รื้อทิ้งไพรมารีโหวต ม.44คลายล็อกแต่หามใช้โซเชียลหาเสียง/นักการเมืองดี๊ด๊า


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กตู่" ใช้ ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/61 ผ่อนคลายกิจกรรมทางการเมืองที่จำเป็นบางกรณีในช่วง 90 วัน พรรคการเมืองแจ้ง กกต.ไม่น้อยกว่า 5 วัน ถือว่าได้รับอนุญาตจาก คสช. รื้อไพรมารีโหวต ใช้ กก.สรรหา 11 คนแทน ไฟเขียวใช้โซเชียลมีเดียได้แต่ห้ามหาเสียง "เพื่อแม้ว" ได้คืบเอาศอก ย้ำต้องปลดล็อก "มาร์ค" คึกประชุมพรรค 17 ก.ย. ด้าน กกต. นัดแจงพรรคการเมือง 28 ก.ย.นี้ขีดเส้นกลุ่มการเมืองที่ยังไม่ยื่นจัดตั้งพ้น 27 ก.ย.นี้ขาดคุณสมบัติ   ผบ.ทบ.ระบุอยู่ที่ ผบ.ทบ.คนใหม่จะถอนกำลัง กกล.รส.หลังปลดล็อกหรือไม่  

    เมื่อวันศุกร์ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 13/2561  เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงนามโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย.2561 เป็นต้นไป
    คำสั่งดังกล่าวมีเนื้อหาระบุว่า ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ลงวันที่ 22 ธ.ค.2560 ดังนั้น เพื่อให้สถานการณ์ของบ้านเมืองที่มีความสงบเรียบร้อยระดับหนึ่งในขณะนี้ยังคงดำเนินอยู่ต่อไปในห้วงเวลาการปฏิรูปประเทศตามแผนการปฏิรูปประเทศ จึงยังคงจำเป็นต้องให้ประกาศ คสช.หรือคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวกับการดำเนินการของพรรคการเมืองยังคงมีผลใช้บังคับต่อไป แต่เพื่อให้การจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนั้นเป็นไปตามเวลาที่กำหนดไว้ในมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และเพื่อให้พรรคการเมืองทั้งที่จัดตั้งขึ้นใหม่และจัดตั้งมาก่อนแล้ว อีกทั้งไม่ว่าจะเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกมากหรือน้อยเพียงใด สามารถเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นตามเวลาดังกล่าวได้ 
    "จึงควรผ่อนคลายการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่จำเป็นบางกรณีซึ่งพรรคการเมืองต้องดำเนินการก่อนการเลือกตั้ง โดยให้สามารถดำเนินการได้ในช่วงระยะเวลาเก้าสิบวันนับแต่มีการประกาศพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นระยะเวลาเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับต่อไป"
    อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกอบกับมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 จึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้
    ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในมาตรา 141 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560  และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 141 ในวาระเริ่มแรก ให้พรรคการเมืองตามมาตรา 140 ดำเนินการในเรื่องและภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้ (1) จัดให้มีทุนประเดิมจำนวนหนึ่งล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 มีผลใช้บังคับ 
    (2) จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 จำนวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปี พ.ศ. 2561 ภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 มีผลใช้บังคับ และให้พรรคการเมืองแจ้งให้นายทะเบียนทราบพร้อมด้วยหลักฐานแสดงการชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสิบห้าวันนับแต่วันพ้นระยะเวลาชาระค่าบำรุงพรรคการเมืองดังกล่าว
    (3) จัดให้มีสมาชิกซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 24 ชำระค่าบำรุงพรรคการเมืองให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าห้าพันคนภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้า คสช.13/2561 มีผลใช้บังคับ และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนภายในสี่ปีนับแต่วันที่คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 มีผลใช้บังคับ 
    ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่าพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) และมาตรา 141/1 (1) และ (2) ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด คณะกรรมการอาจมีมติให้ขยายระยะเวลาดังกล่าวออกไปได้อีกหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่กำหนดไว้ในแต่ละเรื่อง ให้พรรคการเมืองที่ไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จสิ้นสภาพลง ในระหว่างเวลาที่พรรคการเมืองยังปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) และมาตรา 141/1 (1) และ (2) ไม่ครบถ้วน จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้การวินิจฉัยเรื่องใดๆ ตามมาตรานี้ที่มีผลกระทบต่อพรรคการเมือง ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการที่จะวินิจฉัย ในกรณีที่พรรคการเมืองไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของคณะกรรมการให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยได้ภายในหกสิบวัน
แจ้ง กกต. 5 วันประชุมได้
    ข้อ 2 ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นมาตรา 141/1 แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 141/1 เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก่อนที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ พรรคการเมืองใดประสงค์จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองดังต่อไปนี้ ให้แจ้งให้คณะกรรมการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าห้าวัน และเมื่อได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแล้ว ให้ถือว่าได้รับอนุญาตจาก คสช. ตามประกาศ คสช.และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่เกี่ยวข้อง
    (1) แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ คำประกาศอุดมการณ์ทางการเมือง และนโยบายของพรรคการเมือง ให้ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ และให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะมีผลใช้บังคับด้วย (2) เลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง  (3) จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองหรือแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด (4) รับสมาชิกของพรรคการเมือง (5) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง และสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง (6) มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (7) กิจกรรมทางการเมืองอื่นที่ คสช.กำหนด
    ในกรณีที่ต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามวรรคหนึ่ง ถ้าองค์ประชุม ของที่ประชุมใหญ่ ประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองเท่าที่มีอยู่ และมีสมาชิกของพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคนแล้ว ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมดำเนินการดังกล่าวได้  
    ให้พรรคการเมืองตามมาตรา 140 ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง (1) และ (2) ให้แล้วเสร็จก่อนครบกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ในราชกิจจานุเบกษา สำหรับการดำเนินการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่ง (3) ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่มีการประกาศ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในราชกิจจานุเบกษา”
