สื่อสร้างสรรค์ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย


เพิ่มเพื่อน    

 

   ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้อิทธิพลของสื่อทั้งออนไลน์ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ หรือสื่ออื่นๆ มีผลกับคนในสังคมมาก ทั้งในทางความคิด พฤติกรรม การใช้ชีวิต อีกทั้งบทบาทของผู้ผลิตสื่อก็มีการเปลี่ยนแปลง เพราะทุกคนสามารถเป็นผู้ผลิตสื่อได้เอง ซึ่งอาจจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ขาดการคัดกรองเนื้อหา หรือความเหมาะสมในการเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยเฉพาะสื่อหรือเนื้อหาที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมการแสดงของไทยที่ได้รับความสนใจลดน้อยลง ซึ่งนั่นอาจจะส่งผลต่อการอนุรักษ์และสืบสานให้คงอยู่ต่อไปในอนาคตด้วย
    ด้วยเหตุนี้ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) จัดมหกรรมสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ครั้งที่ 1 (Thai Media Fund 2018) โดยเป็นการจัดแสดงผลงานโครงการที่ได้รับการคัดเลือกสนับสนุนในทุนอุดหนุนภาคีผู้ผลิตสื่อหลากหลายครั้งแรกในปี 2560 จำนวน 26 โครงการ จากกว่า 400 โครงการที่ส่งเข้าคัดเลือกในหลากหลายประเภท อาทิ สื่อกระแสหลัก สื่อพื้นบ้าน หรือสื่ออื่นๆ ในชุมชน เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างถูกต้อง รวมไปถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบในการนำเสนอเนื้อหาต่างๆ โดยคำนึงถึงกลุ่มเด็กและเยาวชน พร้อมขับเคลื่อนประเทศอย่างสร้างสรรค์ ในวันที่ 14-15 กันยายน ที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ตัวอย่างโครงการขับขานและขับซอพื้นบ้านล้านนา   


    วสันต์ ภัยหลีกลี้ ผู้จัดการกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) กล่าวว่า จุดประสงค์ของการมอบทุนในการอุดหนุนโครงการผลิตสื่อสร้างสรรค์ที่ดี ปลอดภัยต่อสังคม โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในกลุ่มผู้ผลิต ในการผลิตเนื้อหาต่างๆ ที่จะนำเสนอมากยิ่งขึ้น ทั้งในส่วนของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
    “อยากให้คนในประเทศไทยฉลาดในการใช้สื่อมากขึ้นด้วย เพราะทุกวันนี้สื่อทุกประเภทมีบทบาทกับทุกคน และสามารถมีบทบาทเป็นผู้ผลิตสื่อเองได้ ดังนั้นในการสนับสนุนโครงการทั้ง 26 โครงการ ก็อาจจะเป็นแนวทางในการสร้างแรงบันดาลใจทั้งผู้ผลิตและผู้เสพสื่อ เพื่อให้ในอนาคตมีการผลิตสื่อที่ดีต่อไป” ผู้จัดการกองทุนฯ กล่าว
    โครงการสื่อบางส่วนที่นำมาจัดแสดงภายในงาน อาทิ สาขาสื่อศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านทันสมัย ได้แก่ ภาคเหนือ โครงการการอบรมพัฒนาองค์ความรู้ด้านดนตรีพื้นบ้านล้านนา นวัตกรรมสื่อพื้นบ้าน สร้างสรรค์สังคม และโครงการขับขานและขับซอพื้นบ้านล้านนา ในส่วนของภาคอีสาน ได้แก่ โครงการหนังตะลุง มุ่งสู่เยาวชน จ.ร้อยเอ็ด หรือ "โครงการหนังประโมทัยปลอดภัย สร้างสุขสู่ชุมชน "จ.มหาสารคาม และ "โครงการหนังบักตื้อสื่อสร้างสรรค์" จ.ศรีสะเกษ ในส่วนของสาขาสื่อภาพยนตร์ ได้แก่ โครงการแอนิเมชั่น เรื่องคน สัตว์ สิ่งของ เดอะซีรีส์ โครงการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชั่นชุด บรูด้าน้อยผจญภัย และโครงการปังปอนด์ชวนเพื่อน สร้างสื่อปลอดภัย เป็นต้น

 

คณะมีชัยหนังตะลุง จ.ร้อยเอ็ด

    ด้านนายสมบัติ ยอดประทุม หัวหน้าคณะมีชัยหนังตะลุง จ.ร้อยเอ็ด ตัวแทนสื่อสาขาศิลปวัฒนธรรมภาคอีสาน กล่าวว่า การแสดงหนังตะลุงของภาคอีสานเป็นการแสดงที่นำหมอลำมาผสมผสาน ทำให้มีเสน่ห์และสนุกสนาน ซึ่งในปัจจุบันก็ลดน้อยลง ดังนั้นเหล่าคนเชิดหนังตะลุงที่เป็นคนรุ่นพ่อรุ่นแม่จึงเริ่มคิดหาแนวทางในการอนุรักษ์และให้เยาวชนได้สืบทอด จึงได้ทำสื่อการเรียนรู้ที่เป็นตัวหนังมาจัดเป็นกิจกรรมอบรมให้ความรู้กับเยาวชนในโรงเรียน พร้อมกับการสอนเชิดหนังตะลุง ซึ่งก็ได้รับความสนใจเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้ทำเป็นสื่อออนไลน์โดยนำการแสดงหนังบักตื้อ จ.ศรีสะเกษ และหนังประโมทัย จ.มหาสารคาม มาเรียบเรียงเป็นประวัติ วิธีการเล่น อุปกรณ์ หรือสาระสำคัญของแสดงเอาไว้เพื่อให้ได้รับการเผยแพร่มากยิ่งขึ้นด้วย

วัชรินทร์ ยอดคำเหลือง

    วัชรินทร์ ยอดคำเหลือง เจ้าของช่องในยูทูบที่ใช้ชื่อว่า เก่ง วัชรินทร์ ศิลปินดนตรีพื้นบ้านล้านนา ตัวแทนสาขาสื่อศิลปวัฒนธรรมภาคเหนือ เล่าว่า ในอดีตการฟังเพลงขับซอล้านนาจะมีแค่ในเทป และกลุ่มคนแสดงก็ไม่มาก ดังนั้นหลังจากที่ได้กลับมาอยู่บ้านที่ จ.เชียงใหม่ และตนเองก็สามารถเป่าปี่จุมได้ จึงอยากที่จะให้การแสดงพื้นบ้านนี้ได้เป็นที่รู้จักและได้รับการอนุรักษ์ ต่อมาได้นำมาเผยแพร่ลงออนไลน์ โดยตนได้นำคลิปวิดีโอการแสดงขับซอพื้นบ้านล้านนาจากกลุ่มรวมศิลปินขับซอล้านนา และศิลปินนักดนตรีล้านนาคนรุ่นใหม่ลงในช่องยูทูบ  เพื่อเป็นสื่อหนึ่งเผยแพร่การแสดงพื้นบ้านล้านนาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อให้เห็นเสน่ห์การร้องกลอนสดที่เปลี่ยนแปลงไปตามงานที่ได้รับ ทั้งงานบุญ งานแต่ง งานศพ และอื่นๆ ซึ่งก็ได้รับเสียงตอบรับที่ดี กลุ่มศิลปินที่ขับซอพื้นบ้านในจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือก็มีงานแสดงเพิ่มขึ้นด้วย
    อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่สนใจส่งโครงการสื่อเข้าประกวดในครั้งต่อไป สามารถศึกษาข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.thaimediafund.or.th หรือ โทร.0-2273-0116-8

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"