย ในเงินเป็นล้านล้าน

      แทนที่จะกระจาย เกิดการจ้าง การลงทุน ให้เงินหมุนเวียนสู่ระบบ

      กลับเป็น Backlog ให้แต่ละบริษัทเอาตัวเลขอนาคตจากผูกขาดไปปั่นรวยปัจจุบันกันเพลิน

      ถ้าซอยสัญญางานให้ผู้รับเหมารับไปเป็นช่วงๆ แบ่งกันทำ งานที่ช้า น่าจะเสร็จได้เร็วกว่าทุกวันนี้แน่

      ที่สำคัญ อุตสาหกรรมต่อเนื่องและการจ้างงาน จะไม่ทำให้คำว่า "รากหญ้าแห้งตาย" เกิดขึ้น

      ในขณะที่จีดีพีโตร่วม ๕% "ย้อนมาแยงก้นรัฐบาล" อย่างตอนนี้!

      ก็ฝากไว้ให้คิดเล่นๆ แล้วย้อนเข้าเรื่องกันต่อ......

      การที่รัฐบาลทำรถไฟฟ้าเชื่อมไปถึงชานเมือง รองรับคนเมืองที่ล้นออกไปเป็นไข่ขาวอยู่รอบๆ ไข่แดงทั้ง ๔ ทิศ

      ก็ตอบโจทย์สังคมเมืองได้ดี เพราะในความน่าจะเป็น

      อนาคต คนกรุงมีความจำเป็นใช้รถส่วนตัวจะน้อยลง รถไฟฟ้าตอบโจทย์ชีวิตงานและชีวิตเมืองประจำวันได้ดีกว่า

      แต่กลับตรงกันข้าม.......

      รัฐบาลยิ่งขุดถนน "สร้างรถไฟฟ้า" คนกรุงก็ยิ่งโหมซื้อรถยนต์ส่วนตัวกันมากขึ้น

      แล้วก็ร้อง "กรุงเทพฯ เมืองนรก" ไปทางไหนก็รถติด

      ก็รุมด่าเรื่องรถติดจนเป็น "วาระแห่งชาติ" อยู่ตอนนี้!

      เรื่องรถติด เพราะปิดถนนในช่วงทำรถไฟฟ้า

      เป็นเรื่องเข้าใจได้

      แต่ที่รัฐบาลยิ่งลงทุนในคมนาคมพื้นฐาน ขยายรถไฟทางคู่ ทำรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมภูมิภาค  สร้างมอเตอร์เวย์สร้างรถไฟฟ้ากรุง

      รวมถึง "ขยายเมือง-ขยายเขตเศรษฐกิจ" จากกรุงเทพฯ ไปแทบทุกภาค โดยเฉพาะทางภาคตะวันออก

      ขยายรองรับอนาคตมากเท่าไหร่.........

      คนก็ยิ่งซื้อรถส่วนตัวมากขึ้น และด่าๆๆๆๆ ว่ารถติด กันมากขึ้นเท่านั้น!?

      สิบกว่าปีก่อน ผมไปมุมไบ ก็แบบกรุงเทพฯ นี้ สร้างรถไฟฟ้า สร้างสะพาน ขุดอุโมงค์

      เรียกว่าไปทางไหนก็เจอแต่ก่อสร้าง รถติดวินาศสันตะโร

      รัฐบาลเขาเขียนป้ายปลุกปลอบ ทำนองว่า "จงอดทนเพื่ออนาคต" หรือ "ติดเพื่อไม่ติดในอนาคต" อะไรทำนองนั้น

      เมืองไทยเรา........

      เศรษฐกิจ-อุตสาหกรรมหมวดไหนโตก็ช่าง ถ้าหมวดเกษตรกรรม-กสิกรรมไม่โต ไม่กระเตื้องแล้ว

      โตนั้น ก็โตแบบ "ไส้กลวง"!

      ที่รัฐบาลบอกเศรษฐกิจประเทศดีขึ้น แต่ระดับชาวบ้าน ชาวไร่-ชาวนาถาม...

      ไหนล่ะ ที่ว่าโต หัวชาวบ้านละมังที่โต นอกจากข้าวแล้ว อย่างอื่นเสมอตัวกับเจ๊งตลอด!?

      ในเมื่อเศรษฐกิจภาค "ทุนเศรษฐี" ฟื้นแล้ว ก็ดีแล้ว

      รัฐบาลก็ควรเป่าตูดเศรษฐกิจภาค "ทุนชาวบ้าน" ให้ฟื้นบ้าง

      ถ้าชาวไร่-ชาวนา และระดับชาวบ้าน ร้านตลาด มีสภาพคล่องกว่านี้ ไม่ต้องมากหรอก "อีกซักนิด" เท่านั้น

      รัฐบาล คสช.นอนเฉยๆ พี่ไม่ต้องหาเสียง

      เลือกตั้งวันไหน........

