สึนามิ-น้ำท่วม-แผ่นดินไหว-ดินถล่ม 'จากประสบการณ์สู่การปฏิบัติ' เครือข่ายชุมชนทั่วประเทศเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติ..!!


เพิ่มเพื่อน    

(ดินโคลนถล่มที่บ้านห้วยขาบ อ.บ่อเกลือ จ.น่าน เมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา)

     ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลกมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและเกิดถี่ขึ้น เฉพาะในประเทศไทย เหตุการณ์น้ำท่วม-ดินโคลนถล่มปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง สร้างความเสียหายทั้งทรัพย์สินและชีวิตผู้คน อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์การเผชิญกับภัยพิบัติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศรวมตัวกันเป็นเครือข่ายเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติ นอกจากนี้เมื่อเกิดภัยขึ้นแล้ว พวกเขายังร่วมกันระดมความช่วยเหลือต่างๆ ส่งไปยังพื้นที่

ที่ประสบภัย ดังเช่นเหตุการณ์เขื่อนแตกในลาวและน้ำท่วมจังหวัดริมแม่น้ำโขงของไทยเมื่อเร็วๆ นี้

     เหตุการณ์แผ่นดินไหวใต้ทะเลอันดามันซึ่งทำให้เกิดคลื่นยักษ์ ‘สึนามิ’ ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2547 ถือเป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงที่สุดในประเทศไทย เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตทั้งคนไทยและต่างชาติประมาณ 5,300 คน (ไม่รวมความสูญเสียที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ) อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้นำไปสู่การรวมตัวของชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิเพื่อเตรียมการป้องกันภัยพิบัติต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีก โดยใช้ชื่อว่า “เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน”

จากผู้ประสบภัยสึนามิสู่การช่วยเหลือชุมชนภัยพิบัติ

     ปรีดา คงแป้น เลขานุการมูลนิธิชุมชนไท ซึ่งเป็นองค์กรหนึ่งที่มีบทบาทในการรวมกลุ่มผู้ประสบภัยสึนามิ เล่าถึงการรวมกลุ่มผู้ประสบภัยพิบัติสึนามิถล่มในพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอันดามันของไทยว่า เหตุการณ์ในครั้งนั้นมีชุมชนประสบภัยในระดับต่างๆ ถึง 407 ชุมชน จำนวนผู้เดือดร้อน 12,480 ครัวเรือน มีงบประมาณจากรัฐบาลและเงินบริจาคลงไปในพื้นที่จำนวนนับหมื่นล้านบาท

     ในเวลาต่อมาผู้ประสบภัยสึนามิกลุ่มหนึ่งที่มีประสบการณ์ในการจัดระบบการดูแลช่วยเหลือกันในเหตุการณ์ครั้งนั้น ได้รวมตัวกันเป็น “เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิและสิทธิชุมชน” มีสมาชิก 105 ชุมชน และนำไปสู่การผลักดันแก้ไขปัญหาในระดับนโยบาย เพราะนอกจากจะประสบปัญหาจากภัยสึนามิแล้ว ชุมชนชายฝั่งทะเลอันดามันยังมีปัญหาอื่นๆ ติดตามมา เช่น ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดิน นายทุนอ้างเอกสารสิทธิครอบครองที่ดินริมทะเลที่ชาวบ้านอยู่อาศัยมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ (กรณีชาวเลหาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ฯลฯ) ปัญหาสิทธิของชาวเล คนไทยพลัดถิ่น คนไร้สัญชาติ ฯลฯ

     นอกจากจะร่วมกันแก้ไขปัญหาของตนเองแล้ว เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิฯ ยังเข้าร่วมผลักดันการแก้ไขปัญหาของประชาชนกลุ่มต่างๆ เช่น เรื่องสิทธิที่ดินทำกิน ปัญหาป่าไม้ ทรัพยากร สิ่งแวดล้อม ประมงพื้นบ้าน ฯลฯ รวมทั้งการจัดทำแผนป้องกันภัยพิบัติในชุมชน โดยมีทีมงานเครือข่าย มีอุปกรณ์ในการรับมือภัยพิบัติ มีสัญญาณเตือนภัย มีการฝึกซ้อมเป็นประจำและทำหน้าที่เฝ้าระวังภัยและทำกิจกรรมทุกด้านในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

