สารพัดเงื่อนไข ฟอร์มรัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่ง่าย แนวคิดตั้งรัฐบาล-วิเคราะห์ศึกเลือกตั้ง   'อภิสิทธิ์' ขอแก้มือ แพ้รอบ 3 ไม่คัมแบ็ก


เพิ่มเพื่อน    

   

             แนวคิดตั้งรัฐบาล-วิเคราะห์ศึกเลือกตั้ง   'อภิสิทธิ์' ขอแก้มือ แพ้รอบ 3 ไม่คัมแบ็ก

                อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงสมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค ซึ่งจะทราบผลอย่างเป็นทางการในการประชุมใหญ่พรรค ปชป.วันที่ 11 พ.ย.นี้ว่า สุดท้ายแล้ว มาร์ค-อภิสิทธิ์ ที่เป็นหัวหน้าพรรคมาร่วม 13 ปี นับจากปี 2548 มาครั้งนี้ เขาจะได้กลับมานำทัพพรรค ปชป.สู้ศึกเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 หรือไม่ โดยรอบนี้อภิสิทธิ์ย้ำว่า หากเขาได้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรค ปชป.แล้วนำทัพสู้ศึกเลือกตั้ง ที่หากผลออกมา ปชป.แพ้การเลือกตั้งเหมือนเช่นตอนเลือกตั้งปี 2550 และ 2554 ก็จะลาออกจากหัวหน้าพรรค ปชป.เพื่อหลีกทางให้คนอื่นขึ้นมาแทน โดยจะไม่ขอกลับมารับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ปชป.เป็นรอบที่สามอย่างแน่นอน

                อุ่นเครื่องกันก่อนด้วยการถามถึงเป้าหมายจำนวนที่นั่ง ส.ส.ของพรรค ปชป. อภิสิทธิ์ ขอสงวนท่าทีในการประเมิน โดยให้เหตุผลว่ายังเร็วเกินไปที่จะพูดเรื่องนี้ เพราะถึงตอนนี้ยังไม่ได้เข้าสู่การเลือกตั้งเต็มตัว จึงยังไม่เห็นอะไรที่ชัดเจน เช่น นโยบายพรรคต่างๆ, ตัวผู้สมัคร ส.ส.ของแต่ละพรรค

ยิงคำถามข้ามช็อตยาวไปเลยว่า ประเมินว่าหลังการเลือกตั้งการจัดตั้งรัฐบาลจะวุ่นวาย ต้องใช้เวลานานหรือไม่ อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ โฟกัสประเด็นนี้ไว้ว่าอยู่ที่ประชาชน ผมรู้วันนี้ใครคิดว่าตัวเองจะออกแบบระบบไว้อย่างไร ใครคิดว่าตัวเองจะสามารถจับมือต่อรองกับใครยังไงก็ตาม แต่อย่าลืมว่าคนที่จะตอบได้ว่าใครคือพรรคใหญ่ พรรคเล็ก ก็คือประชาชน และใครที่พยายามต่อรองตั้งรัฐบาลก่อนการเลือกตั้ง เป็นการไม่ให้เกียรติประชาชนเลย แล้วแบบนี้จะเลือกตั้งทำไม ถ้าคุณบอกเลือกมายังไงก็จะเป็นรัฐบาลแบบนี้ คุณจะไม่ฟังเสียงประชาชนเลยหรือว่าเขาต้องการอะไร ไม่เปิดโอกาสให้เขาเลือกเลยหรือ ว่าเขาอยากได้รัฐบาลแบบไหน

-ถ้าผลการเลือกตั้งออกมา พรรคที่ชนะการเลือกตั้งได้เสียงอันดับหนึ่งแต่จัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเป็นอันดับสองของประเทศ จะต้องให้พรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่งเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาลก่อนหรือไม่?

หลักของระบบสภาคือ ใครรวบรวมเสียงได้มากได้ก็ต้องเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ซึ่งโดยทั่วไปคนมาอันดับหนึ่งต้องพยายามก่อนอยู่แล้ว เพราะเขาได้เปรียบเนื่องจากมีเสียงมากกว่า แต่หลักประชาธิปไตย ผมก็ไม่เห็นมีใครโวยวายว่าประเทศนิวซีแลนด์ไม่เป็นประชาธิปไตย ก็เห็นพรรคที่ได้คะแนนอันดับสองจัดตั้งรัฐบาล เพราะรวบรวมเสียงข้างมากได้ ส่วนพรรคอันดับหนึ่งก็เป็นฝ่ายค้าน สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ  ส.ว. 250 คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ว่าจะมายุ่งมาฝืนเจตนาประชาชนหรือไม่

ผมยกตัวอย่างให้เป็นรูปธรรม วันนี้เรากำหนดว่าเสียงประชาชนสะท้อนเป็นสัดส่วนของ ส.ส. ยกตัวอย่างเช่น พรรค ก.ได้ 40% พรรค ข.ได้ 35% พรรค ค.ได้ 25% ถ้าพรรค ก.และพรรค ข.รวมกันได้  60% นั่นคือเสียงส่วนใหญ่ของคนที่บอกว่าเลือกเขา ทำไมมีสิทธิ์น้อยกว่าพรรคที่ได้ 40% หรือถ้า 35% อยากจะไปรวมกับ 40% ก็จัดตั้งรัฐบาลได้ แต่จะมาบอกว่าถ้า 35% มารวมกับ 25% แล้วผิดหลักประชาธิปไตย มันไม่จริง เพราะ 60% มากกว่า 40% ต้องพูดให้ชัด เพราะนี่คือระบบสภา ต่างประเทศก็เป็นแบบนี้ นิวซีแลนด์ก็เกิดขึ้น

-ก่อนหน้านี้นายกฯ ก็บอกว่าจะให้พรรคอันดับหนึ่งตั้งรัฐบาลก่อน?

