การเป็นผู้นำนั้นต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง 


เพิ่มเพื่อน    


ในสมัยรัชกาลที่ ๓ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ ซึ่งทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาล ได้ทรงอุตสาหะเสด็จธุดงค์ขึ้นไปเมืองเหนือในปี พ.ศ.๒๓๗๖ และเมื่อทรงตระหนักพระทัยว่าการที่เสด็จประพาสหัวเมืองเพื่อทอดพระเนตรสภาพบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎร เป็นประโยชน์แก่การปกครองราชอาณาจักรอย่างยิ่ง  เพราะฉะนั้นต่อมาเมื่อได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๔ จึงได้ทรงพระราชดำริที่จะเสด็จประพาสไปยังหัวเมืองต่างๆ เพื่อทอดพระเนตรสภาพบ้านเมือง ทรงตรวจราชการและพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ราษฎรเข้าเฝ้าฯ รับเสด็จและกราบบังคมทูลพระกรุณาหรือถวายฎีกาได้อย่างใกล้ชิดอยู่เป็นนิจตลอดรัชกาล 

ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็โปรดเสด็จประพาสหัวเมืองไปทอดพระเนตรบ้านเมืองและความเป็นอยู่ของราษฎรอย่างเสมอมาแต่ต้นรัชกาล โดยเคยเสด็จฯ ไปยังหัวเมืองชายพระราชอาณาเขตทั้งทางด้านตะวันออก ตะวันตก และหัวเมืองปักษ์ใต้อยู่ติดชายแดนของประเทศ อาทิ การเสด็จประพาสแหลมมลายู  เมื่อ ร.ศ.๑๐๘, ๑๐๙ และ ๑๑๗ เป็นต้น 

ดังนั้น สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพน่าจะทรงเห็นตัวอย่างและได้รับแนวพระราชดำริการเสด็จประพาสหัวเมืองมาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ดังที่ได้กล่าวแล้วหลังจากได้เสด็จตรวจราชการครั้งแรกในหัวเมืองฝ่ายเหนือ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระดำริเห็นว่าการตรวจราชการมีความสำคัญและจำเป็นต่อการบริหารราชการ 

การเสด็จไปตรวจราชการหัวเมือง รวมทั้งการควบคุมติดตามการปฏิบัติงานตามนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทย ตลอดจนเป็นการดำเนินการปกครองหัวเมืองแบบใหม่ที่เริ่มเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ คือการตรวจหัวเมืองเพื่อจัดการทำนุบำรุงบ้านเมืองในเวลาเมื่อเป็นปกติ โดยพระองค์ทรงนิพนธ์เรื่อง "อธิบายด้วยประโยชน์ของการเที่ยวเตร่" ไว้ตอนหนึ่งว่า

“ถ้าผู้ทำราชการได้เที่ยวเตร่ ได้รู้ ได้เห็น ภูมิลำเนาบ้านเมือง และความทุกข์สุขของไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินก็เหมือนหนึ่งมีทุนในทางที่ดำริตริตรองราชการอันควรแก่หน้าที่ของตน...ถึงผู้ที่มีหน้าที่ราชการอยู่แล้ว ถ้าได้เที่ยวดูการบ้านเมืองมากขึ้นก็ย่อมจะเป็นประโยชน์ ทั้งจะเป็นเครื่องป้องกันความพลาดพลั้งได้ด้วยอีกทางหนึ่ง เพราะทางที่ผู้ต้องรับผิดชอบในราชการ จะพึงพลาดพลั้งด้วยอย่างใดจะมีมากกว่าเพราะที่ไม่รู้ความจริงนี้เป็นไม่มี เพราะเหตุฉะนั้นจึงว่าการที่ได้เที่ยวเตร่ตรวจตราให้รู้เห็นภูมิประเทศและกิจการทุกข์สุขของผู้คนพลเมืองชำนาญมากขึ้นก็เหมือนมีเครื่องป้องกันที่จะพลาดพลั้งให้น้อยลงด้วย”

