พัฒนา"อีอีซี"รัฐบาลต้องโฟกัส(สถานีอีอีซี)


เพิ่มเพื่อน    

 
 

 การพัฒนาพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ต้องมองจากหลายมุม เนื่องจากจะต้องมีปัญหาต่าง ๆ ยิบย่อยเกิดขึ้นมากมายในอนาคต หากคนที่เป็นกำลังหลักอย่างรัฐบาลดำเนินการไปอย่างไม่เข้มแข็งพอ ก็อาจจะทำให้โครงการขนาดใหญ่ระดับประเทศนี้สะดุดไปได้ และจากการเข้าไปพูดคุยถึงแนวโน้นความต้องการของประเทศไทยในยุคที่จะพัฒนาอีอีซีกับภาคเอกชนนั้น ก็ได้มุมมองที่เป็นโจทย์ให้ไปคิดกันต่อว่า จะต้องดำเนินการไปทางใดในมุมมองของเอกชน ที่เป็นผู้ลงทุนจริง หรือมีความต้องการจากรัฐบาลส่วนไหนบ้างที่จะมาอุดรอยรั่วที่เป็นจุดเล็ก ๆ แต่สามารถทำให้การเดินหน้าขนาดใหญ่อย่างอีอีซีต้องชะงักไป

 08 ต.ค.61- นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ก็ได้กล่าวถึงการพัฒนาอีอีซีว่า โครงการดังกล่าวถึงรัฐบาลจะตั้งเป้าให้เป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ แต่หากการเดินหน้าทำได้ไม่เต็มที่ ก็จะไม่เกิดประโยชน์ ซึ่งมีอยู่หลายปัจจัยมากที่จะต้องมาแก้ไข และพัฒนาให้รองรับความต้องการในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ รวมทั้งเรื่องของการใช้พลังงาน
               

นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ที่หลายฝ่ายจะมีความกังวลว่าหากจะต้องไปพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ใน 3 จังหวัดทั้ง ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ก็อาจจะมีปัญหาเรื่องน้ำได้ เพราะปัจจุบันความต้องการที่มีมากจากนิคนอุตสาหกรรมต่าง ๆ แต่ปริมาณรองรับนั้นไม่ได้สูง หากโครงการขนาดใหญ่อย่างอีอีซีไปเกิดก็จะทำให้น้ำที่มาใช้หมุนเวียนในภาคอุตสาหกรรมจะไม่เพียงพอ

ทั้งนี้ ส.อ.ท. มองว่าในอนาคตหากอีอีซีเกิดขึ้นจริง ๆ การใช้น้ำก็ต้องมีการเตรียมรองรับไว้พอสมควร แต่สิ่งที่จะเป็นเรื่องใหญ่กว่าคือด้านพลังงานไฟฟ้า เพราะอีอีซีกำหนดการลงทุนอุตสาหกรรมที่เป็นเรื่องใหม่ ๆ เกือบทั้งสิ้น ก็เชื่อว่าไม่ได้ใช้น้ำในปริมาณมาก เรื่องน้ำจึงไม่ใช่ปัจจัยที่น่าเป็นห่วง แต่อุตสาหกรรมใหม่ที่จะไปลง พวกด้านเทคโนโลยี หุ่นยนต์ หรือทั้ง 10  อุตสาหกรรมเป้าหมาย ไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการพัฒนา

แต่ปัจจุบันหลังจากที่เห็นความตื่นตัวของเอกชนด้านไฟฟ้าที่มีการไฟลงทุนในพื้นที่อยู่แล้ว เตรียมโครงการต่าง ๆ จะเพิ่มกำลังการผลิตก็พอมั่นใจได้ว่า ไฟฟ้าจะเพียงพอต่อการใช้งานในอนาคต อีกทั้งประเทศไทยเองก็มีการไปลงทุนด้านโรงไฟฟ้าในประเทศเพื่อนบ้านไว้เยอะอีกด้วย
            
อุตสาหกรรมที่ไทยต้องเร่งพัฒนา ?