      น้อง คือชาวบ้าน แห่อุ้มขึ้นเตียง "ประแป้ง-ป้อนนม" ถึงปากเลย บอกไม่เชื่อ!

      เห็นรัฐบาลว่า จะนำระบบ "สหกรณ์การเกษตร" มาสร้างคุณภาพชีวิตใหม่ให้ชาวนา

      นำระบบนารวม หรือนาผืนใหญ่มาใช้

      ผมเห็นด้วย รัฐบาลนั้น "พูดจริง" ในเรื่องนี้ แต่จะ "ทำจริง" หรือไม่ ขนาดไหน ผมไม่แน่ใจ?

      อย่าไปบ้าเรื่อง อีสปอร์ต ที่เขาหลอกขายเครื่อง ขายโปรแกรมเลย ไม่เห็นเป็นสปอร์ตตรงไหน นอกจากเกม

      เอาระบบ "สหกรณ์การเกษตร" มาใช้ ปรับวิถีชาวนา-ชาวไร่-ชาวสวน เข้าสู่ระบบ "อีคอมเมิร์ซ"

      คือการซื้อขายอาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นอีกช่องทางหนึ่งเสริมเข้ามานี่แหละ

      ด้วยอีคอมเมิร์ซ จะทำให้เกษตรกรเรียนรู้การตลาด การซื้อ-การขาย

      นอกเหนือจากการ "ปลูกอย่างเดียว" มาเป็นร้อย-เป็นพันปี แล้วร้องกันว่า "ทำนามีแต่จน"

      ในขณะที่ โรงสี พ่อค้าคนกลาง มือไม่เคยแตะเคียว แต่รวยกับรวยเพิ่ม!

      แต่ละนาผืนใหญ่ ที่ไม่ละทิ้งคำว่า "ไร่นาสวนผสม" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

      ทำระบบสหกรณ์........

      แล้วเติม "เพื่อการท่องเที่ยว-พักผ่อน-ช็อปปิง" ในสินค้าธรรมชาติถิ่นเข้าไปในแผน

      ทำแพ็กเกจจิงสวยๆ มีแบรนด์รับรองคุณภาพสินค้า ๕ ปีแรกยืนได้

      ๕ ปีต่อไป ชาวไร่-ชาวนาไทย ระบบสหกรณ์ จะเหลือกิน-เหลือใช้ พอเพียงแล้วแบ่งกันรวยต่อยอดได้แน่นอน

      พูดคำว่า "อีคอมเมิร์ซ" กับชาวไร่-ชาวนา บางคนบอก..โฮ้ย..มันยากเกินฝัน!

      นึกกันให้ดี เมื่อปี ๕๘ จากปัญหา "โกงทุกเม็ด" ในยุคยิ่งลักษณ์ ส่งผลต่อเนื่อง ชาวนาขายแล้วไม่ได้ราคา

      จำได้มั้ย ตอนนั้น สังคมโซเชียลช่วยกันปลุกให้ชาวนา "กรอกถุง" ทำแบรนด์ ขายเองทางอินเทอร์เน็ต

      ฮิต...ติดตลาด "ชาวนา" รู้จักช่องทางตลาด "ขายเอง-ขายตรง" ด้วยระบบอีคอมเมิร์ซแล้ว

      องค์กรต่างๆ เช่น ปตท.เปิดทุกปั๊มให้เป็นจุดขาย-จุดส่งมอบสินค้าข้าว โทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ช่อง ๓ ก็ช่วยกัน

      กระทั่งรัฐบาล กระทรวง เป็นความดีงาม ลามไปทุกที สนับสนุนให้ชาวไร่-ชาวนารู้จัก สร้างแบรนด์ ผลิตสินค้า ขายตรงในระบบอินเทอร์เนต

      แต่น่าเสียดาย จุดติดแล้ว พอปัญหาข้าวซา แทนที่รัฐบาลจะต่อยอดระบบ "ชาวนาอีคอมเมิร์ซ" ให้ต่อเนื่อง

      กลับทิ้งหาย....?

      นี่คือตัวสะท้อน ชาวไร่-ชาวนา เจริญไม่ทันเทคโนโลยี หรือ........

      ภาครัฐ ไม่ว่ายุคไหน "ผักชีโรยหน้า" กันทั้งนั้น?


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"