    ข้อ 3 ให้ยกเลิกความในมาตรา 142 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองและให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 142 ในระหว่างที่พรรคการเมืองใดยังดำเนินการตามมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (1)และ (2) และมาตรา 141/1 (1) (2) และ (3) ไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้แก่พรรคการเมืองนั้น”
    ข้อ 4 ให้ยกเลิกความในมาตรา 144 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “มาตรา 144 มิให้นำมาตรา 47 มาตรา 48 มาตรา 49 วรรคหนึ่งและวรรคสอง มาตรา 50 มาตรา 51 มาตรา 52 มาตรา 53 มาตรา 54 มาตรา 55 และมาตรา 56 มาบังคับใช้กับการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่มีขึ้นภายหลังจากวันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีผลใช้บังคับ แต่ในการพิจารณาส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง ให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
    (1) จัดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนสี่คน และตัวแทนสมาชิกที่พรรคการเมืองเลือกจำนวนเจ็ดคน มีหน้าที่และอำนาจในการพิจารณาและเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบ
กก.11 คนแทนไพรมารี
    (2) ในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองเพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองให้ความเห็นชอบนั้น ให้พิจารณาจากสมาชิกผู้ซึ่งยื่นความจำนงด้วยตนเองและผู้ซึ่งสมาชิกเสนอ ตาม
หลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งกำหนด โดยให้คำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมกันระหว่างชายและหญิงด้วย และให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งรับฟังความคิดเห็นของหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสมาชิก ที่เกี่ยวข้องมาประกอบการพิจารณาในการสรรหาด้วย
    (3) ในกรณีที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองเห็นชอบบุคคลที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้หัวหน้าพรรคการเมืองออกหนังสือรับรองการส่งผู้ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมัคร รับเลือกตั้งเพื่อประกอบการสมัครรับเลือกตั้งโดยการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ให้พรรคการเมืองจัดทำบัญชีรายชื่อด้วย
    (4) ถ้าคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ให้ความเห็นชอบบุคคลใดที่คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งเสนอ ให้คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งดำเนินการสรรหาบุคคลแทนบุคคลนั้นหากคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งยืนยันเสนอชื่อบุคคลเดิมและคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่เห็นชอบด้วย ให้คณะกรรมการบริหารพรรคและคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งประชุมร่วมกัน เมื่อที่ประชุมมีมติเป็นประการใดให้ดำเนินการไปตามมตินั้น การลงมติดังกล่าวให้กระทำโดยวิธีลงคะแนนลับ
    (5) ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองได้ให้ความเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งตาม (3) หรือนับแต่วันที่มีมติเห็นชอบรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งของที่ประชุมร่วมกันตาม (4) ให้พรรคการเมืองเปิดเผยรายชื่อผู้ได้รับการสรรหาเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งโดยการประกาศให้ทราบเป็นการทั่วไป
    (6) การส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.สำหรับการเลือกตั้งทั่วไปแทนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่เป็นโมฆะ หรือการเลือกตั้งใหม่ในกรณีที่ไม่มีผู้ใดได้รับเลือกตั้ง หรือกรณีที่ผู้สมัครตายก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง หรือกรณีที่ผู้ได้รับเลือกตั้งพ้นจากตำแหน่งไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้ดำเนินการตามมาตรานี้”