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงมีความเชื่อมั่นตามคำพังเพยที่ว่า การเป็นผู้นำนั้น ต้องให้รองเท้าขาดก่อนกางเกง คือ ต้องออกตรวจตราจนรองเท้าขาดไม่ใช่นั่งเก้าอี้จนกางเกงขาด  เพราะหลักโบราณก็มีอยู่ว่า จงคิด จงสั่ง จงตรวจ ด้วยเหตุนี้จึงได้ทรงยกเอาเรื่องการตรวจราชการมาเป็นแนวทางสำคัญในการปฏิบัติราชการสืบต่อมา และเพื่อที่จะให้เป็นตัวอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา  พระองค์จึงเสด็จตรวจราชการตามท้องที่ต่างหัวเมืองอยู่เสมอเป็นนิจ แม้ว่าขณะนั้นการเดินทางติดต่อระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองจะเต็มไปด้วยความยากลำบากก็มิได้ทรงท้อถอย และแม้ในบางพื้นที่จะมีคติความเชื่อที่ขัดขวางต่อการเดินทางไป เช่น มีคำโบราณที่ห้ามมิให้เจ้านายเสด็จเมืองสุพรรณ พระองค์ก็เสด็จไปเพื่อลบล้างความเชื่อดังกล่าว หรือในพื้นที่ซึ่งชุกชุมไปด้วยโรคภัยและความเจ็บไข้ที่ผู้คนหวาดกลัว

๑.สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ   ๒.พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประวิตรวัฒโนดม กรมหลวงปราจิณกิติบดี  ๓.พระยาทรงสุรเดช ๔.เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้านครลำปางองค์สุดท้าย  ๕.เจ้าราชภาติกวงษ์ ๖.เจ้าบุรีรัตน์

เมื่อตราพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ และข้อบังคับลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๗ ขึ้นแล้ว จึงได้มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการตรวจราชการระดับต่างๆ ไว้อย่างชัดแจ้ง เช่น "ในระดับเมืองเป็นหน้าที่ของผู้ว่าราชการเมือง ปลัดเมือง ยกกระบัตรเมือง และผู้ช่วยราชการเมือง ซึ่งเป็นกรมการชั้นผู้ใหญ่ที่จะผลัดเปลี่ยนกันออกเดินทางตรวจการตามท้องที่ในเมืองนั้นๆ อยู่เสมอ โดยมีหลักเกณฑ์ว่าต้องเดินทางในปีหนึ่งไม่ต่ำกว่า ๖๐ วัน เป็นการตรวจการในอำเภอต่างๆ ทุกอำเภอไม่น้อยกว่าปีละ ๒ ครั้ง เป็นการตรวจการในตำบลทุกตำบล ไม่ต่ำกว่าปีละหนึ่งครั้ง ส่วนการตรวจการในหมู่บ้านให้ตรวจการเท่าที่จะมีโอกาสและเวลาพอที่จะออกไปตรวจได้" ส่วนในระดับอำเภอนั้นเป็นหน้าที่กรมการอำเภอที่จะต้องผลัดเปลี่ยนกันออกไปตรวจราชการตามตำบลและหมู่บ้านในอำเภอของตน ตำบลหนึ่งไม่ต่ำกว่าเดือนละครั้ง

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ในการเสด็จตรวจหัวเมืองแต่ละครั้ง ทรงสนพระทัยและมีประเด็นในการตรวจราชการแตกต่างกันขึ้นอยู่กับสภาพการณ์และบริบทของการบริหารและการปกครองของประเทศในช่วงเวลานั้นๆ สำหรับการเสด็จตรวจราชการครั้งแรกใน ร.ศ. ๑๑๑ (พ.ศ.๒๔๓๕) ทรงตั้งพระทัยเพื่อไปศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการปกครองหัวเมืองแบบเก่า ตลอดจนทำความคุ้นเคยกับบรรดาข้าราชการหัวเมือง ทำให้ทรงพบเห็นประเพณีการปกครองแบบโบราณที่เรียกว่า "กินเมือง" ซึ่งมีข้อบกพร่องหลายอย่าง รวมทั้งทรงเห็นช่องว่างการบริหารระหว่างรัฐบาลกลางและส่วนภูมิภาค การใช้ตำแหน่งราชการเพื่อหาผลประโยชน์ส่วนตัวของข้าราชการ  

โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรงพบว่าข้าราชการในระบบเก่ามีคุณภาพไม่เพียงพอ เมื่อเสด็จกลับจากการตรวจราชการครั้งแรกจึงทรงริเริ่มการปกครองส่วนภูมิภาคแบบใหม่ทันที โดยทรงดำเนินการเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้กำหนดไว้แล้วตามระบบเทศาภิบาล คือ การกำหนดโครงสร้างการบังคับบัญชาที่โยงเข้าส่วนกลางไว้เหนือการปกครองหัวเมืองแบบโบราณ โดยให้หัวเมืองต่างๆ เข้ามารวมเป็นมณฑลและแต่งตั้งข้าราชการออกไปประจำมณฑลนั้น รวมทั้งเปลี่ยนสภาพความเป็นอยู่ของขุนนางภูธรที่เป็นอิสระเกือบทุกทางให้มาเป็นข้าราชการ โดยได้รับเงินเดือนเลี้ยงชีพตลอดจนจัดให้มีสถานที่ราชการประจำ และเพื่อให้การโยงอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางเป็นไปอย่างมีแบบแผนและดำเนินการได้ง่าย  การปกครองหัวเมืองจึงถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มงาน ด้านมหาดไทย ด้านการศาล และด้านการคลัง 