ก็เป็นความเห็นท่าน ผมไม่ทราบ อันนี้คือผมยกตัวอย่าง แม้แต่การเถียงเรื่องคนนอกคนใน ล่าสุดที่ประเทศอิตาลี พรรคที่ได้เสียงข้างมากตกลงกันไม่ได้เรื่องคนใน เขาจะเอาคนนอกเข้ามา แต่เขามีกระบวนการที่จะไปขอความเห็นจากประชาชน เขาก็ทำ ประเด็นของผมคือว่าคุณก็ต้องเคารพการตัดสินใจของประชาชน แทนที่จะมาเถียงว่าพรรคอันดับหนึ่งหรืออันดับสอง หรือตกลงคนที่จะมาเป็นคนนอกหรือคนใน เพราะถ้าได้ความเห็นชอบจากเสียงข้างมาก มันก็โอเค แต่ควรจะไปถามมากกว่าจะทำอย่างไรให้ ส.ว. 250 คน ทำอย่างไรเขาถึงจะเคารพการตัดสินใจของประชาชน ส่วน ส.ว. 250 คน เราก็ต้องให้เขาเคารพการตัดสินใจของประชาชน หากไม่ต้องการให้กลายมาเป็นคู่ขัดแย้งใหม่ในอนาคต

เลือกตั้งแบ่งสองขั้ว ปชป.อยู่ตรงไหน?

อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ กล่าวหลังถามความเห็นว่าในฐานะที่ผ่านการเลือกตั้งมาหลายสมัย หากในอนาคตการเมืองเข้าสู่โหมดเลือกตั้งเต็มตัว ถึงตอนนั้นการเมืองจะแบ่งออกเป็นสองขั้ว คือสนับสนุน และไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ โดยเขาแสดงท่าทีทางการเมืองหลังถามคำถามนี้ว่า ถ้าผมนำพรรคสู่การเลือกตั้ง จะไม่นำพรรคไปสู่จุดนั้น พร้อมขยายความว่า ...ผมเคยบอกว่าเป็นการเมือง 3 ก๊ก รัฐราชการด้านหนึ่ง ประชานิยมด้านหนึ่ง และเส้นทางเสรีนิยมประชาธิปไตยของพรรคประชาธิปัตย์  ผมไม่เห็นประโยชน์ที่จะนำพาประชาชนทะเลาะกันเรื่องจะเลือกเผด็จการ หรือจะเลือกคนขี้โกง ประชาธิปัตย์เราจะเป็นทางหลัก

-แต่ถ้าสุดท้ายผลเลือกตั้งออกมา?

ถ้าผลเลือกตั้งออกมาก็ต้องเคารพประชาชน แต่ผมจะเสนอตัวเป็นหลักว่านี้คือแนวทางหลักที่ประเทศควรจะเดิน ซึ่งหากประชาชนสนับสนุนประชาธิปัตย์มาก ไม่ต้องถามว่าประชาธิปัตย์จะร่วมกับใคร แต่ต้องถามว่าใครจะร่วมกับประชาธิปัตย์ และหากจะมาร่วมด้วยต้องเดินเส้นทางนี้ แต่ถ้าคนเลือกน้อยก็ต้องเจียมตัวก็แสดงว่าเขาไม่เอาเส้นทางนี้ แต่อย่าเอาผมไปลากเพื่อบอกว่าสังคมวันนี้มีทางเลือกแค่เผด็จการกับขี้โกง

                ถามย้ำว่าถ้าหลังเลือกตั้งทั้งสองฝั่งมีใครชนะเลือกตั้ง ประชาธิปัตย์จะไม่ร่วมกับทั้งสองฝ่าย ใช่หรือไม่ อภิสิทธิ์ ระบุว่าไม่สามารถตอบตรงนั้นได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถตอบได้ว่าถึงประชาธิปัตย์ชนะ เขาจะร่วมกับผมหรือไม่

"แต่บอกได้เลยว่าประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของผมจะไม่เข้าไปเป็นรัฐบาล ถ้าไม่เชื่อว่ารัฐบาลนั้นจะนำพาประเทศไปในทางที่ถูกต้อง" อภิสิทธิ์ระบุ

....เพราะผมเห็นว่าพรรคสืบทอดสืบสานอุดมการณ์กันมา เราไม่ได้ทำเพื่อตำแหน่งหรือเห็นแก่อำนาจ ถ้าเราไม่เห็นว่าตำแหน่งและอำนาจนั้นไม่สามารถผลักดันแนวคิดอุดมการณ์ นโยบายของประชาธิปัตย์ได้ เราไม่มีหน้าที่ที่จะต้องไปเป็นกองเชียร์หรือะไหล่ ไปเป็นผู้ช่วยให้ใคร แต่เรามีหน้าที่เสนอแนวทางหลัก แต่ถ้าเราร่วมรัฐบาลแล้วสามารถผลักดันบางสิ่งบางอย่างได้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

                -หาก พล.อ.ประยุทธ์มีชื่ออยู่ในบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคการเมือง ถือว่ามาตามครรลองของประชาธิปไตยหรือไม่?