     นอกจากนี้เครือข่ายฯ ยังไปหนุนช่วยชุมชนอื่นๆ ได้ทันทีเมื่อเกิดภัยพิบัติ เช่น กรณีน้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ในปี 2553 ทีมเตรียมความพร้อมรับมือภัยพิบัติของเครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิฯ ได้เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ มีการสรุปบทเรียนให้ความรู้แก่ผู้ประสบภัยในพื้นที่ให้สามารถช่วยเหลือตนเองได้และสามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้เมื่อเกิดภัยพิบัติ รวมทั้งเมื่อน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลในปี 2554 เครือข่ายฯ ในภาคใต้หลายจังหวัดได้เข้ามาช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วย

     ปรีดากล่าวด้วยว่า รูปธรรมและกระบวนการที่ผ่านมาจึงเป็นบทพิสูจน์ของการ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส” โดยสร้างกระบวนการเรียนรู้ท่ามกลางการปฏิบัติ นอกจากนี้ภัยจากน้ำท่วมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ทุกภาคส่วนตื่นตัวและตระหนักว่าเป็นปัญหาที่ต้องร่วมกันแก้ไข

          “ดังนั้นการเปลี่ยนภัยพิบัติเป็น ‘กระบวนการพัฒนา’ ที่เน้นการมีส่วนร่วมของคน ชุมชน เครือข่าย และภาคีความร่วมมือ ควรเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะทำให้การฟื้นฟูทุกด้านเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและมีพัฒนาการต่อเนื่อง ไปสู่การมีแผนรับมือภัยพิบัติ รวมทั้งการจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติร่วมกันได้อย่างยั่งยืน” เลขานุการมูลนิธิชุมชนไทกล่าว

         นอกจากนี้ปรีดายังเสนอความเห็นว่า บทเรียนสำคัญจากเหตุการณ์ภัยพิบัติ ทั้งภัยพิบัติสึนามิ ภัยน้ำท่วม และภัยพิบัติอื่นๆ คือ ผู้ที่ประสบภัยจะรอรับความช่วยเหลือจากภายนอกอย่างเดียวไม่ได้เนื่องจากมีผู้เดือดร้อนจำนวนมาก ดังนั้นชุมชนจึงเป็นด่านแรกที่จะต้องรับมือกับภัยพิบัติ ในขณะที่การจัดการภัยพิบัติที่มาจากส่วนกลาง ไม่สามารถตอบสนองต่อการแก้ปัญหาและความต้องการของชุมชนได้ทั้งหมด รวมทั้งอาจจะละเลยศักยภาพทรัพยากรและภูมิปัญญาที่มีอยู่แล้วในชุมชน

          “ดังนั้นการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนเอง จึงเป็นทางเลือกหลัก โดยมีหลักการที่สำคัญ คือ การบรรเทาทุกข์ และสนับสนุนกระบวนการฟื้นฟูวิถีชีวิต โดยชุมชนผู้ประสบภัยเป็นแกนหลัก ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนผู้ประสบภัย ‘ตั้งทีม’ หรือลุกขึ้นมารวมกลุ่มแก้ปัญหาด้วยตนเองตั้งแต่ต้น และสนับสนุนให้เครือข่ายชุมชนหรือผู้ที่มีจิตสาธารณะอื่นๆ ได้เข้าไปหนุนช่วยอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างต่อเนื่องของชุมชนและเครือข่ายได้อย่างยั่งยืน” ปรีดาเสนอความเห็น

(น้ำท่วมในเขตเทศบาลหลัง จ.ชุมพร)

การจัดการภัยพิบัติ : ประสบการณ์จากชุมพร

     ชุมพรเป็นจังหวัดหนึ่งที่เคยเกิดภัยจากพายุพัดถล่มและน้ำท่วมมาแล้วหลายครั้ง ภัยพิบัติครั้งใหญ่คือพายุเกย์ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2532 ลมพายุไต้ฝุ่นที่มีระดับความเร็วถึง 185 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดขึ้นฝั่งในเขตอำเภอปะทิวและท่าแซะได้กวาดบ้านเรือนเสียหายกว่า 32,000 หลัง เรือประมงจมหายประมาณ 500 ลำ ผู้เสียชีวิตกว่า 400 คน มูลค่าความเสียหายกว่า 10,000 ล้านบาท

