ขี้ยากระอักซ้ำขึ้นภาษียาเส้น


เพิ่มเพื่อน    


     ขี้ยากระอักอีก “สรรพสามิต” จ่อทบทวนภาษียาเส้นใหม่ อ้างอัตราต่ำกว่าบุหรี่ซอง แต่หวั่นกระทบชาวบ้านต้องรอบคอบ “เอ็นจีโอ” ข้องใจไม่แตะน้ำเมา ซัด 2 มาตรฐานเอื้อทุนประชารัฐ
    เมื่อวันพุธ ยังคงมีความต่อเนื่องกรณีกระทรวงการคลังเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จัดเก็บเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยงานบริการภาครัฐในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่จะเรียกเก็บเงินจากการขายบุหรี่เพิ่มซองละ 2 บาท เพื่อมาสมทบในกองทุนบัตรทอง โดยรอเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัตินั้น 
     ล่าสุด นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวว่า กรมอยู่ระหว่างการทบทวนโครงสร้างภาษีสูบในภาพรวม โดยเฉพาะภาษียาเส้น ซึ่งปัจจุบันมีการจัดเก็บในอัตราที่ต่ำมาก แม้ว่าจะปรับอัตราใหม่ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2560 โดยทำให้ราคายาเส้นต่ำกว่าบุหรี่แบบซอง ผู้บริโภคจึงหันไปสูบยาเส้นมากขึ้น แม้ว่ายาเส้นทำลายสุขภาพมากกว่า แต่การขึ้นภาษียาเส้นต้องคิดให้รอบคอบ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่น อาจกระทบกับชาวบ้านได้
     “ภาษียาเส้นเคยปรับอัตรามาแล้ว ซึ่งตอนนั้นมีการคิดแบบ 2 เทียร์ แต่โครงสร้างใหม่เหลือเทียร์เดียว เช่น ยาเส้นปรุงเก็บ 10% ของมูลค่า และกรัมละ 1.20 บาท ซึ่งต่ำกว่าการเก็บภาษีบุหรี่ที่ 20-40% ตามมูลค่าและมวนละ 1.20 บาท ทำให้คนไปสูบยาเส้นมากขึ้น ซึ่งกรมอยู่ระหว่างพิจารณาในภาพรวม” นายพชรย้ำ และว่า ส่วนกรณีการเก็บเงินเพิ่มบุหรี่ซองละ 2 บาทนั้น ยังไม่ได้มีการเสนอเรื่องนี้มาที่กรม แต่หากเป็นนโยบายรัฐบาล กรมก็พร้อมดำเนินการเรียกเก็บเงินเพื่อสมทบเข้ากองทุนดังกล่าว
     ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวถึงกฎหมายเก็บเงินสมทบจากบุหรี่ 2 บาทเข้ากองทุนบัตรทองว่าเหตุใดจึงเลือกปฏิบัติ 2 มาตรฐาน เก็บเฉพาะบุหรี่ประเภทเดียว แต่ไม่รวมสินค้าบาป สุรา เบียร์ และยาเส้น เหมือนการเก็บเงินภาษีเข้ากองทุนอื่นที่ตั้งขึ้นมาก่อนหน้านี้ ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยและวิพากษ์วิจารณ์เป็นวงกว้าง ทั้งๆ ที่น้ำเมาสร้างปัญหาให้สังคมในหลากหลายมิติมากกว่าบุหรี่ด้วยซ้ำ 
“ถ้ารัฐบาลอยากเพิ่มงบประมาณเพื่อการรักษาโรคของประชาชน ก็ไม่ควรละเว้นการเก็บภาษีเพิ่มจากน้ำเมาด้วย ได้ทั้งภาษี และลดปัญหาจากน้ำเมาตามแนวทางองค์การอนามัยโลกด้วย” ภก.สงกรานต์กล่าว 
     นายคำรณ ชูเดชา ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังธุรกิจสุรา มองเช่นกันว่า การเสนอจัดเก็บภาษีเพิ่มจากบุหรี่ซองเพียงอย่างเดียว ทำให้ข้อครหาที่ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยว่ารัฐบาลเกรงใจนายทุนน้ำเมาใกล้ความจริงมากขึ้นทุกที โดยเฉพาะการที่ทุนเข้าไปแทรกซึมอยู่ในทุกกลไกรัฐในนามประชารัฐ  
     “ถ้าจะเก็บภาษีบุหรี่ ก็ไม่ควรเว้นการเก็บภาษีเครื่องดื่มแฮลกอฮอล์ เนื่องจากสุราเป็นสินค้าที่ทำลายสุขภาพเหมือนบุหรี่ หากเก็บเฉพาะบุหรี่ก็เท่ากับหาความชอบธรรมใดๆ ไม่ได้เลย” นายคำรณกล่าว   