   ต้องยอมรับว่าประเทศเราเป็นประเทศแห่งการเกษตร พื้นฐานของคนระดับล่างก็มาจากเรื่องการเกษตร ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลหรือตัวผู้ประกอบการเองต้องเร่งพัฒนา เพื่อจะทำให้มีการเติบโตไปพร้อม ๆ กับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ถ้าสามารถทำได้ก็จะสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศให้ดียิ่งขึ้น แต่ถ้าไม่สามารถสร้างการเติบโตได้ ก็จะเกิดความลำบากกับคนระดับล่างเช่นเดียวกัน ข้าว ยาง ปาล์ม หรือสินค้าเกษตรอื่น ๆ รัฐบาลจะต้องเข้าไปช่วยดูแล โดยแยกเป็น 2 ส่วนได้แก่ การจัดการพื้นที่ และการให้ความรู้ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา ต้องมีการวางโครงสร้างดี ๆ เรื่องของอุตสาหกรรมการเกษตรและเกษตรแปรรูป ดูแลพื้นที่เพาะปลูกและระบบน้ำ               

ซึ่งปัจจัยที่ทำให้มองว่าถึงประเทศไทยเป็นเป็นเทศแห่งการเกษตร เพราะมีสภาพภูมิอากาศที่ดี เหมาะสมแก่การพัฒนาที่จะไปได้ไกล แต่ก็ยังมองว่าอาจจะเป็นจุดอ่อน เนื่องจากยังมีการพึ่งพาดินฟ้าอากาศอยู่มาก โดยที่ไม่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการ ซึ่งหากนำเข้ามาจะเพิ่มผลิตผลให้มากขึ้นแน่นอน ดูได้จากประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีศักยภาพทางด้านพื้นที่เท่าไทย แต่มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาจัดการทำให้เรื่องที่เป็นไปไม่ได้สามารถทำได้ รวมถึงการใช้ปุ๋ยที่ทำให้ผลผลิตดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไทยยังไม่ถึงจุดนั้น
               

อีกส่วนได้แก่การจัดการพื้นที่ หรือ การจัดโซนนิ่ง ซึ่งความรู้เรื่องโซนนิ่งเป็นสิ่งสำคัญ ผู้ประกอบการต้องรู้และเข้าใจว่าพื้นที่ไหนของประเทศควรปลูกอะไรเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดีที่สุด ถ้าไม่ดำเนินตามที่กำหนดจะต้องมีมาตรการเด็ดขาดที่รัฐบาลจะไม่ช่วยสนับสนุนอีกต่อไป
               

“ปัจจุบันยังเป็นการทำเกษตรแบบตามใจฉันอยู่ อะไรที่กำลังได้รับความสนใจ หรือรัฐบาลสนับสนุนก็แห่ไปปลูกกันแบบทั่วประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิด เพราะหากเกิดผิดพลาดราคาตกต่ำขึ้นมา รัฐบาลเองก็ต้องเข้าไปอุ้มช่วยเหลือกันตลอด มันเป็นแนวคิดที่ไม่ใช่”
               

ทั้งนี้การแห่ปลูกพืชผลที่กำลังได้รับความนิยมก็จะส่งผลตามมาทำให้เกิดการล้นตลาด มีแต่คนปลูกไม่มีคนกิน อย่างเช่นสัปปะรดที่ปัจจุบันราคาตกต่ำมาอย่างมาก และตอนนี้หวังว่าทุเรียนจะไม่เกิดภาวะเช่นปัจจุบันอีก เพราะต้องยอมรับว่าเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทุเรียน เกิดความนิยมสูงขึ้นมากจากความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน หากเกิดการล้นตลาดขึ้นมาก็จะส่งผลเสียต่อการขายและการส่งออกอย่างแน่นอน

ค่าแรงเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนการลงทุนหรือไม่ ?
   ตอนนี้สามารถพูดได้เต็มปากว่าค่าแรงไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในโลก หรือกับนักลงทุน เนื่องจากต้องยอมรับว่าปัจจุบันทุกประเทศมีค่าแรงที่สูงขึ้นกว่าอดีตอยู่แล้ว อย่างเช่นจีนที่ตอนนี้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ค่าแรงแพงกว่าไทย ก็เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญว่าค่าแรงไม่ได้กำหนดการลงทุนทั้งหมด แต่อาจจะเป็นปัจจัยเล็ก ๆ ในการพิจารณา แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ คือสิ่งที่จะสนับสนุนการลงทุนอย่างแท้จริง
   

