'หนู'นอนมาร่วมรัฐบาลแน่ 'วัฒนา'หนีตายชิ่งลงเขต!


เพิ่มเพื่อน    

     ภูมิใจไทยประชุมใหญ่คึกคัก นักการเมืองตบเท้าร่วมเพียบ เคาะ กก.ชุดใหม่ 13 คน ชู "อนุทิน"  เป็นนายกฯ คนเดียว "วรงค์" โวยชำระเงินค่าบำรุงพรรคผ่านบัญชีธนาคารของผู้สมัครทำยุ่งยาก ลั่นหากชนะนั่งหัวหน้า ปชป.เลือดไหลกลับ "อิสสระ" พลิกหนุน "มาร์ค" ขณะที่ "เพื่อแม้ว" จัดทัพเลือกตั้งสะพัด! อดีต ส.ส.สุพรรณบุรีเตรียมซบ ขณะที่ปีกเสื้อแดงวางทายาท จองพื้นที่ ฮือฮา "เสี่ยไก่" ขันอาสาลง ส.ส.เขตฝั่งธนฯ ท้าชน ปชป.  
     เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม มีความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างคึกคัก โดยที่ทำการพรรคภูมิใจไทย(ภท.) มีการจัดประชุมใหญ่สามัญ ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกนับแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ประกาศคลายล็อกทางการเมือง โดยส่วนใหญ่ของผู้มาร่วมประชุมยังคงเป็น ส.ส.พรรค ภท. นำโดยนายอนุทิน  ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค, นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค, นายชัย ชิดชอบ อดีตประธานรัฐสภา,  นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรค, นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค เป็นต้น 
    นอกจากนี้ ยังมีอดีต ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นที่ประกาศตัวจะลงสมัคร ส.ส.พรรค ภท.มาร่วมประชุมเช่นเดียวกัน อาทิ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.), นายพงศ์พันธ์ สุนทรชัย อดีต ส.ส.หนองคาย พรรคเพื่อไทย (พท.)  ขณะเดียวกัน อดีต ส.ส.พรรค ภท.ที่เคยมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าจะไปร่วมงานกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็มาร่วมงานเช่นกัน เช่น นายสุชาติ ศรีสังข์ อดีต ส.ส.มหาสารคาม, นายนที สุทินเผือก หรือกรุง ศรีวิไล อดีต ส.ส.สมุทรปราการ เป็นต้น โดยยืนยันกับนายอนุทินว่ายังอยู่กับพรรค ภท. แต่ที่มีชื่อไปปรากฏเนื่องจากโดนกลุ่มสามมิตรนำชื่อไป รวมทั้งนายสมควร โอบอ้อม สมาชิก ภท.อดีต ส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) มาร่วมประชุมด้วย 
    ขณะที่นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร อดีต ส.ส.พรรคชทพ., นายศิริวัฒน์  ขจรประศาสน์ อดีต ส.ส.พรรคชทพ. บุตรชาย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รวมถึงนายพลพีร์ สุวรรณฉวี อดีต ส.ส.นครราชสีมา พรรคเพื่อไทย บุตรชายว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ และ ร.ต.หญิงระนองรักษ์ สุวรรณฉวี นายก อบจ.นครราชสีมา ได้มาปรากฏตัวที่พรรค แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีคนในตระกูลสะสมทรัพย์มาเปิดตัวที่พรรค โดยแหล่งข่าวจากพรรค ภท.ยืนยันว่าตระกูลสะสมทรัพย์ยังอยู่กับภูมิใจไทย แต่ที่ไม่อยากเปิดตัว เพราะไม่ต้องการให้เกิดประเด็นขัดแย้งกับพรรค พปชร. ที่เคยพยายามดึงนักการเมืองชื่อดังในจังหวัดนครปฐมไปร่วมงานด้วยก่อนหน้านี้
    ขณะที่นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมพรรคให้เป็นรองหัวหน้าพรรคคนที่ 4 โดยจะลงรับสมัครเลือกตั้งใน จ.อุทัยธานี เขต 2 เหตุผลที่มาร่วมงานกับพรรคภูมิใจไทย เพราะเป็นพรรคที่ได้รับการตอบรับดีในพื้นที่ เป็นพรรคสายกลาง ทำประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพราะขณะนี้หมดเวลาการแบ่งกลุ่มแบ่งฝ่ายกันแล้ว การมาประชุมครั้งแรกบรรยากาศเป็นไปด้วยดี เป็นพรรคที่อยู่กันแบบพี่แบบน้อง และขอสนับสนุนหัวหน้าพรรคคือนายอนุทินเป็นนายกฯ 