    ข้อ 5 ให้ยกเลิกความในมาตรา 146 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และให้ใช้ความต่อไปนี้แทนมาตรา 146 ในการเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองภายในสามปีนับแต่วันที่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ พรรคการเมืองจะเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองต่ำกว่าอัตราที่กำหนดตามมาตรา 15 (15) ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าห้าสิบบาท”
    ข้อ 6 พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศหรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งและ คสช.อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดำเนินการดังกล่าวก็ได้
    ข้อ 7 ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวกำหนด และให้จัดทำและประกาศเขตเลือกตั้ง ให้แล้วเสร็จก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีผลใช้บังคับ
เพื่อแม้วปลดล็อกเท่านั้น
    ด้านนายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคและฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงคำสั่งคลายล็อกดังกล่าวว่า จุดยืนของพรรคยังคงเรียกร้องให้มีการปลดล็อกอย่างเด็ดขาด ให้พรรคได้ทำกิจกรรมการเมืองในสิ่งที่ควรทำได้ แต่การยังคงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 และประกาศ คสช.ฉบับที่ 57/57 ทำให้พรรค ไม่สามารถลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อเตรียมจัดทำเป็นนโยบายได้ เนื่องจากยังติดคำสั่งห้ามชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป พรรคการเมืองเลยทำนโยบายไม่ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย นอกจากนี้ ในประกาศคลายล็อกข้อที่ 6 ที่ระบุให้ใช้ สื่อโซเชียลติดต่อคนที่มีตำแหน่งและสมาชิกพรรคได้ แต่ต้องไม่ใช่ในการหาเสียงนั้น มีความหมายว่าอย่างไร ถ้าหากพรรครับฟังความเห็นสมาชิกพรรคทำนโยบายอย่างนี้จะได้หรือไม่
     "ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน ควรมีการเปิดให้พรรคทำนโยบายได้โดยไม่มีข้อจำกัด ทั้งนี้ เนื้อหาการคลายล็อกคงเพียงแค่ให้พรรคจัดการเรื่องภายในพรรคเลือกข้อบังคับ เรื่องการเลือกกรรมการบริหารพรรคได้เท่านั้น ซึ่งถ้าปลดล็อก ทุกพรรคจะได้มาแข่งขันเต็มที่ " นายนพดลกล่าว     
    พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคพร้อมดำเนินการทุกอย่างตามที่ คสช.อนุญาต จะจัดการประชุมพรรคในเร็วๆ นี้ โดยจะต้องแก้ไขข้อบังคับพรรคก่อน จากนั้นจะดำเนินการเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ เพราะกรรมการบริหารพรรครักษาการมานานแล้ว ส่วนจะเป็นใคร ขึ้นกับที่ประชุมพรรค ซึ่งสมาชิกเป็นผู้ให้ความเห็น  
    ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความผ่านแอปพลิเคชันไลน์ว่า   คสช.ออกคำสั่งคลายล็อกแล้ว พรรคประชาธิปัตย์จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (17 ก.ย.) และตั้งเป้าที่จะจัดให้มีการประชุมใหญ่ในวันจันทร์ที่ 24 ก.ย. เพื่อแก้ข้อบังคับให้เรียบร้อย หลังจากนั้นจะสามารถเปิดรับสมาชิกใหม่ได้
    นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงคำสั่งคลายล็อกว่า จะส่งผลดีต่อพรรคการเมืองเพื่อดำเนินกิจการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ส. ซึ่งเป็นกิจการภายในพรรคได้คล่องตัวขึ้น เพื่อไปสู่การเลือกตั้งได้สำเร็จ โดยอาศัยคณะกรรมการสรรหา 11 คน จากสมาชิกพรรค 7 คน และกรรมการบริหารพรรค 4 คน ก็ถือว่าเป็นการทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมแล้ว ในทางกลับ หากยังไม่ยกเลิกไพรมารีโหวต ก็จะเป็นอุปสรรคสำคัญที่พรรคต่างๆ จะส่งผู้สมัครครบทั้ง 350 เขต ทั้งนี้เชื่อว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้ามั่นใจทุกพรรคสามารถทำไพรมารีโหวตได้เต็มรูปแบบ เพราะมีเวลาเตรียมพร้อม