สมัยก่อนนักลงทุนแห่ไปจีนเพราะค่าแรงถูก แต่ปัจจุบันนักลงทุนที่ลงทุนในประเทศจีนเพราะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย มีแรงงานที่ดี และสามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้ตลอดเวลา ทุกวันนี้ทุกคนมุ่งให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากกว่า และเป็นส่วนสำคัญที่จะดึงดูดการลงทุน แทบทุกอุตสาหกรรมไม่ว่าจะขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ก็เตรียมที่จะปรับปรุงโรงงานของตัวเองให้รองรับนวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งนั้น หาระบบดิจิทัล หุ่นยนต์ ออโตเมชั่นเข้ามาเสริมทัพอย่างเต็มที่ ไม่มีใครที่จะมองจากปัจจัยค่าแรงแล้ว
   

ขณะเดียวกันเมื่อเทคโนโลยีคือปัจจัยอันดับต้น ๆ ที่จะดึดดูดการลงทุน จึงเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงสำหรับประเทศไทย คือหากไม่มีปรับปรุงตัวแรงงานของไทยให้รองรับสิ่งใหม่ ๆ ที่กำลังจะเข้ามา จะทำให้เกิดการตกงานเพิ่มมากขึ้น ดูได้จากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ที่มีสถิติคนตกงานมากกว่าประเทศไทย คนที่จะทำงานระดับล่าง ๆ เริ่มจะหายไปเพราะไม่สามารถรองรับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้
   

รวมถึงคนรุ่นใหม่เองก็มีทางเลือกที่จะดำเนินชีวิตได้หลากหลายมากขึ้น สามารถเป็นเจ้าของกิจการเองได้ หรือแม้แต่ทำงานอิสระ และต้องยอมรับว่าตัวคนไทยเองก็ไม่มีความต้องการที่จะทำงานในระดับล่างด้วย จึงน่าจะเป็นเงื่อนไขให้กับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยว่าต้องการแรงงานที่จะมาขับเคลื่อนธุรกิจให้เดินไปข้างหน้าได้

คู่แข่งที่สำคัญของประเทศไทย ?
               อีอีซี ของไทยก็มีคู่แข่งเป็นประเทศเวียดนาม เนื่องจากมีผู้ที่สนใจเยอะในเรื่องการลงทุนอุตสาหกรรม และเวียดนามเองก็มีแรงงานที่มีความขยัน และเทคโนโลยีที่ค่อนข้างพร้อมต่อการลงทุน โดยก่อนหน้านี้สิ่งที่ไทยเสียไปให้กับเวียดนามคือนักลงทุนเกาหลี ที่ปัจจุบันเวียดนามถือว่าเป็นเมืองอุตสาหกรรมของเกาหลีไปแล้ว และต้องยอมรับว่าไทยเองก่อนหน้านี้ก็ให้ความสำคัญกับญี่ปุ่นมาโดยตลอด
   

ขณะที่รัฐบาลเวียดนามก็มีมาตรการสนับสนุนการลงทุนที่เต็มที่มาก เพราะหากอุตสาหกรรมแบบไหนที่ประเทศเวียดนามต้องการก็สนับสนุนอย่างเต็มที่ในทุก ๆ เรื่องไม่ว่าจะแรงงาน ที่ดิน หรือสิทธิพิเศษทางภาษี ถึงจะมีการดึงดูดการลงทุนที่เข้มข้นมาก แต่ก็ไม่ได้อยากให้มองว่าเป็นคู่แข่ง เพราะไทยยังมีโอกาสที่จะเร่งเครื่องไปได้อีกเนื่องจากไทยก็ไม่ได้ด้อยไปกว่าประเทศอื่น ๆ เช่นกันและการลงทุนในประเทศจีนตอนนี้กำลังอ่อนแรงลง จากเหตุการณ์การคว่ำบาตร(แซงค์ชั่น)จากสหรัฐอเมริกา ก็เป็นโอกาสที่ไทยเองจะเสนอตัวเข้าไปดึงดูดนักลงทุนถึงแม้จากจีนเอง เพราะความสัมพันธ์ของจีนกับเวียดนามก็ไม่ถึงกับดีมาก และในประเทศอื่น ๆ ที่ตั้งเป้าจะไปลงทุนที่จีนก็ต้องเริ่มที่จะมีความคิดที่จะเบรกไว้ก่อนบ้าง ส่งผลดีให้กับไทย
   