    ภายหลังการประชุม นายอนุทินแถลงว่า การประชุมครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ เป็นการคัดเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ จำนวน 13 คน ประกอบด้วย นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ส่วนรองหัวหน้าพรรค 4 คน ตามลำดับคือ นายทรงศักดิ์ ทองศรี, นายบุญลือ ประเสริฐโสภา, นายเกื้อกูล ด่านชัยวิจิตร และนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส่วนเลขาธิการพรรค คือนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ด้านนางกนกวรรณ วิลาวัลย์ เป็นรองเลขาธิการพรรคคนที่ 1 และนายรังสิกร ทิมาตฤกะ รองเลขาธิการพรรคคนที่ 2 เหรัญญิกพรรค คือ นางนาที รัชกิจประการ นายทะเบียนพรรค คือ นายศุภชัย ใจสมุทร นอกจากนี้ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม, นายวีระศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล และนายมานิตย์ ภาวสุทธิ์ ยังเป็นบริหารพรรคอื่นๆ ขณะที่โฆษกและรองโฆษกพรรคจะหารือพิจารณาคนที่เหมาะสมอีกครั้ง
ชู"อนุทิน"นายกฯ คนเดียว
      หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า วันนี้เราเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น ซึ่งบรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างราบรื่น จากวินาทีนี้พรรคภูมิใจไทยภายใต้กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ พร้อมดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อประเทศ เพื่อประชาชน พร้อมสนับสนุนทุกกิจกรรมที่จะนำพาความสงบสู่ประเทศ นำไปสู่การเลือกตั้งที่ขาวสะอาดตามครรลองประชาธิปไตย ไม่ทำตัวเป็นภาระหรือสร้างความยุ่งยาก ในวันที่ 12 ต.ค.นี้ เวลา 10.30 น. พรรคจะเปิดรับฟังแนวคิดที่จะนำไปเสนอเป็นนโยบาย ณ ที่ทำการพรรคต่อไป
      ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ยังไม่เห็นตระกูลสะสมทรัพย์มาร่วมประชุมกับพรรค นายอนุทินกล่าวว่า ทุกอย่างยังมีเวลา 90 วันก่อนการเลือกตั้ง พรรคพูดคุยกับบรรดานักการเมือง ไม่ใช่ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง ยังมีการชักชวนผู้มีความสามารถ บางท่านก็ไม่ใช่นักการเมือง แต่เป็นนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ  
      ส่วนที่มองกันว่าพรรคภูมิใจไทยเป็นตัวแปรในการเลือกตั้งครั้งนี้ นายอนุทินกล่าวว่า ถ้าพรรคได้ 250 คน ก็คงเป็นตัวหลัก ทุกอย่างอยู่ที่ประชาชน จนถึงวันนี้ตนก็พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะถ้าไม่พร้อมจะมาเป็นหัวหน้าพรรคทำไม ทุกคนมีความหวัง มีความตั้งใจ ถ้าพรรคได้ 251 เสียง ตนก็เป็นนายกฯ ได้
    ถามถึงความเป็นไปได้ที่พรรคภูมิใจไทยจะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ นายอนุทินกล่าวว่า ต้องดูผลการเลือกตั้งเป็นหลัก คำถามแบบนี้ลำบากที่จะตอบ เพราะพวกตนไม่ใช่พรรคความขัดแย้ง และไม่ใช่พรรคใหม่ เราอยู่ของเราแบบนี้ เพราะเรามั่นใจว่าเราทำอะไร 
    ด้านนายศักดิ์สยามกล่าวว่า สำหรับพรรคภูมิใจไทย จะเสนอชื่อนายอนุทินเป็นนายกฯ เพียงคนเดียว
    สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ เว็บไซต์ Democrat Party, Thailand ของพรรค โพสต์เปิดรับสมาชิกเพื่อร่วมหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรค โดยมี 3 ช่องทางในการสมัครเป็นสมาชิก คือ 1.สมัครด้วยตนเองที่สำนักงานใหญ่พรรค 2.สมัครด้วยตนเอง ณ จุดรับสมัคร 350 จุดที่พรรคประกาศมอบหมายทั่วประเทศ และ 3.สมัครผ่านแอปพลิเคชัน D-Connect ผ่านระบบ Android โดยกำหนดกติกาการชำระเงินค่าบำรุงพรรคทั้ง 3 ช่องทางจะต้องโอนผ่านบัญชีธนาคารของผู้สมัครไปยังธนาคารกรุงไทยชื่อบัญชี พรรคประชาธิปัตย์-ทุนประเดิม เลขที่ 068-6-03585-2 เท่านั้น โดยผู้ที่สมัครสมาชิกภายใน 15 ต.ค. นี้ จะมีสิทธิ์ลงคะแนนหยั่งเสียงเลือกหัวพรรค อย่างไรก็ตาม อัตราค่าบำรุงรายปี 50 บาท หรือตลอดชีพ อยู่ที่ 2,000 บาท
