"ธนาคารเวลา"งานจิตอาสา สะสมไมล์เบิกใช้ยามแก่เฒ่า


เพิ่มเพื่อน    

(“ธนาคารเวลา” รูปแบบของจิตอาสาที่สะสมเวลาในการดูแลผู้สูงวัย ซึ่งสามารถเรียกเวลาใช้คืนเมื่อจิตอาสาคนดังกล่าวมีอายุมากขึ้น เพื่อให้มีคนดูแลสับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน)

 

      คงจะดีไม่น้อยหากเมื่ออายุมากขึ้นยังมีคนที่คอยดูแล โดยเฉพาะคนที่ไม่มีบุตรหรือทายาท กระทั่งผู้ที่ครองตัวโสดอยู่ตามลำพัง ดังนั้น “ธนาคารเวลา” ที่มาพร้อมกับสโลแกน “ออมเวลา ปันสุข” ที่จัดขึ้นโดยกองส่งเสริมสวัสดิการและคุ้มครองสิทธิผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงเกิดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักในการรับสังคมผู้สูงวัย เพื่อให้คนวัยเกษียณมีคุณภาพชีวิตที่ดี และมีความสุขเมื่อเข้าสู่วัยชรา

(ไพรวรรณ พลวรรณ)

 

      นางไพรวรรณ พลวรรณ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ ให้ข้อมูลว่า “โครงการธนาคารผู้สูงอายุเป็นเรื่องของการ “ออมเวลา ปันสุข” ซึ่งเกิดขึ้นจากระเบียบที่เป็นวาระแห่งชาติที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งตอนนี้คิดเป็นประมาณ 20% ของวัย 60 ปีขึ้นไปในสังคม ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวเพื่อดูแลผู้สูงวัย ซึ่งปัจจุบันโครงการธนาคารเวลาได้เริ่มมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2561 ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้ามาสมัครทั้งสิ้นแล้วจำนวน 284 ราย และทางกรมกิจการผู้สูงอายุก็ได้มีการเซ็น MOU ร่วมกับ สสส. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) อีกจำนวน 44 อบต.ทั่วประเทศ เพื่อเปิดรับสมัครจิตอาสาเพื่อเข้าร่วมโครงการ ในการลงพื้นที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ลำพัง หรือเป็นการแชร์ข้อมูลร่วมกันของพื้นที่ต่างๆ ว่ามีผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง อาทิ ป่วยติดเตียง มากน้อยเพียงใด

      “รูปแบบของผู้ที่สมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกจิตอาสา โครงการ “ธนาคารเวลาผู้สูงอายุ” คือการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ขึ้นไป ที่มีร่างกายแข็งแรง และมีจิตเป็นอาสาในการดูแลผู้สูงอายุ ทั้งนี้ ผู้สมัครจะต้องลงพื้นที่ไปดูแลคนวัยเกษียณ อาทิ การป้อนข้าว พาเดินเล่น พาไปหาหมอ ชวนร้องเพลง ชวนทำกิจกรรมต่างๆ หรือแม้แต่พาไปทำธุระนอกบ้าน ช่วยซักผ้า โดยมีความคล้ายคลึงกับ “ธนาคารผู้สูงอายุ” ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และประเทศญี่ปุ่น ซึ่งภารกิจที่ปฏิบัตินั้นจะเป็นการสะสมเอาเวลาไว้ และเมื่อจิตอาสาคนดังกล่าวมีอายุมาก ก็จะมีผู้ที่ผลัดเปลี่ยนเข้ามาดูแลเช่นเดียวกัน จึงเป็นที่มาของชื่อ “ธนาคารเวลาผู้สูงอายุ” นั่นเอง

      ซึ่งระหว่างที่ลงพื้นที่ปฏิบัติหน้าที่ ทางโครงการจะมีสมุดจดบันทึกการดูแลผู้สูงวัยโดยไม่จำกัดระยะเวลา ทั้งนี้ จิตอาสาสามารถดูแลผู้สูงวัยได้ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงต่อวันขึ้นไป หรือจะทำ 3 ครั้งต่อสัปดาห์ก็ได้เช่นกัน จากนั้นเมื่อถึงเวลาสิ้นปีก็จะเก็บจัดเก็บข้อมูลเวลาในการลงพื้นที่ดูแลคนสูงอายุ โดยจะทำการเก็บไว้ในรูปแบบของบัตรสมาร์ทการ์ด ซึ่งตรงนี้จะต้องใช้เรื่องของระบบไอทีเข้ามาช่วย ทั้งนี้ จิตอาสาที่สมัครเข้ามาก็จะต้องมีการอบรม และประชุมชี้แจงบทบาทหน้าที่ในการดูแลผู้สูงวัย จากนั้นทุกๆ 3 เดือน จะมีการทำประเมินว่า การที่เปิดรับจิตอาสาเข้ามามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ก็เพื่อขยายพื้นที่ของ “ธนาคารผู้สูงอายุ” ให้ครอบคลุมในพื้นที่ กทม.ต่อไป และจำนวนของจิตอาสาโครงการนี้ก็ไม่ได้ตั้งเป้าจำนวน แต่ยังคงเปิดรับอยู่ตลอดให้กับผู้ที่สนใจ”

      ท่านรักษาการฯ ไพรวรรณ บอกอีกว่า ผู้ที่สนใจเป็นจิตอาสา “ธนาคารเวลาผู้สูงอายุ” ก็สามารถเข้าไปกรอกรายละเอียดการรับสมัคร ที่เว็บไซต์ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้น โดยไม่มีกำหนดปิดรับสมัคร หรือโทร.สอบถามที่ 0-2642-4305-6 พร้อมกับทิ้งท้ายเกี่ยวกับประโยชน์ที่ผู้สูงอายุจะได้จากโครงการดังกล่าวนี้ เมื่อสังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างเต็มตัวในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

      “ประโยชน์โดยตรงจะตกอยู่กับผู้สูงอายุที่ติดเตียง หรืออยู่กัน 2 คนลำพัง โดยที่อีกฝ่ายหนึ่งป่วยและไม่มีใครคอยดูแล ที่สำคัญยังเป็นการแบ่งเบาภาระของหน่วยงานราชการที่ต้องรับหน้าที่ดูแลผู้สูงวัย อาทิ รายละเอียดปลีกย่อย อย่างที่การจิตอาสาธนาคารเวลา พาผู้สูงอายุไปพบแพทย์ตามนัด หรือพาไปทำธุระนอกบ้าน กระทั่งการช่วยทำงานบ้าน ตรงนี้ไม่เพียงทำให้ผู้สูงอายุมีความสุข และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังเป็นการสะสมบุญของผู้ที่ทำงานจิตอาสาในด้านดังกล่าว อีกทั้งเป็นแรงบันดาลใจ ให้กับอีกหลายๆ คนมีทางเลือกในการทำงานจิตอาสาดูแลผู้สูงวัย เป็นต้น”.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"