ถูกต้อง และไม่ได้ว่าอะไร คำว่าครรลองเขาก็มีสิทธิ์ แต่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องตอบคำถามเหมือนกับ 4 รัฐมนตรียังไม่ตอบคำถามว่า เรื่องที่ทำนี้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ถ้ายังดำรงตำแหน่งต่อไป พูดตามจริงรัฐธรรมนูญนี้ไม่คิดว่ากรรมการจะลงมาเล่นเอง รัฐธรรมนูญจึงเขียนว่า หากใครจะมาเป็นผู้เล่นโดยเฉพาะหากเป็นคนใน คสช. รัฐมนตรี สนช.ต้องลาออกจากตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ประกาศใช้ แต่ตอนนี้ก็แค่เลี่ยงไม่ลงสมัคร ส.ส. ก็ต้องถามว่าเป็นไปตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญหรือไม่

...และต้องถามด้วยว่าพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ สร้างธรรมาภิบาลหรือกลับไปสู่การเมืองแบบเก่า นำเรื่องผลประโยชน์ ตำแหน่ง คดีความมาต่อรองคนเข้าไปร่วมพรรค แนวทางแบบนี้เป็นแนวทางที่ประเทศจะพึ่งพาได้หรือไม่ ต้องถามเขา

 ผมไม่ได้บอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่มีสิทธิ์ แต่ต้องถามว่าแนวทางที่ทำสอดคล้องกับสิ่งที่ประเทศต้องการหรือไม่ หลายเรื่องที่เกิดขึ้นขณะนี้กับพรรคใหม่ๆ มันเหมือนย้อนกลับไปตอนระบอบทักษิณยุคตั้งต้น

"ถ้าใครสู้กับระบอบทักษิณ มันไม่ใช่แค่ว่าถ้าฝ่ายนี้ทำต้องต่อต้าน แต่คนอื่นทำเหมือนกันแต่บอกไม่เป็นไร แบบนี้ไม่ได้สู้กับระบอบทักษิณจริง เพราะหากบอกว่าสู้กับระบอบทักษิณจริง  พฤติกรรมที่ทำหากเหมือนกันก็ต้องคัดค้านไม่ว่าใครทำ เพราะจะเป็นเผด็จการทหารหรือเผด็จการที่มากับประชานิยม หรือการมาใช้อำนาจในทางมิชอบมันไม่ได้เป็นคำตอบให้กับประเทศได้"

งูเห่าโหวตนายกฯ เกิดขึ้นได้!

ถามย้ำว่าหากตอนประชุมรัฐสภา ถ้า ส.ส.ประชาธิปัตย์โหวตเห็นชอบนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นชื่อที่ไม่ใช่คนในพรรคหรือไม่ใช่บุคคลที่ประชาธิปัตย์มีมติให้เลือกจะทำอย่างไร อภิสิทธิ์ กล่าวสำทับว่า เชื่อในความเข้มแข็งของระบบพรรค คือในความเป็นจริงทางการเมือง เริ่มต้นก่อนที่ว่าให้สมาชิกและผู้สนับสนุนพรรคมาเลือกหัวหน้าพรรคได้ คนในพรรคก็ต้องตระหนักว่ามีการให้ความชอบธรรมแก่หัวหน้าพรรคในการกำหนดทิศทางระดับหนึ่งแล้ว เมื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้งใหญ่ เขาก็ต้องมาตอบคำถามสื่อจนเกิดความชัดเจนแล้ว ซึ่งหากไม่มีการสนใจว่าสมาชิกพรรคที่เลือกทิศทางพรรคมาแล้ว ไปหาเสียงกับประชาชนมา แล้วคิดว่าจะมาทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ ผมคิดว่าไม่ง่ายอย่างนั้น และเรายังมีเครื่องมือใหม่ๆ ที่สะท้อนความเห็นประชาชนได้ คนเป็น ส.ส.หากไม่ฟังประชาชนก็ยากจะเป็นผู้แทนได้ต่อ

                -แบบนี้จะมีงูเห่าในพรรค ปชป.หรือไม่?

                ถ้าคิดในเชิงกติกาก็มีได้ทุกพรรค เพราะกฎหมายเขียนไว้ให้เป็นอิสระในการทำอะไรก็ตาม ถ้ามีก็จัดการตามมาตการของพรรคเท่าที่เราจะทำได้ เพราะข้อบังคับของพรรค วินัยพรรคก็มีอยู่แล้ว

เมื่อขอให้วิเคราะห์โอกาสกลับมาอีกรอบของพลเอกประยุทธ์หากเข้าสู่เส้นทางการเมือง อภิสิทธิ์ พู ดกว้างๆ ไว้ว่า ก็เห็นเขาพยายามทำพรรคการเมืองเพื่อมาสนับสนุน และทำหลายวิธีด้วย ก็แสดงว่ามีโอกาสลงการเมือง มีตัวช่วยจำนวนมาก อย่างไรก็ตามก็ต้องอย่าไปทำอะไรที่ฝืนประชาชน เพราะอะไรที่ฝืนประชาชน สุดท้ายจะนำไปสู่ความขัดแย้ง และหากมีการตั้งพรรคขึ้นมาแล้วพูดง่ายๆ ว่าต่อเนื่องกับการใช้อำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตย บทเรียนอย่างหนึ่งคือเขาต้องรู้ว่าเมื่อมีการแข่งขันอย่างเป็นประชาธิปไตย หรือเมื่อมันเข้าสู่ระบบประชาธิปไตยแล้ว เครื่องมือที่เขาเคยใช้ได้หลายครั้งมันใช้ไม่ได้ผล

13 ปีแพ้เลือกตั้ง 2 รอบ

รอบสามแพ้อีกคือล้างมือ

-เป็นหัวหน้าพรรค ปชป.มา 13 ปี มองว่าที่ผ่านมาการนำพาพรรคประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว เพราะคนก็ยังพูดกันว่าเป็นหัวหน้าพรรค นำพรรคสู้ศึกเลือกตั้งมาสองครั้งคือปี 50 และปี 54 ผลปรากฏว่าแพ้ การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นแมตช์ล้างตาหรือไม่?

