45ปีเหตุ'14ตุลา' รุมปลดแอกคสช.


เพิ่มเพื่อน    

    คนการเมืองแห่ร่วมงานรำลึก 45 ปี 14ตุลา เรียกร้องรัฐบาลจัดเลือกตั้งตามโรดแมป "วีระ" ปลุกหยุดวงจรอุบาทว์ ทำรัฐประหารโทษประหารชีวิต "เหวง" ชวนฝ่าย ปชต.เลือก 350 เสียง โค่นเผด็จการคสช. วงเสวนา 42 ปี 6 ตุลา แนะถอดบทเรียนในอดีต เปรียบ "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" เทียบ "ถนอม-ประภาส" เตือนตั้งพรรคต่อท่ออำนาจจบไม่สวย ระวังเจอส้นเท้าแห่งชาติ
    ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม เวลา 09.20 น. ได้มีการจัดงาน “รำลึก 45 ปี เหตุการณ์ 14 ต.ค.2516” โดยช่วงเช้ามีพิธีตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 14 รูป จากนั้นมีพิธีกรรม 3 ศาสนา และพิธีวางพวงมาลา พร้อมกล่าวรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 โดยผู้แทนจากหลายภาคส่วน อาทิ นายยงยุทธ สุทธิชื่น ผู้ช่วยปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนนายกรัฐมนตรี, นายสุรัตน์ หวังต่อลาภ รองเลขาธิการวุฒิสภา ผู้แทนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์, พล.ท.ภราดร ชมพู รองหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่, นายประสาร มฤคพิทักษ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ, น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. รวมถึงญาติวีรชน 14 ตุลา ญาติผู้สูญเสียเดินทางมาวางพวงมาลาและกล่าวสดุดีวีรชนคนเดือนตุลา
    โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ทั้งสายตรวจและฝ่ายสืบสวน จำนวน 12 นาย, ตำรวจจากกองกำกับการควบคุมฝูงชนจำนวน 20 นาย มาดูแลรักษาความปลอดภัย และอำนวยความสะดวก
    ผู้แทนญาติวีรชน 14 ตุลากล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านมาแล้ว 45 ปี เราย่อมตระหนักถึงความปรารถนาอันรุนแรงของนิสิต นักศึกษา และประชาชนในการที่ชาติบ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปสู่การปกครองที่ดีและถูกต้อง ผู้ที่เสียเลือดเนื้อและชีวิตในวันนั้นยังเป็นตัวแทนคนทั้งชาติในการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งวิถีชีวิตของปวงชนตามระบอบประชาธิปไตย เราทั้งหลายจึงควรตระหนักและสืบทอดเจตนารมณ์อันดี มีค่า และเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตลอดไป อย่างไรก็ตาม ขอให้รัฐบาล คสช.จัดการเลือกตั้งตามกำหนดที่ให้ไว้กับประชาชนด้วย
    นายยงยุทธ ผู้แทนนายกฯ กล่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ ที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกถึงวีรกรรมผู้กล้าที่เสียสละชีวิต เลือดเนื้อ เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย โดยอุดมการณ์และความเสียสละของเหล่าวีรชนจะคอยย้ำเตือนคนรุ่นหลังให้จดจำและตระหนักถึงความสำคัญของการมีประชาธิปไตย ความรัก ความสามัคคี และร่วมกันรักษาไว้ให้ยั่งยืน จนถึงวันนี้ เป็นเวลา 45 ปีแล้ว นับเป็นโอกาสอันดีที่เราทั้งหลายจะได้ตระหนักถึงการใช้สิทธิเสรีภาพให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประชาธิปไตย ตลอดจนการผลักดันให้ประชาชนเข้าใจวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง ร่วมกันสืบสานเจตนารมณ์ในการต่อสู้ของเหล่าวีรชนต่อไป
    นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า หลักการประชาธิปไตยเป็นพื้นฐานสำคัญของสิทธิมนุษยชน และสิทธิมนุษยชนจะไม่สมบูรณ์หากไม่มีประชาธิปไตย ทั้งสองส่วนนี้จึงแยกจากกันไม่ได้ แต่ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้จบอยู่เพียงแค่การมีการเลือกตั้งเท่านั้น ทั้งนี้ ประชาชนทุกคนจะต้องสามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ในหลายกรณีผู้มีอำนาจได้ใช้นิติวิธีสร้างความชอบธรรมให้ตนเอง มีการคุกคามประชาชนจนเกิดความวุ่นวาย โดยไม่ได้สำเหนียกว่าการใช้นิติวิธีเทียมที่ไม่ยืนอยู่บนหลักนิติธรรมอย่างแท้จริงย่อมไม่ชอบธรรม ซึ่งได้ส่งกระทบระยะยาวที่ทำให้อำนาจรัฐบาลนั้นๆ เสื่อมถอยลง 
ปลุกหยุดรัฐประหาร
    ทางด้านนายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านการคอร์รัปชัน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เนื่องในวาระครบรอบ 45 ปี วันมหาวิปโยค 14 ต.ค.16 ขอให้เพื่อนร่วมชาติมาช่วยกันหยุดวงจรอุบาทว์ที่ทำลายชาติมาโดยตลอด รัฏฐาธิปัตย์ ที่แท้จริงคือประชาชน เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ผู้ที่ได้อำนาจมาจากการทำรัฐประหารเป็นได้เพียงกบฏของแผ่นดินเท่านั้น
    "หยุดวงจรอุบาทว์ หยุดรัฐประหาร ใครทำต้องมีความผิด ศาลต้องไม่รับบังคับคดีตามอำนาจของพวกกบฏ ศาลต้องไม่รับรองการนิรโทษกรรมให้แก่พวกที่ทำรัฐประหาร ต้องประหารชีวิตพวกมันสถานเดียว เพราะเป็นกบฏ ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข มิฉะนั้นจะมีรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศเอาไว้ทำไม มีเอาไว้ให้พวกกบฏฉีกเล่นอย่างนั้นหรือ" นายวีระระบุ
    นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ในฐานะอดีตคนเดือนตุลา กล่าวว่า วันนี้ "คนตุลา" ได้ยุติบทบาทของตนเองไปมากแล้ว สิ่งที่ยังคงดำรงอยู่และเป็นที่จดจำของผู้คนคือ "จิตใจ และวีรกรรม 14 ตุลา" ที่เป็นความทรงจำดีๆ ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาและเรียนรู้ต่อไป สิ่งที่คนรุ่นใหม่ปัจจุบันจะเก็บรับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตมาเรียนรู้ได้ คือคนหนุ่มสาวยุคนั้นมีความใฝ่ฝันและกล้าที่จะฝัน และพยายามไขว่คว้าทำฝันของตนให้เป็นจริง โดยอยากเห็นสังคมไทยมีความเป็นประชาธิปไตย เคารพสิทธิเสรีภาพ และโอกาสในการมีทางเลือกที่เป็นของประชาชน ไม่ยอมรับอำนาจเผด็จการและอำนาจนอกระบบใดๆ ที่จะกดดันข่มเหงประชาชน อย่างไรก็ตามสังคมไทยที่มีความเป็นประชาธิปไตยและมีความยุติธรรม แม้จะเกิดขึ้นได้ยากและต้องการเวลา แต่ยังมีความหวัง สังคมไทยยังมีอนาคต และคนหนุ่มสาวคืออนาคต
    นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ไม่น่าเชื่อเลยว่ามาถึงวันนี้ สังคมไทยจะถอยหลังไปจนสุดกู่เช่นนี้ เมื่อเป็นเช่นนี้เป็นความรับผิดชอบของประชาชนไทยทุกคนที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้า อย่างน้อยต้องไม่ถอยหลังไปกว่าเมื่อ 14 ต.ค.16  ในเมื่อเวทีการต่อสู้ในวันนี้ คือสนามเลือกตั้งทั่วประเทศ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 ก.พ. 62 จึงเป็นความรับผิดชอบของประชาชนไทยทุกคน ต้องเลือกพรรคฟากประชาธิปไตย ให้ได้รวมกันแล้วจำนวนไม่น้อยกว่า 350 เสียง เพื่อเป็นหลักประกันในการได้มาซึ่ง “สามปฏิเสธ รัฏฐาธิปัตย์” อย่างมีพลัง นั่นคือ 1.ปฏิเสธรัฐธรรมนูญ 60 2.ปฏิเสธยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 3.ปฏิเสธผลงานทางการเมืองของพวกรัฏฐาธิปัตย์ทั้งหมด 
