ถอดบทเรียนอุบัติเหตุ10ปี หวัง“รถรับส่งนร.”ปลอดภัย


เพิ่มเพื่อน    


     หากย้อนดูสถานการณ์การเสียชีวิตของคนไทยในรอบ 10 ปีมากที่สุด ต้องยกให้อุบัติเหตุบนท้องถนนมาเป็นอันดับแรก โดยมีอัตราเฉลี่ย 60 รายต่อวันเป็นตัวเลขที่สูงเข้าขั้นวิกฤติ โดยส่วนมากเกิดจากรถบริการสาธารณะต่างๆ รถสองแถว รถรับ-ส่งนักเรียน เป็นต้น ถือเป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน 
     นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในงานเวทีสมัชชาบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะปลอดภัยว่า จากสถานการณ์ผู้บริโภคและรายงานรับเรื่องร้องเรียนประจำปี 2560 โดยเครือข่ายผู้บริโภค 7 ภาค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบปัญหาการบริการสาธารณะได้รับการร้องเรียนสูงเป็นอันดับ 5 มีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 424 เรื่อง จากทั้งหมด 3,615 เรื่อง โดยรถตู้โดยสารสาธารณะมากที่สุด 116 เรื่อง รองลงมาคือ รถสองแถว 73 เรื่อง รถรับส่งนักเรียน 42 เรื่อง และรถทัวร์โดยสาร 35 เรื่อง    
     สสส.และภาคีเครือข่ายให้ความสำคัญและได้เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาความปลอดภัยทางถนนมาตลอดกว่า 10 ปี โดยเฉพาะปัญหารถโดยสารสาธารณะที่เกิดอุบัติเหตุและสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินมหาศาล และเมื่อเกิดอุบัติเหตุแต่ละครั้งจะพบผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมากซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุขนาดใหญ่  
     กลไกสำคัญในการแก้ปัญหานอกจากการพัฒนากฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายให้มีประสิทธิภาพ การพัฒนามาตรฐานและการให้บริการรถโดยสารที่ช่วยลดอุบัติเหตุลงได้แล้ว การพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชนในการเฝ้าระวัง และเยียวยากรณีเกิดความเสียหาย รับเรื่องร้องเรียน คดีฟ้องร้องต่างๆ ถือว่ามีบทบาทช่วยสร้างความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและประชาชนได้มาก 
     นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงมติจากเวทีสมัชชาบทบาทองค์กรผู้บริโภคกับรถโดยสารสาธารณะปลอดภัยว่า ทุกภาคส่วนมีข้อเสนอให้กำหนดประเด็นรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยเข้าสู่วาระหรือนโยบาย ตั้งแต่ระดับโรงเรียน ท้องถิ่น จังหวัด และประเทศ โดยเสนอให้มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักบริหารจัดการรถโรงเรียน ทำให้รถทุกคันเข้าสู่ระบบ มีกระบวนการติดตามคุณภาพอย่างสม่ำเสมอ 
     ขณะเดียวกันได้เสนอแนะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) บูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ และกรมการขนส่งทางบก ส่วนการพัฒนาในระดับบุคคลนั้น เสนอให้มีการสนับสนุนให้มีการสร้างจิตสำนึกด้วยการพัฒนาศักยภาพ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง ให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้อุปกรณ์นิรภัยและเรียนรู้การแก้ไขสถานการณ์ความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนนและรถโดยสารสาธารณะ
     ด้านนายนิกร จำนง ประธานมูลนิธิประชาปลอดภัย กล่าวว่า อัตราผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยเฉลี่ย 60 รายต่อวัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูง ดังนั้นทุกภาคส่วนต้องร่วมมือลดอัตราการเสียชีวิตอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่กำลังจะเติบโตเป็นอนาคตของชาติ โดยขอเสนอให้กวดขันรถโรงเรียนและรถรับ-ส่งนักเรียนเป็นไปตามกฎหมาย การปรับปรุงข้อกำหนดเกี่ยวกับตัวรถโรงเรียนและรถรับ-ส่งนักเรียน ตาม พ.ร.บ.การขนส่งทางบก พ.ศ.2522 พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างสถานศึกษาและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
     หากทุกฝ่ายจับมือกันและแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด เชื่อว่าอุบัติเหตุทางถนนของไทยจะลดลงได้อย่างแน่นอน. 