คือถ้าลองไปดูตัวเลขสถิติผลการเลือกตั้งใหญ่ปี 50 และปี 54 พรรคประชาธิปัตย์ได้สัดส่วนคะแนนมากที่สุดในรอบ 20-30 ปีอย่างน้อย แต่มันไม่พอและผมก็ไม่พอใจ อีกทั้งเมื่อนำเลือกตั้งแพ้ก็แสดงความรับผิดชอบทุกครั้ง แต่ประชาธิปัตย์ก็พูดเสมอว่าเราไม่มีทางโตแบบทางลัด ให้ไปดูด ซื้อเสียง โกง เราไม่ทำ

...อย่าลืมว่าปี 50 เมื่อเลือกตั้งเรียบร้อย พรรคที่ชนะเราก็ถูกยุบเพราะทุจริตเลือกตั้ง ส่วนปี 54 ก็มีการสอบเรื่องนำเงินใต้โต๊ะให้สื่อเพื่อให้นำเสนอข่าวสารไม่เป็นกลาง ดังนั้นก็มีหลายปัจจัย แต่ผมถือว่าต้องทำให้ดีกว่านี้เพราะที่ผ่านมาดีไม่พอ

...ตอนเป็นนายกรัฐมนตรีก็ทำหลายเรื่อง ทั้งกู้วิกฤติเศรษฐกิจได้ เรียนฟรี ผู้สูงอายุ อสม. ประกันรายได้ เริ่มต้นหลายอย่าง แต่ตอนนั้นอยู่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลก และอยู่ในสถานการณ์ความวุ่นวายของบ้านเมืองตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ผมยังไม่มีโอกาสสร้าง แต่วันนี้คือสถานการณ์ใหม่ โอกาสใหม่ ยืนยันว่าไม่เคยหยุด ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ห้ามไม่ให้นักการเมืองทำอะไร  ผมไม่เคยทำผิดกฎหมายแต่ก็ไม่เคยหยุดเหมือนกัน เข้าหาทุกกลุ่ม ติดตามทุกความเคลื่อนไหวของโลก เพราะต้องการหาคำตอบให้กับประเทศ

...ผมมั่นใจว่าหากมีโอกาสนำพาพรรคต่อไป ประสบการณ์ในอนาคต ความรู้ใหม่ที่สะสมมา การมีคนใหม่ๆ เข้ามาช่วยเปิดมุมมอง จะทำให้ผมมีโอกาสสร้างหลายสิ่งหลายอย่าง ผมอยู่การเมืองมา 26-27  ปีแล้ว ไม่คิดว่าจะมีโอกาสได้ทำอะไรอีกมากมายแล้ว แต่ผมมาสู่การเมืองมาด้วยความเชื่อ ด้วยอุดมการณ์ มาด้วยความฝันอยากเห็นประเทศเป็นได้หลายสิ่งหลายอย่าง

"ผมรู้ตัวเองว่าเหลือเวลาอีกไม่มาก ไม่เหลือโอกาสมากที่จะได้ทำตรงนี้ ตอนนี้ผมมาถึงอายุ  54 ปี ผมมาถึงจุดนี้ ไม่เกรงใจใครแล้ว ผมจะเดินหน้าและจะไม่มีเรื่องไหนที่ผมอยากเห็นเกิดขึ้นในประเทศไทยแล้วผมจะละเลย ผมต้องทำเพราะผมจะไม่มีโอกาสทำอีกแล้ว"

ถามย้ำว่าที่พูดว่าเหลือเวลาอีกไม่มาก หมายถึงถ้าเลือกตั้งครั้งนี้แพ้จะรับผิดชอบโดยการลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคใช่หรือไม่ อภิสิทธิ์ ตอบว่า ผมก็ต้องกำหนดเป้าหมายขององค์กร โดยก่อนเข้าสู่การเลือกตั้งผมก็ต้องคุยกับคนในพรรคว่าเป้าหมายคืออะไร แล้วผมต้องทำให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ผมก็ต้องรับผิดชอบ

-หากลาออกหลังเลือกตั้งแล้วเกิดที่ประชุมใหญ่พรรคยังโหวตให้กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบ?