ต่อจากนั้นก็ดำเนินการลดความเป็นอิสระ โดยโยงงานการบริหารส่วนภูมิภาคทั้ง ๓ เรื่องเข้าสู่ส่วนกลาง ทั้งนี้ได้มีการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลเพิ่มเติมจากที่ได้จัดตั้งไว้บ้างแล้วตั้งแต่ก่อนการปฏิรูปการปกครองมากขึ้นตามลำดับ ส่วนการปกครองท้องที่ในระดับหมู่บ้านและตำบลนั้นก็ได้เริ่มวางรูปแบบและทำการทดลองจัดตั้งผู้ใหญ่บ้านและกำนันตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๓๕ 

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเสด็จตรวจราชการมณฑลอุดร พ.ศ.๒๔๔๙

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๓๙ การเสด็จตรวจราชการหัวเมือง เมื่อเห็นว่าระบบการปกครองหมู่บ้านและตำบลตั้งใหม่สามารถนำมาปฏิบัติได้ กระทรวงมหาดไทยจึงได้มีหนังสือเวียน ลงวันที่ ๒๑ กันยายน  พ.ศ.๒๔๓๙ แจ้งให้สมุหเทศาภิบาลและเจ้าเมืองต่างๆ จัดระเบียบการเลือกตั้งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนเปลี่ยนแปลงขุนนางชั้นผู้น้อยมาเป็นนายอำเภอ การเสด็จตรวจราชการหัวเมืองปักษ์ใต้  ร.ศ.๑๑๕ (พ.ศ.๒๔๓๙) หลังจากเดิมการจัดตั้งมณฑลชุมพรและมณฑลนครศรีธรรมราชขึ้น จึงเป็นการตรวจราชการตามระบบเทศาภิบาลอย่างแท้จริง คือ ตรวจงานด้านการปกครองในหน้าที่กระทรวงมหาดไทย

 ได้แก่ การป้องกันและรักษาความสงบเรียบร้อย การทำนุบำรุงท้องที่ และส่งเสริมอาชีพความเป็นอยู่ของราษฎร ตลอดจนตรวจที่ว่าการมณฑล เมือง และอำเภอว่าถูกต้องตามแบบแผนที่กำหนดหรือไม่เนื่องจากเป็นสิ่งที่เกิดใหม่ รวมทั้งช่วยบุกเบิกราชการส่วนภูมิภาคให้แก่หน่วยงานของกระทรวงอื่นๆ ที่ยังไม่พร้อมจะบริหารราชการในส่วนภูมิภาคได้ โดยเฉพาะงานด้านการคลังหัวเมืองและการยุติธรรมหัวเมือง เมื่อการจัดการปกครองท้องที่สามารถดำเนินการได้อย่างทั่วถึงรวมทั้งบังเกิดผลดีตามจุดมุ่งหมายแล้ว 

จึงได้มีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองส่วนภูมิภาคที่สำคัญขึ้น ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๖ และข้อบังคับลักษณะปกครองท้องที่ ร.ศ.๑๑๗ ดังนั้น ในปี  ร.ศ.๑๑๗ (พ.ศ.๒๔๔๑) จึงได้เสด็จตรวจราชการหัวเมืองบ่อยครั้ง สำหรับงานด้านการปกครองทรงเน้นตรวจสถานที่ราชการ ได้แก่ ที่ว่าการมณฑล เมือง อำเภอ และพบปะกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อติดตามการปฏิบัติงานของพนักงานมณฑลตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ว่าสามารถปฏิบัติงานตามแบบแผนการปกครองตามรูปแบบใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้ผลตามที่มุ่งหมายไว้หรือไม่ 

รวมทั้งตรวจสอบว่าการจัดระบบบริหารราชการระดับเมือง (จังหวัด) ที่ออกเป็นข้อบังคับฯ สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงหรือไม่ มีปัญหาต้องปรับปรุงแก้ไขประการใด พร้อมกันนั้นพระองค์ยังทรงประเมินความสามารถของเจ้าหน้าที่ของระบบเทศาภิบาลทุกระดับ โดยอาศัยวิธีการรับฟังเสียงของราษฎรอีกด้วย และเนื่องจากในปี พ.ศ.๒๔๔๑ ได้มีการเร่งรัดขยายการศึกษาออกไปทั่วประเทศ โดยให้กระทรวงมหาดไทยสนับสนุนวัดพระพุทธศาสนาจัดการศึกษาในหัวเมือง ในการตรวจราชการหัวเมืองในช่วงเวลาดังกล่าวจึงทรงลงไปตรวจตราตามโรงเรียนต่างๆด้วย 

