ความสัมพันธ์ของ ร.๕ กับกรมพระยาดำรงฯ


เพิ่มเพื่อน    


ในจำนวนเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรีทั้งหมด ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับเรื่องประวัติศาสตร์วรรณคดี โบราณคดี รัฐประศาสน์ด้วยกันแล้ว เชื่อว่าทุกคนจะต้องรำลึกถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพก่อนผู้อื่น โดยที่พระองค์ทรงเป็นหลักสำคัญทั้งในวงงานราชการและศิลปวิทยาการของเมืองไทย ตลอดพระชนมายุอันยืนยาวของพระองค์นั้น ได้ทรงค้นคว้าเพื่อประโยชน์ของอนุชนชั้นหลังอย่างกว้างขวาง ทรงทำประโยชน์อันใหญ่ยิ่งให้แก่ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ทรงมีพระอุตสาหวิริยภาพอย่างน่าพิศวง พระองค์ทรงเป็น อัจฉริยบุรุษ อันแท้จริง พระนามได้แผ่กว้างบันลือไปทั่วโลก

ในชั่วชีวิต 81 พรรษาของพระองค์....หรือในชั่ว 5 แผ่นดิน พระองค์ทรงงานทุกด้านรอบรู้และจัดเจน ในงานที่ทรงทำนั้นอย่างถ่องแท้ ทรงปฏิบัติโดยเที่ยงธรรมและเที่ยงตรง จึงไม่เป็นปัญหาเลยว่างานของพระองค์จะสำเร็จมรรคผลอันงดงามตลอดเสมอมา

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์นั้น มีพระชนมพรรษามากกว่าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ 9 ปี แม้ว่าจะได้เคยโปรดเล่นกับเจ้าน้องๆ ซึ่งรักและเคารพพระเจ้าอยู่หัวอย่างเจ้าพี่ที่เป็นหัวหน้า แต่เมื่อเสวยราชย์พระองค์ก็ต้องทรงประพฤติพระราชกิจของพระเจ้าแผ่นดิน เจ้านายพี่น้องก็เกิดความเกรงกลัว ไม่ค่อยกล้าเข้าชิดวิสาสะเหมือนแต่ก่อน

จากบันทึกความทรงจำตอนหนึ่งของกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าไว้ว่า

....สมัยเมื่อได้แก้ไขประเพณีในราชสำนักเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น เจ้านายเด็กๆ พวกฉันยังตามเสด็จอยู่เสมอ ถ้าไม่ถูกไล่ในเวลามีเข้าเฝ้าแหน ก็ได้นั่งเก้าอี้สนุกดี เวลาเสด็จทรงรถเที่ยวประพาสในตอนบ่าย ก็ดอดขึ้นรถที่นั่งรองไปตามเสด็จ ถึงเวลาค่ำเมื่อเสวย ถ้าวันไหนคนนั่งโต๊ะขาดจำนวน ก็โปรดฯ ให้มาเรียกเจ้าพวกเด็กๆ ไปนั่งเก้าอี้ที่ว่างได้ "กินโต๊ะ" และได้กินไอสกริมก็ชอบ ไอสกริมเป็นของวิเศษในเวลานั้น....

ความสัมพันธ์ที่มีต่อไปนั้นได้แก่การศึกษาภาษาอังกฤษ ครูชาวอังกฤษชื่อแปดเตอร์สันมีศิษย์ที่ชอบมาก 4 พระองค์ คือ 1.สมเด็จกรมพระยาเทววงศ์วโรปการ 2.สมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภานุพันวงศ์วรเดช 3.สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรศ 4.สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  เหตุที่ทรงใกล้ชิดสนิทสนมกับครูมาก เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชประสงค์จะทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อไปถึงวิธีแต่งหนังสือ โปรดฯ ให้ครูแปดเตอร์สันเข้าไปสอนถวายในเวลาค่ำเมื่อทรงว่างราชการ ทรงทราบว่ากรมพระยาดำรงฯ เป็นศิษย์ติดตัวครู จึงมีรับสั่งให้เป็นพนักงานนำครูเข้าไป เวลาทรงพระอักษรจึงทรงอยู่ด้วยกันทุกคืน ตรัสถามครูถึงการเล่าเรียนของกรมพระยาดำรงฯ และตรัสถามอะไรๆ เป็นภาษาอังกฤษให้กรมพระยาดำรงฯ เพ็ดทูลบ้าง นับว่าทรงพระกรุณายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