    ก่อนหน้านั้น ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. แถลงถึงการนัดประชุมร่วมกับพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ว่า จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อ คสช.คลายล็อกก่อน เพื่อให้พรรคการเมืองได้ศึกษาคำสั่งและนำมาสอบถาม กกต.ในประเด็นที่มีข้อสงสัย หากมีประเด็นใดที่ กกต.ตอบไม่ได้ ก็จะได้หารือไปยังคสช.ในการประชุมร่วมระหว่าง คสช.แม่น้ำห้าสายและพรรคการเมืองกับกลุ่มการเมืองตามข้อ 8 ในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560
    รองเลขาธิการ กกต.กล่าวเตือนกลุ่มการเมืองที่ยังไม่ได้ยื่นจดจัดตั้งพรรคการเมืองว่า อาจจะมีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา 97 (3) ให้สังกัดพรรคการเมือง 90 วัน ก่อนวันเลือกตั้ง โดยขณะนี้มีพรรคการเมือง 74 พรรค และมีกลุ่มที่ยื่นขอจดทะเบียน 15 พรรคจองไว้แต่ยังไม่จดทะเบียน 118 กลุ่ม ซึ่งถ้าการเลือกตั้งเป็นวันที่ 24 ก.พ. วันสุดท้ายของ 90 วันคือวันที่ 26 พ.ย.พรรคเก่าจะไม่มีปัญหา จึงขอให้มายื่นจัดตั้งพรรคการเมืองไม่เกิน 27 ก.ย. เพราะ กกต.ใช้เวลา 45-60 วันในการพิจารณารับรอง 
ถอนกำลังอยู่ที่ "บิ๊กแดง"
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หนึ่งในกลุ่มการเมืองที่อาจเข้าข่ายเสียงต่อปัญหาผู้สมัคร ส.ส.ขาดคุณสมบัติเพราะสังกัดพรรคไม่ถึง 90 วัน คือกลุ่มพลังประชารัฐ ที่เพิ่งจะนัดประชุมใหญ่ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคในวันที่ 29 ก.ย. ทำให้ยังไม่ได้มีการยื่นจดจัดตั้งพรรคภายในวันที่ 27 ก.ย. ตามที่นายแสวงได้ออกมาเตือน อีกทั้งกลุ่มดังกล่าวยังมีกระแสข่าวตลอดว่าอยู่ในระหว่างการทาบทามอดีต ส.ส.จากหลายพรรคการเมืองเข้าสังกัด โดยที่คนเหล่านั้นยังไม่เป็นสมาชิกพรรค อาจทำให้เกิดปัญหาคุณสมบัติไม่ครบ เพราะสังกัดพรรคไม่ถึง 90 วัน
    นายธวัชชัย เทอดเผ่าไทย กกต. เปิดเผยว่า สำนักงาน กกต.ได้นัดประชุมพรรคการเมืองในวันที่ 28 ก.ย. นี้ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจว่าพรรคการเมืองสามารถดำเนินการอะไรได้บ้างหลังจากที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งคงจะได้รับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองทั้งเรื่องการขอความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบการหาเสียง การหาสมาชิก รวมถึงข้อสงสัยต่างๆ ที่พรรคการเมืองต้องการทราบเพราะเป็นกติกาใหม่ตามรัฐธรรมนูญ โดยในส่วนของ กกต. ได้ร่างระเบียบรองรับทั้ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.และการเลือกตั้ง ส.ส.เอาไว้แล้ว ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์หน้า จากนั้นสามารถดำเนินการได้ทันที 
    พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวภายหลังมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ว่า ถือเป็นการนับหนึ่ง ทุกส่วนมีบทบาทที่จะต้องทำตามบทบาทของตนเอง ในส่วนของกองทัพ มีส่วนที่เป็นกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) คสช.ได้พิจารณาบทบาทของ กกล.รส.ให้มีความเหมาะสมในช่วงของการคลายล็อกทางการเมืองตั้งแต่ช่วงนี้ไปจนถึงกลางเดือน ธ.ค. และช่วงที่เปิดให้หาเสียงเลือกตั้งได้ก็ต้องพิจารณาบทบาท กกล.รส.อีกครั้ง ว่าทหารจะมีบทบาทอย่างไรให้เหมาะสมเป็นที่ยอมรับของสังคม กกล.รส.มีภารกิจที่รับผิดชอบชัดเจน ส่วนใหญ่เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง สิ่งที่กังวลก็คือการนำไปเชื่อมโยงระหว่างทหารกับการสนับสนุนการเลือกตั้ง ต้องพยายามทำความเข้าใจ 
