พปชร.‘ทุน -คน’ครบ ‘อุตตม’นั่งหัวหน้า‘สนธิรัตน์’เลขาฯ‘สามมิตร’เต็มทีมปลายตุลา


เพิ่มเพื่อน    

  เขย่าพรรคใหญ่! ประชุมพลังประชารัฐ ทั้งทุน-คน ตบเท้าคึกคัก 4 รัฐมนตรีเด็กสมคิดนำทีม อดีตส.ส.เพียบ สามมิตรส่งตระกูล "นาคาศัย" เป็นตัวแทน  รอปลายตุลา.ตบเท้าครบทุกคน ตามคาด "อุตตม" นั่งหัวหน้าพรรค  "สนธิรัตน์" เลขาธิการพรรคขัดตาทัพ เผย "บิ๊กตู่" บอกโชคดี จะลาออกจากเก้าอี้ รมต.ในเวลาที่เหมาะสม

    เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้จัดประชุมตั้งพรรค เพื่อพิจารณาอุดมการณ์ นโยบาย ข้อบังคับ และเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค  มีนายชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งพรรคเป็นประธาน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก 
    ทั้งนี้ มีบรรดาสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งพรรค อดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ตัดสินใจมาร่วมงานพลังประชารัฐ รัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าร่วมประชุม พร้อมสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ประมาณ 500 คนเข้าร่วม 
    ประกอบด้วย นายอุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรม, นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์,  นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี,  นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอิทธิพล คุณปลื้ม ผู้ช่วย รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา 
    รวมถึงอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต ส.ส.กทม.และในฐานะรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ส.ส.กทม. และนายสกลธี ภัททิยกุล อดีต ส.ส.กทม. และในฐานะรองผู้ว่าฯ กทม., นายทศพล เพ็งส้ม อดีต ส.ส.นนทบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่มาพร้อมภรรยา นางภัทรมน เพ็งส้ม รองนายกเทศมนตรีเมืองพิมลราช จ.นนทบุรี, นายชาญวิทย์ วิภูศิริ อดีตผู้สมัคร ส.ส.เขตมีนบุรี พรรคประชาธิปัตย์ 
    นอกจากนี้ มีแกนนำกลุ่มสามมิตร นายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท พรรคไทยรักไทย, นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานฝ่ายบริหารสนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท  หลานชายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร  รวมถึงนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ไปเปิดตัวกับกลุ่มสามมิตร 
    ยังมีนายวิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ก่อตั้งพรรค,  นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล อดีต รมช.ศึกษาธิการ สมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 12 จังหวัดภาคอีสาน ซึ่งเป็นพื้นที่ฐานคะแนนเสียงเดิมพรรคเพื่อไทย อาทิ อุบลราชธานี มหาสารคาม สกลนคร นครพนม มุกดาหาร หนองคาย บึงกาฬ ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู และอำนาจเจริญ เป็นต้น
    ก่อนเริ่มการประชุม นายอุตตมระบุว่า ได้ตัดสินใจมาร่วมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่ได้ตอบว่าจะเข้ามารับหน้าที่หัวหน้าพรรคหรือไม่ ซึ่งประเด็นหลักในการประชุมพรรควันนี้ เพื่อเตรียมยื่นจดจัดตั้งพรรคกับ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รวมทั้งมาพบกับผู้มีอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคร่วมกันครั้งแรก ซึ่งพรรคพลังประชารัฐเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแนวใหม่
    ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า วันนี้มาร่วมประชุมในฐานะ
สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่แสดงความชัดเจนว่าจะลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีหรือไม่
"อุตตม"นั่งหัวหน้าพรรค
    ในช่วงเย็น พรรคพลังประชารัฐได้เปิดตัวหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จำนวน 25 คน โดยนายอุตตมเป็นหัวหน้าพรรค, นายสนธิรัตน์  เป็นเลขาธิการพรรค, นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ เป็นรองหัวหน้าพรรค, นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นโฆษกพรรค 