    "ครั้งนี้ไม่ต้องมีการเดินขบวนขนานใหญ่ ไม่ต้องมีการเผชิญหน้ากับทหารติดอาวุธสงคราม ไม่ต้องเสียสละชีวิตเลือดเนื้อของวีรชนผู้กล้า ต้องการเพียงความปักใจเด็ดเดี่ยว ในการเลือกพรรคการเมืองฟากที่เป็นปรปักษ์กับรัฏฐาธิปัตย์ ที่เป็นปรปักษ์กับ คสช. “ไม่เอาคสช.” เท่านั้น" นพ.เหวงระบุ
    นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีต รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โพสต์ข้อความรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาว่า เมื่อ 45 ปีที่แล้วประชาชนมีเพียงสองมือเปล่า วิ่งหลบกระสุนไปมา แต่ยังไม่ยอมถอยจากถนนราชดำเนิน วันนี้เราต้องมาร่วมกันก้าวเดินตามความใฝ่ฝันครั้งใหม่ ทำให้วันที่ 24 ก.พ.62 คือ "#14ตุลา" ของทศวรรษ 2560 เช้าวันนั้น เรา, ประชาชนกว่า 41 ล้านคน, จะออกจากบ้านของเรา แล้วก้าวเท้าเข้าไปสู่หน้าประวัติศาสตร์ในเหตุการณ์ทางการเมืองที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของไทยอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้เราไม่ได้มีเพียงสองมือเปล่า เรามีบัตรเลือกตั้ง และเจตนารมณ์เดือนตุลาแน่วแน่ในดวงใจ
    นายสุริยะใส กตะศิลา รองคณบดีฯ วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผอ.สถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่า 45 ปี เหตุการณ์ 14 ต.ค.16 ถือเป็นโอกาสที่ภาคฝ่ายต่างๆ ควรสรุปบทเรียนทางการเมือง มองคุณค่าของประชาธิปไตยที่มากกว่าการเลือกตั้งและเปลี่ยนประชาชนจากผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นหุ้นส่วนของประเทศได้แล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคการเมืองและนักการเมืองยังมองประชาชนเป็นเพียงผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ว่านอนสอนง่าย หรือยังหลงเชื่อว่าวัฒนธรรมทางการเมืองของชาวบ้านอย่างติดกับดักอยู่ภายใต้เครือข่ายอุปถัมภ์ดังเดิมนั้น อาจจะเป็นการประเมินที่ผิดพลาด ทั้งนี้ นักการเมืองต้องเลิกคิดเป็นผู้รับเหมาทำแทน หากยอมรับและปรับตัวจะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหวังมากขึ้น
ระวังส้นเท้าแห่งชาติ
    ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา "42 ปี 6 ตุลาฯ จุฬาฯ มองอนาคต" โดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า หากพูดถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ปฏิเสธไม่ได้ที่จะต้องพูดถึง 14 ตุลา 2516 ที่ผู้คนตื่นตัวพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งเหตุผลที่ประชาชนและนักศึกษาออกมา เพราะถูกกดหัวมานานกว่า 16 ปี ที่ก่อนหน้านั้นสังคมตกอยู่ภายใต้เผด็จการมาตลอด ดังนั้นในช่วงเวลา 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 เป็นช่วงเวลาที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ อย่างไรก็ตามทุกวันนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีกลุ่มคนที่มีอำนาจไม่กี่คนฉุดรั้งประเทศไม่ให้เดินไปข้างหน้า ขณะเดียวกันวาทกรรมของผู้มีอำนาจที่ต้องการทำให้คนกลัวคือ ประชาธิปไตยเป็นตัวสร้างปัญหา เพื่อเป็นข้ออ้างให้ชนชั้นนำหรือทหารเข้ามายึดอำนาจ ดังนั้นเชื่อว่าหากประชาชนและพรรคการเมืองปฏิเสธอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยและประชาชน การรัฐประหารก็จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ที่ยังเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะมีบางพรรคสนับสนุนอำนาจเหล่านี้อยู่ 
