ทูตสหรัฐประจำยูเอ็นเชื้อสายอินเดียลาออกปุบปับ ปัดข่าวลงชิง ปธน.


เพิ่มเพื่อน    

นิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำยูเอ็น ยื่นลาออกจากตำแหน่งกะทันหันเมื่อวันอังคาร แต่ปฏิเสธว่าไม่มีความตั้งใจลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐแข่งกับทรัมป์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ขณะอีวานกา ทรัมป์ ออกตัวไม่คิดสืบทอดตำแหน่งนี้แทนตามคำยุของพ่อ

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และนิกกี เฮลีย์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 / AFP

    นิกกี เฮลีย์ อดีตผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาเชื้อสายอินเดีย วัย 46 ปี ถือเป็นผู้หญิงที่รับตำแหน่งสำคัญที่สุดในรัฐบาลของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และมักถูกมองว่าเธอมีโอกาสจะได้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี การลาออกอย่างปุบปับของเธอสร้างความประหลาดใจแก่ทั้งบุคคลในรัฐบาลและในองค์การสหประชาชาติ

    สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานวันที่ 10 ตุลาคม 2561 ว่าเฮลีย์ประกาศเจตนารมณ์ของเธอขณะเข้าพบประธานาธิบดีทรัมป์ที่ห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาวเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2561 โดยกล่าวว่า การได้ทำหน้าที่เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำองค์การสหประชาชาติ 18 เดือน ถือเป็นเกียรติตลอดชีวิตของเธอ และเธอจะดำรงตำแหน่งนี้ไปจนถึงสิ้นปี 2561 นี้

    ด้านทรัมป์ ซึ่งได้กล่าวชมเฮลีย์ไม่ขาดปากว่าทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม เผยว่า เฮลีย์บอกกับเขาเรื่่องจะอำลาตำแหน่งเมื่อราว 6 เดือนที่แล้ว เขาจะเสนอชื่อเอกอัครราชทูตคนใหม่ภายใน 2-3 สัปดาห์ข้างหน้า โดยตอนนี้เขามีตัวเลือกอยู่ในใจแล้ว 5 คน หนึ่งในนั้นคือ ดีนา เพาเวลล์ อดีตรองที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติที่เป็นอเมริกันเชื้อสายอียิปต์ แต่เขาไม่เผยชื่ออีก 4 คนที่เหลือ บอกเพียงว่า ริชาร์ด กรีเนลล์ เอกอัครราชทูตสหรัฐประจำเยอรมนีคนปัจจุบันไม่ได้อยู่ในรายชื่อนี้ แต่เขาก็พร้อมจะพิจารณากรีเนลล์ด้วย

    ทรัมป์ยังเปรยชื่อของอีวานกา ลูกสาวคนโตของเขาด้วย แต่ก็ยอมรับว่าเขาอาจโดนวิจารณ์ว่าเล่นพรรคเล่นพวกอีก อย่างไรก็ดี อีวานกาทวีตข้อความปฏิเสธไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น โดยบอกว่าถือเป็นเกียรติที่เธอได้ทำงานในทำเนียบขาวกับเพื่อนร่วมงานที่ยอดเยี่ยมหลายคน และรู้ว่าประธานาธิบดีจะแต่งตั้งบุคคลที่น่ายำเกรงมาทำหน้าที่แทนเฮลีย์ ซึ่งบุคคลนั้นไม่ใช่เธอ

    เฮลีย์มีชื่อแต่กำเนิดว่า นิมรตา รันธาวา มีพ่อและแม่เป็นชาวอินเดียอพยพเข้าเมือง ครอบครัวของเธอนับถือศาสนาซิกข์ อาศัยในเมืองแบมเบิร์ก รัฐเซาท์แคโรไลนา แต่เธอเปลี่ยนมานับถือคริสต์ศาสนาเมื่ออายุได้ 20 ปีกว่า และเมื่อเล่นการเมืองก็ได้รับความนิยมในหมู่ชาวอเมริกันแดนใต้ที่เป็นพวกเคร่งศาสนา

    สมัยที่เธอดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐเซาท์แคโรไลนาเมื่อปี 2558 เธอออกคำสั่งให้ปลดธงสหพันธรัฐลงจากอาคารรัฐสภาเซาท์แคโรไลนา หลังจากเกิดเหตุมือปืนผิวขาวคลั่งลัทธิคนขาวเป็นใหญ่กราดยิงคริสต์ศาสนิกชนผิวสี 9 คนภายในโบสถ์ที่เมืองชาร์ลส์ตัน และทำให้ชื่อของเธอถูกกล่าวขวัญว่ามีโอกาสจะขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญในระดับประเทศ

    ครั้งที่ทรัมป์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2559 เฮลีย์เป็นผู้หนึ่งที่วิจารณ์ทรัมป์ แต่หลังจากรับตำแหน่งในรัฐบาลของเขา เธอกลายเป็นกระบอกเสียงชั้นยอดของนโยบาย "อเมริกาต้องมาก่อน" ของทรัมป์ โดยเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของการนำสหรัฐถอนตัวจากโครงการและข้อตกลงของยูเอ็นหลายฉบับ และยังคอยปกป้องนโยบายแข็งกร้าวของสหรัฐต่ออิหร่านและเกาหลีเหนือ

    ในจดหมายลาออก เฮลีย์ยืนกรานว่าเธอยังไม่มีแผนการที่แน่นอนสำหรับอนาคต แต่มั่นใจได้ว่า เธอจะไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 2563 โดยเธอจะสนับสนุนทรัมป์ในการลงเลือกตั้งอีกสมัย เฮลีย์ยังบอกเป็นนัยถึงการรับตำแหน่งในภาคเอกชนซึ่งได้ค่าตอบแทนสูง

    ข้อมูลการเปิดเผยทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐประจำปี 2561 เผยให้เห็นว่าเธอมีหนี้สินจำนวนหนึ่ง ซึ่งรวมถึงการจำนองมูลค่ามากกว่า 1 ล้านดอลลาร์


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"