    ขณะที่นายชวน ชูจันทร์ ผู้จดแจ้งก่อตั้งพรรค ได้มอบเสื้อประจำพรรคให้กับนายอุตตมเพื่อนำไปมอบให้กรรมการบริหารพรรค อย่างไรก็ตาม มีการนำธงพรรคสีน้ำเงินไปโบกบนเวที เพื่อประกาศการตั้งพรรคอย่างเป็นทางการ โดยธงดังกล่าวได้รับการปลุกเสกจากวัดนางใน จ.อ่างทอง
    จากนั้น นายอุตตมกล่าวตอนหนึ่งว่า การมาทำงานการเมืองเป็นการตัดสินใจที่ไม่ง่ายเลย แต่เมื่อตัดสินใจแล้ว ตนตัดสินใจด้วยความภาคภูมิใจที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต ที่อาสาเข้ามาทำงานการเมืองอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรก โดยได้รับความไว้วางใจจากคณะผู้ร่วมก่อตั้งพรรคทำหน้าที่หัวหน้าพรรค 
    "ผมไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ แต่เราก็มีการปรึกษากัน ถ้าเราจะมาเปลี่ยนแปลงทางการเมืองใหม่ให้ประเทศไทย เราจำเป็นต้องกู้บัลลังก์คนดีและคนเก่ง รวมทั้งคนที่ไม่กล้าก้าวเข้ามาในทางการเมือง แต่มีใจให้ประเทศ อยากรับใช้บ้านเมือง ทั้งหมดนี้ต้องให้มาร่วมกันทำงานครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐจึงจะเกิดขึ้นด้วยอุดมการณ์ที่จะรวมพลังของประชาชนเข้ามาช่วยขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวข้ามอุปสรรคปัญหา ที่ทำให้ประเทศเต็มไปด้วยความขัดแย้งกว่าทศวรรษ"
    นายอุตตมกล่าวว่า เราทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า เราเสียเวลาและเสียโอกาสในการพัฒนาประเทศของเราให้ก้าวหน้ามานานพอแล้ว วันนี้เป็นโอกาสที่เราจะทำหลายๆ อย่างให้ประเทศสามารถก้าวพ้นความขัดแย้งให้ได้อย่างจริงจัง พลังประชารัฐจะรวมประเทศไทยให้กลับมาเป็นปึกแผ่นหนึ่งเดียว เราจะจับมือเดินด้วยกันไปข้างหน้า และเราจะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส เพื่อความรับผิดชอบที่มีเป้าหมายเดียว คือรับใช้แผ่นดินเกิด
    “ผมทราบดีว่าการรับตำแหน่งหัวหน้าพรรคการเมือง งานหนักแน่ๆ จากนี้ไปชีวิตต้องเปลี่ยน แต่ผมสัญญาว่าจะใช้ความรู้ความสามารถ ใช้ประสบการณ์และคำแนะนำจากทุกๆ ท่าน ในการขับเคลื่อนพลังประชารัฐให้เป็นทางออกของประเทศไทย เน้นการแก้ไขปัญหา เราจะเน้นการแก้ไขปัญหา และการพัฒนาที่ทำได้จริงและยั่งยืน จะไม่ฉาบฉวย เพื่อนำประโยชน์สุขคนไทยครอบคลุมทุกกลุ่มทุกภาคส่วน และขอโอกาสเรียนเลยว่า ให้ท่านมั่นใจ ให้สังคมมั่นใจได้ว่าตัวผมจะอยู่ในตำแหน่ง ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีในรัฐบาล แต่รับรองได้ว่าจะไม่มีการใช้เวลาและทรัพยากรของรัฐมาใช้ประโยชน์เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างแน่นอน ผมตระหนักดีว่าผมมีความรับผิดชอบ มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม ต่อการปฏิบัติที่ได้รับมอบหมายในทุกๆ เรื่อง เพราะฉะนั้นการวางตนการปฏิบัติตัวของผมและเพื่อนๆ ที่ร่วมอุดมการณ์ที่อยู่ในสถานภาพเดียวกัน เป็นที่จับตามองเป็นที่ติดตามของสังคมตลอดเวลา และเราพร้อมที่จะให้ตรวจสอบการทำงาน เพราะเรายึดมั่นในสิ่งซึ่งเราถือปฏิบัติ ในสิ่งที่เราตระหนักว่าต้องทำให้ถูกต้อง เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม พวกเรารับรองได้ว่าเราจะใส่หมวกใบเดียว คือหมวกของพลังประชารัฐ ไม่ต้องห่วง ถึงเวลาไปแน่ พรรคนี้มีเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง" หัวหน้า พปชร.กล่าว
อุดมการณ์ 7 ข้อ
    ทั้งนี้ อุดมการณ์พรรคพลังประชารัฐ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ยึดมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 2.พรรคเป็นสถาบันทางการเมืองของประชาชน บ่มเพาะพลเมืองที่ตื่นรู้ มุ่งเน้นการพัฒนาประชาธิปไตยวิถีไทย 3.น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวมกันเป็นกลุ่มอย่างมีพลัง สร้างความเข้มแข็งจากฐานรากอย่างยั่งยืน ชูประเทศสู่ประชาคมโลกอย่างสมศักดิ์ศรี 4.ก้าวข้ามความขัดแย้ง ฟื้นความสมานฉันท์ 5.สร้างสังคมที่เป็นธรรม ยึดนิติรัฐ นิติธรรม 
    6.ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างโอกาสที่เป็นจริง ขจัดความยากจน สร้างความมั่นคงในสังคม และ 7.สร้างสังคมที่เกื้อกูล แบ่งปัน เติมเต็มศักยภาพ และโอกาสของผู้คน เตรียมความพร้อมคนไทยสู่ศตวรรษที่ 21 โดยมีโลโก้พรรคเป็นแถบสีแดง ขาว และน้ำเงินคราม ของกรอบหกเหลี่ยม สื่อความหมายว่าเป็นการรวมพลังความสามัคคีของทุกคนในชาติให้เป็นหนึ่งเดียวปราศจากความขัดแย้ง เป็นความร่วมมือร่วมใจของประชาชน ร่วมพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืน     