    "เราจะปรองดองด้วยอำนาจที่กดทับคนอื่น หรือเอารองเท้าบูตเหยียบคนอื่นให้ปรองดองไม่ได้ จึงต้องใช้ความเป็นธรรมอย่างเดียว รวมทั้งต้องเอาความทรงจำและความจริงกลับคืนมา พร้อมเชิดชูคนที่เคยต่อสู้มา เพื่อกลับสู่ประชาธิปไตย หยุดการสืบทอดอำนาจของ คสช.ให้ได้ โดยการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นตัวชี้อนาคตประเทศว่าคนไทยจะอยู่กับเผด็จการต่อไปหรืออยู่กับเสรีภาพ ถ้าอยากอยู่ใต้รองเท้าบูต ก็เลือกกลุ่มหนึ่ง แต่ถ้าไม่อยากก็เลือกอีกกลุ่ม ซึ่งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์ว่าประเทศจะไปทางไหน นอกจากนี้เราต้องจัดการกับรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีที่มาจากคนที่ยึดอำนาจของประชาชน ขณะเดียวกันเราต้องล้มล้างผลพวงจากการรัฐประหารทั้งหมดนี้ให้ได้ เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน" นายธนาธรระบุ
    นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประวัติศาสตร์เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในยุคก่อนมีจอมพลถนอม กิตติขจร จอมพลประภาส จารุเสถียร ซึ่งตนเปรียบเหมือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในขณะนี้ ซึ่งในสมัยนั้นได้มีการตั้งพรรคสหประชาไทยต่อท่ออำนาจเพื่อเดินสู่การเลือกตั้ง แต่สุดท้ายเป็นเผด็จการที่ไม่คุ้นเคยกับระบบรัฐสภาก็มีการปฏิวัติ ต่อมาในการรัฐประหารหลายครั้ง ทั้งในยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ก็มีการต่อท่ออำนาจโดยการตั้งพรรคสามัคคีธรรม แต่เมื่อจะเลือกนายกฯ กลายเป็น พล.อ.สุจินดา คราประยูร จนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬขึ้น มาจนถึงยุคคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ตอนหลัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มาตั้งพรรคมาตุภูมิ แต่สุดท้ายเหลือสมาชิกเพียงคนเดียว
    "มาถึงวันนี้ก็มีพรรคพลังประชารัฐ มองว่าเป็นการต่อท่อรัฐบาล เพราะมี 4 รัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน แต่ประวัติศาสตร์ได้สอนให้เห็นความล้มเหลวของรัฐบาลที่ต่อท่ออำนาจโดยการตั้งพรรค เพราะสุดท้ายแล้วหากไม่เจอการรัฐประหารตัวเองหรือกลุ่มอำนาจอื่นทำรัฐประหาร ก็จะเจอกับระบบส้นเท้าแห่งชาติ คือ เจอกับประชาชน หากพลังประชารัฐทำในลักษณะต่อท่ออำนาจ ไม่เคารพเสียงข้างมากในสภาถือเป็นเรื่องใหญ่ อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์สวมหมวก 2 ใบ แม้วันนี้ไม่รู้จะมาเป็นแคนดิเดตเสนอชื่อเป็นนายกฯ ในนามพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ แต่หมวกอีกใบคือเป็นหัวหน้า คสช. ซึ่ง ส.ว.จำนวน 250 คน ก็มาจากการคัดเลือกของ คสช. ซึ่งสิ่งที่อันตรายที่สุดของการต่อท่ออำนาจคือ หากหัวหน้า คสช.ไม่เคารพเสียงข้างมากในสภาที่มาจากประชาชน เกิดหักเหลี่ยมเมื่อพรรคการเมืองจับมือได้เกินครึ่งของสภา แต่กลับไม่ให้ แล้วให้ส.ว.ยกมือให้เป็น ก็จะบรรลัยกันหมด" นายอรรถวิชช์ กล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"