ยกระดับขีดการแข่งขัน


เพิ่มเพื่อน    

    

    เห็นการประกาศผลดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก 4.0 (Global Competitiveness Index : GCI 4.0) ของเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม (WEF) ที่ขยับขึ้นถึง 2 อันดับ จากอันดับ 40 ในปีก่อน มาอยู่ที่อันดับที่ 38 ในปีนี้
    มองเป็นการพัฒนาที่มีความสำคัญ เพราะรายงานตัวนี้ เป็นการวัดผลการทำงานเกือบทุกด้าน ทั้งในแง่สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การศึกษา สาธารณสุข ซึ่งสะท้อนว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาที่ดีขึ้น และยังสะท้อนว่าเราสามารถยกระดับตัวเองขึ้นมาเหนือคู่แข่งก่อนหน้าเราได้  เพราะดัชนีตัวนี้เป็นการประเมินผลกับประเทศอื่นๆ อีกกว่า 140 ประเทศทั่วโลกอีกด้วย
    โดย "พสุ เดชะรินทร์" คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการของ WEF (World Economic Forum) ระบุว่า คะแนนของไทยที่ทำการประเมินในปี 2561 นี้ ดีขึ้นอย่างชัดเจนจากปีที่ผ่านมา ซึ่งจุดแข็งที่ทำให้ไทยถูกยกระดับขึ้น ก็เป็นในด้านระบบการเงิน (Financial system) ที่ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 14 ของโลก และได้รับคะแนน 84.19 (จาก 100) โดยในด้านระบบการเงินนั้นมีปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับความพร้อมของเงินทุน การให้สินเชื่อ ผลิตภัณฑ์การเงินประเภทต่างๆ รวมทั้งระบบในการลดและกระจายความเสี่ยงต่างๆ ทางด้านการเงิน" 
    ซึ่งในข้อนี้หลายประเทศในโลกยอมรับระบบการเงินหลังจากที่ไทยเราต้องเผชิญกับวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้ไทยเรามีการยึดหลักการบริหารในภาคการเงิน ธนาคาร อย่างเคร่งครัด และมีกฎระเบียบที่ยกระดับการแข่งขัน และที่สำคัญคือ ปรับตัวเข้ากับสังคมไร้เงินสดเต็มรูปแบบได้อย่างราบรื่น  
    แต่ในข้อที่ WEF ท้วงติง ก็คือด้านการแข่งขันภายในประเทศ (Product market) ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่อันดับที่ 92 ของโลก ด้วยคะแนน 53.4 โดยในด้านนี้จะเกี่ยวข้องกับระบบการแข่งขัน ภายในประเทศที่ยังไม่ได้รับการแข่งขันที่เท่าเทียม และมีความซับซ้อนของกฎระเบียบที่มากมาย
    แน่นอนในด้านนี้ จากที่ได้ติดตามการทำงานของภาครัฐเอง ก็เข้าใจถึงจุดนี้ และรัฐบาลเร่งปฏิรูปกฎหมายรับแผนยุทธศาสตร์ชาติใหม่ พร้อมที่จะจัดการกำจัดกฎหมาย 6,000 ฉบับ ตัดกฎระเบียบขั้นตอนที่ยุ่งยาก ล่าช้า ซึ่งที่เห็นแล้วก็คือการปรับปรุงการขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจต่างๆ ที่ต้องทำให้ง่ายขึ้น ใช้เวลาน้อย และทำผ่านหลายช่องทางได้ ขณะที่ในส่วนของประชาชน ตอนนี้ก็สั่งยกเลิกการใช้สำเนาบัตรประชาชนและทะเบียนบ้านหลายหน่วยงานแล้ว เข้าใจว่าจากนี้ถ้าปฏิรูปกฎหมายสำเร็จ น่าจะเห็นอะไรที่ดีขึ้นกว่าเดิม
    ขณะที่อีกด้านที่หน้าห่วง ก็คือ ด้านการศึกษาและทักษะ (Education & skills) ของประเทศไทย ก็ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ที่ 66 ของโลก ด้วยคะแนน 62.99 ซึ่งถือว่าการศึกษาและการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน เรายังค่อนข้างติดขัด เพราะจากการประเมินของสถาบันต่างประเทศ ก็ให้คะแนนด้านการศึกษาของไทยน้อยมาก ปัญหาที่พบหลักๆ  คือ จำนวนครูต่อนักเรียนมีไม่เพียงพอ และเรื่องของวิชาการ ความรู้ความสามารถ ระหว่างเด็กชนบทกับเด็กในเมือง มีความแตกต่างกันมาก ซึ่งจุดนี้จะต้องมีการปรับปรุงต่อไป 
    อย่างไรก็ดี การที่อันดับการแข่งขันของไทยในมุมมองของ WEF จะดูดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถที่จะหยุดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้ เพราะประเทศคู่แข่งก็พร้อมที่จะชิงชัยและ พัฒนาแซงหน้าเราได้ทุกขณะ โดยเฉพาะในประเด็นที่เป็นจุดอ่อนทั้งหลาย  ทั้งด้านการบริหารจัดการของภาครัฐ เรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน การประยุกต์เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ และการพัฒนาการศึกษา สิ่งเหล่านี้มีความจำเป็นต้องเดินหน้าต่อไป 
    หากไทยเราอยากจะเป็นประเทศที่ดึงดูดนักลงทุนจากทั่วโลก ดัชนีชี้วัดเรื่องขีดความสามารถในการแข่งขันจะเป็นตัวสะท้อนความน่าสนใจว่า ไทยเราดีแค่ไหนในสายตาระดับโลก แน่นอนหากมีการพัฒนา ประเทศเราก็พัฒนา ประชาชนก็จะได้รับการพัฒนา และจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น.

 ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"