‘ชุมชนชาวแพสะแกกรัง’ พิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ จ.อุทัยธานี


เพิ่มเพื่อน    

ชุมชนชาวแพในแม่น้ำสะแกกรัง  ด้านขวาคือวัดอุโปสถารามหรือวัดโบสถ์ ซึ่งรัชกาลที่ 5 เคยเสด็จมาในปี พ.ศ. 2444

 

ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรัง  ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมือง  จังหวัดอุทัยธานี  ถือเป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย  เพราะชุมชนชาวแพแห่งอื่นๆ  เช่น  ชาวแพริมแม่น้ำน่าน  อ.เมือง  จ.พิษณุโลก  ซึ่งเดิมมีอยู่กว่า 100 หลัง  ถูกทางราชการโยกย้ายออกจากริมน้ำน่านไปตั้งแต่ปี 2541  เป็นต้นมา  เพราะเห็นว่าทำให้แม่น้ำ สกปรก  กีดขวางทางเดินของน้ำ  ฯลฯ                                                                             

หากใครอยากจะไปดูวิถีชีวิตชาวแพแม่น้ำน่านก็ไปดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ชาวแพ  ตั้งอยู่ในสวนชมน่านเฉลิมพระเกียรติ  ซึ่งเทศบาลนครพิษณุโลกจัดสร้างขึ้นในปี 2542  โดยการสร้างบ่อน้ำแล้วเอาเรือนแพจำลองมาจัดแสดงไว้  เสมือนว่าเรือนแพลอยอยู่ในน้ำ  แต่ไม่มีชาวแพอาศัยอยู่

 

เรือนแพจำลองที่พิษณุโลกดูสวยงาม  แต่ไม่มีชีวิต

 

ส่วนที่ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังซึ่งมีอยู่กว่า 100 หลัง  ชาวแพเกือบ 300 ชีวิต  ยังสามารถดำรงชีวิตต่อเนื่องมาจากบรรพบุรุษได้นานกว่า 100 ปี  แม้ว่าในวันนี้สายน้ำและสภาพสังคมจะเปลี่ยนแปลงไป  จนดูเหมือนว่าชุมชนชาวแพเป็นสิ่งตกค้างทางประวัติศาสตร์  และรอผุพังไปตามกาลเวลา

 

สายน้ำและความทรงจำ

แม่น้ำสะแกกรัง  มีที่มาจากชื่อของหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำและมีต้นสะแกขึ้นอยู่หนาแน่น  มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในจังหวัดกำแพงเพชร  ไหลผ่านนครสวรรค์ลงมายังอุทัยธานี  และบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุง  อ.เมือง  จ.อุทัยธานี  มีความยาวประมาณ 225 กิโลเมตร  หล่อเลี้ยงผู้คนมานานปี  โดยเฉพาะชาวเรือนแพที่มีวิถีชีวิตผูกพันอยู่กับสายน้ำนี้   พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (.5) เคยเสด็จมาที่ตลาดและวัดในเมืองอุทัยธานีในปี พ..2444 โดยเรือกลไฟล่องเข้ามาในคลอง (แม่น้ำ) สะแกกรัง  ทอดพระเนตรเห็นบ้านเรือนและแพ  หากนับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 120 ปี

 

ชุมชนชาวแพสะแกกรัง ภาพถ่ายครั้ง ร.5 เสด็จประพาสเมืองอุทัย  มุมด้านบนคือวัดอุโปสถารามหรือวัดโบสถ์

 

ภาพถ่ายอีกมุมหนึ่ง  ด้านซ้ายมือเป็นตลิ่งทางขึ้นไปสู่ตลาดเมืองอุทัยธานี  (ภาพจากสมุดภาพเมืองอุไทยธานี)

 

ลุงทองหยด  จุลมุสิทธิ์  วัย 79 ปี  อาชีพหาปลาและเลี้ยงปลาในกระชัง  บอกว่า  แกยึดอาชีพหาปลาในแม่น้ำสะแกกรังตั้งแต่รุ่นหนุ่ม   เมื่อก่อนน้ำในแม่น้ำยังใสแจ๋ว  ใช้ทั้งกินและอาบ  ถ้าใช้กินก็จะตักน้ำใส่โอ่งเอาไว้  แล้วเอาสารส้มลงไปแกว่ง  ทิ้งให้ตกตะกอนก็เป็นอันใช้ได้  ใช้น้ำในโอ่งมาทำกับข้าว  ถ้าจะกินก็จะเอาไปต้มก่อน  แต่ตอนนี้ใช้น้ำในแม่น้ำอาบและซักผ้าเท่านั้น  น้ำกินต้องซื้อเอา 