เมื่อพระเจ้าซาร์นิโคลาซ ที่ 2 เสด็จประพาสเมืองไทย พ.ศ.2434 จนถึงวันเสด็จกลับจากบางปะอิน  ตรัสเรียกกรมพระยาดำรงฯ เข้าไปที่พระองค์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ แล้วทรงตบพระขนองกรมพระยาดำรงฯ และตรัสแก่พระเจ้าซาร์ว่า

"หม่อมฉันจะให้ดำรงไปเฝ้าเยี่ยมตอบแทนตัว"

กรมพระยาดำรงฯ ตกพระทัยที่ได้รับมอบหมายหน้าที่แทนองค์พระมหากษัตริย์อย่างกะทันหัน และขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 29 ยิ่งกว่านั้นยังโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระยาดำรงฯ ทรงเลือกคณะผู้ตามเสด็จเอง ในสมัยนั้นต้องอยู่ในข่ายพระราชพิจารณาว่าต้องมีรูปร่างงาม มรรยาทเรียบร้อย เพื่อมิให้เสียชื่อสัญชาติไทย และต้องมีสมองพอที่จะจดจำของดีกลับมาให้คุ้มค่าของเงินที่เสียไป กรมพระยาดำรงฯ  เสด็จออกจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ.2434 นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยไปถวายยังราชสำนักต่างๆ ในยุโรป และทอดพระเนตรการศึกษาของแต่ละประเทศที่ผ่านมาด้วย ครั้นเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ภายใน 7 วันก็มีพระบรมราชโองการประกาศย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย โดยมิได้มีพระราชดำรัสมาก่อน

กรมพระยาดำรงฯ มิได้ทรงคาดหมายมาก่อนว่าต้องไปรับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพราะได้ทรงใฝ่พระทัยในด้านการศึกษาอย่างจริงจัง จึงเสียพระทัยที่จะต้องทิ้งการศึกษาซึ่งจัดโครงการไว้อย่างเรียบร้อยแล้ว เมื่อทรงทราบเช่นนั้นก็รีบเข้าไปกราบทูลว่ากลัวจะเสียชื่อ เพราะทำงานมหาดไทยไม่สำเร็จ

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มีพระราชดำรัสว่า

"กรมดำรง ฉันเชื่อว่าเธอจะทำการศึกษาได้สำเร็จ แต่บัดนี้บ้านเมืองอยู่บนอันตราย (วิกฤติการณ์  ร.ศ.112) ถ้าเราตกไปเป็นข้าเขาอื่น การศึกษาที่เธอรักจะอยู่ที่ไหน ใครเขาเป็นนาย เขาก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพอใจเขา เรามาช่วยกันรักษาชีวิตของประเทศไว้จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเธอติดขัดอย่างไรก็มาปรึกษาฉันได้"

เมื่อกรมพระยาดำรงฯ มาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น ได้ตรัสกับข้าราชการ อันมี เทศาฯ เป็นต้นว่า

"การเลือกใช้คนให้เหมาะแก่ตำแหน่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เป็นนายคน การที่จะรู้ว่าถูกหรือผิดนั้นจะต้องขยันเอาใจใส่อยู่เสมอว่าผลงานที่เขาทำนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเขาทำได้ดีก็ต้องยอมให้ว่าเป็นความดีของเขาเอง เราจะรับเอาได้แต่เพียงว่าเลือกคนถูก ถ้าเขาทำผิดเราต้องรับเสียเองว่าเพราะเราเลือกเขา เขาจึงมีโอกาสทำผิด ทั้งนี้อำนาจอยู่ที่ไหน ความรับผิดชอบต้องอยู่ที่นั่นด้วย"