     ในเดือนสิงหาคม 2540 พายุโซนร้อนซีต้าพัดถล่มหลายภาคของประเทศไทย จังหวัดชุมพรหลายอำเภอได้รับผลกระทบครั้งนี้ด้วย โดยเฉพาะในเมืองชุมพรกระแสน้ำไหลทะลักเข้าท่วมตัวเมืองสูงกว่า 2 เมตร ส่วนถนนสายเอเซียทั้งขาขึ้น - ขาล่อง รวมทั้งเส้นทางรถไฟไม่สามารถสัญจรไปมาได้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 28 ราย ทรัพย์สินเสียหายประมาณ 2,000 ล้านบาท

     หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมหนักมาตลอดแทบจะทุกปี เช่น ในปี 2551, 2553 - 2555 และล่าสุดในปี 2560 เกิดน้ำท่วมใน 13 จังหวัดภาคใต้ จังหวัดชุมพรก็ได้รับผลกระทบอีกเช่นกัน โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำหลังสวน ซึ่งเป็นพื้นที่ต่ำ เกิดปัญหาน้ำท่วมแทบจะทุกปี

เครือข่ายจัดการภัยพิบัติลุ่มน้ำหลังสวน

     จากเหตุการณ์ภัยพิบัติและน้ำท่วมซ้ำซากในจังหวัดชุมพร ขบวนเครือข่ายองค์กรชุมชนในจังหวัดชุมพรจึงได้เริ่มรวมตัวกันตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา เพื่อเตรียมการป้องกันและรับมือกับภัยพิบัติ โดยเฉพาะพื้นที่ในอำเภอพะโต๊ะ จ.ชุมพร ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำหลังสวน มีสายน้ำหลายสายจากป่าเขาในเขตอำเภอท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี และเทือกเขาในอำเภอพะโต๊ะไหลมารวมกันกลายเป็นแม่น้ำหลังสวน แล้วไหลลงสู่พื้นราบผ่านตำบลต่างๆ ก่อนจะไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยที่ตำบลปากน้ำอ.หลังสวน จ.ชุมพร รวมระยะทางจากต้นน้ำถึงปลายน้ำประมาณ 95 กิโลเมตร

     จินดา บุญจันทร์ ในฐานะคนต้นน้ำหลังสวน อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร เล่าถึงจุดเริ่มต้นของแนวคิดในการจัดการภัยพิบัติว่า เกิดจากแกนนำชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมมานั่งคุยกัน แล้วตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไร เพื่อจะจัดการภัยพิบัติได้อย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และมีการเชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายในลุ่มน้ำต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล ประสบการณ์ และช่วยเหลือกัน รวมทั้งจะผลักดันการจัดการภัยพิบัติในระดับจังหวัดและระดับนโยบายได้อย่างไร ? ไม่ใช่แค่การมาแจกสิ่งของเพื่อบรรเทาทุกข์เฉพาะหน้า

     ในปี 2552 เครือข่ายลุ่มน้ำหลังสวน 4 ตำบลในอำเภอพะโต๊ะได้เริ่มจัดทำแผนจัดการภัยพิบัติ ต่อมาในปี 2554 ได้ขยายไปอีก 12 พื้นที่ โดยใช้สภาองค์กรชุมชนตำบลเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงาน มีการเชื่อมร้อยเป็นระบบลุ่มน้ำแบ่งเป็น 5 ลุ่มน้ำสำคัญ คือ 1.ลุ่มน้ำละแม ครอบคลุมพื้นที่ อ.ละแม 2.ลุ่มน้ำหลังสวนครอบคลุม อ.พะโต๊ะ และ อ.หลังสวน 3.ลุ่มน้ำสวี ครอบคลุม อ.สวี และบางส่วนของจังหวัดระนอง 4.ลุ่มน้ำท่าตะเภา ครอบคลุม อ.ท่าแซะและ อ.เมือง และ 5.ลุ่มน้ำชุมพร ครอบคลุมพื้นที่ อ.ปะทิว และ อ.เมือง