คงไม่ เพราะถ้าผมเห็นว่าถึงเวลาที่คนอื่นจะมานำพาพรรค ผมก็ปฏิเสธได้ ไม่มีปัญหา

ในช่วงการสัมภาษณ์เป็นจังหวะที่อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์มีการย้ายพรรคไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นกันหลายคนโดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐ เลยถามว่าแล้วแบบนี้ประชาธิปัตย์กับพลังประชารัฐจะพูดคุยทางการเมืองกันได้หรือไม่ อภิสิทธิ์ ยืนยันว่าคุยกันได้ ไม่มีปัญหา เพียงแต่แนวทางนโยบายหลายอย่างของเขาไม่ตรงกับประชาธิปัตย์ ทั้งนโยบายด้านเศรษฐกิจหรือนโยบายที่ไม่ยอมกระจายอำนาจ นโยบายทำให้รัฐเติบโตไม่ตรงกับประชาธิปัตย์ เราก็จะบอกว่าถ้าอยากมาทำงานกับเราคุณก็ต้องเปลี่ยนแปลง  ส่วนพรรคเพื่อไทยถ้าเลิกติดยึดอยู่ใต้ร่มเงาระบอบทักษิณ ครอบครัวทักษิณ ก็คุยกันได้ แต่ก็ไม่ง่ายถ้าดูจากสิ่งที่เพื่อไทยทำขณะนี้

                ส่วนเมื่อถามถึงว่า พื้นที่ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประชาธิปัตย์มาตลอดหลายปีคือภาคอีสาน-เหนือ จะแก้ไขอย่างไร อภิสิทธิ์ บอกแนวทางไว้ว่า นโยบายของพรรคจะตอบโจทย์ชาวเหนือและอีสาน ความจริงเกษตรกรรายย่อยในภาคเหนือและภาคอีสานเขาเคยสัมผัสว่านโยบายประกันรายได้ตอบโจทย์มากกว่า  เพราะถ้าเป็นเกษตรกรรายย่อยจริงโครงการแบบการจำนำข้าวไม่ง่ายสำหรับเขา เพียงแต่เราจะปรับปรุงโครงการประกันรายได้ให้ดีและตรงใจมากขึ้น และมีอีกหลายเรื่องที่เป็นโอกาสของภาคเหนือและภาคอีสานในการเชื่อมโยงภูมิภาค ไม่ใช่มัวแต่บอกว่าโครงการขนาดใหญ่ลงทุนกี่แสนล้าน แต่ต้องบอกว่าโครงการขนาดใหญ่จะช่วยเปิดโอกาสพัฒนาพื้นที่อย่างไร อีสานมีระบบน้ำที่ใหญ่ที่สุดซึ่งขณะนี้ต้องปรับรื้อกัน 

ซักว่าหาก ปชป.เจาะภาคเหนือและภาคอีสานไม่ได้ ยังไงก็ไม่มีวันชนะเลือกตั้ง อภิสิทธิ์ มองจุดนี้ว่า การเลือกตั้งที่จะใช้ระบบนับทุกคะแนนเสียง แต่ปี 50 จำนวน ส.ส.เขตประชาธิปัตย์แพ้จำนวนมาก  อีสานได้น้อยมาก แต่คะแนนทั่วประเทศรวมกันแล้วประชาธิปัตย์แพ้พรรคพลังประชาชนไม่ถึง 2 แสนคะแนน ทั้งประชาธิปัตย์และพลังประชาชนได้คะแนน 12 ล้านเสียง ผมก็เคยบอกว่าแล้วทำไมเราจะทำให้ดีกว่านั้นอีกนิดไม่ได้ ที่ผ่านมาประชาธิปัตย์ไม่เคยได้จำนวน ส.ส.ตามสัดส่วนคะแนนที่ได้ เพราะการกระจายของคะแนน

มาวันนี้ระบบเลือกตั้งที่นับทุกคะแนนเสียง สำหรับพรรคใหญ่มันก็มีโอกาสที่จะถูกบั่นทอนคะแนนไปเพราะไม่มีคะแนนขั้นต่ำในการคำนวณ ส.ส. ก็อาจทำให้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ไปอยู่กับพรรคขนาดกลาง-เล็กมากขึ้น ส่วนปัญหาว่าบัญชีรายชื่อจะได้มากหรือน้อย เป็นปัญหาภายในไม่ใช่ปัญหาหลัก 

                อภิสิทธิ์-หัวหน้าพรรค ปชป. ยังกล่าวถึงการที่พรรควันนี้ขาดกำลังหลักอย่างสุเทพ เทือกสุบรรณ  อดีตเลขาธิการพรรคด้วยว่า ปชป.อยู่ด้วยระบบ เราอาจไม่มีบุคคลที่มีจุดแข็งเหมือนที่นายสุเทพมี เราก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน แต่ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เช่นเดียวกับสนามกรุงเทพฯ ที่ขาดนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์, นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ และนายสกลธี ภัททิยกุล เรื่องนี้ก็ต้องแข่งขันกันไป แต่ก็ยังมั่นใจว่าความผูกพันระหว่างชาว กทม.กับพรรค รวมถึงความผูกพันในภาคใต้ ภาคกลาง หรือแม้แต่จังหวัดอุบลราชธานี สุโขทัย พิษณุโลก เรามีความเข้มแข็งในฐานะพรรคพอสมควร

                อภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงยุทธศาสตร์ในการชิงคะแนนจากกลุ่ม First Voter ที่มีจำนวน 7 ล้านเสียงว่า เราต้องตอบโจทย์ปัญหาของเขาทั้งในเรื่องเทคโนโลยี เสรีภาพ นโยบายที่พรรคเขียนแบบสั้นๆ เราพูดถึงปัญหาเพศสภาพ ความหลากหลายในสังคม คนชายชอบ คิดว่าคนรุ่นใหม่ปรารถนาที่จะเห็นพื้นที่เปิดกว้างมีความหลากหลาย มีที่ยืนให้กับทุกคน อีกทั้งประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคที่นำเทคโนโลยีมาใช้ก่อนพรรคอื่น ทั้งการรับสมัครสมาชิก การลงคะแนนหยั่งเสียงหัวหน้าพรรค อีกทั้งคุยกับคนรุ่นใหม่ที่ทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ทำวิสาหกิจเพื่อสังคม คนรุ่นนี้มีความคาดหวังในชีวิตอีกแบบหนึ่ง ซึ่งมองว่าแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยจะตอบโจทย์คนเหล่านี้ได้ดีกว่าแนวคิดอื่นๆ

