มาร์คชี้เงื่อนไขร่วมบิ๊กตู่/ทนงคุมพช.


เพิ่มเพื่อน    

  "บิ๊กป้อม" ลั่นพรรคการเมืองจะขอรับบริจาคต้องขออนุญาต คสช. ยันทุกอย่างทำตามกฎหมายลูก “วิษณุ” ชี้คำสั่ง คสช.ไม่ได้ห้ามเรี่ยไร มีแต่เรื่องเก็บค่าสมาชิก โยน กกต.วินิจฉัยเองเป็นการหาเสียงหรือไม่ รองเลขาฯ กกต.ยกคำสั่ง 53/60 แจงยิบที่มาเงินพรรคตามกรอบ คสช. "มาร์ค" ตั้งเงื่อนไขร่วมรัฐบาลกับ "บิ๊กตู่" ถ้าบริหารแบบ 4 ปีที่ผ่านมาไม่เอาด้วย "เพื่อแม้ว" ท้าให้ประกาศจุดยืนลงนายกฯ ในนาม พปชร. "จตุพร" จ่อเปิดตัว "บิ๊กเนม" ร่วมเพื่อชาติ "นิพิฏฐ์" ประจาน กรธ.เคยเตือนแล้วจะเกิดพรรคสำรอง

    เมื่อวันศุกร์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่าให้พรรคอนาคตใหม่ขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปิดรับบริจาคเงิน ขณะที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ที่ปรึกษาพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) สามารถเรี่ยไร่เงินได้ว่า ถ้าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับทางการเมืองไม่ใช่เรื่องของ คสช. ถือเป็นหน้าที่ของ กกต. ที่จะเป็นผู้พิจารณาอะไรผิดหรือถูก
    ผู้สื่อข่าวถามว่า หากพรรคการเมืองจะขอรับบริจาค ต้องขออนุญาตทาง คสช.ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ก็คงต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้าหากทำผิดกฎที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ก็ให้ กกต.เป็นผู้พิจารณา ทั้งนี้ยืนยันว่า คสช.จะพิจารณาในเรื่องของการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย ความขัดแย้งต่างๆจนถึงขั้นปะทะกัน ส่วนการพิจารณาปลดล็อกทางการเมืองนั้น จะพิจารณาในช่วงเดือนธันวาคมนี้แน่นอน โดยจะมีการเชิญพรรคการเมืองมาหารืออีกครั้ง แต่ยังไม่ได้กำหนดวันเวลา ซึ่งในครั้งนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะเป็นตนหรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน 
    "ทุกอย่างต้องดำเนินการตามขั้นตอน เพราะกฎหมายลูกยังไม่บังคับใช้ เพราะยังไม่ครบ 90 วัน แต่ไม่ต้องเป็นห่วง ถึงอย่างไรก็ต้องมีการปลดล็อกทางการเมืองอย่างแน่นอน" พล.อ.ประวิตรกล่าว 
     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการเรี่ยไรเงินของพรรคอนาคตใหม่ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.หรือไม่ว่า ตอบไม่ถูก เพราะผู้วินิจฉัยคือ กกต. ส่วนที่ กกต.ระบุต้องให้ คสช.เป็นผู้พิจารณานั้น คงต้องรอให้เขาส่งเรื่องมา แต่ชั้นต้น กกต.ต้องตอบไปก่อนว่าได้หรือไม่ได้ ตนไม่ทราบ และไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าเขาทำอะไรกันไว้บ้าง
    ผู้สื่อข่าวถามว่า คสช.มีข้อห้ามเรื่องเรี่ยไรเงินหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่มี และประเด็นนี้ กกต.ไม่เคยหารือมายังรัฐบาล การดำเนินการของพรรคการเมืองสามารถหาค่าสมาชิกได้ ซึ่งจำเป็นต้องเก็บ เพราะที่ คสช.คลายล็อก ก็เพื่อให้พรรคการเมืองรับสมาชิก โดยการรับสมาชิกต้องมีการเสียค่าสมาชิก ซึ่งระบุไว้ชัดในคำสั่ง คสช. ไม่ใช่แค่ไปหาสมาชิก แล้วได้แค่จำนวนตัวเลขสมาชิกมา แต่ไม่ได้เงินค่าสมาชิก ขณะที่ส่วนอื่นที่ไม่ใช่ค่าสมาชิกหรือค่าบำรุง ไม่ว่าจะเรียกค่าอะไร ไม่ได้มีการกล่าวถึงไว้ที่ไหน ก็แล้วแต่ กกต.จะพิจารณาว่าเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นส่วนหนึ่งของการหาเสียงนั้นทำไม่ได้