เมื่อถึงปี พ.ศ.๒๔๔๒ กระทรวงมหาดไทยได้จัดระเบียบขั้นพื้นฐานในการปกครองมณฑลเทศาภิบาลเสร็จสมบูรณ์ โดยมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการปกครองหมู่บ้าน  ตำบล อำเภอ และจังหวัดอย่างชัดเจน เท่ากับว่าทุกกลุ่มงานและทุกระดับของการปกครองส่วนภูมิภาคในบริเวณหัวเมืองชั้นในได้ถูกโยงเข้าสู่ส่วนกลางเรียบร้อยแล้ว ในช่วงหลัง พ.ศ.๒๔๔๒ เป็นต้นมา จึงเป็นระยะเวลาที่กระทรวงมหาดไทยพยายามส่งเสริมระบบเทศาภิบาลให้มั่นคงยิ่งขึ้นในทุกระดับ พร้อมทั้งขยายออกไปให้ครอบคลุมทั่วพระราชอาณาจักร โดยรวมประเทศราชต่างๆ และหัวเมืองชั้นนอกเข้าสู่ระบบเทศาภิบาลทีละน้อย

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และข้าราชการเมืองนครพนม ถ่ายภาพ ที่หน้าองค์พระธาตุพนม

ดังนั้น การตรวจราชการในระยะหลังจึงไม่ได้เน้นการตรวจสถานที่ราชการและการจัดแบบแผนสำนักงานดังแต่ก่อน แต่มุ่งให้ความสำคัญกับการทำนุบำรุงท้องถิ่น การทำมาหากินตลอดจนปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร รวมทั้งให้ความสนใจตรวจตรางานของกระทรวงมหาดไทยที่ได้จัดตั้งขึ้นใหม่  เช่น งานตำรวจภูธร รวมทั้งงานของรัฐบาลในส่วนภูมิภาคบางเรื่องที่โอนมาให้กระทรวงมหาดไทยดำเนินการ 

ในการตรวจราชการหัวเมืองแต่ละครั้ง สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงจดบันทึกข้อมูลต่างๆ จากการที่ทอดพระเนตรด้วยพระองค์เอง และทรงสอบถามจากราษฎรอย่างละเอียด เช่น  ข้อมูลการเดินทาง สภาพภูมิประเทศตามรายทาง งานต่างๆ ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทยและงานอื่นๆ ที่ฝากไว้กับงานมหาดไทย สภาพท้องที่และสภาพทางเศรษฐกิจ สังคมของเมืองต่างๆ ชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินของราษฎร ตลอดจนสิ่งที่พระองค์ทรงสนพระทัย อาทิ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อและประเพณีของแต่ละท้องถิ่น รวมทั้งปัญหาต่างๆ และแนวทางแก้ไขปัญหาของแต่ละพื้นที่ เอกสารดังกล่าวถือเป็นหลักฐานชั้นต้นที่สำคัญที่ได้จัดทำขึ้นเพื่อเป็นรายงานกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๕ ให้ทรงทราบเรื่องราวความเป็นไปต่างๆ เกี่ยวกับหัวเมือง และมีบางปัญหาที่ผู้รายงานทรงขอพระบรมราชวินิจฉัยอีกด้วย

ข้อมูลจากเอกสารรายงานการเดินทางตรวจราชการเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติราชการ โดยเฉพาะการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลและตั้งข้าราชการผู้มีหน้าที่บังคับบัญชาหัวเมืองขณะนั้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ในปัจจุบันสำหรับการศึกษาสภาพสังคมไทยในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การปกครอง สภาพท้องถิ่นตลอดจนวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นต่างๆ ซึ่งอยู่ในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย ในเอกสารรายงานการตรวจราชการยังทำให้เรามองเห็นแนวความคิดและวิธีทำงานของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่ทรงใช้วิธีแยกหน้าที่การจัดการต่างๆ ตามหัวเมืองไปให้ผู้บัญชาการมณฑลเป็นผู้จัดทำ 

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงเครื่องแบบเต็มยศนายพลเอก  ราชองครักษ์พิเศษ  แห่งกรมทหารราบที่  ๑  มหาดเล็กรักษาพระองค์
 