เมื่อก่อนลุงยกยอวันนึงจะได้ปลาประมาณ 300-400 กิโลฯ  ส่วนใหญ่เป็นปลาสร้อย  ปลาแดง  เอามาเคล้าเกลือแล้วตากแดด  บางทีก็ได้ปลาใหญ่  พวกปลาแรด  ปลาสวาย  ตัวนึงหนักหลายกิโลฯ  แต่ตอนนี้หาปลายาก  ได้ปลาวันละ  30-40 โลฯ เท่านั้น  เพราะว่าน้ำน้อยลง  เริ่มจะเน่าเสีย  มีสีดำ  อีกอย่างคนหาปลาก็เยอะขึ้น  จึงจับปลาได้น้อยลงพรานปลาอาวุโสบอก 

ทุกวันนี้ลุงทองหยดมีอาชีพหลักคือเลี้ยงปลาในกระชัง  มีปลาเทโพ  นิล  สวาย  แรด  และสังกะวาด  แต่ส่วนใหญ่เป็นปลาสังกะวาด  ปลาในตระกูลปลาสวาย  แต่ตัวเล็กกว่า ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8 เดือน  ราคากิโลกรัมละ 70 บาทขึ้นไป  จะมีพ่อค้ามารับซื้อแล้วเอาไปขายทางภาคอีสาน   เอาไปทำปลาแดดเดียว  หรือย่างเกลือ  รสชาติอร่อย  กินกับข้าวเหนียวยิ่งเหมาะ 

 

อาชีพหาปลาในแม่น้ำสะแกกรัง

 

ศรีวภา  วิบูลย์รัตน์  อายุ 68 ปี  เจ้าของแพ ปลาย่าง  ป้าแต๋ว  อุทัยธานี  เล่าว่า  อุทัยธานีมีทั้งแม่น้ำเจ้าพระยาและสะแกกรังจึงมีปลานานาชนิด  ที่รู้จักกันดีก็คือ ปลาแรด  แต่ก่อนนั้นปลายังชุกชุม  มีปลาต่างๆ  เช่น ปลาเทโพ  ปลากด  สวาย  ช่อน  ชะโด  กราย  ปลาเนื้ออ่อน  ฯลฯ  เมื่อจับได้มากชาวแพก็จะนำมาแปรรูปเพื่อเก็บเอาไว้ได้กินนานๆ  เช่น  ทำปลาร้า  ปลาส้ม  ปลาแห้ง  ปลาย่าง  ปลากรอบ  ปลาป่น  น้ำพริกปลาย่าง   และนำไปขายที่ตลาดเป็นรายได้เลี้ยงครอบครัวมานานหลายสิบปี

ป้าเกิดอยู่ในแพนี่แหละ  ส่วนปู่ย่าก็อยู่กันมานานตั้งแต่สมัย ร.5 ท่านเสด็จมาที่อุทัยฯ  ป้าทำปลาย่างขายมาตั้งแต่สมัยสาวๆ  เอาไปขายบนตลาดริมแม่น้ำ  พอตอนหลังมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวดูแพ  จึงเริ่มทำปลาย่างขายบนแพ  ใช้วิธีรมควันแบบโบราณตามที่เห็นพ่อแม่เคยทำมา   ป้าแต๋วบอก

ป้าแต๋วบอกด้วยว่า  เมื่อก่อนปลาเนื้ออ่อนในแม่น้ำสะแกกรังยังมีชุกชุม  ราคาแค่กิโลกรัมละ 5-10 บาท  แต่ตอนนี้ปลาเนื้ออ่อนแทบจะหาไม่ได้แล้ว  ต้องซื้อมาจากที่อื่น  ราคาปลาสดกิโลฯ ละ 500 บาท  เมื่อเอามาทำปลากรอบน้ำหนักจะหายไปหลายเท่าตัว  ราคาขายปลาเนื้ออ่อนรมควันตอนนี้ตกกิโลฯ ละ 2,000 บาท  ถ้าเป็นปลาช่อนหรือปลากดราคากิโลฯ ละ 1,000 บาท 

 

ป้าแต๋วโชว์ปลาย่างรมควัน  ใช้ไม้ไผ่สานเป็นเสื่อคลุมปลาเพื่อให้ความร้อนกระจายทั่วถึง  ถ้าใช้ไฟแรงไป  เนื้อปลาจะมีรสขม