ใช้งานวิจัยเป็นฐานข้อมูลแก้ปัญหา

     ในช่วงปี 2555-2556 สำนักวิจัยพัฒนา และอุทกภัย กรมทรัพยากรน้ำร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการศึกษาวิจัย ‘โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาวิถีชีวิตและบทบาทของชุมชนในพื้นที่วิกฤติอุทกภัย : กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้’ โดยใช้พื้นที่ลุ่มน้ำหลังสวนเป็นพื้นที่ศึกษา เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำหลังสวนมีลักษณะต่างๆ เหมือนกับลุ่มน้ำอื่นๆ ในภาคใต้ และยังเป็นพื้นที่หนึ่งที่เกิดอุทกภัยรุนแรง ใช้รูปแบบการวิจัยแบบมีส่วนร่วม โดยมีผู้นำชุมชนและตัวแทนหน่วยงานราชการในท้องถิ่น จำนวน 46 คน เข้าร่วมเป็น ‘นักวิจัยทรัพยากรน้ำชุมชน’ ศึกษาวิจัยในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

     วัตถุประสงค์สำคัญของการวิจัย 1.เพื่อศึกษาสาเหตุของปัญหาและแนวทางการแก้ไขจากอดีตถึงปัจจุบัน 2.ศึกษาและวิเคราะห์การปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนที่ทำให้สามารถปรับตัวอยู่กับปัญหาอุทกภัยได้ 3.จัดทำมาตรการและแนวทางการจัดการอุทกภัย และ 4.เสนอรูปแบบและกลไกการดำเนินงานของเครือข่ายภาคประชาชน เพื่อจัดการปัญหาอุทกภัยอย่างมีประสิทธิผล โดยมีนักวิจัยทรัพยากรน้ำชุมชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อน

     ผลจากการวิจัยในครั้งนี้พบว่า ปัญหาอุทกภัยในภาคใต้ส่วนใหญ่เกิดจากอิทธิพลของลมมรสุมประจำฤดูกาลที่พัดเข้าสู่ภาคใต้ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศของโลกที่แปรปรวนและทวีความรุนแรงมากขึ้นจึงทำให้เกิดฝนนอกฤดูกาล ส่วนปัจจัยเร่งจะมาจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การขยายตัวอย่างรวดเร็วของเมือง โดยไม่มีการวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม การสร้างถนน ทางรถไฟ การถมพื้นที่เพื่อสร้างอาคาร และสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ขวางทางน้ำ

     การรุกล้ำพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่ต้นน้ำเพื่อปลูกยางพารา ปาล์มน้ำมัน สวนผลไม้ ซึ่งเป็นการปลูกพืชเชิงเดี่ยว และปลูกเป็นแถว เป็นแนว ทำให้ไม่มีต้นไม้ที่เคยเป็นปราการธรรมชาติช่วยชะลอน้ำเมื่อฝนตกหนักน้ำจากที่สูงจะไหลหลากลงสู่พื้นที่ราบต่ำอย่างรวดเร็ว เมื่อเจอกับอุปสรรคกั้นขวางทางเดินของน้ำจึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขัง ต้องใช้เวลาหลายวันกว่าน้ำจะระบายลงสู่ทะเล

     นอกจากนี้น้ำที่ไหลจากภูเขาสูงลงมาอย่างรวดเร็วยังทำให้เกิดการชะล้างหน้าดิน โดยเฉพาะการปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันซึ่งเป็นพืชที่ไม่มีรากแก้วอาจทำให้ต้นไม้โค่นล้มหรือดินโคลนถล่ม ทำความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งทำให้แม่น้ำตื้นเขินได้ ในปี 2540 ที่เกิดพายุซีต้า ทำให้พื้นที่ที่เคยทำนาใน อ.พะโต๊ะ ถูกตะกอนดินโคลนทับถมที่นาเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านที่เคยทำนาต้องเปลี่ยนอาชีพมาปลูกสวนปาล์มน้ำมัน

ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นป้องกันภัยพิบัติ

     จากการวิจัยในครั้งนี้ยังพบว่า ชาวบ้านและเครือข่ายลุ่มน้ำต่างๆ ได้นำประสบการณ์ที่เคยเผชิญกับภัยพิบัติมาใช้ในการป้องกันภัย เช่น พื้นที่ต้นน้ำหลังสวน ในเขต อ.พะโต๊ะ มีการสร้างฝายชะลอน้ำและอนุรักษ์ดิน โดยการ สร้างฝายชะลอน้ำในคลองเพื่อไม่ให้น้ำและตะกอนดินไหลลงปลายน้ำเร็วเกินไปจนทำให้ตลิ่งพัง ลำคลองตื้นเขิน, ปลูกต้นแฝกเพื่อป้องกันตลิ่งพังทลาย และปลูกต้นไม้แทรกในสวนยางพารา เพื่อชะลอการไหลของน้ำป้องกันหน้าดินพังทลาย ฯลฯ