กินเจ ได้บุญ ได้สุขภาพ 
     เมื่อเร็วๆ นี้ ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ เครือข่ายลดบริโภคเค็ม ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แถลงข่าว “เจนี้ ลดเค็ม ได้บุญ ได้สุขภาพ” 
โดย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต โรงพยาบาลรามาธิบดีและประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า จากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงเทศกาลกินเจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในปี 2561 พบว่า      กลุ่มวัยทำงานเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่จะกินเจ ทำให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารเจมาจากการซื้อจากร้านอาหารเพื่อความสะดวก โดยการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารเจจะพิจารณาจากรสชาติและภาพลักษณ์ของอาหารเป็นอันดับแรก
ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าวว่า เครือข่ายลดบริโภคเค็มจึงทำการสุ่มตัวอย่างอาหารเจ 13 เมนูยอดนิยมบนถนนสายเศรษฐกิจ 3 แหล่งใน กทม. ได้แก่ เยาวราช อตก. และตลาดยิ่งเจริญ โดยใช้เครื่องวัดความเค็ม ตรวจสอบปริมาณโซเดียมในอาหาร ประกอบด้วย แกงเขียวหวาน แกงกะทิ จับฉ่าย พะโล้ ผัดกะเพรา แกงส้ม ผัดผัก ต้มจืด ต้มกะหล่ำปลี ขนมจีนน้ำยากะทิ ลาบเห็ด กระเพาะปลา และผัดขิง พบว่าทุกเมนูมีปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นที่ร่างกายควรได้รับ โดยในแต่ละมื้อไม่ควรบริโภคโซเดียมเกิน 600 มิลลิกรัม ซึ่งเมนูที่มีโซเดียมสูงสุดคือ พะโล้ มีปริมาณโซเดียมเฉลี่ย 1,092.44 มิลลิกรัม/200 กรัม ซึ่งมากกว่าปริมาณที่ควรบริโภคต่อมื้อเกือบ 2 เท่า ตามด้วยอันดับ 2 ต้มจับฉ่าย (1,055.11 มิลลิกรัม/200 กรัม) และอันดับ 3 ขนมจีนน้ำยากะทิ (1,037.33 มิลลิกรัม/200 กรัม) นอกจากนี้ยังพบอาหารเจจำพวกผักดอง เกี้ยมไฉ่ กานาฉ่าย จับฉ่าย เป็นอาหารที่ใช้เกลือมาก ซึ่งผักที่เคี้ยวหรือดองเป็นเวลานานจะได้คุณค่าทางอาหารที่น้อยลง รวมถึงอาหารแปรรูป เช่น โปรตีนเกษตร เนื้อสัตว์เจจะมีการเติมรสเค็มเพื่อทำให้รสชาติใกล้เคียงของจริงมากที่สุด         
     “ปัจจุบันคนไทยกินเค็มเกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับถึง 2 เท่า โดยพบว่าปริมาณโซเดียมที่คนไทยกินเฉลี่ย 4,351.69 มิลลิกรัมต่อวัน ขณะที่ปริมาณโซเดียมไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม/วัน ในแต่ละปีจึงมีผู้ป่วยถึง 2 ล้านคนที่เกิดจากพฤติกรรมกินเค็ม เครือข่ายลดบริโภคเค็มและสสส.จึงอยากชวนคนไทยในช่วงเทศกาลกินเจนอกจากถือศีลละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์แล้ว อยากชวนให้ร่างกายได้พักไตด้วยการลดเค็มในเมนูเจ ซึ่งมี 3 วิธีในการกินเจให้ได้สุขภาพดีคือ 1.เลือกทานผักสด ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากกว่า โดยต้องล้างผักให้สะอาด 2.ลดเค็ม เลี่ยงอาหารแปรรูปหรือการทานน้ำซุปเพราะมีเกลือสูง 3.หลีกเลี่ยงของมันของทอดและลดแป้ง หลายคนกินเจแล้วน้ำหนักเพิ่ม เพราะในเมนูเจมีแป้งสูง จึงควรชดเชยด้วยน้ำเต้าหู้หรือธัญพืช ซึ่งจะช่วยต้านอนุมูลอิสระมากกว่าการเติมแป้ง ส่วนผู้ป่วยเบาหวานควรลดปริมาณข้าวให้น้อยลง” ผศ.นพ.สุรศักดิ์กล่าว
     นอกจากนี้ ในงานแถลงข่าว นายยิ่งศักดิ์ จงเลิศเจษฎาวงศ์ ประธานสถานศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยีธุรกิจการอาหารไทยและนานาชาติ ได้สาธิตการทำอาหารเจ อร่อยได้ ไม่ต้องเค็ม ในเมนู “หูฉลามเจ” พร้อมกับข้อแนะนำการปรุงอาหารเจให้อร่อยและดีต่อสุขภาพ.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"