ปฏิกิริยาหลัง "โผทหาร" เมื่ออาทิตย์สาดส่องที่ "บิ๊กแดง"


เพิ่มเพื่อน    

          เป็นห้วงที่สถานการณ์การเมืองกำลังขับเคลื่อนเข้าสู่โรดแมปการเลือกตั้ง ที่ดูแล้วยังไม่มีเงื่อนไขที่ทำให้สะดุดหรือเดินไปไม่ถึงวันนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องกติกา เป็นเรื่องรายละเอียดที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็นได้ แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะคลายล็อก และกว่าจะปลดล็อกอาจจะไปถึงช่วงเดือน ธ.ค. จึงเป็นเรื่องปกติถ้าเกิดเสียงบ่นจากนักการเมืองถ้าเวลาไม่เพียงพอต่อการหาเสียงเลือกตั้ง แต่หลักๆ คือส่วนใหญ่ต้องการให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

                แน่นอนว่า เมื่อ คสช.ถูกมองว่า ลงมาเป็น ผู้เล่น ไม่ใช่ กรรมการ ในสนามการเมือง ย่อมเกิดความได้เปรียบ-เสียเปรียบขึ้นในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ยังคงสภาพอยู่ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ มีหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งก็คือ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีอำนาจสูงสุด มีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ในมือ

                ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีกองทัพ ซึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ทำหน้าที่สนับสนุน คสช.ในการผลักดันสนับสนุนนโยบายในการช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนตามนโยบายรัฐบาล กองทัพยังเป็นกลไกหลักของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ในการบูรณาการกับหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม ที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนงานของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

                ดังนั้นทหาร ซึ่งก็คือกำลังพล และกองทัพ ซึ่งก็คือหน่วยงานในสายการบังคับบัญชาของรัฐบาล จึงถือเป็นส่วนสำคัญที่ทุกฝ่าย จับตามอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นับแต่ช่วงที่กำลังเดินเข้าสู่โรดแมปการเลือกตั้งว่า จะมีบทบาทและมีจุดยืนต่อการเลือกตั้งทั่วไปอย่างไร

                พลันที่มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายทหารรับราชการออกมา มีการปรับใหญ่ระดับบนทั้งหมด 5 ตำแหน่ง ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม (ปล.กห.) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) แต่สายตาทุกฝ่ายต่างจับจ้องไปที่ ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ เพราะถือเป็นตำแหน่งคุมกำลังทหารหน่วยกำลังรบทั่วประเทศ ยิ่งครั้งนี้ ชื่อ ผบ.ทบ.คนที่ 41 เป็นชื่อของ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์

                นอกจากประวัติของการเป็น ลูกชาย "บิ๊กจ๊อด" พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) หนึ่งในแกนนำการรัฐประหารเมื่อปี 2534 แล้ว โปรไฟล์ความเป็น "นายทหารพิเศษ" มีความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญชาติอย่างสูงสุด จึงเป็นจุดที่ทำให้มีกระแสโจมตีจากฝ่ายที่เคย "เจอ" กับ "บิ๊กแดง" มาแล้ว ช่วงเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองช่วงก่อนหน้านี้

                ความประหวั่นพรั่นพรึง-ความไม่แน่ใจต่อท่าทีของกองทัพ หลังจากที่ พล.อ.อภิรัชต์จะขึ้นมารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ต่อจาก พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ในต้นเดือนตุลาคมนี้ จึงเกิดขึ้นผ่านการวิพากษ์วิจารณ์ในกระแสโซเชียลมีเดีย การงัดเอาประวัติในอดีตมาตีแผ่ "ดิสเครดิต" เป็นการแสดงออกให้เห็นถึงความ "กลัว" ที่เกิดขึ้นจากบางฝ่าย

                อย่างที่บอกว่า ด้วยการทำหน้าที่ของ ผบ.ทบ.ในสถานการณ์ขณะนี้ มีหลายหน้าที่ ซึ่งมีแนวโน้มว่า พล.อ.อภิรัชต์ต้องดำรงตำแหน่งเลขาธิการ คสช. และทำหน้าที่ ผบ.กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย รอง ผอ.รมน. ยังไม่นับรวมภารกิจอื่นๆ อีก จึงทำให้หลายคนกังวลว่า อาจจะกระดิกไม่ได้

