ไทยนิยมไม่ใช่ชาตินิยม?


เพิ่มเพื่อน    

    ดูรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน กันบ้างหรือเปล่า? 
    ก็รายการที่ "นายกฯ ลุงตู่" พูดเป็นต่อยหอยทุกคืนวันศุกร์ จนคอละครหลังข่าวนั่งบ่น เมื่อไหร่จะจบซะทีนั่นแหละ
    เสียเวลาตบจูบ!


    อย่าไปคิดว่าไร้สาระครับ ผู้นำประเทศพูดกับประชาชนโดยตรง ผิดถูกตรงไหนก็ออกจากปากท่าน 
    ถึงจะเป็นการสื่อสารทางเดียว แต่การได้รู้ว่านายกรัฐมนตรีพูดอะไร คิดอะไร... 
    ก็ดีต่อตัวคนฟังเอง
    ดีกว่าไปเชื่อข่าวโคมลอย ข่าวปล่อยตามโลกโซเชียล แห่กันกดไลก์ กดแชร์มั่วไปหมด พอผิดพลาดก็เผ่นกันป่าราบ 
    ไม่เห็นใครจะรับผิดชอบอะไร
    ช่วงนี้ "ไทยนิยม" มาแรง แต่ก็ยังงงๆ กันอยู่ว่า หมายถึงอะไรกันแน่
    วานนี้ นายกฯ ลุงตู่ แจกแจงไปค่อนข้างละเอียด 
    "ไทยนิยม" ไม่ใช่การสร้างกระแส "ชาตินิยม"
    และ "ไทยนิยม" ก็ไม่ใช่ "ประชานิยม" 
    แล้วมันคืออะไร? 
    กระแสชาตินิยม หรือ "รัฐนิยม" ในอดีต โดยเฉพาะยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่ฝ่ายซ้ายมองเป็นเรื่อง การบังคับของเผด็จการ 
    แต่ฝ่ายขวามองว่าเป็นการปรับตัวให้ทันสมัยเพื่อความอยู่รอด! 
    สองแนวคิดมันแย้งกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน 
    ก็ไม่แปลกที่จะมีคนมองว่า ไทยนิยม ของนายกฯ ลุงตู่เป็นเรื่อง เผด็จการล้าหลัง
    แต่...สิ่งที่หลงเหลือมาจากยุครัฐนิยม กลับกลายเป็นวัฒนธรรมที่กลุ่มที่มีแนวคิดทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา นำไปปฏิบัติจนถึงวันนี้
    ไปดูว่ามีอะไรบ้าง 
    ....การกำหนดให้คนไทยใช้คำว่าสวัสดีเป็นคำทักทาย และยังมีการใช้การทักทายแบ่งตามช่วงเวลาเลียนแบบชาวตะวันตกด้วย เช่น
    ตอนเช้า "อรุณสวัสดิ์" มาจากคำว่า "Good Morning"
    "ทิวาสวัสดิ์" มาจากคำว่า "Good Afternoon"
    "สายัณห์สวัสดิ์" มาจากคำว่า "Good Evening"
    "ราตรีสวัสดิ์" มาจากคำว่า "Good Night"
    มีการวางระเบียบการใช้คำแทนชื่อเป็นมาตรฐาน เช่น ฉัน, ท่าน, เรา เปลี่ยนจากสมัยก่อนที่ใช้ กู,  มึง, เอ็ง, ข้า
    รัฐนิยมซึ่งออกเป็นประกาศ ๑๒ ฉบับของจอมพล ป. ลักษณะคล้ายกฎหมายบังคับใช้ทั่วไป มีจุดประสงค์เพื่อปลุกระดมให้รักชาติ 
    ประกาศรัฐนิยม ฉบับที่ ๑ คือการพลิกโฉมประเทศ เปลี่ยนชื่อจากสยามมาเป็น ประเทศไทย เรียกประชาชนในชาติว่า "คนไทย"
    "….รัฐนิยมฉบับที่ ๑: เรื่อง การใช้ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ โดยที่ชื่อของประเทศนี้ มีเรียกกันเป็นสองอย่าง คือ 'ไทย' และ 'สยาม' แต่ประชาชนนิยมเรียกว่า 'ไทย' รัฐบาลเห็นสมควรถือเป็นรัฐนิยมใช้ชื่อประเทศให้ต้องตามชื่อเชื้อชาติและความนิยมของประชาชนชาวไทย ดั่งต่อไปนี้ 
    ก.ในภาษาไทย ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า 'ไทย'
    ข.ในภาษาอังกฤษชื่อประเทศ ให้ใช้ว่า THAILAND ชื่อประชาชน และสัญชาติให้ใช้ว่า THAI…"
    ต่อมาก็มีนโยบายให้เรียกทุกคนว่าคนไทย แม้จะมีเชื้อสายอื่นก็ตาม ห้ามมิให้แบ่งแยก เพื่อส่งเสริมความเป็นปึกแผ่น ซึ่งปรากฏในรัฐนิยมฉบับที่ ๓  
    หลังจากเปลี่ยนชื่อประเทศมีรัฐนิยมอีกหลายฉบับที่ประกาศตามกันมา 
    เช่น เพลงชาติ เพลงสรรเสริญพระบารมี การเคารพธงชาติ ที่ปัจจุบันกลายเป็นแบบแผน เคารพธงชาติเวลา ๐๘.๐๐ น. และ ๑๘.๐๐ น. 