    ถามว่า กกต.สามารถวินิจฉัยเองได้ หรือต้องปรึกษา คสช. นายวิษณุกล่าวว่า เบื้องต้น กกต.สามารถตอบเองได้ แต่หากไม่แน่ใจให้รวบรวมมาเสนอ คสช. ส่วนตัวเข้าใจว่า กกต.สามารถตอบคำถามเองได้ แต่ปัญหาคือตอบไปแล้วพรรคการเมืองไม่เชื่อ ส่วนการหารือกับ กกต.ที่มีข่าวระบุว่าไม่สามารถตอบคำถามนักการเมืองได้นั้น ไม่จริงเลย เพราะ กกต.ตอบคำถามชัด มีการสรุปมาว่าที่ถาม-ตอบกันนั้นมีกี่ประเด็น โดย กกต.ได้ตอบไป แต่ที่เกิดความรู้สึกไม่ชัดคือพรรคการเมืองไม่เชื่อ มันไม่ใช่ว่าไม่ชัด ส่วนที่ กกต.จะหารือกับพรรคการเมืองอีกครั้ง เนื่องจากมันอยู่ในตารางของ กกต.อยู่แล้ว เพื่อแจ้งว่าวันไหน เมื่อไร พรรคไหน ใครต้องทำอะไร
กกต.แจงยิบที่มาเงินพรรค
    ขณะที่นายแสวง บุญมี รองเลขาธิการ กกต. ได้โพสต์ในเพจกองทุนเพื่อการพัฒนาการเมือง ที่จัดทำโดยสำนักงาน กกต. ถึงกรอบการดำเนินการกิจการของพรรคการเมืองช่วงผ่อนคลาย โดยอธิบายถึงกรอบการดำเนินการใน 6 กิจกรรม ที่คำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 ผ่อนคลายให้พรรคได้ทำว่า การลงพื้นที่รับฟังสมาชิกเพื่อแก้ไขนโยบายที่กำหนดไว้ในข้อบังคับพรรค ลงพื้นที่เพื่อหาสมาชิก ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเพื่อจะประชุมใหญ่ กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค หรือคณะกรรมการบริหารพรรค  การประชุมเพื่อจัดตั้งสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด หรือการประชาสัมพันธ์ การติดต่อสมาชิกพรรค ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง ต้องไม่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ตามประกาศ คสช.ที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน
     โดยการดำเนินการกิจการทางการเมืองที่นอกเหนือจากคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 กำหนดไว้ 6 ข้อ  จะต้องขออนุญาต คสช. ตามประกาศข้อ 4 ของคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/2560 เช่น การระดมทุน เป็นต้น ซึ่งในเอกสารดังกล่าวก็ได้มีการเผยแพร่ถึงประเภทของเงินของพรรคการเมืองว่า เงินทุนประเดิม คือเงินที่ได้จากผู้ร่วมการจัดตั้งพรรคการเมืองเท่านั้น เว้นแต่พรรคการเมืองที่จัดตั้ง ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง 2550 จะนำเงินของพรรค เช่น  ค่าบำรุงพรรค หรือเงินบริจาค มาเป็นทุนประเดิมก็ได้
     "เงินบริจาค คือเงินที่ได้จากผู้บริจาคเงิน ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดา นิติบุคคล สมาชิกพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองก็ได้ เงินระดมทุนคือเงินที่ได้จากผู้สนับสนุน ซึ่งจะเป็นบุคคลธรรมดา  นิติบุคคล สมาชิกพรรคการเมือง หรือกรรมการบริหารพรรคการเมืองก็ได้ เงินค่าบำรุงพรรค คือเงินที่เรียกเก็บจากสมาชิกพรรคการเมืองเท่านั้น ส่วนคนทั่วไป สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมืองได้ แต่ต้องไม่ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558  คือห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป" นายแสวงระบุ  
