อธิบดีปศุสัตว์สั่งแจ้งเอาผิดชำแหละวัวบ้า


เพิ่มเพื่อน    

    อธิบดีปศุสัตว์สั่งปศุสัตว์จังหวัดแจ้งความดำเนินคดีเจ้าของวัวที่ตายเพราะพิษสุนัขบ้า ชำแหละเนื้อขายโดยไม่เชื่อฟังคำแนะนำเจ้าหน้าที่ที่ให้กลบฝัง พบมีผู้ซื้อไปปรุงอาหารกระจาย 2 อำเภอ เข้าฉีดวัคซีนแล้ว 35 คน แพทย์ชี้ผู้ชำแหละมีโอกาสติดโรคมากที่สุด รองลงไปคือผู้ปรุงอาหาร และหากปรุงสุก คนกินเสี่ยงน้อย
    เมื่อวันที่ 16 กันยายนนี้ นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกรณีชาวบ้าน อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช รับประทานเนื้อวัวที่ตายจากโรคพิษสุนัขบ้า โดยเจ้าของนำมาชำแหละขายโดยไม่เชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ที่ให้ฝังกลบทำลายซาก ว่า ได้สั่งการปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราชแจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าของวัวแล้ว กรณีจำหน่ายสัตว์ตายโดยมิได้ถูกฆ่า และไม่ได้ตรวจโรคโดยพนักงานตรวจโรคสัตว์ ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ควบคุมการฆ่าสัตว์ มาตรา 36/ 37/ 38 มีโทษตามมาตรา 56/ 60/ 62 จำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน มีโทษจำคุก 1-2 ปี ปรับ 1-2 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และในวันอาทิตย์ได้จัดประชุมภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งปศุสัตว์ สาธารณสุข นายอำเภอ ฝ่ายปกครอง ผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการในการแก้ไขปัญหา
    นายสัตวแพทย์สรวิศกล่าวว่า ได้รับรายงานข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 7 ก.ย.61 เจ้าหน้าที่ผสมเทียม อ.พรหมคีรี ได้รับแจ้งวัวป่วย มีอาการซึม น้ำลายไหลยืด และถ่ายเหลวเป็นเลือด เจ้าหน้าที่จึงได้ทำการรักษาวัวตัวดังกล่าว จนวันที่ 12 ก.ย. วัวได้ตายลง เจ้าของวัวได้ทำการผ่าซาก และปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรีได้เข้าตรวจสอบ พบม้ามมีลักษณะดำคล้ำ บริเวณลำไส้มีจุดเลือดออก ร่วมกับอาการจากการซักประวัติ สงสัยโรคพิษสุนัขบ้า จึงได้เก็บซากหัวส่งมายังสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมให้คำแนะนำและกำชับเจ้าของว่าให้ทำการฝังซาก ห้ามนำมารับประทาน ซึ่งวันที่ 13 ก.ย. เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราชทำการผ่าซากหัว เก็บเฉพาะส่วนสมองส่งตรวจยังศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้    
    ต่อมาวันที่ 14 ก.ย. ศูนย์วิจัยและพัฒนาการสัตวแพทย์ภาคใต้ แจ้งพบผลบวกต่อเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี จึงได้ดำเนินการออกสอบสวนโรค พบว่า เหตุเกิด ณ หมู่ 1 ต.นาเรียง อ.พรหมคีรี เจ้าของวัวมีวัวทั้งหมด 12 ตัว ป่วยและเสียชีวิต 1 ตัว เป็นวัวพันธุ์พื้นเมือง เพศผู้ อายุ 3 ปี เจ้าของได้ทำการแจกจ่ายและขายเนื้อวัวออกไปในพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่เชื่อคำแนะนำของปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี เบื้องต้นไม่พบผู้โดนวัวตัวนี้กัด แต่มีผู้สัมผัสกับเนื้อวัวจำนวน 6 ราย สาเหตุการติดเชื้อพิษสุนัขบ้า คาดว่าน่าจะเกิดมาจากโดนสุนัขกัดในช่วงเวลากลางวัน ซึ่งเจ้าของได้นำวัวไปผูกล่ามไว้ในทุ่งหญ้าสาธารณะ
    ในส่วนองค์การบริหารส่วนตำบลนาเรียงได้ดำเนินการจัดซื้อและฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับสุนัขและแมวพื้นที่ ต.นาเรียง แล้ว จำนวน 1,200 ตัว ครบตามยอดที่ได้สำรวจสัตว์ไว้ ซึ่งการดำเนินการ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครศรีธรรมราช สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพรหมคีรี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขนครศรีธรรมราช เข้าสอบสวนจุดเกิดโรคเพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคเพิ่มเติม ในเบื้องต้นพบว่ามีการนำเนื้อโคไปขาย ณ ตลาด ต.ท่างิ้ว อ.เมือง และ อ.นบพิตำ ซึ่งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชจะได้ทำการประสานงานค้นหาผู้สัมผัสเชื้อในอำเภออื่นๆ ต่อไป 
    สำหรับผู้ที่สัมผัสเชื้อ เบื้องต้นได้เข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าที่โรงพยาบาลพรหมคีรีแล้ว จำนวน 35 ราย พร้อมกันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครศรีธรรมราชยังได้ประสานงานไปยังสำนักงานสาธารณสุขอำเภอใกล้เคียง เพื่อค้นหาผู้สัมผัสโรคและนำส่งไปฉีดวัคซีน ณ โรงพยาบาลประจำอำเภอใกล้เคียง
    "จากประเด็นปัญหาเจ้าของและชาวบ้านนำซากโคชำแหละไปปรุงอาหารและมีอาการผิดปกติ เช่น เซื่องซึม ขนพอง ตาแดงก่ำนั้น ขอยืนยันว่าไม่มีประชาชนที่กินเนื้อโคที่ชำแหละแล้วเกิดอาการดังกล่าว  แต่มีกระบวนการค้นหาผู้สัมผัสกับเนื้อโค ผู้นำเนื้อโคไปปรุงอาหาร การนำส่งประชาชนผู้สัมผัสเนื้อโคดังกล่าวเข้ารับบริการฉีดวัคซีนตามกระบวนการของกระทรวงสาธารณสุข" อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าว
     ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า หากสัตว์ตายผิดธรรมชาติจะแนะนำให้ฝังกลบ หรือแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์มาตรวจเพื่อหาเชื้อ ไม่แนะนำให้นำมารับประทาน สำหรับการรับประทานเนื้อวัวที่ตายเพราะพิษสุนัขบ้า คนที่เสี่ยงมากที่สุดคือคนที่ชำแหละ เพราะมีการสัมผัสกับสัตว์โดยตรง มีโอกาสเชื้อเข้าทางบาดแผล เนื้อเยื่อต่างๆ รองลงมาคือคนที่ปรุงอาหาร เพราะยังมีโอกาสสัมผัสเนื้อสัตว์ที่ยังไม่สุก ช่องทางที่เชื้อโรคเข้าร่างกายเช่นเดียวกับกลุ่มชำแหละ ส่วนคนที่รับประทานมีความเสี่ยงน้อย เพราะอาหารผ่านการปรุงสุกแล้ว ยกเว้นว่าเป็นเมนูดิบ นอกจากนี้ เชื้อพิษสุนัขบ้าไม่ได้เข้าไปในเส้นเลือด เพราะฉะนั้นเชื้อไม่ได้ถ่ายทอดจากน้ำนม แม่ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร หากติดเชื้อพิษสุนัขบ้า เด็กก็ไม่ต้องรับวัคซีน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"