                ถามถึงการเลือกหัวหน้าพรรค ปชป.ที่จะเสร็จสิ้นในการประชุมใหญ่พรรควันที่ 11 พ.ย. ต่อกรณีเสียงวิพากษ์วิจารณ์การวิเคราะห์ทางการเมืองเรื่องความพยายามยึดพรรคประชาธิปัตย์ อภิสิทธิ์ ตั้งคำถามกลับมาว่า แล้วคุณว่ามาจากไหน ผมก็ได้ยินข่าวเหมือนคุณ? ผมก็บอกว่ามันก็เป็นไปได้ พรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันหลัก สถาบันหนึ่งของประเทศที่อยู่มายาวนานที่สุดสถาบันหนึ่ง ถ้ามีคนอยากได้ก็ไม่แปลก แต่มั่นใจว่าสมาชิกคนของพรรคที่ซึมซับอุดมการณ์ของพรรคมาด้วยกัน คงไม่ยอมให้พรรคถูกเบี่ยงเบนออกนอกลู่นอกทางไป ผมก็ยังมั่นใจว่าคนประชาธิปัตย์จะรักษาพรรคไม่ให้ใครมาทำอะไรอย่างนั้นได้.

..........................

                                                                         (2)

   ปชป.เตรียมคำตอบให้ประเทศ

                 หลังเลือกตั้งลงกิโยตินมรดก คสช.?

                อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ กล่าวถึงการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้ากับการเตรียมพร้อมของ ปชป.ก่อนเข้าสู่สนามเลือกตั้งว่า เรื่องสำคัญที่สุดของการเลือกตั้งต้องคิดว่าประชาชนคาดหวังอะไรจากการเลือกตั้ง วันเลือกตั้งไม่ว่าจะเกิดขึ้นช่วงใด จะ 24 ก.พ.62 หรือจะไปถึงเดือน พ.ค.ปีหน้า

...ผมว่าสิ่งที่ประชาชนอยากเห็น คือ 1.การเมืองกลับเข้าสู่ภาวะของประชาธิปไตยที่เขาอยากมีส่วนร่วม 2.เขาคาดหวังว่าจากการเลือกตั้ง ประชาชนจะมีรัฐบาลที่ตอบโจทย์มาแก้ปัญหาประชาชนได้ดีขึ้น  โดยเฉพาะช่วงนี้สิ่งที่เขาเดือดร้อนมากที่สุดก็คือปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ 3.เขาหวังว่าเมื่อมีรัฐบาลแล้วจะไม่กลับไปสู่วังวนเดิมๆ ที่มีการทุจริตคอร์รัปชัน มีการต่อต้าน มีความขัดแย้ง

                ผมมองไม่เหมือนคนอื่นที่เวลาเขาพูดเรื่องการเลือกตั้ง จะพูดในแง่ว่ามีอดีต ส.ส.กี่คน ไปเอาอดีตส.ส.มาได้กี่คน หรือพยายามจะบอกว่าจะรวมพลังเพื่อไปต่อต้าน คสช.เพื่อไปสู้กับบางสิ่ง ผมมองว่าความพร้อมที่สำคัญของพรรคการเมืองในความคิดของประชาชนคือ พรรคการเมืองพร้อมจะเข้ามาแก้ปัญหา แก้โจทย์ตรงนี้หรือยัง ซึ่งผมยืนยันว่าผมและพรรคประชาธิปัตย์เตรียมพร้อมเรื่องเหล่านี้ตลอดเวลา

                ผมเป็นคนแรกๆ ที่ได้เรียกร้องว่าการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น หากทำให้ประชาชนสมหวังได้ประโยชน์ คุณต้องเคารพเสียงของเขาก่อน ใครที่พยายามจะบอกว่าให้ไปจับกันเป็นรัฐบาลไว้ก่อน ไม่ต้องไปสนใจผลการเลือกตั้งที่จะออกมาอย่างไร ถึงคุณจะทำสำเร็จ แต่ก็เป็นการเชื้อเชิญให้เกิดปัญหาใหม่ๆ เข้ามา  บ้านเมืองจะไม่สงบ เพราะประชาชนต้องการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของสิทธิ เจ้าของประเทศ

                พรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การนำของผม ถึงได้บอกว่าจะไม่ให้มีใครเข้ามาลากประชาธิปัตย์ไปสู่จุดที่ว่า คุณจะอยู่ข้างคนนี้หรือไม่ หรือ คุณจะสนับสนุนคนนั้นหรือไม่ ผมจึงบอกว่าถ้าเราอยากหลุดพ้นจากสภาพเดิมๆ เอาปัญหาของประชาชนมาว่ากัน เอาเรื่องนโยบายพรรคมาพูดกัน โดยให้ประชาชนมีความหวังและในที่สุดจะต้องสมหวังว่าเขาได้เลือกเส้นทางของเขา

                อภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า ความพยายามที่จะทำให้การเมืองเป็นการแบ่งพวก การแบ่งข้าง แต่ไม่มีใครให้คำตอบประชาชนในเรื่องที่เขาเดือดร้อนที่สุด เรื่องที่เขาอยากให้ประเทศไทยเดินหน้าคือเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปัญหาปากท้อง ซึ่งวันนี้เรื่องเศรษฐกิจมีความท้าทายที่ทับซ้อนกันหลายเรื่อง อย่างแรก ความเหลื่อมล้ำในสังคมเวลานี้เป็นเรื่องในเชิงโครงสร้าง ซึ่งหากไม่มีการทำอะไร มันจะฝังตัวลึกเข้าไปเรื่อยๆ มันไม่สามารถแก้ไขด้วยความคิดเพียงแค่ว่า ทำเศรษฐกิจให้โต เก็บภาษีเข้ารัฐให้มาก แล้วนำเงินมาแจกประชาชน มันไม่ใช่ แต่มันเกิดจากปัญหาการผูกขาด ปัญหาของธรรมชาติทางเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งการมีเครือข่าย การลดต้นทุนจากการมีขนาดใหญ่ รวมถึงผลกระทบที่มาจากเทคโนโลยี มันมาจากโครงสร้างที่เรากำลังจะมีสังคมสูงวัย จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเร็วมาก แล้วประเทศไทยจะเป็นสังคมสูงวัยที่ไม่เหมือนประเทศอื่น เพราะเขารวยก่อนแก่ แต่ของไทยเราแก่ก่อนรวย ระบบสวัสดิการทั้งหมดของตรงนี้

 สิ่งที่บอกเป็นเรื่องใหญ่ที่ยกมาแค่เรื่องหนึ่ง นอกจากนี้ที่ผ่านมาเราอาจคิดว่า เศรษฐกิจของไทยเราก็เติบโตพอไปได้ แต่ก็ชัดว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเราถดถอยไป ที่ถดถอยไปก็เพราะว่าระบบโดยเฉพาะเรื่องกฎหมายต่างๆ มันเริ่มมีอุปสรรคมากขึ้นในการที่คนจะใช้ประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีสิ่งใหม่ๆ เพราะอะไรก็บอกว่าทำไม่ได้ กฎหมายไม่รองรับ ในขณะที่เศรษฐกิจโลกวันนี้ต้องการการเปลี่ยนแปลงและการตอบสนองที่เร็ว

                อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้การเติบโตของเราก็ไม่ได้เป็นการเติบโตที่ทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศมีกำลังซื้อที่จะทำให้เศรษฐกิจโตได้ต่อเนื่อง สี่ปีกว่าที่ผ่านมาเขาได้ใช้เงินเป็นล้านล้านหรือยังในการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นแล้วก็จบ กระตุ้นแล้วก็จบ เหมือนกับปั๊มอยู่แบบนั้นแต่มันไม่ขึ้น

                ประเด็นที่บอกข้างต้นทั้งหมดคือสิ่งที่ผมและประชาธิปัตย์สนใจ แล้วผมก็แปลกใจว่าเราจะไม่เอาโอกาสที่จะมีการเลือกตั้งมาพูดกันหรือว่า นี้คือโอกาสที่เราจะแก้ปัญหาเหล่านี้

"ไม่ใช่ติดหล่มกันอยู่แบบเดิมๆ คุณจะสนับสนุนผมไหม คุณจะจับมือกับใคร"

...ผมไม่ได้แค่ติดตามปัญหาเหล่านี้ แต่ผมยืนยันว่าเรื่องนโยบายเศรษฐกิจต้องเปลี่ยน หากยังจะมานั่งประเมินผลของนโยบายเศรษฐกิจหรือของโครงการ โดยดูเพียงแค่จีดีพีโตเท่าใด จะมีคนนำเงินมาลงทุนมากแค่ไหน แต่ไม่มีการดูให้ลึกลงไปว่าที่บอกว่าโต มันโตอย่างไร อย่างช่วงสี่ปีที่ผ่านมา พอสำนักงานสถิติแห่งชาติไปสำรวจดูเรื่องรายได้ของครัวเรือน 20 เปอร์เซ็นต์ของครัวเรือนที่จนที่สุด รายได้ลดลง หลายจังหวัดรายได้ครัวเรือนลดลง ซึ่งไม่ใช่ตัวเลขที่น้อย แต่ลดลงระดับ 10-30 เปอร์เซ็นต์ จะมีแค่ 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เห็นการเติบโตอย่างชัดเจนของรายได้ ดังนั้นหากเราประเมินจากโครงการต่างๆ  เช่นการแจกจ่ายสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อดึงให้คนมาลงทุนในโครงการอีอีซี แต่เราไม่มีมาตรการที่บังคับเลยว่า คนที่มาลงทุนต้องคืนอะไรบ้างให้กับคนในพื้นที่ ผู้ใช้แรงงาน บางทีเราไม่ได้อะไรเลย ภาษีก็ไม่เก็บเขา การจ้างงานเขาก็อาจไม่ได้จ้างคนไทย เพราะอาจใช้พวกเครื่องจักร อีกทั้งมีการยกเว้นมาตรการต่างๆ เช่น เรื่องผังเมือง สิ่งแวดล้อม ให้หมด

 จนสุดท้ายประโยชน์ที่เกิดกับประเทศอยู่ตรงไหน ผมไม่ได้บอกว่าไม่ควรทำโครงการขนาดใหญ่หรือโครงสร้างพื้นฐาน คือต้องทำ แต่การทำโครงการแบบนี้จะประเมินด้วยวิธีการเดิมๆ ไม่ได้ แต่ต้องประเมินใหม่ว่าเป้าหมายของคุณ สิ่งที่จะลงไปถึงประชาชน คนธรรมดา คนยากจนคืออะไร

