เรกูเลเตอร์ ม.44


เพิ่มเพื่อน    

    คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ถือว่ามีบทบาทสำคัญ ต้องกำกับกิจการพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ทั้งเรื่องการผลิตไฟฟ้า การดูแลประชาชนไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ โดยเฉพาะการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า ซึ่งหลังจากมีคำสั่งฟ้าผ่า เมื่อวันที่ 14 ก.ย.2561 ม.44 แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) 7 คน แทนคณะกรรมการชุดเดิมที่ยังไม่หมดวาระ มีผลทันที 
     โดยคณะกรรมการชุดใหม่นั้น มีนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ เป็นประธานกรรมการ กกพ. และกรรมการอีก 6 คน ประกอบด้วย นายสุธรรม อยู่ในธรรม, นายชาญวิทย์ อมตะมาทุชาติ, นายพีระพงศ์ อัจฉริยชีวิน, นายบัณฑูรย์ เศรษฐศิโรตม์, นายสหัส ประทักษ์นุกูล เป็นกรรมการ กกพ. เคยดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) และ 7.นางอรรชกา สีบุญเรือง เป็นกรรมการ 
    หลังจากนั่งศึกษาข้อมูล ความเป็นไปเป็นมาของงานที่คณะกรรมการฯ ต้องเข้าไปมีบทบาท และตัดสินใจมานานร่วมเดือน การคณะกรรมการฯ ชุดใหม่ก็แสดงฤทธิ์ทันที ประกาศไม่อนุมัติให้ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เข้าซื้อหุ้นส่วนใหญ่ GPSC ในบริษัท โกลว์ พลังงาน (GLOW) โดยให้เหตุผลว่า การดำเนินการดังกล่าวส่งผลต่อการลดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน และขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 รวมทั้งการพิจารณาของ กกพ. ยังเป็นการพิจารณาที่ตระหนักถึงการสร้างบรรทัดฐานในการพิจารณาในระยะยาวด้วย
    แต่ก็ยังมีเรื่องสำคัญๆ ที่ยังคงรอให้ กกพ.เข้ามาตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีโซลาร์รูฟท็อป ที่ยังรอความชัดเจนในเรื่องของกติกา รูปแบบ จะเป็นอย่างไร แล้วถ้าเปิดจะเปิดอย่างไร รวมไปถึงการจัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐาน ซึ่งในส่วนนี้จะมีผลกระทบกับประชาชนโดยตรง และขณะนี้อยู่ระหว่างที่ กกพ.จัดทำโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่เพื่อบังคับใช้ช่วง 3 ปีข้างหน้า (2561-2564) คาดว่าจะสามารถประกาศใช้อย่างเป็นทางการช่วงกลางปี 2561 เพื่อบังคับใช้กับค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติงวดสุดท้ายของปี คือ ก.ย.-ธ.ค.2561
    และยังไม่รวมถึงโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชน ในรูปแบบ feed-in tariff นั้น ที่เป็นการลงทุนร่วมระหว่างภาครัฐที่เป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และอื่นๆ กับเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโรงไฟฟ้านั้น ซึ่งยังมีความกังวลใน 2 ประเด็น คือ ความล่าช้าในการพิจารณาอนุมัติโครงการจากหน่วย และราคารับซื้ออยู่ที่ 3.66 บาท/หน่วย ถือว่าเป็นระดับราคารับซื้อที่แพงกว่าที่ควรจะเป็นถึง 1 บาท/หน่วย  
    ยังมีงานเรื่องการเปิดเสรีนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) แม้ว่าที่ผ่านมานั้นรัฐบาลจะมีนโยบายเปิดเสรีก๊าซเพื่อส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรี LNG สามารถนำเข้า หรือใช้ท่อร่วมกับ ปตท.ได้ แต่ก็ยังถือว่าไม่ได้เสรีจริงจัง เพราะการขออนุญาตนำเข้านั้นยังต้องขออนุมัติจาก กกพ. นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลสารสนเทศด้านพลังงาน และการกำหนดมาตรฐานอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าและแหล่งกักเก็บพลังงานสำรอง   
    อย่างไรก็ตาม ก็คงต้องจับตาดูกันว่า หลังจากที่คณะกรรมการ กกพ.ชุดใหม่ ที่ถูกแต่งตั้งขึ้นมาโดย ม.44 นั้น จะเข้ามาเร่งรัดงานต่างๆ ที่รอการตัดสินใจอย่างไร เพราะแต่ละท่านล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญในงานด้านพลังงานทั้งนั้น โดยเฉพาะท่านประธานเสมอใจ ที่มีดีกรีถึงผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ (สนพ.) และอดีตผู้อำนวยการสถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์กรมหาชน) แถมยังเคยเป็นกรรมการปฏิรูปพลังงาน แม้ว่าตอนนี้จะลาออกแล้วก็ตาม ฝีไม้ลายมือก็คงไม่เบา 
    เห็นแบบนี้แล้วก็โล่งอก ว่างานที่ค้างคามานานก็คงผ่านฉลุยไปทุกอย่างแน่ ด้วยดีกรี ผอ.สนพ.และเรกูเลเตอร์ ม.44 คงเดินหน้าลุยงานอย่างคร่ำเคร่ง ไม่เห็นกับความสุขสบายส่วนตัว มีรถประจำตำแหน่งโก้ มีเงินเดือนสูง นั่งเฟิร์สคลาส  
    และที่สำคัญ คงเป็นต้นแบบให้กับประชาชน  โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดพลังงาน แต่ที่สำคัญกว่านั้น ทำแล้วไม่บอกกล่าว ไม่มีใครเค้ารู้เค้าเห็นนะท่านประธาน.

บุญช่วย ค้ายาดี


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"