    รายงานข่าวแจ้งว่า ฝ่าย นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก ผู้เสนอตัวชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ไม่เห็นด้วยกับการต้องชำระเงินค่าบำรุงพรรคผ่านบัญชีธนาคารของผู้สมัครเท่านั้น ทั้งที่กติกาดังกล่าวกรรมการบริหารพรรคตราขึ้น เพื่อป้องกันการเกณฑ์คนมาสมัครเป็นสมาชิก โดยอ้างว่าทำให้การสมัครเกิดความยุ่งยาก  อีกทั้งยังจะช่วยเพิ่มโอกาสให้นายอภิสิทธิ์ได้รับชัยชนะมากขึ้น แต่ฝ่ายที่สนับสนุนนายอภิสิทธิ์ กลับเห็นว่าวิธีดังกล่าวเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และจะทำให้พรรคได้สมาชิกตามธรรมชาติ
"วรงค์"โวชนะเลือดไหลกลับ
      ช่วงบ่ายวันเดียวกัน นพ.วรงค์เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยมีนายวิรัตน์ วิริยะพงษ์ อดีต ส.ส.สุโขทัย ในฐานะตัวแทนกลุ่มเพื่อนหมอวรงค์มาให้กำลังใจ โดย นพ.วรงค์สมัครผ่านระบบแอปพลิเคชัน D-connect พร้อมกับโอนเงินผ่านบัญชีธนาคาร และบ่นว่ายากจัง ก่อนที่จะกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ระบบการโอนเงินดังกล่าวทำให้สมัครสมาชิกยาก แต่ก็ยอมรับกติกา ส่วนการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคนั้น ในขณะนี้ยังถือเป็นรองนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งถือเป็นแชมป์เก่าที่ครองตำแหน่งมายาวนานถึง 13 ปี 
    "แต่จากการเดินสายลงพื้นที่ได้รับการตอบรับดีมาก มีอดีต ส.ส.ที่คิดจะย้ายพรรค รวมทั้งที่ย้ายไปแล้วติดต่อมาว่า หากผมได้เป็นหัวหน้าพรรค จะกลับมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งจะได้เห็นเลือดไหลกลับเข้าประชาธิปัตย์ รวมถึงมีผู้สมัครเลือดใหม่ในพื้นที่ภาคอีสานและเหนือจะมาร่วมงานกับพรรคด้วย เพราะเมื่อผมได้บริหารพรรคก็จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเป็นคนพูดจริง ทำจริง กล้าคิด กล้าทำ และกล้าตัดสินใจ โดยจะมีการกระจายอำนาจให้กับประธานสาขาพรรค ในวันที่เราเป็นรัฐบาล" นพ.วรงค์กล่าว
    ส่วนกรณีที่มีข้อครหาว่าหากได้เป็นหัวหน้าพรรคจะทำให้ประชาธิปัตย์กลายเป็นนั่งร้านให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้งนั้น นพ.วรงค์ กล่าวว่า คงไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นแนวคิดของคนที่สนับสนุนตน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพรรคให้เข้มแข็งขึ้น หากเปิดตัวออกมาแล้วคนจะตกใจ ซึ่งเมื่อถึงเวลาจะให้ออกมาชี้แจง
     เมื่อถามย้ำถึงจุดยืนในการตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ นพ.วรงค์กล่าวว่า ยังไม่ได้มองไกลถึงขนาดนั้น ขณะนี้มุ่งที่การแข่งขันในตำแหน่งหัวหน้าพรรคก่อน และไม่ได้ติดยึดกับตัวบุคคล การร่วมรัฐบาลต้องมีการหารือกัน โดยตนยึดนโยบายสำคัญเรื่องการปราบการทุจริตที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ ไม่ได้คิดประเด็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ เพราะเป็นคำที่ชาวบ้านไม่ได้อะไร และเบื่อแล้ว ต้องการความชัดเจนว่าชาวบ้านจะได้อะไรมากกว่า ทั้งนี้ในวันที่ 7 ตุลาคม จะลงพื้นที่ภาคตะวันออกเพื่อพบปะสมาชิกและอดีตประธานสาขา เพราะทราบมาว่าคู่แข่ง คือนายอภิสิทธิ์จะลงพื้นที่ภาคใต้ จากนั้นในวันที่ 8 ต.ค.จะเดินทางมาสมัครลงแข่งขันอย่างเป็นทางการ