    รัฐนิยมประกาศให้คนไทยต้องอ่านภาษาไทย เรียนภาษาไทย พูดภาษาไทย 
    ระบุว่าเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยที่ดี
    ประการที่หนึ่งนั้น คือ ศึกษาให้รู้หนังสือไทยอันเป็นภาษาของชาติ อย่างน้อยต้องให้อ่านออกเขียนได้ ประการที่สอง ชนชาติไทยจะต้องถือเป็นหน้าที่อันสำคัญในการช่วยเหลือสนับสนุนแนะนำชักจูง ให้พลเมืองที่ยังไม่รู้ภาษาไทย หรือยังไม่รู้หนังสือไทย ให้ได้รู้ภาษาไทย หรือให้รู้หนังสือไทยจนอ่านออกเขียนได้
    โปรดช่วยเหลือเด็ก ผู้พิการและผู้สูงอายุ
    รัฐนิยมฉบับที่ ๑๒ ประกาศว่า ในที่สาธารณสถานหรือในถนนหลวง ให้บุคคลทำการช่วยเหลือคุ้มครองโดยลักษณะที่จะยังความปลอดภัยให้แก่เด็ก คนชราหรือคนทุพพลภาพในการสัญจรไปมา หรือในการหลบหลีกภยันตราย 
    ผู้ใดสามารถกระทำการช่วยเหลือคุ้มครองดังกล่าวถือว่าผู้นั้นเป็นผู้มีวัฒนธรรม ควรได้รับความนับถือของชาวไทย
    รัฐนิยมเริ่มก้าวล่วงเข้ามาถึงการใช้ชีวิตประจำวันของคนไทย มีการประกาศอย่างจริงจังในรัฐนิยม ฉบับที่ ๑๐ และ ๑๑ ระบุว่า
    รัฐนิยม ฉบับที่ ๑๐ เรื่องการแต่งกายของประชาชนชาวไทยและห้ามผิดเพศ 
    ผู้ชายสวมหมวกใส่เสื้อชั้นนอกคอเปิดหรือปิด สวมกางเกงขายาวแบบสากล สวมรองเท้าหุ้มส้นและหรือหุ้มข้อ และถุงเท้า 
    ส่วนผู้หญิงก็ต้อง สวมหมวก ใส่เสื้อนอกคลุมไหล่ สวมผ้าถุง ใส่รองเท้าหรือหุ้มส้นและถุงเท้า เป็นต้น
    รัฐนิยม ฉบับที่ ๑๑  เรื่องกิจประจำวันของคนไทย 
    ให้ชนชาติไทยพึงบริโภคอาหารให้ตรงเวลา ไม่เกินวันละ ๔ มื้อ 
    นอนประมาณ ๖-๘ ชั่วโมง
    ต้องมุ่งมั่นทำงาน พักกลางวันไม่เกิน ๑ ชั่วโมง 
    มีเวลาทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์ ปลูกต้นไม้ ทั้งชำระร่างกายแล้วจึงรับประทานอาหารว่าง
    ในเวลากลางคืนก็ควรใช้ในการพบปะสนทนาในครอบครัว มิตรสหาย ทั้งใช้ศึกษาหาความรู้ หรือในการมหรสพ 
    ส่วนวันหยุดก็ควรใช้ให้เป็นประโยชน์ ต่อร่างกายและจิตใจ เล่นกีฬา พักผ่อน ทำบุญ ฟังเทศน์ เป็นต้น...."