    จากนั้น นายอุตตมให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงกรณีที่ระบุเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม จะสวมหมวกใบเดียวคือพรรคพลังประชารัฐ ว่ารัฐมนตรีทั้ง 4 คนได้คุยกันแล้วว่าจะเป็นไปในจังหวะเวลาเดียวกัน เงื่อนไขเดียวกัน เมื่อถึงช่วงเวลาที่เหมาะสมจะลาออกพร้อมกัน 
    เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ได้ให้คำแนะนำหรือคำเตือนอะไรกับ 4 รัฐมนตรีหรือไม่ นายอุตตมตอบว่า “ท่านไม่ได้ให้คำแนะนำหรือคำเตือนอะไรเป็นพิเศษ ในเรื่องนี้ที่เราตัดสินใจท่านเข้าใจ ท่านก็บอกว่าโชคดี” 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐที่น่าสนใจ นอกเหนือจากทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่มีชื่อทั้งนายอุตตม, นายสนธิรัตน์, นายกอบศักดิ์และนายสุวิทย์แล้ว คนอื่นๆ ก็มีเช่น 
 นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ เหรัญญิกพรรค ก่อนหน้านี้ เป็นอดีตรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในยุค คสช.ก็มีตำแหน่งการเมืองมาตลอด เพราะเป็นอดีตอาจารย์ธรรมศาสตร์ ที่สนิทกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จึงได้ตำแหน่งมากมาย เช่น อดีตสมาชิก สปท.ในยุคคสช. โดยปัจจุบันมีตำแหน่งการเมืองอย่างเป็นทางการ ทั้งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด) และ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม (อุตตม   หัวหน้าพรรค)
     ส่วนนายวิเชียร ชวลิต อดีตปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ อดีตอธิบดีกรมการปกครอง อดีตผู้ว่าฯบุรีรัมย์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ (สนธิรัตน์ เลขาธิการพรรค) โดยที่ผ่านมา นายวิเชียรมีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐมาตลอด ตั้งแต่การประชุมแกนนำพรรค การหาสถานที่ตั้งพรรคย่านประชานุกูล ที่จะเริ่มเปิดทำการในเดือนตุลาคมนี้ โดยนายวิเชียรถือว่าเป็นอดีตข้าราชการที่เข้าได้กับทุกขั้วการเมือง ทั้งเพื่อไทยและภูมิใจไทย
     นายสุรพร ดนัยตั้งตระกูล เป็นน้องชายนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานบอร์ดธนาคารอาคารสงเคราะห์ และทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด โดยนายสุรชัย พี่ชายนายสุรพร หนึ่งในทีมผู้อยู่เบื้องหลังการตั้งพรรคพลังประชารัฐ ที่เป็นเพื่อนสนิทกับนายสมคิด โดยการเลือกตั้งปี 2554 นายสุรพรได้ลงสมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเพื่อไทยด้วย และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ยังเคยไปบ้านพักของนายสุรชัยตอนหาเสียงปี 2554 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด
ลูกชายไอ้ก้านยาว
     ส่วนนายองอาจ ปัญญาชาติรักษ์ ผู้บริหารฟาร์มเกษตรอินทรีย์เพชรล้านนา เป็นบุตรชายของนายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ หรือไอ้ก้านยาว อดีตผู้เรียกร้องประชาธิปไตยในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ที่ปัจจุบันเป็นประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ ที่เป็นหนึ่งในบอร์ดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน และนายประพัฒน์ยังเป็นอดีตผู้ร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทยมาตั้งแต่ยุคแรกๆ จนได้ตำแหน่ง เช่น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รมช.เกษตรฯ โดยที่ผ่านมาเป็นอดีตแกนนำไทยรักไทยที่ใกล้ชิดกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
     โดยในส่วนของกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐพบว่า มีนักการเมืองจากกลุ่มสามมิตรเข้ามาร่วมเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย แสดงให้เห็นแล้วว่ากลุ่มสามมิตรของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายอนุชา นาคาศัย  จะมาร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐแน่นอน หลังก่อนหน้านี้มีการสร้างกระแสข่าวว่ากลุ่มสามมิตรดีลการเมืองกับ คสช.ไม่ลงตัว จนมีแนวคิดจะไปทำพรรคการเมืองเอง
     ซึ่งในรายชื่อก็มีนักการเมือง คนใกล้ชิดแกนนำกลุ่มสามมิตรหลักๆ ก็คือ นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไพน์เฮิร์สท วิลซ์ จำกัด  ประธานฝ่ายบริหาร บริษัท ซัมมิท ไพน์เฮิร์สท กอล์ฟ คลับ จำกัด (สนามกอล์ฟไพน์เฮิร์สท) ลูกชายนายโกมล จึงรุ่งเรืองกิจ พี่ชายนายสุริยะ ขาใหญ่เบอร์ต้นๆ ของวงการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย  