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนกลุ่มการเมืองที่ได้ยื่นจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองตามกฎหมายใหม่ ที่ผ่านมากกต.ได้มีการทำความเข้าใจกับทุกพรรคการเมืองแล้วในเรื่องของบัญชีเงินฝากที่จะต้องมีการเสนอให้ กกต.ว่าขณะนี้การดำเนินกิจการของพรรคการเมืองยังอยู่ภายใต้คำสั่ง คสช.57/2557 ประกอบคำสั่ง คสช. 53/2560 และคำสั่ง คสช.ที่ 13/2561 จึงจะมีเพียงแค่ 2 บัญชี คือบัญชีทุนประเดิมและบัญชีค่าบำรุงพรรคเท่านั้น
    ส่วนความเคลื่อนไหวทางการเมือง พล.อ.ประวิตร กล่าวถึงกรณีนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ระบุจะไม่เข้าร่วมพรรคพลังประชารัฐว่า ก็แล้วแต่เขา จะอยู่พรรคไหนก็พรรคนั้น ส่วนที่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยจะจับมือสู้กับ คสช.นั้น จะมาถามตนได้อย่างไร เพราะตนไม่ใช่พรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย "แต่ผมเป็นลุงป้อม"
มาร์คตั้งแง่ร่วม รบ.บิ๊กตู่
    นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้สมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงแนวทางในอนาคตต่อการร่วมจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ว่ายังไม่สามารถบอกได้ เพราะต้องรอเลือกตั้งก่อน และยังไม่ทราบว่า พล.อ.ประยุทธ์จะลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ถ้าไม่ลงสมัครแล้วเป็นนายกฯ คนนอก ก็คงจะยากหากชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ 1 ใน 3 ในบัญชีนายกฯ ก็ต้องถามว่าพรรคคุณเป็นตัวแทนของความคิดอะไร และได้เสียงมาเท่าไหร่ เราต้องให้ประชาชนเป็นคนตัดสิน
    "วันนั้นถ้าคุณประยุทธ์ได้คะแนนเสียงมามาก ก็มีความชอบธรรมที่จะมาเชิญชวนคนไปร่วมรัฐบาล แต่ถ้ามาชวนผม ผมก็ต้องถามว่าคุณจะบริหารงานแบบ 4 ปีที่ผ่านมาหรือไม่ ถ้าคุณบริหารแบบ 4 ปีที่ผ่านมา ผมไม่คิดว่าผมจะไปช่วยสนับสนุนคุณได้ คุณต้องมีการเปลี่ยนแปลง ต้องมีการปรับปรุง" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
    เมื่อถามว่า ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ปรับปรุงการทำงาน ปชป.จะร่วมทำงานด้วยใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เขาต้องมาบอกก่อนว่าจะทำอะไร แต่ถ้ารวมศูนย์ ไม่กระจายอำนาจ หรือยืนยันแนวทางที่เขาทำอยู่ในขณะนี้ เราไม่สนับสนุน
     นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ฝ่ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ โดยเฉพาะพรรค พปชร.จะยังไม่ค่อยพร้อมเลือกตั้งหรือไม่ ทั้งในส่วนของตัวผู้สมัครที่ยังไม่ครบ บางพื้นที่ก็เริ่มจะทับซ้อนกัน ไหนจะฐานเสียงไปจนถึงกลุ่มผู้สนับสนุนอีก มีการทำโพลโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคอีสาน แว่วว่าคะแนนเสียงของพรรค พปชร.ก็ยังสู้พรรคเพื่อไทยไม่ได้หรือไม่ ขณะที่กฎหมายไปจนถึงกติกาการเลือกตั้ง ตอนนี้ก็ดูจะติดขัดไปหมด ส่อว่าจะมีปัญหา รัฐบาลอาจอ้างเหตุเรื่องความไม่สงบขึ้นมาอีก จึงอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งอาจจะไม่เกิดขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 62 หรือไม่ เพื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้อยู่รักษาการต่อไปอีก