พระดำรัสอันเป็นข้อคิดของท่านนั้นมีมากมาย ทรงเน้นหนักถึงความสามัคคีและการสร้างสมศรัทธาที่ดีงามทั้งสิ้น 
เช่น

"อย่ามีพวก เพราะถ้ามีพวกเรา จะต้องมีพวกเขาเกิดขึ้น และมากกว่าเสมอด้วย"

ครั้งหนึ่ง เทศาฯ คนหนึ่งมาทูลลาไปรับตำแหน่งใหม่ ท่านตรัสว่า

"เจ้าคุณ อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระแสงศัตรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเจ้าคุณทำให้ราษฎรเชื่อถือด้วยความศรัทธาแล้ว ไม่มีใครถอดเจ้าคุณได้แม้แต่ในหลวง เพราะท่านก็ทรงปรารถนาให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขเช่นเดียวกัน"

ความรู้อย่างกว้างขวางในเรื่องประวัติศาสตร์และในโบราณคดีของกรมพระยาดำรงฯ นั้น ทรงได้มาจากการที่ทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยและท่านโปรดทางนี้อย่างมากด้วย วิชาโบราณคดีทรงเรียนจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จกรมพระยาบำราบปรปักษ์  จนกระทั่งในปัจจุบันนี้เป็นที่ยอมรับอย่างเด่นชัดกันแล้วว่า กรมพระยาดำรงฯ ทรงเป็นพระบิดาแห่งประวัติศาสตร์

การประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯ นั้นมีขึ้นปีละครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ  เสด็จฯ มาประชุม ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการเลี้ยงพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่เทศาภิบาลทุกปี และในการเลี้ยงมักจะมีพระราชดำรัส พระราชทานพระบรมราโชวาทและสรรเสริญความอุตสาหะของสมุหเทศาภิบาลด้วย ในปีหนึ่งตรัสเกี่ยวมาถึงกรมพระยาดำรงฯ ว่า ได้ทรงสังเกตเห็นตั้งแต่ยังเป็นเด็กว่าเติบใหญ่ขึ้นคงจะได้เป็นคนสำคัญในราชการบ้านเมืองคนหนึ่งดังนี้ 

แต่การที่มีพระราชดำรัสทรงยกย่องจนบางทีกรมพระยาดำรงฯ ก็รู้สึกเกรงพระทัย เช่นต่อมาอีกปีหนึ่งมีพระราชดำรัสว่า พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด ข้าราชการที่อุตสาหะพยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข ก็เปรียบเหมือนเพชรนิล เครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น

พระราชดำรัสนี้ที่จริงทรงอุปมาด้วยข้าราชการทั่วไปไม่เฉพาะผู้หนึ่งผู้ใด แต่เผอิญตรัสเมื่อเลี้ยงเทศาภิบาล พอรุ่งขึ้นก็มี (คนที่ไม่ชอบ) แกล้งเรียกใส่หน้าให้กรมพระยาดำรงฯ ได้ยินว่า 

"นั่นแหละ เพชรประดับมงกุฎ"

กรมพระยาดำรงฯ ทรงบันทึกว่า "ดูก็ขันดี" แต่คุณงามความดีที่ได้ทรงสร้างสมไว้ในราชการอย่างใหญ่หลวง ระหว่างที่ครองตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น เช่นจัดการปกครองแบบใหม่เป็นเวลาถึง 23 ปี ทรงตั้งมณฑล 18 มณฑล จังหวัด 71 จังหวัด โดยไม่มีลูกของท่านเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองแม้แต่คนเดียว การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านกำนันก็ตั้งแบบใช้เพื่อการศึกษาให้เป็นประชาธิปไตย เมื่อเลือกคนได้แล้วก็ตรัสสั่งไปยังเจ้าเมือง