          และยังมีนายอนุชา นาคาศัย อดีต ส.ส.ชัยนาท ประธานสโมสรฟุตบอลชัยนาทเอฟซี อดีตสามีของนางพรทิวา นาคาศัย อดีต รมว.พาณิชย์ โดยนายอนุชาถือเป็นเบอร์สามของกลุ่มสามมิตร ต่อจากสมศักดิ์และสุริยะ ที่มีบทบาทในการไปดึงอดีต ส.ส.พรรคต่างๆ ให้มาอยู่กับกลุ่มสามมิตร
     นอกจากนี้ยังมีชื่อนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ เป็นอดีต ส.ส.สิงห์บุรี พรรคประชาธิปัตย์และชาติไทย แต่ห่างจากวงการการเมืองไปหลายปี เพราะโดนคดียุบพรรคชาติไทย เมื่อปี 2551 จนต้องเว้นวรรคการเมือง 5 ปี โดยช่วงหลังมีข่าวว่ามาสนิทกับนายอนุชา รวมถึงนายสมคิด โดยก่อนหน้านี้ปรากฏข่าวเคยไปพบนายสมคิดที่ทำเนียบรัฐบาลมาแล้วตอนช่วงพรรคพลังประชารัฐกำลังก่อตั้ง
     เช่นเดียวกับนายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ก็เป็นนักการเมืองกลุ่มสามมิตร โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เดินทางไปบ้านพักของนายสุริยะเพื่อแสดงตัวเข้ากลุ่มสามมิตร
     ส่วนอดีต ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นอดีตแกนนำ กปปส. ก็เป็นไปตามคาด มากันยกทีม ทั้งนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อดีต ผอ.พรรคประชาธิปัตย์ อดีตส.ส.กทม. สามีนางทยา ทีปสุวรรณ อดีตรองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งถือเป็นหนึ่งในนายทุนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ เพราะครอบครัวมีกิจการมากมายนับหมื่นล้านบาท รวมถึงนายพุทธิพงศ์ ปุณณกันต์ อดีตแกนนำ กปปส. อดีตส.ส.กทม.ประชาธิปัตย์ ที่ล่าสุดเข้ามาเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
"ทุน-คน"มาครบ
    สำหรับทีมเศรษฐกิจรัฐบาลที่มีชื่อในกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ยังมีชื่อของสันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีที่ พล.อ.ประยุทธ์แต่งตั้ง โดยเป็นทีมงานด้านเศรษฐกิจของนายสมคิด หลังลาออกจากรองผู้จัดการหัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคมปีนี้ เพื่อมาร่วมงานกับรัฐบาล 
    อีกทั้งยังมีชื่อศาสตราจารย์นฤมล สอาดโฉม กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง (อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์) ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. in Business Administration ของนิด้า ก็ถูกดึงมาร่วมงานด้วย เช่นเดียวกับที่มีชื่อนายณพพงษ์ ธีระวร ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย อดีตประธานหอการค้าจังหวัดยะลา ที่มีความสนิทสนมกับทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด
    ที่น่าสนใจมีชื่อนายวิเชฐ ตันติวานิช ประธานกรรมการบริหารศูนย์ C asean (ในเครือ บมจ.ไทยเบฟ )และผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีแสนล้านของประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา บริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ ถูกมองว่ามีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับฝ่าย คสช. โดยเฉพาะการส่งฐาปน สิริวัฒนภักดี ลูกชายนายเจริญ มาร่วมงานกับรัฐบาล คสช.หลายครั้ง เช่น การทำโครงการประชารัฐ เป็นต้น โดยที่ผ่านมานายวิเชษฐ์ถูกมองว่ามีความใกล้ชิดกับทีมเศรษฐกิจของนายสมคิด
    อีกชื่อที่น่าสนใจคือ นายชาญวิทย์ วิภูศิริ ที่เป็นอดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ภัทร เฮ้าส์ แอนด์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน)เพราะเป็นลูกชายของนายอัศวิน วิภูศิริ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ หนึ่งในนายทุนใหญ่ของพรรคประชาธิปัตย์ ที่คุมพื้นที่เลือกตั้งจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เช่น พิจิตร สุโขทัย
    นอกจากนี้ยังมีชื่อ ดร.วลัยพร รัตนเศรษฐ คนนามสกุลเดียวกับนายวิรัช รัตนเศรษฐ อดีต รมช.เกษตรและสหกรณ์ แกนนำเพื่อไทยจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีข่าวมาตลอดว่าจะย้ายมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ
    ส่วนนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ที่ปรึกษา รมว.การท่องเที่ยวฯ น้องชายนายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาและหัวหน้าพรรคพลังชล ก็เป็นไปตามคาด ที่มีชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรค
    ขณะที่นายชวน ชูจันทร์ ผู้ก่อตั้งตลาดน้ำคลองลัดมะยม ที่เป็นคนไปจดแจ้งกับ กกต.เพื่อขอตั้งพรรคพลังประชารัฐ ก็มีชื่อเป็นกรรมการบริหารพรรคด้วยเช่นกัน โดยนายชวนเป็นอดีตนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ รุ่นเดียวกับนายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล และเป็นคนที่นายสุรชัย ติดต่อให้ไปแสดงตัวยื่นขอจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐเพื่อเตรียมเลือกตั้งตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา 
    นอกจากนี้ พบว่ามีการเผยแพร่รายชื่อผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภาคใต้ของพรรค ทั้ง 14 จังหวัด 50 เขตการเลือกตั้ง ในแอปพลิเคชันไลน์ของนักการเมือง นอกจากนั้นแล้วยังมีชื่อผู้ประสานงานภาคใต้ของพรรคที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งจำนวน 8 คน 
    ประกอบด้วย 1.พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 2.พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ สมาชิก สนช. อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดชุมพร และเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 3.นายภาณุ อุทัยรัตน์ สมาชิก สนช. 4.พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ สมาชิก สนช. 5.พ.อ.สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อดีต ส.ส.สงขลา และเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.ประยุทธ์ จากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12 6.นายอับดุลฮาริม มินซาร์ อดีตสมาชิก สปท. 7.พล.อ.บุญธรรม โอริส อดีตสมาชิก สปท. และ 8.นายอนุมัติ มะหะมัด
แบ่ง 7 กลุ่มจังหวัด
    สำหรับตัวผู้สมัคร ส.ส.นั้น พปชร.ได้วางหลักเกณฑ์พิจารณาเพื่อแบ่งระดับของผู้ลงเลือกตั้ง โดยยึดประสบการณ์ทางการเมือง การศึกษา อาชีพ อายุ เครือข่ายญาติ สังคมผู้ร่วมงาน มาตรฐานการปฏิบัติตน จริยธรรม ความมุ่งมั่น บุคลิกภาพ คุณธรรม การรับฟังจากประชาชนในเขตเลือกตั้ง และพื้นที่ข้างเคียง
    นอกจากนี้ ยังมีการประเมินเกรดให้แก่ตัวผู้สมัครรายคนในวันเปิดตัวด้วย โดยแบ่งออกเป็น 4 เกรด ดังนี้ 1.เกรดเอ และ 2.เกรดบีบวก หมายถึงเพื่อชนะเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง 3.เกรดบีและเกรดซี หมายถึงเพื่อคะแนนระบบบัญชีรายชื่อ
    อย่างไรก็ตาม รายชื่อของผู้ลงเลือกตั้งของ พปชร.นั้น ถูกแบ่งออกเป็น 7 กลุ่มจังหวัด ได้แก่ กลุ่มเอ จังหวัดชุมพร และจังหวัดระนอง ซึ่งมี พล.ต.กลชัย เป็นผู้ประสานงาน, นายชวลิต อาจหาญ จะลงสมัครในจังหวัดชุมพร เขต 1, นายสมบูรณ์ หนูนวล จังหวัดชุมพร เขต 2 และ ดร.ทวีป เพ็ชร์สุวรรณ์ จังหวัดชุมพร เขต 3 และนายพงศกร พรหมสุวรรณ จังหวัดระนอง เขต 1 ซึ่งทั้ง 4 คนดังกล่าวถูกจัดเกรดเป็นเกรดเอและบีบวก
    นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ (แรมโบ้อีสาน) อดีตแกนนำ นปช. กล่าวถึงการประชุมพรรค พปชร.นัดแรกว่า เป็นการประชุมเพื่อตั้งหัวหน้า เลขาธิการพรรค และกรรมการบริหารพรรค เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่ กกต.กำหนด หลังจากนั้นพรรคก็จะเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคและสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคทั่วประเทศในขั้นตอนต่อไป ซึ่งตนคาดว่าน่าจะมีการประชุมใหญ่สมาชิกพรรคอีกครั้งในปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ภายในพรรคให้มีความสมบูรณ์ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง 
    เขากล่าวว่า เมื่อนั้นกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสามมิตร กลุ่มพลังโคราช และกลุ่มอื่นๆ ก็จะเข้าร่วม และพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมีความพร้อมที่สุดสำหรับการลงสนามเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง ในส่วนตนเองนั้น ก็ไม่ได้เรียกร้องหรือต่อรองใดๆ ทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของผู้ใหญ่ในพรรคจะเห็นถึงความเหมาะสม ตนพร้อมทำงานได้ทุกตำแหน่ง เพียงแต่อยากเห็นประเทศชาติเกิดความปรองดอง และมีบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง 