โดยมีพระองค์ซึ่งเป็นเสนาบดีเป็นผู้คิดแบบแผน และทรงตรวจการที่ทำนั้นประกอบกัน ได้เห็นการนำเอาวิธีการติดตามและประเมินผลมาใช้ โดยทรงนำเอาผลงานและประสบการณ์ในการจัดการมณฑลแรกๆ เป็นข้อสังเกตในการจัดตั้งมณฑลต่อไป และเสด็จไปตรวจผลการจัดว่าถูกต้องตามพระราโชบายหรือไม่ หากมีข้อบกพร่องประการใดก็โปรดให้แก้ไขใหม่จนเป็นที่พอพระทัย ทรงจัดการบ้านเมืองโดยอาศัยทั้งทฤษฎีและปฏิบัติประกอบกัน สำหรับขั้นตอนปฏิบัติที่ทรงใช้ในการบริหารงาน คือ คิดระบบหรือแบบแผน นำไปทดลองปฏิบัติ ตรวจสอบ ประเมินผล และแก้ไขปรับปรุง แล้วนำไปกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และสั่งการให้ยึดถือปฏิบัติในที่สุด อาจกล่าวได้ว่าการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งที่ทำให้การจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลประสบความสำเร็จอย่างราบรื่น และมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด 

เอกสารรายงานการตรวจราชการหัวเมืองที่ดำเนินการตามระยะเวลามาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้เรามองเห็นความเปลี่ยนแปลงในภาพรวมของประเทศ นอกเหนือจากการพัฒนาระบบราชการได้อย่างชัดเจน จากความยากลำบากในการคมนาคมในคราวตรวจราชการครั้งแรกๆ ซึ่งการคมนาคมทางบกไม่มีถนนต้องอาศัยทางเดินเท้าที่คดเคี้ยวไปตามป่าตามทุ่ง และใช้ได้เฉพาะฤดูแล้ง หรือการเดินทางทางน้ำที่ต้องอาศัยเรือกลไฟลากจูงไปทางเหนือได้เพียงปากน้ำโพ ต่อจากนั้นต้องถ่อเรือทวนน้ำขึ้นไป แต่หลังจาก พ.ศ.๒๔๔๑ ก็สามารถใช้รถไฟเป็นพาหนะเป็นบางช่วงระยะทาง ทำให้ช่วยลดเวลาการเดินทางได้มากขึ้น หรือในรายงานการตรวจราชการครั้งแรกๆ ได้บรรยายถึงการกรุยทางปักวางสายโทรเลขในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกล แต่ในการตรวจราชการระยะหลังพระองค์ทรงสามารถเสียบสายโทรศัพท์ติดต่อกับกรุงเทพฯ ได้ทุกวัน

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงรับราชการในตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยมาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๕ ถึงวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๘ รวมระยะเวลา ๒๓ ปีเศษ ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจสำคัญเพื่อประเทศชาติเป็นอเนกประการ แต่ที่สำคัญยิ่งว่าสิ่งใด คือ ทรงปฏิรูปการปกครองส่วนภูมิภาค โดยจัดตั้งระบบเทศาภิบาลจนสำเร็จ ดังคำประกาศเลื่อนกรมหมื่นดำรงราชานุภาพเป็นกรมหลวงดำรงราชานุภาพ ได้กล่าวไว้ว่า "ทรงรับจัดการแบบอย่างการปกครองทั้งปวง ซึ่งเป็นการใหญ่ยิ่งยากที่จะสำเร็จได้อาศัยพระสติปัญญาอันสุขุมคัมภีรภาพ และพระอุตสาหะ ฉันทะ วิริยะอันแรงกล้า ประกอบด้วยการศึกษาแบบอย่างและความเป็นอยู่ทั้งภายในและภายนอกกอปรไปด้วย พระสติปัญญาตริตรอง เลือกเฟ้น 

ทั้งมีความซื่อตรงดำรงในความสัตย์สุจริต มิได้หนักไปในทางอคติทั้งปวง" ในปี พ.ศ.๒๔๕๘ กระทรวงฝ่ายเหนือเดิมได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นกระทรวงมหาดไทยที่ทันสมัย ในส่วนภูมิภาคระบบเทศาภิบาลได้ถูกสถาปนาจนแทนที่การปกครองหัวเมืองแบบโบราณ ทำให้ประชาชนได้รับความสงบสุข หัวเมืองมีความเจริญก้าวหน้าและประเทศชาติมีความมั่นคงสืบมาจนถึงทุกวันนี้.    
 

ทรงตรวจการทำเหมืองแร่ ที่เหมืองหนองเป็ด จังหวัดนครศรีธรรมราช

 

Cr: หนังสือการเสด็จตรวจราชการหัวเมืองของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"