     ดร.ศรัณญา เบญจกุล อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่ดีที่สุดที่องค์การอนามัยโลกแนะนำคือ มาตรการภาษี ซึ่งจำเป็นต้องขึ้นภาษีต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อ เพราะหากปล่อยให้ราคาคงเดิมจะเท่ากับราคาบุหรี่ลดลงทุกปี หรือหมายถึงบุหรี่มีราคาถูกลง เมื่อเปรียบเทียบกับอำนาจซื้อ ทั้งนี้ มาตรการภาษีไม่สามารถใช้เพียงลำพังได้ เพราะเมื่อบุหรี่ราคาแพงขึ้นคนจะชะงัก และมองหาบุหรี่ที่ราคาถูกกว่ามาสูบแทน จึงจำเป็นต้องใช้มาตรการทางกฎหมายควบคุม อาทิ ควบคุมไม่ให้มีการแบ่งมวนขาย หรือควบคุมไม่ให้มีบุหรี่เถื่อน โดยเฉพาะการแบ่งมวนขายจะทำให้คนไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการสูบ เพราะยังสามารถหาบุหรี่ราคาถูกได้
“ภาษีถือเป็นมาตรการที่ได้ผลที่สุดในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพราะจะทำให้นักสูบเปลี่ยนพฤติกรรมทันที แต่หากจะทำให้การควบคุมยาสูบได้ผลดียิ่งขึ้น ต้องทำควบคู่กับมาตรการอื่นๆ โดยเฉพาะ 1-2 เดือนแรก หลังใช้มาตรการทางภาษีต้องเร่งให้ความรู้ประชาชนถึงพิษภัยของบุหรี่ สนับสนุนการช่วยเลิกบุหรี่ และเฝ้าระวังการโฆษณาและส่งเสริมการขายบุหรี่ เพื่อให้สามารถเลิกบุหรี่ได้อย่างถาวร” ดร.ศรัณญากล่าว
     สำหรับสถานการณ์การควบคุมยาสูบของไทย โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนนั้น ดร.ศรัณญากล่าวว่า จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและเยาวชนสูบบุหรี่ในปี 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผลจากทำงานป้องกันนักสูบหน้าใหม่ของภาคส่วนต่างๆ สามารถลดสัดส่วนการสูบบุหรี่ของเด็กและเยาวชนลง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2557 โดยเด็กที่เริ่มสูบบุหรี่อายุต่ำกว่า 12 ปีลดลงได้ครึ่งหนึ่ง นักสูบอายุ 13-15 ปี ลดลงได้ 10% ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี นอกจากนี้ยังพบว่าอายุเฉลี่ยของเยาวชนที่เริ่มสูบบุหรี่ครั้งแรก เพิ่มสูงขึ้นจากเดิมเฉลี่ยที่ 18.03 ปี เพิ่มเป็นอายุเฉลี่ย 18.14 ปี ในปี 2560 ส่วนจำนวนเยาวชนอายุ 15-19 ปีที่สูบบุหรี่ ก็ลดลงเช่นกัน จากปี 2557 จำนวน 5.48 แสนคน ลดลงเหลือ 4.47 แสนคน ในปี 2660
     ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพภาคีด้านการสร้างเสริมสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า มาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบที่ไทยใช้ ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบของ WHO อย่างครอบคลุม คือใช้ทั้งมาตรการทางภาษี มาตรการบังคับใช้กฎหมาย และมาตรการการรณรงค์เพื่อให้ความรู้ประชาชน ซึ่งพบว่าประชากรในเขตเมืองเริ่มมีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องกระจายมาตรการเหล่านี้ไม่ให้กระจุกตัวในเมือง เพื่อทำให้เกิดการเลิกบุหรี่อย่างครอบคลุม ทำให้มาตรการควบคุมยาสูบมีความเข้มข้นและได้ผลดียิ่งขึ้น.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"