คำกล่าวประชดประชันว่ากรมพระยาดำรงฯ เป็น "เพชรประดับมงกุฎ" นั้นมิใช่คำกล่าวที่ไกลจากความเป็นจริงเลย เพราะพระองค์ท่านมีค่าควรจะเป็นเพชรแท้ประดับมงกุฎยิ่งกว่าใครในประวัติชีวิตที่ได้ปรากฏแก่บุคคลทั่วไป

นอกเหนือไปจากการเสด็จตรวจราชการตามหัวเมืองต่างๆ แล้ว กรมพระยาดำรงฯ ก็ยังทรงลบล้างความเชื่อถืออันปราศจากเหตุผลให้ปลาสนาการออกไป เช่น คติโบราณถือกันมาก่อนเก่าห้ามมิให้เจ้านายเสด็จไปเมืองสุพรรณบุรี อ้างว่าเทพารักษ์หลักเมืองสุพรรณไม่ชอบเจ้า จึงไม่ปรากฏว่ามีเจ้านายองค์ใดเสด็จไปประพาสสุพรรณบุรีเลย กรมพระยาดำรงฯ เป็นพระองค์แรกที่เพิกถอนคตินั้นด้วยการเสด็จไปทรงเยี่ยมสุพรรณบุรี

ตามปกติพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจะเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรการปกครองหัวเมืองที่จัดใหม่ จึงมีการเสด็จประพาสทุกปีโดยกรมพระยาดำรงฯ จัดถวาย ในปีหนึ่งได้ทรงกราบทูลเชิญเสด็จประพาสเมืองสุพรรณบุรี สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ตรัสว่า "ฉันก็นึกอยากไป แต่ว่าไม่บ้านะ" กรมพระยาดำรงฯ กราบทูลว่า "ข้าพระพุทธเจ้าไปเมืองสุพรรณหลายปีแล้ว ก็ยังรับราชการสนองพระเดชพระคุณอยู่ได้" ในหลวงจึงเสด็จฯ ตามคำกราบทูลเชิญ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นที่ประจักษ์ในกาลต่อมา ก็คือข้อความที่กรมพระยาดำรงฯ ทรงจารึกแผ่นงาไว้บนพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ดังนี้

ณ วันอาทิตย์ที่ 26 มิถุนายน ร.ศ.129 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาถึงห้องนี้ ถอดพระธำมรงค์จากนิ้วพระหัตถ์แล้วมีรับสั่งว่า

"กรมดำรง เธอกับฉันเหมือนกับได้แต่งงานกันมานานแล้ว ขอให้เธอรับแหวนวงนี้เป็นแหวนที่ฉันได้ใส่อยู่เองไว้เป็นของขวัญในวันเกิดกับรูปที่ฉันถ่ายเมื่ออายุเท่าพระพุทธเลิศหล้าฯ อันนับว่าเป็นสวัสดิมงคล ขอให้เธอมีความสุขความเจริญมั่นคงแลให้อายุยืนจะได้อยู่ช่วยกันรักษาแผ่นดินต่อไป"

ความสัมพันธ์ของ ร.5 กับกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งข้าพเจ้าได้เรียบเรียงนี้เป็นเพียงส่วนน้อยส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง ความยิ่งใหญ่มหาศาลที่กรมพระยาดำรงฯ ได้ทรงประกอบไว้ในชีวิตของพระองค์นั้นมีอยู่มากมายมหาศาล ท่านเจ้าคุณพระเทพโมลีได้แปลไว้แล้ว ดังนี้    

    อิสริยลาภบดินทร            ทรงยิ่งใหญ่ด้วยพระอิสริยลาภ
    สยามพิชิตินทรวโรปการ        ทรงพระอุปการะพระเจ้าแผ่นดินสยามรัฐ
    มโหราฬรัฐประศาสน์        ทรงเจนจัดรัฐประศาสน์อย่างมโหราฬ
    ปริยมหาราชวรานุศิษฎ์        สมเด็จพระปิยมหาราชเจ้าทรงอบรมสั่งสอน
    ไพศาลราชกฤตยการี        ทรงกระทำราชกิจมากมายไพศาล
    โบราณคดีประวัติศาสตร์โกศล     ทรงรอบรู้ในโบราณคดีและประวัติศาสตร์