    "ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ย้ำให้ชัดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 62 และให้ประกาศจุดยืนทางการเมืองได้แล้วว่าจะกลับมาเป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ หากผลงานของรัฐบาลดีจริงตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ชอบอ้าง ขอให้ประกาศตัวมาเลย บรรดาแฟนคลับกองเชียร์จะได้เทคะแนนให้ถูก และพรรคพลังประชารัฐก็ควรเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ เพียงคนเดียวไปเลย” นายวรชัยกล่าว
    นายวรชัยกล่าวถึงการตั้งพรรคเพื่อชาติของกลุ่มนปช.ว่า เป็นสิทธิที่ทำได้หากเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์ที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน เราก็ยินดีร่วมงานด้วยหมด รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ด้วย หากสำนึกและยอมรับว่าเคยทำให้เผด็จการเกิดได้ และตอนนี้พร้อมจะจับมือกับฝ่ายประชาธิปไตย เราก็ยินดีร่วมงาม
เพื่อชาติจ่อเปิดบิ๊กเนม
    นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. ในฐานะผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติ กล่าวว่า ในการประชุมใหญ่พรรคเพื่อชาติ วันที่ 14 ต.ค.นี้ ที่ห้างอิมพีเรียลเวิลด์สําโรง จะเป็นการประชุมเพื่อรับรองข้อบังคับพรรค และนโยบายพรรคที่ปรับแก้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ และกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ โดยวันดังกล่าวจะมีคนจำนวนมากเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรค ทั้งจากแกนนำ นปช.และตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ 
    "ส่วนบิ๊กเนมที่จะเข้ามาร่วมทำงานกับพรรคเพื่อชาติ ที่เป็นที่รู้จักของสังคมจากหลากหลายภาคส่วนนั้น จะเปิดตัวในการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งจะมีขึ้นกลางเดือน พ.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยบิ๊กเนมจะเข้ามาเพื่อขับเคลื่อนการทำงานตามแนวทางพรรคที่ต้องการให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการหาทางออกให้ประเทศ" นายจตุพรกล่าว
      รายงานข่าวจากพรรคเพื่อชาติแจ้งว่า ตามกำหนดการที่จะประชุมเลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคนั้น มีการวางวันประชุมเอาไว้ทั้งวันที่ 10 พ.ย.หรือ 12 พ.ย. ซึ่งเป็นวันเปิดตัวก่อนหรือหลังพรรคประชาธิปัตย์ประชุมใหญ่เลือกหัวหน้าพรรคและคณะกรรมการบริหารพรรคเพียง 1 วัน ในส่วนของว่าที่หัวหน้าพรรค แม้คณะแกนนำผู้สนับสนุนพรรคเพื่อชาติอยากได้นายนพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย และเพื่อนสนิทนายยงยุทธ ติยะไพรัช มาเป็นหัวหน้า เป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ แต่ดูแนวโน้มนายนพดลจะปฏิเสธ พรรคจึงหันไปทาบทามนายทนง พิทยะ อดีต รมว.การคลังในรัฐบาลไทยรักไทย ให้เข้ามาทำหน้าที่เป็นหัวหน้าพรรคแทน จากการพูดคุย เป็นไปในทิศทางที่ดีมาก เพราะนายทนงถือเป็นบุคคลที่ตรงกับแนวทางของพรรคที่จะใช้เป็นยุทธศาสตร์หลักในการขับเคลื่อน คือแก้ปัญหาปากท้องและสร้างความปรองดอง ซึ่งนายทนงได้แจ้งกับแกนนำพรรคมาว่า ระหว่างนี้หากมีบุคคลที่เหมาะสมเป็นหัวหน้าพรรคกว่าตนเองก็ไม่เป็นอะไร ไม่ได้ยึดติดว่าต้องได้เป็นหัวหน้าเท่านั้น หากไม่ได้ก็พร้อมจะช่วยงานพรรคด้านอื่นๆ ต่อไป