                ทว่า หากฟังคำสัมภาษณ์ของ พล.อ.เฉลิมชัย ที่การันตีในตัว พล.อ.อภิรัชต์ รวมถึงการทำความเข้าใจต่อห้วงเวลาเกี่ยวกับการคลายล็อก-ปลดล็อก แล้วก็เชื่อว่าไม่น่าจะเป็นไปอย่างที่ฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามจะต้องเกรงกลัวแต่อย่างใด

                "เมื่อสถานการณ์ผ่านไป ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เราพิจารณาตามความเหมาะสม แล้วว่า พล.อ.อภิรัชต์สามารถนำพากองทัพไปข้างหน้าได้ แต่ละสถานการณ์ขึ้นอยู่กับจังหวะเวลา เมื่อท่านมาทำหน้าที่ ผบ.ทบ.ก็จะมีกรอบในการดำเนินการสิ่งเหล่านี้ ไม่ควรมองย้อนไปในอดีต...

            ...หลังคลายล็อกทางการเมือง ไม่จำเป็นว่าจะต้องดูแลให้มีความเข้มงวดหรือไม่ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ แต่เป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไป ในสภาวะที่เหมาะสม โดยปกติใช้กำลังตำรวจเป็นหลักในเรื่องของการดูแลสถานการณ์ ยกเว้นมีความจำเป็นที่ต้องใช้ กกล.รส.ในแต่ละภารกิจ" พล.อ.เฉลิมชัยกล่าว

                หากย้อนไปที่ "การโยกย้ายทหาร" ถือได้ว่า "บิ๊กแดง" ได้อิสระพอสมควรในการเลือก "ทีม" เข้ามาทำงานหลักๆ ก็เป็นเพื่อน ตท.20 ในส่วนของ 5 เสือ ทบ. คือ "บิ๊กเล็ก" พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ ว่าที่ รอง ผบ.ทบ. (เกษียณอายุราชการ 2564) และ พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา ว่าที่ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ขณะที่ "บิ๊กตี๋" พล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ ว่าที่ ผช.ผบ.ทบ. และ "บิ๊กเป้ง" พล.อ.ธีรวัฒน์ บุญยะวัฒน์ เป็นว่าที่ เสนาธิการทหารบก ก็ถือเป็นคนที่ได้รับการ ไฟเขียว มาตั้งแต่ต้น เพื่อให้เกิดภาพการกระจายรุ่น

                ส่วน ตท.20 ที่กระจายอยู่ในกองทัพภาค เช่น พล.ต.ฉลองชัย ชัยยะคำ ว่าที่แม่ทัพภาคที่ 3 (ว่าที่ มทภ.3) พล.ต.บัญชา ดุริยพันธ์ ว่าที่ รอง มทภ.3 พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์  ว่าที่ มทภ.4 ไม่นับฝ่ายอำนวยการ และ ผบ.หน่วยสนับสนุนอื่นๆ ฯลฯ

                อย่างไรก็ตาม พล.อ.อภิรัชต์มีอายุราชการถึง 2 ปี เป็นจังหวะเวลาที่การเมืองกำลังร้อน แต่การกลับมาของทหารสายวงศ์เทวัญในครั้งนี้คงไม่ใช่แค่วาระเรื่องตัวบุคคลเท่านั้น เพราะเส้นทางของการขยับขึ้นมาของทหารสายนี้ในกองทัพภาคที่ 1 ค่อนข้างน่าสนใจ

                โดยเฉพาะมีชื่อของ "บิ๊กบี้" พล.ต.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ จากรองแม่ทัพภาค ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งเป็นไปตามคาด และไม่มีใครกล้า "ล้วง" ทำเส้นทางของ "บิ๊กบี้" จึงน่าจะเดินตาม "บิ๊กแดง" เข้าฮอร์สในตำแหน่ง ผบ.ทบ.ได้ไม่ยากนักในปลายปี 2563

                ขณะที่นายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ซึ่งก็หมายถึงทหารที่เติบโตในเส้นทางภายในหน่วยขึ้นตรงของกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ร.2 รอ.) ซึ่งเป็นหน่วยต้นกำเนิดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมตรี และ รมว.กลาโหม พล.อ.อนุพงษ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ที่เคยส่งคนไปสยายปีกคุมทุกส่วน ก็ถือเป็นจังหวะที่ต้องเด้งเชือก รอจังหวะย่ำเท้าในช่วงนี้

                แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า "เด็กป้อม" หรือทหารในเครือข่ายของ พล.อ.ประวิตร จะถูก "บอนไซ" ไปทั้งหมด เพียงแต่การเติบโตในเส้นทางหลัก เพื่อเข้าฮอร์สเป็นผู้บังคับหน่วยกำลังรบหลัก อาจต้องฉีกไปโตหน่วยสนับสนุน หรือไปติดยศที่สูงขึ้นเท่านั้น เช่น พล.อ.กู้เกียรติ ศรีนาคา ก็ได้ขึ้น 5 เสือ ทบ. แม้จะไม่ทันขึ้น ผบ.ทบ.ก็ตาม รวมถึงบิ๊กเจอร์รี่ พล.ท.ธนะเกียรติ ชอบชื่นชม ผบ.ศรภ. ที่ขยับขึ้นพลเอกในตำแหน่ง ผบ.หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการกองทัพไทย "บิ๊กโต" พล.ต.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง  ขยับขึ้นมาเป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1 "บิ๊กหนุ่ม" พล.ต.สนิธชนก สังขจันทร์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 9 ไปเป็นรอง ผบ.หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน (ผบ.นรด.) เพื่อจ่อขึ้นเป็น ผบ.นรด.ต่อไป

                ส่วน "บิ๊กอ้อม" พล.อ.วีรชัย อินทุโสภณ น้องรักของ "บิ๊กป้อม" นั่งเป็น รอง ผบ.ทสส. เกษียณไปพร้อมการครองยศอัตราพลเอกพิเศษ "บิ๊กตุ๋ย" พล.ร.อ.พิเชษฐ์ ตานะมาน พลาดจากตำแหน่ง ผบ.ทร. ก็ไปขึ้นอัตราพลเอกพิเศษ ในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงกลาโหม ขณะที่กองทัพอากาศ แม้ "บิ๊กป้อม" จะเอ่ยถามเรื่องอายุราชการ 1 ปี ของ "บิ๊กต่าย" พล.อ.อ.ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ว่าที่ ผบ.ทอ.คนใหม่ ในที่ประชุมคณะกรรมการปรับย้ายนายทหารชั้นนายพบ แต่การชี้แจงของ พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผบ.ทอ. คนปัจจุบัน ก็ทำให้โผไม่มีการปรับแก้ จึงทำได้แค่ การขอให้ "บิ๊กโหน่ง" พล.อ.อ.ชาญฤทธิ์ พลิกานนท์ นั่งในตำแหน่งรอง ผบ.ทอ.ครองอัตราพลเอกพิเศษ ไปก่อนเกษียณ 

                ขณะที่กระทรวงกลาโหม "บิ๊กป้อม" ยังมีน้องรัก "บิ๊กณัฐ" พล.อ.ณัฐ อินทรเจริญ ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่อยู่เคียงข้าง และยังเป็นเพื่อน ตท.20 ของ "บิ๊กแดง" เป็นช่องทางประสานให้การทำงานไปสู่เป้าหมายเดียวกัน ในการสนับสนุนงานของรัฐบาลและ คสช.

                ด้วยจังหวะก้าว เครือข่าย ทีมงาน รวมถึงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทุกสายตาจะจับจ้องมาที่เขา เพราะแค่ไปปรากฏตัวร่วมคณะกับ พล.อ.ประยุทธ์ ในการลงพื้นที่จังหวัดลพบุรี เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ ก็ถูกแนะนำตัวให้ชาวบ้านรู้จักว่า "คนนี้ พล.อ.อภิรัชต์ ยังไม่ได้เป็น ผบ.ทบ. แต่สื่อเขียนไปเรื่อย เขียนไปจนจะเป็นนายกฯ อยู่แล้ว" ส่วน พล.อ.อภิรัชต์ตอบคำถามสื่อที่ทักถามว่า ในช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง พล.อ.อภิรัชต์ตอบด้วยสีหน้ายิ้มแย้มว่า "ช่วงนี้ก็ต้องฟิตหน่อย"

                เรียกว่าเป็นงานแรก และเป็นช่วงชิมลาง ก่อนรับตำแหน่งในเดือนตุลาคม และเชื่อได้ว่าหลังจากนั้น สังคมจะยิ่งจับจ้อง และมีคำถามที่ท้าทายต่อ พล.อ.อภิรัชต์ ในการวางบทบาทของกองทัพ ในสถานการณ์ข้างหน้าอย่างไร!!.

 

 

                                                                                                                                ทีมข่าวการเมือง

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"