    ทั้งนี้ หลังมีการจัดสรรตำแหน่งต่างๆ ภายในพรรคแล้ว มั่นใจว่านโยบายของพรรครวมกับผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะทำให้ประชาชนตัดสินใจเลือกผู้สมัครของพรรคพลังประชารัฐอย่างแน่นอน และพรรคพลังประชารัฐก็จะนำเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 หลังการจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐเสร็จสมบูรณ์แล้ว พรรคเราไม่มีเวลาที่จะมาสร้างความขัดแย้งกับพรรคการเมืองใด ทำได้อย่างเดียวคือ การคิดนโยบายที่ดีและสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชนคนไทยทั้งแผ่นดิน เพราะฉะนั้นเวลาที่เหลืออยู่ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้ง บรรดาสมาชิกพรรคและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคจะต้องช่วยกันไปรับฟังปัญหาของประชาชน แล้วนำมาเสนอกับผู้บริหารพรรคเพื่อกำหนดเป็นยุทธศาสตร์และนโยบายของพรรค ก่อนนำไปเสนอให้ประชาชนตัดสินใจ
"เพื่อนไทย"เสี้ยม
         "พรรคพลังประชารัฐจึงขอส่งสัญญาณไปถึงทุกพรรคการเมืองว่า ถึงเวลาแล้วที่ทุกพรรคจะต้องช่วยกันสร้างสรรค์บรรยากาศการเลือกตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม ถ้าพรรคพลังประชารัฐได้เสียงมาเป็นอันดับ 1 ก็พร้อมเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองที่เห็นว่าจะร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและสร้างความเจริญให้กับประเทศชาติได้ ถ้าพรรคที่มีจุดยืนและอุดมการณ์เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ ส่วนตัวเห็นว่าพรรคเราก็คงไม่มีปัญหาที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาลทำงานด้วยกันเพื่อนำพาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป สำคัญที่สุดพรรคพันธมิตรที่จะมาร่วมกันทำงานจะต้องมีหัวใจคือประชาชนและยึดมั่นต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เช่นเดียวกับพรรคพลังประชารัฐ" แรมโบ้อีสานกล่าว
    ขณะที่นายสิระ พิมพ์กลาง ว่าที่หัวหน้าพรรคเพื่อนไทย ปล่อยข่าวว่า ได้ข่าวจากแวดวงเพื่อนนักการเมืองด้วยกันว่า ขณะนี้กลุ่มสามมิตรกับพรรคพลังประชารัฐ กำลังเกิดปัญหาบางอย่าง ระยะหลังไม่ให้แกนนำกลุ่มสามมิตรไปติดต่อทาบทามผู้สมัคร แต่เป็นผู้ใหญ่ในรัฐบาลติดต่อเองโดยตรง ทำให้เกิดปัญหาขึ้นมาแล้วหลายเขต กลายเป็นผู้ประสงค์จะลงสมัครพื้นที่ทับกัน อีกทั้งในการเดินสายติดต่อทาบทาม บางครั้งทำเกินไปกว่าสิ่งที่เขาต้องการ เท่าที่รู้มา มีการวางตัวนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ไปเป็นเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ตั้งแต่ต้น แต่ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลง ตำแหน่งนี้สำคัญ ควรจะต้องมอบให้มือทำงานการเมืองที่มีประสบการณ์มานาน ดูแล้วทั้งชื่อชั้น พรรษาการเมือง นายสุริยะ ทั้งพรรดูดีกว่านายสนธิรัตน์หรือนายอุตตม เสียอีก ไม่รู้ลักษณะนี้เป็นเหมือนความต้องการจะถีบทิ้งหรือไม่
          "ขอเตือนแกนนำกลุ่มสามมิตร จำได้หรือไม่ สมัยอดีตทำงานการเมืองกลุ่มมัชฌิมากำลังเดินหน้าไปได้ดีๆ ใครกันจู่ๆ ไม่รับโทรศัพท์ ปิดมือถือหนีไปต่างประเทศเอาดื้อๆ ครั้งนั้นถือเป็นบทเรียน ครั้งนี้จะให้บทเรียนซ้ำรอยอีกหรือไม่ ตอนนี้ยังมีเวลาทบทวน ควรมาอยู่กับฝ่ายประชาธิปไตยแท้ๆ ดีกว่า หากไม่รู้จะไปไหน พรรคเพื่อนไทยเปิดกว้างพร้อมอ้าแขนต้อนรับ" นายสิระกล่าว
    นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ไม่แปลกใจที่รัฐมนตรี 4 คนไปเปิดตัวในการประชุมจัดตั้งพรรคพลังประชารัฐ อยู่ในสังกัด นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ที่ผ่านมาโดนวิจารณ์กันว่าไม่เคยนำพาเรื่องเกี่ยวกับปัญหาเกษตรกร โดยเฉพาะกรณีจัดเก็บภาษีนำเข้าพืชเศรษฐกิจจากต่างประเทศในเครือเจ้าสัวยักษ์ใหญ่ แท้ที่จริงแล้วเมื่อเปิดหน้าออกมาในวันนี้ก็ไม่รู้ว่าข้าราชการ 2 กระทรวง กับอีก 2 สำนักรัฐมนตรีจะลำบากใจเพียงใด หลังจากที่ผ่านมามีการโจษจันกันตลอดว่าสำนักงานรัฐมนตรีกลายเป็นสถานที่ดีลพรรคการเมืองไม่ใช่สถานที่สั่งงานนโยบายแก้ไขปัญหาประชาชน ใช่หรือไม่
          "อยากขอเรียกร้องให้ 4 รัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อไปทำกิจกรรมทางการเมืองอย่างโปร่งใส ไม่ใช่แฝงอยู่ในอำนาจรัฐ เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น และไม่เป็นธรรมต่อเกษตรกรและประชาชน หรือถ้าไม่ลาออก สิ่งที่ควรทำคือเก็บภาษีย้อนหลัง 4 หมื่นล้านเจ้าสัวและประชุมคณะรัฐมนตรีเรียกเก็บภาษีนำเข้าพืชเศรษฐกิจจากต่างประเทศ ตามหลักเกณฑ์ขององค์การการค้าโลก" นางมัลลิกากล่าว
ปชป.ประชุม 30 ก.ย.    
    นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า วันที่ 30 ก.ย. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อพิจารณาถึงระเบียบพรรคว่าด้วยการลงคะแนนหยั่งเสียงเบื้องต้นเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรค โดยในการประชุมทางคณะกรรมการบริหารพรรคครั้งนี้ จะมีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค ทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมชั่วคราว เพื่อพิจารณาระเบียบดังกล่าวเพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสีย อันประกอบด้วย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม และนายอลงกรณ์ พลบุตร มาเข้าร่วมประชุมเพื่อสะท้อนความคิดเห็นถึงกระบวนการหยั่งเสียงด้วย
          เขากล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์ให้ความสำคัญกับสมาชิกพรรค และที่สำคัญสมาชิกพรรคที่ คสช.ได้ออกคำสั่งลิดรอนสิทธิทำให้สิ้นสมาชิกภาพความเป็นสมาชิกพรรค จำนวนกว่า 2.5 ล้านคนนั้น ทางพรรคจะให้ได้มีส่วนร่วมในการหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคในครั้งนี้ด้วย โดยจะมีการกำหนดไว้ในระเบียบพรรคถึงบุคคลผู้มีสิทธิหยั่งเสียง ประกอบด้วย สมาชิกพรรค ผู้เคยเป็นสมาชิกแต่มิได้แสดงตนความเป็นสมาชิกภายในวันที่ 30 เม.ย. ที่ผ่านมาตามคำสั่ง คสช. ดังนั้น สมาชิกเหล่านี้จะสามารถมีส่วนร่วมในความเป็นเจ้าของพรรคเพื่อเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โดยถือว่าบุคคลเหล่านี้คือสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีความผูกพันมาชั่วชีวิตของพวกเขา ดังนั้น การหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้ จึงให้ความสำคัญกับสมาชิกทุกคนทั้งที่ยืนยันไปแล้ว และที่มิได้ยืนยันภายในกำหนดระยะเวลาจากคำสั่งลิดรอนสิทธิ์ของ คสช.
    นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ไม่วิจารณ์การเปิดตัวของพรรคพลังประชารัฐ โดยบอกว่าถือคติเอาบ้านตัวเองให้เรียบร้อยก่อน เรื่องนี้อยู่ที่แต่ละคนคิดอย่างไร ชีวิตตนเองนั้นโตมาบนวังเวียนของการแข่งขัน ประมูลงานทุกอย่างก็ไม่เคยไปดูว่าใครมีแต้มพิเศษอะไร แต่พิจารณาที่ตัวเองว่าจะมีกลยุทธ์อะไรให้ชนะเขาได้ ต้องมองข้างหน้า ไม่มองด้านข้าง จุดนี้เองที่ตนนำมาใช้ในสนามเลือกตั้ง เพราะแน่นอนว่าเขตที่พรรคภูมิใจไทยเคยได้ ส.ส. ย่อมถูกท้าทายจากพรรคการเมืองต่างๆ ตนก็เชื่อมั่นในบุคลากรของพรรค ในเขตที่เข้มแข็งเราก็จะสนับสนุนให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป ส่วนในเขตที่ยังอ่อนแอ เราก็จะปรับปรุง คิดนโยบายดีๆ คัดเลือกคนที่ประชาชนรู้จัก เลือกคนที่จะทำประโยชน์ให้พื้นที่ 
    เมื่อถามถึงจุดยืนว่าจะจับมือกับฝ่ายใดนั้น นายอนุทินตอบว่า พรรคภูมิใจไทยเป็นพรรคขนาดกลาง  คำตอบจะไม่เหมือนพรรคใหญ่ แม้เราพยายามขยับเป็นพรรคใหญ่ แต่เราก็ดูความเป็นจริง ดังนั้น การตัดสินใจลำดับแรกคือ ฝั่งประชาชนและประเทศไทย ลำดับถัดมาคือฝั่งตัวเอง วันนี้เราไม่รู้ผล แต่ถามว่าการเป็นนายกฯคนใน เป็นนายกฯ จาก ส.ส. มันก็สง่างาม เราพยายามให้เป็นแบบนั้นอย่างสุดความสามารถ พรรคไหนได้คะแนนสูงสุด ตนพร้อมหนุน แต่ถ้าหากมันขรุขระ ก็ต้องคิดก่อนว่า ณ จุดนั้น ประเทศและประชาชนได้อะไร 
    “การเลือกนายกรัฐมนตรี ผมอยากให้เป็นไปตามกระบวนการที่สง่างาม รองลงมาคือเป็นไปตามเงื่อนไขรัฐธรรมนูญ” นายอนุทินกล่าว
เสนอเลื่อนเลือกตั้ง
