ลุยประมูลเอราวัณ-บงกช สร้างเสถียรภาพพลังงาน


เพิ่มเพื่อน    

    "ศิริ" เมินเสียงต้าน เดินหน้าประมูลเอราวัณ-บงกช 25 ก.ย. ชี้เครือข่ายไหนข้องใจยื่นข้อเสนอมา พร้อมแจงทุกกลุ่ม "ส.อ.ท.-ปตท.-กฟผ." ตบเท้าหนุน หวั่นล่าช้ากระทบเศรษฐกิจชาติ สภาพลังงานเพื่อประชาชนฮือค้านทั่วประเทศ บุกศาลากลางฯ บี้ "บิ๊กตู่" สั่งชะลอ
    เมื่อวันที่ 24 กันยายน นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการหารือผู้บริหารกระทรวงและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า กระทรวงพลังงานเล็งเห็นความจำเป็นในการสร้างเสถียรภาพความมั่นคงด้านพลังงาน จึงพร้อมเดินหน้าขั้นตอนการประมูลหาผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) ในแปลงสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติในทะเลอ่าวที่จะหมดอายุ ทั้งเอราวัณและบงกชต่อไป โดยจะเปิดรับข้อเสนอทางเทคนิคและราคาในวันที่ 25 ก.ย.นี้ ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. 
    "เบื้องต้นแหล่งเอราวัณมีเอกชน 4 ราย และแหล่งบงกช 3 ราย ซึ่งคาดว่าปลายเดือน พ.ย.นี้จะวิเคราะห์เงื่อนไขด้านเทคนิคและราคาแล้วเสร็จว่าข้อเสนอใดมีจุดเด่น และจะเสนอให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาเห็นชอบผลการวิเคราะห์ที่สามารถนำไปสู่การสรุปเรื่องได้ว่าใครจะเป็นผู้ได้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต 2 แหล่ง หลังจากนั้นจะประกาศชื่อผู้ได้รับสัมปทานดำเนินงานต่อและลงนามในสัญญาแบ่งปันผลผลิตช่วงเดือน ก.พ.62" นายศิริระบุ
    ส่วนที่สภาพลังงานเสนอขอจัดเวทีดีเบตกับ รมว.พลังงานต่อหน้าสาธารณชนนั้น เห็นว่าอยู่นอกขอบเขตหน้าที่ของหน่วยงานราชการ ซึ่งเป็นการไม่เหมาะสม หากกลุ่มไหนที่มีข้อสงสัยในการเปิดประมูลครั้งนี้ สามารถสอบถามหรือยื่นข้อเสนอมายังกระทรวงพลังงานได้ โดยจะมีข้าราชการชี้แจงทำความเข้าใจกับทุกกลุ่มอยู่แล้ว
    สำหรับวันที่ 25 ก.ย.นี้ ที่กำหนดให้ผู้ที่มีสิทธิ์เข้าร่วมการประมูลที่ผ่านหลักเกณฑ์ตามขั้นตอนต่างๆ  เข้ายื่นแผนการดำเนินงาน งบประมาณการลงทุน ข้อเสนอทางด้านเทคนิค และผลประโยชน์ตอบแทนรัฐตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ในเงื่อนไขการประมูล (ทีโออาร์) เพื่อการได้รับคัดเลือกเป็นผู้ดำเนินการสำรวจ พัฒนาและผลิตก๊าซธรรมชาติ ร่วมกับภาครัฐให้เกิดความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ โดยจะต้องยื่นเอกสารจำนวน 4 ซอง ประกอบด้วย ซองที่ 1 เป็นซองด้านคุณสมบัติของผู้ประกอบการปิโตรตามกฎหมาย ซองที่ 2 การยอมรับเงื่อนไขให้ภาครัฐเข้าร่วมในสัดส่วน 25% ซองที่ 3 ข้อเสนอทางเทคนิค ซึ่งประกอบด้วยแผนการลงทุน แผนการพัฒนาแหล่ง แผนช่วงรอยต่อ และแผนบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และซองที่ 4 ซองด้านผลประโยชน์ตอบแทนรัฐ
    ทั้งนี้ การประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชในครั้งนี้ จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง  ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งกำไรประมาณ 800,000 ล้านบาท ตลอดจนก่อให้เกิดการจ้างงานพนักงานคนไทยในสัดส่วน 80% ในปีแรก และอย่างน้อย 90% ในปีที่ 5 ตามเงื่อนไขหลักสำคัญที่ระบุไว้ในทีโออาร์ นอกจากนี้ยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซแอลพีจีได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 460,000 ล้านบาท และยังก่อให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีกประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท
    "เรื่องนี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ตามแผนงานเดิมต้องดำเนินงานให้ได้ผู้ประกอบการรายใหม่ให้แล้วเสร็จก่อน 5 ปีสุดท้ายที่จะสิ้นอายุสัมปทาน แต่ขณะนี้เหลือเวลาเพียงแค่  3 ปี และในปี 2563 จะต้องเลือกแท่นที่มีศักยภาพในการดำเนินงาน และทำการส่งมอบให้ผู้ประกอบการใหม่ให้ดำเนินการต่อเนื่องทันที ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 278 แท่น จึงถือว่าเป็นเรื่องที่จะต้องทำให้แล้วเสร็จก่อนสิ้นอายุสัมปทาน หากล่าช้าไปกว่านี้จะทำให้ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินให้ผู้ประกอบการที่มาดำเนินการต่อได้ทันเวลา" รมว.พลังงานกล่าว