 

เสียงจากชาวแพในวันที่แม่น้ำป่วยไข้

หลายปีมาแล้วที่แม่น้ำสะแกกรังเริ่มป่วยไข้  อันเนื่องมาจากวิกฤตน้ำแล้ง  ท้องน้ำหดแคบลง  โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง  เรือนแพหลายสิบหลังเกยตื้น  ทำให้ลูกบวบไม้ไผ่ที่ใช้พยุงแพแตกหักเสียหาย  กอผักตบชวาไหลมารวมกันขวางกั้นการเดินเรือ  แม่น้ำบางช่วงเริ่มเน่าเสีย  เพราะปริมาณน้ำลดน้อยลงทำให้น้ำไม่ไหลเวียน   ประกอบกับน้ำเสียจากชุมชนในเขตเทศบาลเมืองอุทัยธานีไหลทิ้งลงสู่แม่น้ำจึงยิ่งซ้ำเติมแม่น้ำสะแกกรังให้วิกฤต   ฝูงปลาที่เคยชุกชุมและเป็นแหล่งอาหาร  สร้างรายได้ให้ชาวเรือนแพหลบลี้ไปอยู่วังน้ำอื่น 

ลุงทองหยด  พรานปลา สะท้อนปัญหาว่า  คนที่เลี้ยงปลาในกระชังจะได้รับผลกระทบจากน้ำเน่าเสีย  เพราะทำให้ปลาตาย  บางครั้งจึงต้องรีบจับปลาที่ยังโตไม่ได้ขนาดเอาขึ้นมาขายก่อน  เพราะหากปล่อยไว้ปลาจะตายหมดกระชังก็จะเสียหายหนัก  ส่วนคนที่หาปลาเมื่อก่อนเคยขายได้วันละเกือบพันบาท  ตอนนี้หาได้วันละ 300 บาทยังยากเลย

สมคิด  คงห้วยรอบ  อายุ 53 ปี  อาชีพค้าขายในตลาดเทศบาลเมืองอุทัย  บอกว่า  เรือนแพของเธอผูกอยู่ตรงท่าน้ำวัดโบสถ์  หากเป็นช่วงปกติ  เธอจะต้องใช้เรือเล็กหรือใช้สะพานไม้ไผ่ข้ามไป-มาระหว่างท่าน้ำกับเรือนแพของเธอ  แต่ตอนนี้ไม่จำเป็นแล้ว  เพราะแม่น้ำแห้งจนสันทรายโผล่ขึ้นมา  เรือนแพที่เคยผูกอยู่ที่ท่าน้ำตอนนี้เกยตื้น  ทำให้ลูกบวบแตกหักเสียหาย  ต้องหาเงินมาซ่อมใหม่  แต่ชาวแพส่วนใหญ่มีรายได้น้อย  หาเช้ากินค่ำ  ถ้าไม่หาปลา  ก็จะไปรับจ้าง  หรือค้าขายเล็กน้อยๆ อยู่ในตลาด  ไม่มีเงินจะซ่อมแพ

ป้าแต๋ว    เจ้าของแพปลาย่างครวญว่า  พอแม่น้ำสะแกกรังแล้ง  นักท่องเที่ยวจะมาเที่ยวแพก็ลำบาก  เพราะผักตบชวาไปขวางเรือ  พอเจอโควิดยิ่งแย่  นักท่องเที่ยวหายหมด  รายได้จากการขายปลาย่าง  ปลากรอบ  น้ำพริก  ฯลฯ  ก็หายไปด้วย

 

เรือนแพที่เคยอยู่ในน้ำ  เมื่อน้ำแล้งแพจะเกยตื้น  ลูกบวบไม้ไผ่แตกหัก  หากเปลี่ยนลูกบวบทั้งหมดจะต้องใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นบาท  ไม่รวมค่าแรง

 

ฟื้นฟูวิถีชาวแพ พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต

ปัญหาความเดือดร้อนของชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังมีมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 3-4 ปี  พวกเขาร้องเรียนผ่านสื่อมวลชน  และหน่วยงานในท้องถิ่น  จนในปี 2563  จุติ  ไกรฤกษ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จึงให้หน่วยงานในสังกัด  คือสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ร่วมกับจังหวัดอุทัยธานี  เทศบาลเมืองอุทัยธานี  เกษตรจังหวัด  ชลประทานจังหวัด  พมจฯลฯ  จัดทำแผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวแพ

สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ หรือ พอช.’  บอกว่า  พอช.ร่วมกับหน่วยงานในท้องถิ่นเริ่มสำรวจข้อมูลชุมชนชาวแพตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563   โดยลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชุมชนชาวแพ  สำรวจข้อมูลปัญหาและความต้องการ  การจัดทำแผนที่ทำมือ  ถ่ายรูปเรือนแพ  จับพิกัด GPS  ถอดข้อมูลการซ่อมแซมเรือนแพผู้เดือดร้อน  ฯลฯ  โดยมีผู้แทนชุมชนชาวแพจำนวน 13 คนร่วมเป็นคณะทำงาน  

 

สมชาติ  ภาระสุวรรณ  ผอ.พอช. (ซ้าย) ร่วมสำรวจชุมชนชาวแพ

 

จากการสำรวจข้อมูล  พบปัญหาและความต้องการของชุมชนชาวแพทั้งหมด  122 ครัวเรือน  รวม 8 ด้าน  เช่น  ปัญหาน้ำแล้ง   สิ่งแวดล้อม  ที่อยู่อาศัย  การจัดการท่องเที่ยวชุมชน  คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ  ผู้พิการ  เด็ก  ผู้ด้อยโอกาส  อาชีพ  รายได้  ด้านวัฒนธรรม  และการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน  โดยจะเร่งซ่อมแซมเรือนแพก่อน  เพราะส่วนใหญ่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากก่อสร้างมานาน  ลูกบวบที่ใช้พยุงแพซึ่งส่วนใหญ่สร้างด้วยไม้ไผ่ชำรุดแตกหัก  ผอ.พอช.บอก  และว่า  หลังจากนั้นในเดือนกรกฎาคม 2563 หน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอุทัยธานี  รวมทั้งส่วนกลางจึงได้ลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อเดินหน้าพัฒนาชุมชนชาวแพร่วมกัน

การซ่อมแซมเรือนแพจำนวน 122 หลัง  เริ่มต้นในเดือนกันยายน 2563  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณในการซ่อมแซมเรือนแพหลังละประมาณ 40,000 บาท  ส่วนใหญ่เป็นการเปลี่ยนไม้กระดานปูพื้นแพที่ผุพัง  หลังคาสังกะสี  ลูกบวบไม้ไผ่  ฯล  หากเกินงบสนับสนุนเจ้าของแพจะสมทบเอง  โดยมีช่างชุมชนและจิตอาสาจากจังหวัดต่างๆ  ประมาณ 80 คนหมุนเวียนมาช่วยกัน  ทำให้ประหยัดค่าแรงงานได้หลังละหลายพัน-หลายหมื่นบาท 

เช่น  บางหลังรื้อหลังคา  ทำฝาบ้านใหม่  เพราะแพหลังเดิมผุพังทั้งหลัง  ระดมช่างมาช่วยกัน 10 คน  หากคิดค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท  ช่วยกันทำ 3 วัน  จะประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 9,000 บาท

 

ช่างจิตอาสาช่วยกันซ่อมสร้างเรือนแพริมแม่น้ำสะแกกรัง  รวมทั้งหมด 122 หลัง

 

ปัจจุบัน (มิถุนายน 2564การซ่อมแพเสร็จไปแล้ว 89 หลัง  อยู่ในระหว่างการดำเนินการ 33 หลัง  นอกจากนี้ยังมีแผนงานปรับภูมิทัศน์เรือนแพเพื่อให้ดูสวยงาม  เช่น  การปลูกต้นไม้ริมชายตลิ่ง (ฝั่งวัดโบสถ์ตรงข้ามตลาดเทศบาลการสร้างถนนเลียบแม่น้ำและเขื่อนป้องกันตลิ่งพังทลาย  การวางท่อประปาเข้าสู่ชุมชนชาวแพ  โดยเทศบาลเมืองอุทัยธานี   การกำจัดผักตบชวา  ขุดลอกท้องน้ำ  สร้างประตูระบายน้ำเพื่อเติมน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้ามาไม่ให้แม่น้ำสะแกกรังแล้ง โดยกรมชลประทาน  รวมทั้งการสนับสนุนสีทาเรือนแพ  โดยมูลนิธิไทยเศรษฐ์  

