‘เอกชัย ศรีวิชัย’ตั้งมั่นปลุกกระแส’มโนราห์’


เพิ่มเพื่อน    

 

          หลังจากประสบความสำเร็จจากภาพยนตร์เรื่องเทริด ภาพยนตร์ที่ปลุกกระแสมโนราห์ จนเป็นที่น่าพอใจ ทำให้นักร้องลูกทุ่งรุ่นใหญ่ เอกชัย ศรีวิชัย  ตัดสินใจทำภาคต่อมโนราห์  ซึ่งจัดจำหน่ายโดยค่ายเอ็มพิคเจอร์ส  มีกำหนดฉาย 1 พฤศจิกายนนี้  โดยเจ้าตัวทั้งกำกับและแสดงเอง พร้อมกันนี้ยังเผยว่าที่หยิบจับเรื่องดังกล่าวมาสร้างเป็นภาพยนตร์ เพราะต้องการนำเสนอมุมมองต้นกำเนิดของมโนราห์ และอยากสืบสานวัฒนธรรมทางใต้ให้คงอยู่ด้วย 

            “ภาพยนตร์เรื่องที่ 2 ที่ได้กำกับภาพยนตร์จริงๆ จังๆ และเป็นเรื่องที่ต่อเนื่องมาจากเรื่องเทริดครับ ภาคนี้ก็เลยตั้งชื่อว่า โนราห์ ดูแล้วบันเทิงมากขึ้น เพราะภาคนี้เป็นภาคแรก เล่าก่อนจะมีภาพยนตร์เรื่อง เทริด เล่าที่มาที่ไปของคนที่จะใส่เทริดได้ แล้วเห็นต้นกำเนิดโนราห์และคนที่สวมเทริดจริงๆ ว่าคือใคร มาจากไหน ประวัติเป็นยังไง

          ทำไมเลือกเรื่อง มโนราห์ มาทำเป็นภาพยนตร์  พี่เกิดที่ภาคใต้ โตมาในโรงมโนราห์ โตมากับหนังตะลุง ตั้งแต่เด็กๆ แล้ว เราก็ได้ยินเสียงพ่อร้องกลอนหนังตะลุง ร้องกลอนมโนราห์ ท่านก็ฝึกให้เราเล่นให้เราทำ พอวันหนึ่งเรามาโลดแล่นในวงการบันเทิง เป็นศิลปินนักร้อง แทนที่เราจะได้เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านั้น เราก็เสียเวลานั้นไป เรากลายมาเป็นคนสาธารณะ แล้วได้เอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใส่ในเพลง แต่นั่นก็คืองานในสายนักร้อง

 

 

          แต่ว่าเมื่อไหร่ที่เราได้มีโอกาสได้เข้าไปในวงการภาพยนตร์ซึ่งเป็นความฝันตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว สื่อภาพยนตร์ก็ไม่เคยมีใครทำเรื่องแบบนี้ แล้วมันทำผ่านองค์ประกอบที่เรารู้ที่เรามีอยู่ในเส้นเลือด อีกอย่างคือ ถ้าพี่ไม่ทำตอนนี้ ตอนที่ยังมีทุกอย่าง มีสุขภาพแข็งแรง มีคอนเนคชั่นหรือมีพาวเวอร์ที่จะทำงานนี้ได้ แล้วไม่ทำ ถ้าตายไป ก็ไม่รู้จะไปบอกบรรพบุรุษปู่ยาตายในสายมโนราห์ของเรายังไง เพราะงั้นต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นตัวตนชัดเจน รากเหง้าคืออะไร และสำคัญคือ ความสวยงามของมันคืออะไร มันจะถูกส่งออก ยังไง สิ่งเหล่านี้มันควรถูกนำมาสื่อในภาพยนตร์ แต่ผ่านคำว่าบันเทิง

          ยกตัวอย่างหนังเรื่องเทริด ภาคแรก ที่มันทำออกมาแล้วสนุกมาก เพราะมันไม่ได้ผ่านการขับร้องที่เป็นการเล่นการรำที่มันเป็นวัฒนธรรมจ๋า แต่มันเล่าเรื่องผ่านชีวิตวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่อยากให้วัยรุ่นสืบทอด(วัฒนธรรมท้องถิ่น) พอมาทำเรื่องโนราห์ พี่อยากให้ทุกคนรู้ลึกไปมากกว่านั้น ว่า โนราห์ หรือมโนราห์ นี่คืออะไร มันเป็นยังไง มีที่มายังไง แต่เสนอผ่านความบันเทิง

 

 