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอิสสระ สมชัย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรค ปชป. และอดีตแกนนำ กปปส. โพสต์ข้อความในกลุ่มไลน์ ส.ส.ของพรรคว่า ตนยอมรับว่าหมอวรงค์เป็นคนดี มีความสามารถ มีผลงานที่โดดเด่นคือคดีจำนำข้าว แต่อยากให้หมอวรงค์เพิ่มพูนประสบการณ์ในอีกหลายด้าน เพราะการเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น คือการเตรียมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกด้วย วันที่ 11 พ.ย. จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค จากนั้นเหลือเวลาอีกเพียง 3 เดือนก็จะเลือกตั้ง ส.ส. หากเปลี่ยนหัวหน้าพรรคตอนนี้คงจะมีการเปลี่ยนแปลงภายในพรรค (ตามนโยบายกล้าเปลี่ยน) มากพอสมควร เชื่อว่าปัญหาจะมีตามมามากมาย ปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญเวลานี้คือ การกำหนดยุทธศาสตร์เพื่อเตรียมการเลือกตั้ง เรามีข้อจำกัดเรื่องเงื่อนเวลา ในทางส่วนตัวผมกับหมอวรงค์รักกัน เคยบวชที่วัดธารน้ำไหล (สวนโมกข์) อยู่กุฏิเดียวกัน จึงไม่มีข้อขัดแย้งใดๆ ต่อกัน แต่ในสถานการณ์เช่นนี้ เห็นว่าสมควรที่จะให้คุณอภิสิทธิ์ทำหน้าที่เป็นผู้นำพรรคต่อไป 
     อย่างไรก็ตาม ทำให้กลุ่มเพื่อนหมอวรงค์ส่งข้อความตอบโต้ เช่น นายสมบัติ ยะสินธุ์ อดีต ส.ส.แม่ฮ่องสอน โดยตำหนินายอิสสระว่า หากจริงใจกับ นพ.วรงค์จริง ควรแนะนำในไลน์ส่วนตัว ไม่ควรออกมาบลัฟกันในกลุ่มไลน์ ส.ส.ของพรรค
"เสี่ยไก่"ลง ส.ส.เขตฝั่งธนฯ
    มีรายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า หลังจากมีสัญญาณเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นแน่นอนในช่วงต้นปี 2562  แม้จะถูกบางขั้วบางพรรคดูด ส.ส.เกรดเอออกไป แต่ขณะเดียวกันก็ได้ผู้สมัครที่มีชื่อเสียงเข้ามาทดแทน จ.เลย แม้จะเสียครอบครัวเร่งสมบูรณ์สุขไปให้ฝ่ายตรงข้าม ทางพรรคได้ตระกูลสังขทรัพย์ จากพรรคภูมิใจไทยเข้ามาทดแทน รวมทั้งผู้ใหญ่ในพรรคกำลังเร่งเจรจา นายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา ให้มาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ล่าสุดมีแนวโน้มออกมาในทิศทางบวก หากทุกอย่างลงตัวจะมีการเปิดตัวในวันประชุมพรรควันที่ 3 ต.ค.นี้เลย 
    นอกจากนี้ ในส่วนของอดีต ส.ส.สายเสื้อแดง และอดีต ส.ส.เขตพื้นที่เดิม บางรายที่มีคดีความสมัยการชุมนุมการเมือง ที่ศาลชั้นต้นได้ตัดสินไปแล้ว ได้เริ่มประสานให้ทายาท คนใกล้ชิดเข้ามาลงในพื้นที่ของตัวเอง อาทิ นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ ผลักดันภรรยาให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง, นายนิสิต สินธุไพร อดีต ส.ส.ร้อยเอ็ด ผลักดันบุตรสาวให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วให้นางเอมอร สินธุไพร ภรรยาขึ้นระบบบัญชีรายชื่อ, นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ อดีต ส.ส.อุดรธานี ผลักดันให้ภรรยาลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยในการประชุมสมาชิกพรรคครั้งที่ผ่านมา ก็ได้พาทายาททางการเมือง มาแนะนำให้ผู้ใหญ่และสมาชิกพรรครู้จักเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
    รายงานข่าวเผยอีกว่า ในส่วนของพื้นที่ กทม.ที่จำนวนเขตเลือกตั้งจาก 33 เขต ลดลง 30 เขต เริ่มมีการขยับอย่างน่าสนใจเช่นกัน นายวัฒนา เมืองสุข อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ได้แจ้งความจำนงต่อทางพรรค ขอลงสมัครรับเลือกตั้งเขตบางแค ย่านฝั่งธนฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของ ร.ท.หญิงสุณิสา ทิวากรดำรง ที่จะขยับมาลงเขตฝั่งพระนครแทน ส่วนนายการุณ โหสกุล ที่มีคดีความ เตรียมผลักดันนางพิมพ์ชนา โหสกุล ภรรยา ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน นอกจากนี้ยังมีคนรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมมาเปิดตัวบางคน อยู่ระหว่างการพิจารณาจากภาค กทม. จัดสรรเขตให้ลงสมัครรับเลือกตั้งแทนผู้สมัครรายเดิมที่คะแนนนิยมเริ่มตกลงไป.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"