    ส่วน นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวถึงบรรยากาศในการประชุมกับ กกต.เมื่อวันที่ 28 ก.ย.ว่า เกือบทุกพรรคสะท้อนถึงความยุ่งยากของกฎหมายและรายละเอียดต่างๆ มากมาย เช่น พรรคการเมืองใหม่ ต้องใช้เวลาตรวจสอบและอนุมัติจาก กกต.อย่างน้อย 45-60 วัน และต้องผ่านการอนุมัติก่อนถึงจะหาสมาชิกพรรคได้ เช่น พรรคพลังธรรมใหม่ประชุมผู้ร่วมจัดตั้งพรรคตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้รับการอนุมัติจาก กกต.เมื่อวันที่ 14 ก.ย.ที่ผ่านมา ใช้เวลาถึง 4 เดือนเต็ม
          เขากล่าวว่า ข้อกำหนดหลายข้อ ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหม่ต้องประชุมผู้ร่วมจัดตั้ง จำนวนมากกว่า 250 คน เพื่อจัดตั้งพรรคก่อน และจะต้องประชุมใหญ่พรรคอีกครั้ง เพื่อตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัคร ซึ่งการประชุมใหญ่แต่ละครั้ง ต้องใช้จ่ายหลายแสนบาท ทุกพรรคการเมืองต้องตั้งสาขาพรรคหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ได้ก่อนจึงจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ในจังหวัดนั้นได้ ถ้าพรรคใดจะส่งผู้สมัคร ส.ส.ครบ 350 เขต ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 10,000 คน เมื่อพบความยุ่งยากมากแบบนี้ พรรคการเมืองส่วนมากมีแนวโน้มที่จะเสนอ กกต.ให้ คสช.ปลดล็อก และเลื่อนวันเลือกตั้งเป็นวันที่ 5 พ.ค.62 
    "คสช.ร่วมกับ กกต.ประกาศให้ชัดเจนว่าจะเลือกตั้งแน่นอนในวันที่ 5 พ.ค.62 มิเช่นนั้นพรรคการเมืองใหม่น่าจะเข้าสู่สนามเลือกตั้งได้ทันไม่ถึงร้อยละ 50 แน่นอน" นพ.วีระกล่าว
     พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ที่ประชุม กกต.เห็นชอบให้นายทะเบียนพรรคการเมือง รับรองการขอจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่ ที่มีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาชนปฏิรูป ที่มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นหัวหน้าพรรค เป็นพรรคการเมืองแล้ว หลังตรวจสอบแล้วว่าเอกสารหลักฐานต่างๆ ในการยื่นขอจัดตั้งพรรคครบถ้วน ซึ่งทางสำนักงาน กกต.ก็จะได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้เหลือกลุ่มการเมืองที่ยื่นขอจดตั้งพรรคซึ่งนายทะเบียนพรรคอยู่ระหว่างการตรวจเอกสารหลักฐานอีก 16  พรรค และที่นายทะเบียนรับรองให้เป็นพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 60 แล้วรวม 6 พรรค ซึ่งนายทะเบียนพรรคการเมืองก็จะเร่งพิจารณารับรองในส่วนที่เหลือต่อไป
    นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บ.ก.ลายจุด ผู้ร่วมจดจัดตั้งพรรคเกียน เปิดเผยว่า กกต.นัดให้ตนไปรับเอกสารการขออนุมัติการใช้ชื่อพรรคเกียน ที่แปลว่า อ่าว หรือทะเล ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ หลังจากที่ กกต.ได้ใช้เวลาพิจารณาแค่ชื่อมานานกว่า 5 เดือน นับจากที่ชื่อเกรียนที่มีความหมายว่า สั้น สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อยไม่ได้รับการอนุมัติ โดยขั้นตอนภายหลังรับเอกสารการอนุมัติชื่อ ตนจะต้องดำเนินการหาสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้ง 500 คน หาทุนประเดิม ก่อนจัดประชุมใหญ่เพื่อเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อนำไปยื่นต่อ กกต.ให้อนุมัติเป็นพรรคการเมืองที่ถูกต้องตาม พ.ร.ป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ซึ่งทั้งหมดเป็นกระบวนการที่พรรคใหม่อื่นๆ ทำกันไปชาติหนึ่งแล้ว แต่พรรคเกียนเพิ่งได้รับการอนุมัติชื่อ.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"