     พื้นที่ปลายน้ำ เช่น ที่หมู่ 14 ตำบลนาพญาอ.หลังสวน มีชาวบ้านสร้างบ้านลอยน้ำเพื่อเตรียมไว้เป็นที่อยู่อาศัยเมื่อเกิดน้ำท่วม โดยใช้ถังน้ำขนาด 200 ลิตร จำนวน 12 ถัง มาทำเป็นแพ ปูพื้นด้วยไม้กระดาน และใช้สังกะสีมาทำเป็นฝาและหลังคาบ้าน ขนาดประมาณ 4 X 6 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน 30,000 บาท เมื่อเกิดน้ำท่วมแพก็จะลอยขึ้นตามระดับน้ำใช้เป็นที่อยู่อาศัยของครอบครัวได้

     ที่ตำบลบ้านควน อ.หลังสวน อบต.บ้านควนได้สนับสนุนชาวบ้านให้ปลูกไผ่เพื่อช่วยยึดหน้าดินและชะลอน้ำป้องกันไม่ให้ตลิ่งพังเนื่องจากที่ผ่านมา เมื่อเกิดน้ำท่วมหลาก กระแสน้ำจะกัดเซาะตลิ่งทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ดิน การปลูกไผ่จะช่วยให้รากยึดเหนี่ยวดิน หน่อไผ่นำมาทำเป็นอาหาร ไม้ไผ่นำมาทำเครื่องจักสาน ฯลฯ

 

(สมชาย สำเภาอินทร์ กับกระบอกวัดปริมาตรน้ำฝน)

ต่อยอดงานวิจัยป้องกันภัยในลุ่มน้ำหลังสวน

     สมชาย สำเภาอินทร์ หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลเมืองหลังสวน ซึ่งเคยอยู่ในทีมวิจัย ‘นักวิจัยทรัพยากรน้ำชุมชน’ ในช่วงปี 2555-2556 เล่าว่า ข้อมูลจากการวิจัย โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาวิถีชีวิตและบทบาทของชุมชนในพื้นที่วิกฤติอุทกภัย : กรณีศึกษาพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้’ ในครั้งนั้นเป็นประโยชน์อย่างมากในการนำมาใช้วางแผนเพื่อเตรียมพร้อมกับการรับมือกับภัยพิบัติตลอดลุ่มน้ำหลังสวน โดยหลังจากการวิจัยจบลงในช่วงกลางปี 2556 ได้มีการจัดตั้ง ‘เครือข่ายการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน’ ขึ้นมา มีตนเป็นประธานเครือข่ายฯ มีคณะกรรมการ 15 คน ครอบคลุม

พื้นที่ 2 อำเภอ (พะโต๊ะ,หลังสวน) รวม 15 ตำบล มีการขับเคลื่อนงานต่างๆ เช่นจากเดิมที่มีการติดตั้งเครื่องโทรมาตรเก็บข้อมูลระดับน้ำตั้งอยู่ที่พะโต๊ะ 1 เครื่องและที่สะพานบ้านด่าน 1 เครื่อง ซึ่งทั้ง 2 จุดอยู่ห่างกันประมาณ 60 กิโลเมตร และต้องใช้โทรศัพท์สอบถามข้อมูลเรื่องปริมาณน้ำฝน จึงอาจทำให้การรับรู้ข้อมูลล่าช้า ไม่ทันสถานการณ์อุทกภัย รวมทั้งองค์ความรู้ที่จะนำมาวิเคราะห์หรือพยากรณ์น้ำก็จำกัดอยู่เฉพาะเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง แต่หลังจากที่มีการจัดตั้งเครือข่ายฯ ขึ้นมาแล้ว ได้มีการติดตั้งกระบอกวัดปริมาณน้ำฝน

ขึ้นในพื้นที่ต้นน้ำที่พะโต๊ะ รวมทั้งหมด 40 จุดเป็นกระบอกวัดน้ำขนาดความจุ 200 มิลลิเมตร และได้ถ่ายทอดความรู้ในการวิเคราะห์และพยากรณ์น้ำให้แก่ชุมชนท้องถิ่น โดยผ่านนักวิจัยของเครือข่ายฯ จำนวน 46 คน

