'ดีแทค'ยันลูกค้าซิมไม่ดับ NGOอัดกสทช.เลือกปฏิบัติ


เพิ่มเพื่อน    

    กสทช.เร่งลูกค้าดีแทค 850 MHz รีบเปลี่ยนซิม ก่อนใช้งานไม่ได้ 15 ก.ย.นี้ ด้านดีแทคแจ้งผ่านโซเชียลฯ ยืนยันลูกค้า 99% ซิมไม่ดับ ขณะที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคชี้ กสทช.เลือกปฏิบัติ ลอยแพลูกค้าดีแทค จี้ทบทวนมาตรการเยียวยา
    เมื่อวันพฤหัสบดี สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เผยแพร่ประกาศเมื่อเวลา 13.30 น. ที่ผ่านมา แจ้งเตือนลูกค้าบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ใช้โทรศัพท์มือถือบนคลื่นความถี่ 850 MHz ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ก.ย.นี้ ให้รีบย้ายไปใช้บริการบนคลื่นความถี่อื่นในค่ายเดิม หรือโอนย้ายค่าย ภายในวันที่ 15 ก.ย.2561 เพื่อให้สามารถใช้บริการเบอร์เดิมได้ต่อเนื่อง หากไม่ดำเนินการภายในเวลา 24.00 น. ของวันที่ 15 ก.ย.นี้ จะไม่สามารถใช้งานโทรศัพท์ได้ ซิมจะดับ
    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยก่อนหน้านี้ว่า กสทช.จะมีคำสั่งทางปกครองให้ดีแทคประชาสัมพันธ์เร่งรัดลูกค้าให้โอนย้ายดังกล่าว หลังจากดีแทคยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ดีแทคได้ใช้คลื่น 850 ต่อไป ส่วนลูกค้าดีแทคที่เหลืออยู่บนคลื่นดังกล่าว ดีแทคแจ้งว่า ณ วันที่ 10 ก.ย. ที่ผ่านมามี 94,625 เลขหมาย
    สำหรับลูกค้าดีแทคที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองใช้ซิมคลื่น 850 MHz หรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ด้วยตัวเองว่าจะได้รับผลกระทบจากการที่คลื่น 850 หมดสัมปทานหรือไม่ สามารถทำได้โดยการกด *444# โทรออก ระบบจะตรวจสอบและแจ้ง sms กลับมาว่าซิมและเครื่องของคุณสามารถรองรับคลื่นอื่นๆ ของดีแทคหรือไม่ หากซิมและมือถือไม่รองรับ คุณสามารถเปลี่ยนซิมได้ฟรี และคุณอาจจะได้รับข้อความรับสิทธิ์เครื่องในราคาพิเศษ หรือสอบถามยัง Call Center ของดีแทคได้เลย หรือจะติดต่อตามศูนย์ให้บริการ ซึ่งสามารถเปลี่ยนซิมคลื่นความถี่ได้ 
    ขณะเดียวกัน บนเพจเฟชบุ๊กของดีแทคได้โพสต์ภาพและข้อความระบุว่า "ดีแทคยืนยันลูกค้ามากกว่า 99% #ซิมไม่ดับ แน่นอน!!"