        ฯลฯ                            ฯลฯ

ระหว่างพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ เสด็จประพาสยุโรปเมื่อ พ.ศ.2450 ก็ได้มีพระราชหัตถเลขาถึงกรมพระยาดำรงฯ เป็นส่วนพระองค์ อันแสดงถึงความสัมพันธ์ที่มีต่อพระองค์อย่างลึกซึ้ง ดังมีความตอนหนึ่ง ดังนี้

ดำรง เอ๋ย

มาคราวนี้มันช่างเร็วแลสบายเสียจริงๆ มาเรือเราไม่เทียบเทียมได้เลย ไม่ใช่แต่จะมีกินยิ่งกว่าบริบูรณ์เมื่ออยู่บ้าน รู้สึกว่าตัวเป็นอิศรในเรือเหมือนเรือของเรา แต่บรรดานายเรือตลอดจนช่างที่ใช้มันเอาใจใส่และมันเกรงใจแลมันนึกจะให้เราสบายจริงๆ เสียยิ่งกว่าคนของเราเองจะทำได้ ฤๅได้ตั้งใจทำในเรือเราฤๅเวลามาในเรือเขาก็ยังเลวกว่าเขา

คำที่ว่านี้ไม่ได้แกล้งยกย่องเขาด้วยหมายจะชมคนของเราเลย น่าเสียใจว่ากิเลศเอ๋ย กิเลศมันช่างหยาบช้ากว่ากันเสียกระไรเลย ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะขาดความรู้ ไม่ได้รับคำเสี้ยมสอนว่าเป็นมนุษย์จำจะต้องประพฤติอย่างไร....

ลายพระหัตถ์อีกฉบับหนึ่งมีความว่า 

"ถึงกรมดำรง ฉันไม่รู้ว่าเธอจะนึกเดาใจฉันถูกฤๅไม่ว่าฉันรู้สึกขอบใจฤๅคิดถึงบุญคุณเธอสักเพียงใด ในข้อที่ได้อาไศรยเธอเป็นเจ้ากรมในครั้งนี้ ยังไม่ได้รู้ข่าวจากบางกอกสักฉบับเดียว ว่าเธอได้เอื้อเฟื้ออย่างไรต่อครอบครัวฉัน แต่ฉันรู้สึกในใจทั่วถึงแล้วเหลือที่จะยับยั้งไม่บอกขอบใจในชั้นต้นนี้    

การที่มาครั้งนี้เป็นความคิดถูก ไม่มีข้อระแวงเลย เชื่อว่ากลับไปคงจะได้กำไร ส่วนความศุขกายไปบ้านเป็นอันมาก ในเรื่องยศศักดิ์ฉันไม่ขวนขวายเพราะคนเห็นเสียว่าเมืองเรามันเลวในตาฝรั่งอยู่มากนัก เพราะความยังไม่บริบูรณ์มั่นคงจริง จะทำสิงห์ทำโตไป มันไม่ช่วยให้เมืองเรามั่นคงอย่างไร ได้ความมั่นคงสมบูรณ์เป็นเกียรติยศจริงแท้ของเมืองเรา การที่สักแต่ว่าฝรั่งเขารับดี มันดีชั่วคราวไม่ถาวรไปถึงไหน...."

ความสัมพันธ์ของ ร.5 กับกรมพระยาดำรงฯ นั้น เป็นความสัมพันธ์ที่มีพันธะอันสนิทแน่นและส่วนใหญ่ของสายสัมพันธ์นั้นก็เกี่ยวโยงไปถึงความเจริญของชาติบ้านเมือง ทรงจรรโลงชาติให้ก้าวไปสู่ความร่มเย็นเป็นสุขเป็นส่วนใหญ่.

Cr: ชาลี เอี่ยมกระสินธุ์
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"