    ด้านนายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังเข้าพบ รมว.พลังงาน เพื่อแสดงจุดยืนในการสนับสนุนให้เปิดประมูลแหล่งเอราวัณ-บงกชให้สำเร็จว่า  ส.อ.ท.มีความเป็นห่วงหากการประมูลล่าช้าไปมากกว่านี้ จะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมเพราะค่าไฟจะสูงขึ้น และอุตสาหกรรมเป้าหมายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) จะไม่เกิดขึ้น ถึงแม้จะนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศได้ แต่เราไม่มีที่รับและเก็บก๊าซ เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างอย่างน้อย 3-4  ปี ซึ่งหมายความว่าปริมาณก๊าซจะหายไป เทียบเท่ากับโรงไฟฟ้าขนาด 1,200 เมกะวัตต์ต่อโรงหายไป  10 โรง ซึ่งไม่ใช่กระทบเพียงความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ แต่รวมถึงรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย
    นางสาวอัปสร กฤษณะสมิต ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  หรือ สร.ปตท.กล่าวว่า สร.ปตท.ขอแสดงจุดยืนความต้องการให้รัฐบาลเร่งตัดสินใจในสิ่งที่จะทำให้ประเทศและประชาชนไม่เสี่ยงกับการขาดแคลนพลังงาน หรือตกอยู่ในภาวะที่ต้องใช้พลังงานในราคาที่สูงเกินความจำเป็น จึงต้องการให้รัฐบาลดำเนินการตามแผนที่กำหนด เนื่องจากมีความล่าช้ามาก ทำให้เสียโอกาสในการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ในเวลาที่เหมาะสมกับความจำเป็น
    นายพนมทวน ทองน้อย รองประธานบริหารสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ (สร.กฟผ.) ในฐานะตัวแทน กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.ใช้ก๊าซธรรมชาติ 70% ดังนั้นเป็นห่วงการรักษาความมั่นคงต่อเนื่อง ซึ่ง สร.กฟผ.หวังให้การประมูลครั้งนี้มีความเป็นธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนส่วนรวม เรื่องนี้ถือว่าข้อมูลทั้งสองด้านอาจไม่ตรงกัน ทำให้มีมุมมองและความคิดไม่เข้าใจกัน 
    ที่ประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เวลา 10.00 น. สภาพลังงานเพื่อประชาชน พร้อมด้วยสมาพันธ์รัฐวิสาหกิจแห่งประเทศไทย (สรส.) นัดรวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งชะลอการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณออกไปก่อน และตั้งคณะกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาพิจารณา  เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีข้อบกพร่องอย่างร้ายแรง โดยแก้ไขข้อกำหนดและหลักเกณฑ์การประมูล (ทีโออาร์) ให้ใช้ระบบสัญญาจ้างผลิตและตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ ทั้งนี้มีตัวแทนจากสำนักรับเรื่องราวร้องทุกข์ของทำเนียบรัฐบาลออกมารับหนังสือ
      นายนพพร วิสุทธิศักดิ์ชัย ผู้ประสานงานสภาพลังงานฯ กล่าวว่า เนื่องจากกระทรวงพลังงานจะเปิดซองประมูลแหล่งบงกชและเอราวัณในวันที่ 25 ก.ย.ด้วยสัญญาทีโออาร์ที่ประเทศไม่ได้ผลประโยชน์สูงสุด  ทำให้เราต้องลุกขึ้นมาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย โดยในเวลาเดียวกันนี้ได้มีการยื่นหนังสือให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศด้วย ทั้งนี้ กลุ่มสภาพลังงานฯ จะปักหลักชุมนุมไปจนถึงวันที่  25 ก.ย.นี้ก่อนที่จะมีการเปิดซองประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณ ว่ารัฐบาลจะสั่งชะลอเรื่องนี้หรือไม่    
    ทั้งนี้ มีผู้ชุมนุมมารวมตัวประมาณ 80-100 คน โดยคืนนี้ผู้ชุมนุมจะพักอยู่ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวแทนสภาพลังงานเพื่อประชาชนทั่วประเทศต่างรวมตัวกันไปที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายกฯ ชะลอการเปิดประมูลแหล่งปิโตรเลียมบงกชและเอราวัณ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"