    ด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และอดีตประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมของ กสทช. กล่าวว่า จากการติดตามกรณีของมาตรการเยียวยามาตั้งแต่ปี พ.ศ.2556 ซึ่งเกิดเหตุสิ้นสุดสัมปทานบริการโทรศัพท์มือถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย พบว่า ทาง กสทช.ได้ออกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 มารองรับการสิ้นสัมปทานของบริษัททรูมูฟและบริษัท ดิจิตอล โฟน (DPC-บริษัทในเครือ AIS) ทำให้ทั้งสองบริษัทได้อยู่ในมาตรการเยียวยานานนับปี นั่นคือได้ใช้คลื่นความถี่ต่อโดยไม่ต้องมีการประมูล ต่อมาในปี 2558 ก็มีการใช้ประกาศดังกล่าวกับกรณี AIS สิ้นสัมปทานอีก 
    "กสทช.อ้างว่าการให้บริการในช่วงเยียวยานั้นเป็นการให้บริการแทนรัฐ รายได้จะไม่ตกเป็นของบริษัท ต้องนำมาคืนรัฐ แต่ปรากฏว่าจนบัดนี้ทั้งสองบริษัทก็ยังไม่ได้นำส่งรายได้ที่จัดเก็บจากการให้บริการช่วงเยียวยาที่ผ่านมาเข้าเป็นงบประมาณของแผ่นดินแต่อย่างใด" น.ส.สารีกล่าว
      น.ส.พวงทอง ว่องไว อนุกรรมการในคณะอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ด้านสื่อและโทรคมนาคม ระบุว่า ข้ออ้างของ กสทช.ที่ว่าดีแทคมีลูกค้าบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์เพียงประมาณ 95,000 เลขหมาย โดยเป็นลูกค้าทั่วไปประมาณ 60,000 เลขหมาย ซึ่งเทียบกับยอดรวมของซิมดับจากการสิ้นสัมปทานที่ผ่านมามีกว่า 400,000 เลขหมายนั้น เป็นการเปรียบเทียบแบบพูดความจริงไม่ครบ และละเลยรายละเอียด เพราะเรื่องความเดือดร้อนจากซิมดับไม่ได้มีสาระอยู่ที่จำนวนมากน้อยเป็นสำคัญ แต่อยู่ที่ว่าซิมที่ดับนั้นเป็นซิมที่มีการใช้งานมากน้อยเพียงใด และคนที่ต้องพึ่งพาหรือใช้งานซิมนั้นมีทางเลือกอื่นใดหรือไม่ รวมทั้งมีระยะเวลาเพียงพอที่จะจัดการปัญหาหรือไม่ นอกจากนั้น กสทช.ยังจงใจละเลยผู้ใช้บริการของทางบริษัท DTN จำนวน 22 ล้านเลขหมาย ที่มีการโรมมิงร่วมใช้คลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ของทางดีแทคด้วย
      สำหรับทางแก้นั้น น.ส.สารีระบุว่า กสทช.ควรเร่งนำคลื่นความถี่ออกประมูลอีกครั้ง โดยปรับกติกาให้สมเหตุสมผล โดยเฉพาะเรื่องราคาตั้งต้นประมูล ควรมีการศึกษาหาราคาที่เหมาะสม แล้วออกแบบการประมูลให้เป็นเรื่องของการแข่งขันจริงจัง เพื่อให้เกิดการกำหนดราคาโดยตลาดอย่างแท้จริง ไม่ดันทุรังตีกรอบในสิ่งที่ไม่ควรตี นอกจากนั้นก็ควรให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาจนกว่าที่จะมีการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อที่บริการจะได้มีความต่อเนื่องและมีคุณภาพดีเพียงพอ
    ทั้งนี้ จากกรณีที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา มีมติด้วยเสียงข้างมาก 4 ต่อ 2 ไม่ให้ดีแทคเข้าสู่มาตรการเยียวยาลูกค้าที่ใช้บริการบนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ หลังสัมปทานสิ้นสุดในวันที่ 15 ก.ย. กสทช.เสียงข้างน้อย นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน หนึ่งในผู้ลงมติแตกต่าง ได้จัดทำความเห็นของตนเอง เพื่อให้ทางสำนักงาน กสทช.ใส่ประกอบไว้ในรายการงานประชุมของ กสทช. สรุปว่า ทางออกในเรื่องนี้เห็นว่าควรตัดเงื่อนไขการประมูลที่ก่อภาระต่อเอกชนเกินกว่าการประมูลครั้งก่อนออก และไม่ต้องขยายงวดชำระเงินเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับผู้ชนะประมูลเดิม แล้วเร่งจัดประมูลในเวลาไม่เกิน 1-2 เดือน ก็จะทำให้มาตรการคุ้มครองที่เอกชนขอสิ้นสุดลงตามกลไกปกติ ดังเช่นในอดีต เนื่องจากการไม่ให้เข้าสู่มาตรการคุ้มครองฯ นอกจากจะกระทบประโยชน์สาธารณะ ยังทำให้คลื่นความถี่ไม่ถูกใช้งานให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศโดยรวม.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"