      ที่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ภท. ได้แถลงเปิดตัวคณะทำงาน หรือ New Blood ประกอบด้วย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค รับผิดชอบแนวคิดด้านการเกษตร, พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะโฆษกพรรคภูมิใจไทย รับผิดชอบแนวคิดด้านดิจิทัลเวิลด์,นายพะโยม ชินวงศ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน รับผิดชอบแนวคิดด้านการศึกษา, นายจุลภาส ทอม เครือโสภณ ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจระหว่างประเทศ อดีตทีมรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของนายบิล คลินตัน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา รับผิดชอบแนวคิดด้านการท่องเที่ยวและบริการ และนายสำเริง แหยงกระโทก อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา รับผิดชอบแนวคิดด้านสาธารณสุข
    โดยนายอนุทินกล่าวว่า ทีมงานดังกล่าวเป็นคณะทำงานของหัวหน้าพรรค และนำเสนอแนวคิดเบื้องต้นก่อนที่จะพัฒนาเป็นนโยบายของพรรคต่อไป ตามสโลแกน “ลดอำนาจรัฐ เพื่ออำนาจประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องประชาชน” ซึ่งส่วนตัวพยายามสร้างทีมงานเพื่อทำแนวคิดให้เกิดความเป็นจริง และเป็นนโยบายพรรค เมื่อสามารถประกาศนโยบายนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป และจากนี้พรรคจะไม่มองไปข้างหลัง มีแต่มองไปข้างหน้า เพราะหมดเวลาพูดถึงความขัดแย้ง
ภท.ระดมทีมชูนโยบาย
    ภายหลังนายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นพรรคภูมิใจไทยโฉมใหม่ เพราะเรานำผู้เชี่ยวชาญมาทำงานด้านต่างๆ ระดมสมองเพื่อพัฒนาแนวคิดไปสู่นโยบายสำหรับการเลือกตั้ง วันนี้การเมืองถือเป็นเรื่องรอง แต่เศรษฐกิจต้องมาเป็นหลัก ต้องคิดถึงปากท้องของประชาชน เมื่อท้องอิ่ม ในกระเป๋ามีเงิน ประชาชนก็จะสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้ ส่วนเรื่องเล่ห์เหลี่ยมการฟาดฟันและวาทกรรมทางการเมืองที่นำมาทำลายคู่แข่งเพื่อเข้าสู่อำนาจนั้น ไม่ใช่นัยของพรรคเรา จะไม่พูดเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองถ้าไม่จำเป็น 
    หัวหน้าพรรค ภท.กล่าวถึงการมอบหมายให้ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธาน กสทช. เป็นโฆษกพรรคว่า เพราะพรรคภูมิใจไทยจะไม่เอาการเมืองมาเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน แต่ต้องการนำเทคโนโลยียุคใหม่เพื่อมาสื่อสารให้กับประชาชน จะไม่จับเพื่อเอามาโต้การเมืองหรือชิงไหวชิงพริบ แต่จะใช้นโยบายเพื่อประชาชน เชื่อมั่นว่าเลือกคนได้ถูกต้องแล้ว ส่วนตระกูลสะสมทรัพย์ที่จะมาร่วมงานด้วยนั้น เราไม่ได้คุยกับใครคนใดคนหนึ่ง แต่คุยกับทุกคน ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ในส่วนของพรรคก็มีพัฒนาการเป็นที่น่าเชื่อถือของผู้สมัครที่มีความประสงค์ที่จะเป็นผู้แทน เรายังมีเวลาคัดเลือกผู้สมัครที่ดีที่สุด 