          เมื่อคุณได้เสพความบันเทิงผ่านเส้นเรื่องราวความรักวัยรุ่นของคู่หนุ่มสาวที่ ฝ่ายหญิงเป็นเด็กลูกครึ่งฝรั่ง ไม่เคยรู้จักมโนราห์ พูดไทยไม่ชัดเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อลงไปเห็นว่าความเป็นมา และย้อนไปอดีต ได้เห็นว่าถ้าคุณไปเปลี่ยนอดีต มันก็จะมีผลถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างนี้ เมื่อไม่มีอดีตที่สืบทอดกันมา ปัจจุบันก็จะไม่น่ามอง จะมีคำถามและคำตอบให้เสร็จสรรพในภาพยนตร์เรื่องนี้ ในหนังเรามีทั้งสาระและสอดแทรกไว้ในทุกอณูของความสนุก แน่นอนการที่คุณเข้าไปชม คุณต้องสนุก ต้องบันเทิง คุณได้หัวเราะ ได้ฮา ได้ร้องไห้ แต่ร้องไห้แล้วได้รับสาระที่ถูกสอดแทรกไว้ นั่นคือสิ่งที่คนทำหนังตั้งใจและประดิษฐ์มันไว้ตรงนี้

          ซึ่งในหนังเรื่องนี้ยังเป็นการรวบรวมบุคคล ผู้ใหญ่ ครูอาจารย์มโนราห์ของภาคใต้รุ่นเก่าหลายคนมาร่วมงานในหนังเรื่องนี้  บุคคลเหล่านี้เขาเมตตาผม เพราะผมเป็นปากเสียงให้กับ(วัฒนธรรม)สิ่งที่เขาเป็น และพวกเขาล้วนเป็นครูบาอาจารย์ทำงานในท้องถิ่น ไม่มีปากเสียงในส่วนกลาง ผมเปรียบเหมือนลำโพงดอกใหญ่ให้กับพวกเขา เขาก็เลยยินดีสนับสนุน ยินดีที่จะเข้าร่วม มาช่วย เหมือนการช่วยกันขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ให้มันไปให้ไกลให้สุดให้ได้ มันเป็นความตั้งใจของผมอยู่แล้วที่จะชวนท่านเหล่านี้มาร่วมงาน กว่าจะรวมตัวกันได้แบบนี้ ยากนะ เชิญก็ยาก เล่นก็ยาก เพราะว่าพวกเขาไม่เคยเล่นภาพยนตร์กันมาก่อน ก็ต้องใช้เทคนิคหลอกล่อกันต่างๆ นานา  ก็เป็นเทคนิคของผม ให้งานออกมา แต่เขาเล่นได้นะ

 

 

          การนำมโนราห์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นประจำภาคใต้ มานำเสนอในงานภาพยนตร์  คิดว่าจะพามโนราห์ข้ามพรมแดนวัฒนธรรมไปได้ไหม พี่มองอย่างนี้นะ ว่าภาพยนตร์มันใช้ body language (บอดี้แลงเกจ) เวลาเราดูภาพยนตร์ฝรั่ง เราไม่เข้าใจภาษา แต่มันสื่อกับเราได้ด้วยบอดี้แลงเกจ ด้วยภาษากายได้ เวลาเราไปดู(การแสดง)รำมโนราห์ เราอาจจะไม่เข้าใจ แต่เราก็ดูออกได้เลยว่าใครรำสวย รำไม่สวย สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันจะเชื่อมโยงคนได้ ผมเคยพูดว่า บทกวี-ดนตรี-บทเพลง-ภาษาถิ่น มันสามารถเชื่อมคนให้ทุกภาคทั่วประเทศให้รักกันได้

          คนภาคใต้ไม่ใช่จะฟังหมอลำ(จากอีสาน)ออกนะ แต่ชอบ เพราะ(ดนตรี)มันน่าเต้น มันก็ซึมซับได้ คนใต้ก็ฟังภาษาเหนือไม่ออกนะ แต่มันรู้สึกถึงความอ่อนช้อยสวยงาม คนเหนือก็ฟังภาษาใต้ไม่ออก แต่รู้สึกว่าชอบความแข็งแรงได้ (รำภาคใต้)เวลารำจะดูแข็งแรง เพราะงั้น อัตลักษณ์ของแต่ละภาค มันเป็นความภูมิใจของคนทั้งชาติ สังเกตได้จาก เราไปดูโขน ลิเก ดูงานแสดงใหญ่ๆ พอเห็นมัน success เราจะน้ำตาไหลโดยไม่รู้ตัว นั่นแหละชาติกำเนิดมันบอกคุณว่าคุณเป็นใคร เพราะงั้นผมมั่นใจมากว่าคนอีสานจะรักโนราห์ คนใต้ก็ภูมิใจอยู่แล้ว และคนภาคกลางก็จะภาคภูมิใจในรากเหง้าของเราครับ”

 

 

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"