    ผบ.ทบ.กล่าวถึงบทบาทของผู้บัญชาการเหล่าทัพใน คสช.ว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ.คนใหม่คงเป็นเลขาธิการ คสช.ตามตำแหน่ง ทั้งนี้ ผบ.เหล่าทัพยังคงเป็นบอร์ดของ คสช.ต่อไป เพราะ คสช.จะยังคงทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่ ส่วนจะมีการถอนทหารในการทำหน้าที่ กกล.รส.ช่วงเดือน ธ.ค.ที่จะปลดล็อกนั้น ต้องดูว่าเลขาธิการ คสช.คนใหม่จะพิจารณาว่าตรงไหนที่เหมาะสม ซึ่งทหารคงไม่อยากเข้าไปเกี่ยวข้อง แม้แต่การช่วยเหลือประชาชนช่วงนั้นก็อาจถูกตีความว่าไปช่วยใครต้องใช้ดุลยพินิจที่เหมาะสม สมควร และสังคมยอมรับ
    นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ระบุว่าจะพูดนโยบายของพรรคในช่วงเดือน ต.ค. ก่อนมีปลดล็อกทางการเมือง จะถือว่าฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.หรือไม่ ว่าถ้าพูดเป็นก็พูดได้ แม้จะยังมีล็อกอยู่ก็ตาม ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อย่าตั้งหลักว่านี่คือนโยบายหาเสียงก็แล้วกัน คำว่าหาเสียงแปลว่าอะไร มันมีวิธีของมันอยู่ กกต.จ้องจับผิดเรื่องนี้อยู่ ถ้าพูดกว้างเหมือนที่พูดกันมาแล้วไม่มีใครห้าม แต่ถ้าพูดให้มันผิดก็จะผิด เช่น ถ้าพูดว่าเพราะฉะนั้นจึงขอโปรดเลือกพรรคเรา แบบนั้นคือการหาเสียง เชื่อว่านักการเมืองเขาทำเป็น แต่ก็จะยุ่งหน่อยสำหรับนักการเมืองมือใหม่ จึงต้องระวัง เพราะมีคนคอยจดบันทึกไว้ เมื่อไปพลาดหนักเข้ามันจะโดน เตือนด้วยความหวังดี ไม่ได้ขู่ ส่วนการเชิญชวนประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้งนั้น สามารถทำได้เหมือนที่นายกฯ บอกให้เด็กอายุ 18 ปี ไปใช้สิทธิเลือกคน    
วิษณุอุ้มพุทธิพงษ์
    มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลัง ครม.มีมติแต่งตั้งนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เมื่อวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยหลังจากนั้นนายพุทธิพงษ์ได้เข้ารายงานตัวและรับมอบหมายงานกับ พล.อ.ประยุทธ์ ล่าสุดเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาดูห้องทำงานให้กับนายพุทธิพงษ์ ที่ชั้น 2 ตึกบัญชาการ 2 พร้อมกับสั่งให้เจ้าหน้าที่ขนย้ายของออกจากห้องทันที พร้อมให้ทำความสะอาดและจัดเตรียมห้องทำงานใหม่ โดยให้รวมห้องประชุมของสำนักโฆษกฯ เป็นส่วนหนึ่งของห้องทำงานนายพุทธิพงษ์ด้วย สำหรับห้องทำงานดังกล่าว ก่อนหน้านี้เป็นห้องประจำตำแหน่งของผู้อำนวยการสำนักโฆษกสำนักเลขาธิการนายกฯ
    ด้านนายพุทธิพงษ์เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบว่าห้องทำงานตนเองอยู่ที่ใด ก็คงต้องแล้วแต่เลขาฯ ตนทำงานที่ห้องไหนก็ได้ คาดว่าจะเข้ามานั่งทำงานได้ในวันที่ 19 ก.ย.นี้ เนื่องจากในวันที่ 17-18 ก.ย. นายกฯ และคณะมีกำหนดการประชุม ครม.สัญจรที่ จ.เพชรบูรณ์   จึงจะต้องรอรับคำสั่งจากนายกฯ ในการมอบหมายกรอบการทำงานอย่างเป็นทางการ การประชุมครม.สัญจรในครั้งนี้ ตนไม่ได้เดินทางไปด้วย เนื่องจากเพิ่งเข้ารับตำแหน่ง อาจจะกะทันหันในการเตรียมการ ซึ่งคาดว่าอาจจะเดินทางไปได้ในครั้งหน้า
    นายวิษณุ เครืองาม กล่าวถึงกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย คัดค้านมติ ครม.แต่งตั้งนายพุทธิพงษ์ เป็นการขัดต่อจริยธรรมอย่างร้ายแรง เนื่องจากยังเป็นผู้ถูกกล่าวหาในชั้นศาลในคดีกบฏร่วมกับแกนนำ กปปส.ว่า ทุกคนมีพฤติกรรมผิดกฎหมายกันทั้งนั้น หากเรามองว่าผิด แต่รัฐธรรมนูญระบุว่าตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาศาล ก็ถือว่าทุกคนบริสุทธิ์  ในอดีตมีคนที่ขึ้นศาลและเป็นจำเลยแล้ว แต่ยังเป็นรัฐมนตรีก็มี เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วถูกศาลฟ้องก็มี ดังนั้นจึงไม่ใช่ความหมายของการคบหาสมาคมอย่างนั้น เพราะการคบหาสมาคมในความหมายของประมวลจริยธรรมนั้น มีความหมายของมันเอง ฉะนั้นขอให้คนที่มีหน้าที่ดูแลประมวลจริยธรรมไปวินิจฉัยเอง.
    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"