ครม.ไฟเขียว60โปรเจ็กต์ยักษ์


เพิ่มเพื่อน    

 ครม.สัญจรไฟเขียวแผนพัฒนาพื้นที่กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง-อีสานตอนบน รวม 6 ด้าน กว่า 60 โครงการ เชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจในอาเซียน มอบให้หน่วยงานเจ้าของเรื่องดูความเหมาะสม นายกฯ เผยต้องคัดแยกโครงการจำเป็นเร่งด่วนตรงตามความต้องการ แต่ยังระบุไม่ได้อนุมัติงบประมาณเท่าไหร่ หวังแรงงานไทยฝึกทักษะรองรับอีอีซี  

    เมื่อวันอังคาร ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ หรือ ครม.สัญจร ว่าที่ประชุม ครม.เห็นชอบผลประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 1 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 รวม 6 ด้าน กว่า 60 โครงการ ทั้งด้านการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน-เมาะลำไย หรือลิเม็ก ด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ด้านการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ด้านการยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ด้านการท่องเที่ยว และด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต 
    โดยที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับข้อเสนอต่างๆ ไปพิจารณาจัดลำดับความสำคัญของการดำเนินโครงการอีกครั้ง ตามข้อเสนอในด้านการเชื่อมโยงกลุ่มลิเม็ก ซึ่งมีโครงการสำคัญโดยเน้นการพัฒนาเส้นทางคมนาคม เช่น การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงหมายเลข 117 และเส้นทางรองเชื่อมโยงจุดผ่านแดนถาวรภูดู่ จังหวัดอุตรดิตถ์ รวมทั้งการสนับสนุนการค้า และอำนวยความสะดวกในการเข้า-ออกประเทศไทย ผ่านด่านชายแดนทางบกด้วยระบบขอวีซ่าผ่านระบบออนไลน์ ที่ประชุมได้มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวได้ร่วมมือกันผลักดันต่อไป 
    ส่วนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ซึ่งมีโครงการสำคัญครอบคลุมทั้งด้านถนน อากาศ และระบบราง โดยมีโครงการสำคัญ เช่น โครงการพัฒนาสนามบินอุดรธานี รองรับการเติบโตของนักเดินทางและนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากเดิม 3.5 ล้านคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้านคนต่อปี โครงการสนามบิน จ.เลย การพัฒนาท่าอากาศยานจังหวัดพิษณุโลก และศึกษาความเหมาะสมของการก่อสร้างสนามบินบึงกาฬ การก่อสร้างเส้นทางรถไฟเชื่อมต่อทุกจังหวัดภายในกลุ่ม จ.เลย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมรับไปพิจารณาความเหมาะสมของแต่ละโครงการ โดยต้องดูถึงความสอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศด้วย
    พล.ท.สรรเสริญกล่าวอีกว่า ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ รวม 14 โครงการ วงเงินรวมประมาณ 3,700 ล้านบาท โดยมอบหมายให้สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติรับเป็นเจ้าภาพหลักในการพิจารณา ส่วนด้านการยกระดับการผลิต ด้านการท่องเที่ยว ด้านคุณภาพชีวิต ซึ่งมีโครงการสำคัญ อย่างเช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการท่องเที่ยวเมืองมรดกโลกอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย การศึกษาเพื่อผลักดันแหล่งธรณีวิทยาจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอุทยานธรณีโลก การจัดทำแผนแม่บทพัฒนาการท่องเที่ยวริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัด ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณา ส่วนข้อเสนอการขอให้คืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ณ ด่านพรมแดนทางบก พร้อมทั้งให้พิจารณาดำเนินการจัดมีวีซ่าหน้าด่าน โดยนำร่องที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองหนองคาย และท่าอาศยานนานาชาติอุดรธานี ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่มีความเหมาะสม จึงยังไม่ได้พิจารณา เพราะที่ผ่านมามีการศึกษามาแล้วว่ามีจุดอ่อนหลายเรื่อง
    ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพูดถึงการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจหลวงพระบาง-อินโดจีน เมาะ ลำไย กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับประเทศเพื่อนบ้านและต้องหารือร่วมกัน และเป็นการสร้างความเชื่อมโยงในอาเซียน ซึ่งการจะเชื่อมโยงต้องดูความพร้อมของประเทศเพื่อนบ้านด้วย รวมถึงเรื่องกฎระเบียบต่างๆ นอกจากนี้ ได้มีการพูดคุยถึงการพัฒนาระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงคมนาคมทั้งหมด
    “วันนี้รัฐบาลรับหลักการไป ซึ่งประมาณ 50-60  เปอร์เซ็นต์ อยู่ในแผนแม่บทที่จะต้องดำเนินการอยู่แล้ว  แต่อะไรที่เร่งด่วนและจำเป็น เราจะคัดแยกออกมาให้ตรงความต้องการ ส่วนเรื่องงบประมาณยังตอบไม่ได้ว่าจะอนุมัติเท่าไหร่ เพียงแต่รับหลักการเข้ามาแล้วจะพิจารณาอีกครั้ง ต้องหารือสำนักงบประมาณด้วย และดูแผนงานของกระทรวงที่ร่างไว้เดิมว่าจะปรับอย่างไร ซึ่งงบประมาณในการพัฒนาด้านคมนาคมของกลุ่มจังหวัด 2 แสนกว่าล้าน จะให้ทั้งหมดไม่ได้ แต่จะมีแผนแม่บทที่ร่างไว้และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลจะต้องทำให้ต่อเนื่อง หลายอย่างมีปัญหาพันกันหลายเรื่อง แต่รัฐบาลก็พยายามทำให้เต็มที่” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
    นายกฯ กล่าวต่อว่า เรื่องการท่องเที่ยวตนได้ให้การพิจารณาเชื่อมโยงเมืองหลัก เมืองรอง การสัญจร และการขยายสนามบิน โดยเรื่องสนามบิน ตนทราบว่าทุกจังหวัดก็อยากมี แต่ถามว่าคนเดินทางด้วยเที่ยวบินต่างๆ มีมากเพียงพอหรือไม่ เพราะสายการบินหากมาลงก็ต้องมีทุนมาก จะคุ้มค่าหรือไม่ ดังนั้นต้องสร้างความเชื่อมโยงจากสนามบินหลัก สนามบินรอง
     “วันนี้เรามี พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี) ออกมาแล้ว ซึ่งทุกคนต้องเข้าใจตรงกันว่าเรามุ่งขยาย ปรับปรุง ปฏิรูปเศรษฐกิจใหม่ของเราขึ้นมาให้ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีนำไปสู่การใช้หุ่นยนต์ในอนาคต ซึ่งเรายังใช้การเชื่อมโยงกับคนทั้งหมดไม่ได้ ยังมีความจำเป็นต้องใช้คนอยู่ ผมอยากให้แรงงานไทยได้เรียนรู้และฝึกหัดเพิ่มเติมในการทำงานร่วมกับเครื่องจักรและหุ่นยนต์ได้ ไม่ใช่เอาคนงานออกทั้งหมด” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
      ขณะที่นายผจญ อุดมธรรมภักดี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม. เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการมอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินงานโครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต (รถไฟฟ้ารางเบา) เพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนของจังหวัดภูเก็ตให้มีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว อำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชนและนักท่องเที่ยว รวมทั้งเป็นการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจราจรของจังหวัด โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) กำหนดดำเนินโครงการแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดภูเก็ต ห้าแยกฉลอง ระยะทาง 42.0 กม. ระยะที่ 2 ส่วนต่อขยายจากจุดตัดทางหลวง 402 และ 4026 เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟสถานีรถไฟท่านุ่น ระยะทาง 16.5 กม.
     โดยมีสถานีทั้งหมด 24 สถานี จะมีสถานีระดับพื้นดิน 19 สถานี สถานียกระดับ 1 สถานี และสถานีใต้ดิน 1 สถานี ซึ่งทางวิ่งจะมีระดับพื้นดิน บางช่วงทางวิ่งลอดใต้ดินและทางวิ่งยกระดับ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อจัดทำรายงานตาม พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุน ส่วนในปี พ.ศ.2563 คาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างและจะเปิดให้บริการในปี พ.ศ.2566 โดยล่าสุดเมื่ออังคารที่ 11 ก.ย. 61 ครม.อนุมัติให้ รฟม.ก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่ “ภูเก็ต” โดย รฟม.คาด พ.ย.นี้สรุปผลศึกษาเปิดร่วมทุน PPP รถไฟฟ้าภูเก็ต 3.9 หมื่นล้าน.   
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"