ทุกวันนี้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยก็เริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้นจากเมื่อก่อนที่คำว่า เมดอินไทยแลนด์ จะไม่มีใครไว้วางใจเลย และหลังจากที่ ส.อ.ท. มีการหารือกับนักลงทุนหลาย ๆ ประเทศก็เห็นว่ามีความสนใจมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจีน ญี่ปุ่น หรือไต้หวัน แต่ก็ต้องดูว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศดำเนินการได้ถึงขั้นไหน ถ้ามีการจัดซื้อจัดจ้างของโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จ ก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นรัฐบาลก็จะต้องเตรียมพร้อม และผลักดันให้โครงการนี้เกิดขึ้นมาอย่างจริงจัง ถึงจะตอบโจทย์นักลงทุนได้

ความเป็นห่วงหลังจากนี้ ?
 ที่ผ่านมา ส.อ.ท. เคยเสนอให้รัฐบาลพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ตอนนั้นนโยบายของรัฐก็ตั้งขึ้นมาให้มีการพัฒนาพื้นที่ 10 แห่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ แต่เมื่อดำเนินการไปแล้วก็ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากการพัฒนาพื้นที่ที่สนับสนุนเศรษฐกิจ จะต้องทำเป็นจุด ๆ และค่อยขยายไป เหมือนกับประเทศจีนที่พัฒนาเซินเจิ้น จนตอนนี้เป็นรูปแบบที่สามารถนำไปใช้กับพื้นที่ส่วนใดก็ได้แล้ว อีอีซีจึงเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่ในประเทศไทย หากเกิดประสบผลสำเร็จขึ้นมาก็จะสามารถขยายไปได้อีกเรื่อย ๆ ไม่ใช่แค่จำกัดอยู่ 3 จังหวัดเท่านั้น เนื่องจากกฎหมายเปิดกว่างให้พัฒนาได้หลายพื้นที่
 

แต่หากจะต้องมีการเปลี่ยนผ่านความดูแลทางด้านการเมืองของประเทศไปอยู่กับกลุ่มอื่น ๆ ก็ไม่อยากให้เข้ามามีปัญหาที่จะทำให้การลงทุนสะดุด ไม่ว่าจะพรรคใดก็แล้วแต่อย่าออกกฎระเบียบกลไกที่จะทำให้การพัฒนาไปลำบาก ถึงจะมีบทบาทเข้ามาดูแลแต่อยากให้เป็นการสนับสนุนมากกว่าการกีดกั้น เพราะถ้าส่วนเอกชนเองก็จะเจรจากันได้อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วงเรื่องอื่น ๆ เพราะการพัฒนาและการทำธุรกิจ เอกชนเองก็เริ่มมานานพอสมควร

ขณะเดียวกันอยากให้รัฐบาลรับฟังสิ่งที่เอกชนนำเสนอไป และเปิดโอกาสที่จะให้ทำงานร่วมกันจริง ๆ ในภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรม รัฐบาลอย่าตั้งเป้าแต่ละเรื่องและมองเอกชนเป็นเพียงผู้ที่ต้องทำตาม แต่ต้องมีการวางแผนร่วมกัน ว่าจะต้องดำเนินการไปทางไหน ต้องทำอะไรบ้างในอนาคต ช่วยกันดูให้แน่นอนตั้งแต่ต้น

 “การเลือกตั้งก็อาจจะทำให้นักลงทุนต่างประเทศมั่นใจ แต่จริง ๆ แล้วเราต้องการแค่อะไรก็ได้ที่ไม่มีปัญหา ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานก็ตาม ทั้งนี้หากเกิดการเลือกตั้งขึ้นจริง ๆ และยิ่งการเลือกตั้งนั้นไม่มีปัญหาตามมาด้วย ก็จะยิ่งทำให้ประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างแน่นอน เพราะมันจะช่วยส่งเสริมให้ภาคส่งออกและภาคท่องเที่ยวเราพัฒนาได้อย่างเต็มที่”
 
                    ณัฐวัฒน์  หาญกล้า    
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"