    ส่วนการร่วมงานกับพรรคการเมืองอื่นเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในอนาคตนั้น นายอนุทินกล่าวว่า การร่วมกับพรรคอื่นถือเป็นสิ่งที่ดี ทุกอย่างจะไปทางไหนจะต้องไม่ผิดกฎหมาย ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ มีความชอบธรรมและเป็นที่ยอมรับ สำคัญที่สุดต้องขึ้นอยู่กับความไว้วางใจที่ได้รับจากประชาชน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดว่าพรรคจะมีท่าทีอย่างไร จึงต้องรอผลการเลือกตั้ง  
    ที่สำนักงานพรรคชาติพัฒนา (ชพน.) และที่ทำการสาขาพรรค ชพน.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อ.เมืองฯ จ.นครราชสีมา นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค ชพน. เป็นประธานการประชุมเพื่อจัดตั้งสาขาพรรคลำดับที่ 1 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.นครราชสีมา ณ บ้านเลขที่ 2200/1 ถนนมิตรภาพ โดยมีนายเทวัญ ลิปตพัลลภ ว่าที่ผู้สมัครเขต 1, นายประเสริฐ บุญชัยสุข เลขาธิการพรรคชาติพัฒนา , นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา และมีพล.อ.ฐิติวัจน์ กำลังเอก บุตรชาย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก และ “น้องวิว” น.ส.เยาวภา บุรพลชัย อดีตนักเทควันโดเหรียญทองแดงกีฬาโอลิมปิกปี 2004 และสมาชิกพรรค ชพน.กว่า 100 คนร่วม
     พล.อ.ฐิติวัจน์กล่าวว่า มาพรรคชาติพัฒนาครั้งนี้เหมือนได้กลับบ้านเก่า ส่วนที่มีหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าวันเลือกตั้งอาจจะเลื่อนหรือเป็นไปตามที่นายกฯ บอกนั้น ตนคงตอบไม่ได้ว่าจะมีเลื่อนหรือไม่ แต่ดูแนวโน้มแล้วก็ออกมาดี ตนไม่รู้พรรคไหนสำรองพรรคไหน และพรรคไหนๆ จะเกิดขึ้นไม่เป็นไร อยู่ที่ปลายปากกาประชาชนที่จะเลือก พรรคสำรองตนว่าไม่ใช่ประเด็นจะกี่พรรคก็แล้วแต่ ก็แล้วแต่ประชาชน 
    ขณะที่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตอนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ๆ เคยแสดงความเห็นกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญอย่างนี้ ระวังพรรคการเมืองตั้งพรรคสำรอง หรือแตกเป็นพรรคลูก พรรคแม่ แล้วมารวมกันภายหลัง จะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แต่ผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญบอกว่า ไม่ควรดูถูกประชาชน เพราะประชาชนรู้ทัน และไม่มีใครกล้าตั้งพรรคสำรอง แต่สุดท้ายตอนนี้เป็นที่สังเกตว่ามีการตั้งสำรองขึ้นมา รวมถึงพรรคที่ประกาศสนับสนุน คสช.ก็เช่นกัน จึงต้องการให้ประชาชนรู้เท่าทัน และจับตาดูหลังเลือกตั้ง เพราะหากพรรคเหล่านี้รวมกันได้เสียงเกิน 251 เสียง เชื่อว่าการเมืองจะกลับเข้าสู่วังวนเดิม ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันในการปฏิรูป เพราะต้องไม่ลืมกล่าวที่ว่า ทุกคนซื้อได้ เว้นแต่ว่าจะซื้อด้วยราคาเท่าไร หรือซื้อด้วยอะไร.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"