     ทุกวันที่ฝนตก เจ้าหน้าที่เครือข่ายฯ จะรายงานปริมาณน้ำฝนที่วัดได้จากกระบอกวัดน้ำฝนทั้งหมด แล้วรายงานข้อมูลผ่านไลน์กลุ่มในเวลา 7 โมงเช้าทุกวัน เพื่อนำมาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำเช่น หากปริมาณฝนตกในพื้นที่ต้นน้ำมีค่าเฉลี่ยสูงกว่า 100 มิลลิเมตรติดต่อกันเป็นเวลา 2 วัน พื้นที่ปลายน้ำที่หลังสวนก็จะเกิดน้ำท่วม โดยน้ำจากพะโต๊ะจะใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมงจึงจะไหลลงมาถึงหลังสวน เมื่อรู้ข้อมูลนี้เครือข่ายฯ ก็จะนำมาแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมพร้อมอพยพ หรือขนย้ายข้าวของ สัตว์เลี้ยง ไปอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น วิทยุสื่อสาร หอกระจายข่าว วิทยุในท้องถิ่น รถกระจายเสียงเคลื่อนที่ ทำให้ประชาชนได้รู้ข้อมูลล่วงหน้าและเตรียมตัวได้ทัน” ประธานเครือข่ายการจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนลุ่มน้ำหลังสวนยกตัวอย่าง

     นอกจากการวัดปริมาณน้ำฝนเพื่อแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าแล้ว เครือข่ายฯ ยังได้เสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาระยะยาวผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น การทำท่อระบายน้ำลอดใต้ถนนเพชรเกษม (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 41) ในช่วงที่ผ่านอำเภอหลังสวน เพื่อไม่ให้น้ำท่วมขังอำเภอหลังสวน เนื่องจากถนนเพชรเกษมเป็นเส้นทางที่ปิดกั้นทางไหลของน้ำตามธรรมชาติที่มีมาแต่เดิมเมื่อมีปริมาณน้ำมากและน้ำระบายไม่ทันก็จะทำให้น้ำท่วมขัง และท่วมถนนเพชรเกษม ทำให้รถยนต์ไม่สามารถสัญจรไปมาได้ (ปัจจุบันแขวงทางหลวงชุมพรสร้างท่อลอดเหลี่ยมคอนกรีต (Box Culvert) ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.50 เมตรลอดใต้ถนนเพชรเกษมบริเวณหน้าหมวดทางการหลังสวน และบริเวณหน้าโรงพยาบาลหลังสวนเสร็จแล้ว)

โครงการขุดคลองเพื่อผันน้ำจากหลังสวนออกสู่อ่าวไทย

     สมชายเล่าว่า โครงการนี้เครือข่ายฯ ได้เสนอแนวคิดนี้ผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา และนำเสนอผ่านเวทีการสัมมนาแก้ไขปัญหาภัยพิบัติหลายครั้ง ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำได้เข้ามาสำรวจข้อมูลในพื้นที่แล้ว ซึ่งเส้นทางการขุดคลองที่เครือข่ายฯ เสนอไปนั้น จะเริ่มจากคลองแม่เล ต.ท่ามะพลา ผ่านพื้นที่ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่สาธารณะไปยังคลองบ้านจมูกโพรง ต.บางมะพร้าว อ.หลังสวน เพื่อผันน้ำจากจากคลองหลังสวนลงทะเล รวมระยะทางทั้งหมดประมาณ 24 กิโลเมตร

     การขุดคลองออกสู่ทะเลนี้ บางเส้นทางก็เป็นคลองหรือเป็นลำรางเดิมอยู่แล้ว แต่มีการถมดิน ถมพื้นที่ เพื่อปลูกผลไม้ ปลูกปาล์ม บางทีก็มีการตัดกิ่งไม้ลงในคลองทำให้คลองตื้นเขิน หรือสร้างบ้านขวางทางน้ำถ้ามีการขุดคลองเส้นนี้ออกสู่ทะเลได้ รวมทั้งการทำท่อลอดเหลี่ยมระบายน้ำใต้ถนนเพชรเกษมแล้วเสร็จ ผมเชื่อว่าจะแก้ปัญหาน้ำท่วมอำเภอหลังสวนได้อย่างถาวรแน่นอน” สมชายกล่าว

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"