ส่วนการพัฒนาชุมชนเรือนแพสะแกกรังให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไปนั้น  ผอ.พอช. บอกว่า  หากซ่อมแซมเรือนแพเสร็จแล้ว (ประมาณตุลาคมนี้หน่วยงานต่างๆ จะช่วยกันส่งเสริมชุมชน  เช่น  1.กลุ่มสืบสานวัฒนธรรม  ส่งเสริมประเพณีการตักบาตรทางน้ำ  งานบุญประเพณี  อบรมให้เกิดวิทยากรชุมชน  มัคคุเทศก์ชาวชุมชนเรือนแพ    2.กลุ่มสืบทอดการทำเรือนแพ  ถ่ายทอดความรู้ไม่ให้สูญหายไป   3.ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนชาวแพ  โฮมสเตย์เรือนแพ 

 

วิถีชีวิตชาวแพยังใช้เรือสัญจร  แต่บางช่วงต้องฝ่าดงผักตบชวาหนาแน่นทำให้พายเรือลำบาก  หรือต้องเปลี่ยนไปใช้รถ

 

4.กลุ่มความเข้มแข็งของชุมชน  พัฒนาคนรุ่นใหม่ให้อนุรักษ์วิถีชีวิตชาวแพ  5.อนุรักษ์ปลาพื้นถิ่น  เช่น  ปลาแรด  6.การแปรรูปปลา  สร้างมูลค่า  สร้างรายได้ให้ชุมชน  7.เปลี่ยนผักตบชวาให้เป็นของใช้  ทำเป็นภาชนะใส่ของ  ใส่อาหาร  ฯลฯ

เป็นความร่วมมือร่วมใจของหน่วยงานต่างๆ  รวมทั้งชาวชุมชนเรือนแพ   เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ชุมชนชาวแพริมแม่น้ำสะแกกรังที่เป็นชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศเอาไว้  ถือเป็น พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและยังมีลมหายใจ’  ที่สำคัญคือสนองตอบความต้องการของชาวชุมชนเรือนแพ

ดังที่ ป้าแต๋วบอกว่า  ถ้าจะช่วยกันขุดลอกคลอง (แม่น้ำ) และเก็บผักตบได้ก็จะดี  เพราะน้ำในคลองจะได้ไหลสะดวก  ถ้าคลองสะอาดนักท่องเที่ยวก็อยากจะมา  จึงอยากให้ช่วยกันดูแลไม่ให้น้ำเน่าเสีย  ชาวบ้านจะได้มีอาชีพ  มีรายได้ 

บุญโรจน์  จันทร์วัด  อายุ 64 ปี  ช่างสร้างและซ่อมแพฝีมือดีแห่งแม่น้ำสะแกกรัง  บอกว่าอยู่แพมันสบาย  อากาศไม่ร้อน  ลมพัดเย็นสบาย  และยังพอหาผักหาปลาในคลองกินได้  ถ้ามีการอนุรักษ์แพก็จะดี  เพราะจะได้อยู่กันไปนานๆ  ชาวบ้านก็จะมีรายได้จากการท่องเที่ยว  จากการล่องเรือดูแพ  และผมก็อยากให้มีการแก้เรื่องน้ำเสีย  และขุดลอกคลองให้ลึกกว่านี้  เพื่อให้น้ำไหลได้สะดวก  น้ำก็จะไม่เน่า  เพราะเดิมน้ำลึกประมาณ 3-4 วา (6-8 เมตรแต่ตอนนี้เหลือประมาณวา กว่าๆ เท่านั้น 

 

นักท่องเที่ยวนิยมตักบาตรริมน้ำ  บริเวณตลาดเทศบาลเมืองอุทัยธานี

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลุ่มสืบทอดการทำเรือนแพ กลุ่มสืบสานวัฒนธรรม จังหวัดอุทัยธานี จุติ -ไกรฤกษ์ ชุมชนชาวแพสะแกกรัง ชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย บุญโรจน์ -จันทร์วัด ปลาย่าง -ป้าแต๋ว -อุทัยธานี ปลาแรด พม. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พิพิธภัณฑ์ชาวแพ พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต พิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตและยังมีลมหายใจ ฟื้นฟูวิถีชาวแพ มูลนิธิไทยเศรษฐ์ ร.5 ลุงทองหยด -จุลมุสิทธิ์ วิกฤตน้ำแล้ วิถีชีวิตชาวแพแม่น้ำน่าน ศรีวภา -วิบูลย์รัตน์ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน-(องค์การมหาชน) สมคิด -คงห้วยรอบ สมชาติ -ภาระสุวรรณ ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนชาวแพ อาชีพหาปลาในแม่น้ำสะแกกรัง เปลี่ยนผักตบชวาให้เป็นของใช้ แม่น้ำป่วยไข้ แม่น้ำสะแกกรัง

เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"