รู้ทันอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ


เพิ่มเพื่อน    


    การทุจริตในองค์กรเป็นอีกหนึ่งที่ผู้ประกอบการได้ให้ความสำคัญมาตลอด แต่จากผลสำรวจอาชญากรรมทางเศรษฐกิจและการทุจริต หรือ Shining a light on fraud: Economic Crime Survey in Thailand ประจำปี 2561 ที่จัดขึ้นทุกๆ 2 ปี มีผู้ตอบแบบสอบถาม 522 ราย มาจากองค์กรธุรกิจหลายประเภท ทั้งบริษัทจดทะเบียน บริษัทเอกชน และหน่วยงานภาครัฐในประเทศ พบว่าประมาณ 48% ของบริษัทในประเทศไทยตกเป็นเหยื่อการทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ นับว่าสูงกว่าผลการสำรวจก่อนหน้า หรือเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งมีเพียงประมาณ 1 ใน 4 ที่ยอมรับว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นในองค์กร จะเห็นได้ว่าตัวเลขมีการปรับตัวสูงขึ้น แต่กระนั้นหากมองในแง่ดีคงเป็นสัญญาณการเตือนภัย ที่ต้องมีความตระหนัก รวมถึงหาแนวทางลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ภายในองค์กรของตนเอง และหากรู้สาเหตุว่ามาจากส่วนไหนแล้ว ก็ต้องปิดกั้นรอยรั่วนั้นให้เร็วที่สุด
    สำหรับความเห็นจาก "วรพงษ์ สุธานนท์" หุ้นส่วนสายงาน Forensic services บริษัท PwC ประเทศไทย ระบุเพิ่มเติมว่า แม้ว่าตัวเลขที่สูงขึ้นจะทำให้น่าวิตก แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน จะเห็นว่าองค์กรในประเทศไทยเริ่มตระหนักถึงความเสี่ยงด้านการทุจริต และสามารถตรวจพบเหตุทุจริตได้เพิ่มขึ้น โดยผลสำรวจของประเทศไทยในครั้งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นแค่การทุจริตที่ตรวจพบได้เท่านั้น แต่ยังช่วยให้บริษัทเห็นถึงจุดบอดที่มีการทุจริตซ่อนอยู่ และรู้ว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อป้องกันการทุจริตในองค์กรอีกด้วย
    ขณะเดียวกัน การทุจริตและอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบต่อทุกประเทศและทุกภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายรูปแบบผ่านวิธีการที่ซับซ้อน จึงทำให้ตรวจจับได้ยาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าองค์กรจะต้องต่อสู้กับสิ่งที่มองไม่เห็น แต่หากตระหนักว่าอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อบริษัท และรับได้ว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ก็ถือเป็นก้าวแรกที่จะชนะสงครามได้แล้ว แม้ว่าจะยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่พบก็ตาม
    “คำถามสำคัญที่ทุกองค์กรควรกระตุ้นเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลา คือ คุณทราบหรือไม่ว่า การทุจริตมีผลกระทบต่อบริษัทของคุณอย่างไร และคุณกำลังหลับหูหลับตาสู้ หรือสู้แบบลืมตาอยู่ มิใช่เพียงแค่ตั้งคำถามว่า มีการทุจริตเกิดขึ้นในบริษัทหรือไม่เท่านั้น”
    มาดูกันว่าประเภทของการทุจริตที่พบมากที่สุดในเมืองไทยช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีอะไรบ้าง อันดับหนึ่งคงเป็นการยักยอกสินทรัพย์คิดเป็น 62% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 45% ตามมาด้วยการประพฤติผิดทางธุรกิจของไทย คิดเป็น 40% สูงกว่าอัตราเฉลี่ยทั่วโลกที่ 28% ถือเป็นการสะท้อนให้เห็นว่านโยบายป้องกันการทุจริตในองค์กรยังมีช่องโหว่ และได้กลายเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่สีเทา หรือความไม่ชัดเจนของนโยบายนั่นเอง
    หลายองค์กรไม่ได้นิ่งนอนใจกับภัยของการทุจริตที่เกิดขึ้น เพราะจากผลสำรวจยังพบว่า 71% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีความพยายามในระดับปานกลางถึงระดับมาก ในการปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อป้องกันการทุจริต หรืออาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดจากคนภายในองค์กร แต่กว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 83% ขณะที่มีเพียง 23% เท่านั้นที่บอกว่าให้ความสำคัญมากในการยกระดับมาตรฐานจริยธรรมของพนักงาน น้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกเช่นกันที่ 34% โดยสาเหตุของการทุจริตร้ายแรงที่สร้างความเสียหายทางการเงินให้กับองค์กรมาจากพนักงาน 70%
    ในมุมของทั่วโลกจากการรวบรวมข้อมูลจากผู้บริหารระดับสูงและบริษัทจดทะเบียน 7,288 ราย ใน 123 ประเทศทั่วโลก โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 522 รายมาจากประเทศไทย พบว่า 59% ของบรรดาซีอีโอได้รับแรงกดดันมากขึ้นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ต้องการให้ผู้นำแสดงความรับผิดชอบเมื่อเกิดกรณีการประพฤติมิชอบ โดยกลุ่มธนาคารและตลาดทุน 65% บริการทางด้านสุขภาพ 65% และเทคโนโลยี 59% ถือเป็นกลุ่มธุรกิจที่ผู้นำแสดงความความรับผิดชอบสูงกว่าค่าเฉลี่ย นำโดยสหรัฐ 70% บราซิล 67% และสหราชอาณาจักร 63% อีกด้วย
    ผลสำรวจนี้คงทำให้หลายบริษัทเข้าใจว่าการทุจริตรวมถึงอาชญากรรมทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นได้อย่างไร จากนั้นคงจำเป็นจะต้องจัดให้มีการควบคุมและป้องกันภัยคุกคามเหล่านี้อย่างรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาบุคลากร การปรับปรุงกระบวนการทางธุรกิจ และการลงทุนในเทคโนโลยี หรือนวัตกรรมต่างๆ คงต้องมาดูกันต่อไปว่าอีก 2 ปีนับจากนี้ แม้ว่าอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์มีเพียง 21% ของผู้ตอบแบบสอบถามในเวลานี้ แต่เกือบ 32% คาดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าอาชญากรรมดังกล่าวจะส่งผลกระทบร้ายแรงที่สุด ต้องกลับมาดูกันว่าผลสำรวจครั้งหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบใด.

รุ่งนภา สารพิน


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"