    นั่นคือมรดกจากยุคชาตินิยม 
    จากบ้านป่าเมืองเถื่อนสู่ผู้ดีศิวิไลซ์  
    บางคนอาจเห็นว่าไม่สำคัญ เพราะคนไทยก็กินอาหารวันละ ๓ มื้อ นอน ๘ ชั่วโมงอยู่แล้ว ก็ใช่ครับนั่นมันวันนี้ แต่...ก่อนยุคสร้างชาตินิยมมันไม่ใช่ทั้งหมด
    ก่อนโน้นใช้วิธีบังคับ 
    แต่วันนี้มันเป็นส่วนสำคัญในการดำเนินวิถีชีวิตไปแล้ว
    ทีนี้มาดูกันว่า ไทยนิยม ของนายกฯ ลุงตู่ จะสร้างมรดกทางวัฒนธรรม การเมือง ไว้ให้คนรุ่นหลังบ้างหรือไม่ 
    ....“ไทยนิยม” นั้น ไม่ใช่การสร้างกระแส “ชาตินิยม” เหมือนที่บางคนไม่เข้าใจสังคมของตน ไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลก แล้วพยายามบิดเบือนความคิดของผม โดยไม่ศึกษาให้ดีนะครับ 
    เพราะ “ชาตินิยม” นั้นจะใช้ได้ดี สำหรับป้องกันภัยคุกคาม ภัยจากภายนอกประเทศ จากการทำสงคราม หรือจากการเข้ามาครอบงำทางความคิดด้วยหลักคิด ลัทธิของชาติอื่น
    “ชาตินิยม” จึงมีความจำเป็นสำหรับสถานการณ์เหล่านั้น เพื่อสร้างสำนึกความรักชาติ แต่สำหรับสถานการณ์ของประเทศในวันนี้นั้นเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน 
    เราต้องการการปฏิรูปที่อยู่บนพื้นฐานของ “ความเป็นไทย” โดยไม่ทิ้งหลักสากลนะครับ ผมขอย้ำนะครับ เราไม่ต้องไปทิ้งหลักสากล นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของ “ไทยนิยม” ที่ผมกำลังพูดถึง
    และ “ไทยนิยม” ก็ไม่ใช่ “ประชานิยม” เพราะ “ประชานิยม” เป็นการให้ในลักษณะที่เหมือนกับ “ยัดเยียด” ทุกคนนะครับ ได้ไปพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง อะไรก็แล้วแต่นะครับ เพราะว่าเป็นสิ่งที่ดี ที่เหมาะสมกับประชาชน ด้วยการสร้างแนวคิด “บริโภคนิยม” 
    ที่ผ่านมาประชาชนชอบนะครับ พอใจ กลายเป็นว่าประชาธิปไตยกินได้นะครับ เหมือนกับนโยบายของที่ผ่านมานะครับ ซึ่งอาจจะไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริง อาจจะทำเพียงเพื่อต้องการความนิยม หรือต้องการคะแนนเสียงจากการเลือกตั้ง....
    เห็นความต่างกันหรือยัง?
    ไทยนิยม คือการปฏิรูปบนพื้นฐานความเป็นไทย โดยไม่ละทิ้งความเป็นสากล ไม่ยัดเยียดแบบประชานิยม ไม่สร้างแนวคิดบริโภคนิยม  
    ไม่ใช่ประชาธิปไตยกินได้
    แล้ววันนี้ใครสัมผัส ไทยนิยม บ้างหรือยัง? 
    ก็พูดยาก...
    ชาตินิยมสมัยจอมพล ป. ใหม่ๆ พากันหวาดผวา เพราะถูกบังคับโดยรัฐบาลเผด็จการทหาร กว่าจะรู้ตัวก็ซึมเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันแล้ว 
    ต่างกับ ประชานิยม ที่สัมผัสได้ทันที ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มีการ ลด แลก แจก แถม   
    และวันนี้สัมผัสได้ว่าหากยังประชานิยมกันต่อ ประเทศฉิบหาย 
    ไทยนิยม เป็นกรอบใหญ่ ทำนองเดียวกับ "ยุทธศาสตร์ชาติ” 
    ส่วน "ประชารัฐ" เป็นส่วนหนึ่งของไทยนิยม 
    อย่าเพิ่งเวียนหัว!
    กลไกประชารัฐหลักการก็ง่ายๆ ถ้าสามารถพึ่งพาตนเองได้ตั้งแต่ระดับรากหญ้า การพัฒนาส่วนอื่นๆ ก็ง่ายขึ้น 
    ผลจะออกมาแบบไหน ชาตินิยมของจอมพล ป. หรือประชานิยมของทักษิณ  
    รอดูกันต่อไป.


                                 ผักกาดหอม
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"