ที่พูดมาแค่ยกตัวอย่างเดียว ยังไม่ได้ไปถึงเรื่องสังคมสูงวัย การศึกษา สิ่งแวดล้อม ปัญหากฎหมายที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์หรือเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ที่ก่อนหน้านี้คนก็มีความหวังว่าจะดีขึ้นเพราะไม่มีนักการเมืองมายุ่งแล้ว แต่วันนี้ทุกคนก็สะท้อนตรงกันว่ามันไม่ได้ดีขึ้น แล้วถ้ามันเป็นอย่างนี้อีก ความเสื่อมศรัทธาในการเมือง ในรัฐบาล และตัวระบบการเมือง มันก็จะเป็นตัวที่นำเรากลับไปสู่ความวุ่นวาย ความขัดแย้งได้อีก

                อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ สรุปว่า จากที่บอกมาถามว่าประชาธิปัตย์เตรียมอะไรบ้าง ก็ตอบว่าประชาธิปัตย์เตรียมคำตอบให้ประเทศ ขอโอกาสเราเท่านั้นในการอธิบายคำตอบที่จะให้ประเทศกับประชาชน   แล้วเราจะขอเสียงประชาชนว่านี่คือทางที่เขาจะเดิน

 อย่ามาลากผมไปพูดไปทะเลาะเรื่องอื่น ผมสนใจเรื่องนี้มากกว่าว่าประเทศไทยจะเดินออกจากวิกฤติที่มันติดหล่มอยู่แบบนี้ได้อย่างไร แล้วผมก็จะมีคนที่เข้ามาสนับสนุน ซึ่งเป็นคนที่ไม่ได้อยู่การเมืองมาก่อน เป็นคนรุ่นใหม่ที่เขาก็พร้อมจะเข้ามาสนับสนุนมาทำงานตรงนี้มากขึ้น ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ผมดีใจเพราะสภาพที่คนใหม่ๆ อยากจะเข้ามาการเมืองไม่ได้เกิดขึ้นมานานพอสมควร โดยเฉพาะช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งมีความขัดแย้งกันมาก หลายคนก็ได้แต่จะหลบจะหนีการเมือง

-เรื่องแนวคิดของพรรคในด้านต่างๆ จะมีความโดดเด่นแตกต่างจากสมัยที่เป็นหัวหน้าพรรค ในช่วงเลือกตั้งปี 2550 และ2554?

มีความเปลี่ยนแปลงเยอะมากในสิ่งที่เราจะนำเสนอ เพราะโลกเปลี่ยนไปเยอะมาก สังคมเปลี่ยนเยอะมาก แต่หลายเรื่องจะเป็นการต่อยอดจากสิ่งที่เราเคยทำไว้ เช่นเรื่องโครงการประกันรายได้ เป็นโครงการแรกที่เราให้หลักประกันกับเกษตรกรว่า หากทำการเกษตร ปลูกข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพด จะไม่ขาดทุน แต่ต่อไปจะต้องขยายเป็นการสร้างความมั่นคงทางรายได้ให้ประชาชนคนไทยทุกคนในรูปแบบต่างๆ อย่างเรื่อง "การศึกษา" เราเคยทำเรียนฟรี กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา แต่ต่อไปการศึกษาต้องเปลี่ยนครั้งใหญ่ ต้องทำให้เป็นการศึกษาที่ทำให้คนมีทักษะ จบแล้วมีงานทำ สามารถเป็นผู้ประกอบการอิสระได้ สถาบันการศึกษาต้องเริ่มมองแล้วว่าตลาดหลักต่อไปอาจกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลง

"ผมมองว่าครั้งนี้ที่ออกแบบระบบมา จะด้วยเจตนาอะไรก็แล้ว พรรคประชาธิปัตย์เสนอทางออกให้ประเทศอย่างนี้ ผมขอทุกคะแนนไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหน"

...เมื่อก่อนในภาคอีสาน ภาคเหนือ อาจจะรู้สึกว่าเลือกคนของประชาธิปัตย์ไม่ชนะหลายเขต เป็นรองอยู่มาก แต่ครั้งนี้ผมจะบอกเขาว่า ถ้าคุณอยากได้ทางออกแบบนี้ เป็นประชาธิปไตย ไม่มีทุจริต  นโยบายตอบโจทย์ของเขา บ้านเมืองสงบ คะแนนคุณจะไม่สูญเปล่า ผมจะบอกคนภาคใต้ว่า เมื่อก่อนนี้ คุณอาจจะมองว่าประชาธิปัตย์ก็น่าจะชนะอยู่แล้ว แต่วันนี้ไม่ได้ ทุกคะแนนที่เติมเข้าไปจะมาเป็นคำตอบที่จะให้กับสังคม

-แต่ที่ผ่านมาคนก็มองว่านโยบายของประชาธิปัตย์เป็นรองเพื่อไทย ที่คนมองว่านโยบายเพื่อไทยเขาจับต้องได้ เช่น บ้านหลังแรก รถยนต์คันแรก แล้วมาครั้งนี้ประชาธิปัตย์มีแนวคิดในด้านต่างๆ ที่จะทำให้คนจับต้องได้อย่างไร?

ผมก็อยากบอกว่าสังคมก็มีการเรียนรู้ นโยบายของเราอย่างเรียนฟรี เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือการปรับปรุงเรื่องระบบสุขภาพ ทั้งหมดยังอยู่ และลองไปถามคนที่เกี่ยวข้องกับวงการรถยนต์คันแรกว่าตกลงใครบ้างได้ประโยชน์ ใครเสียหายบ้าง หรือดูโครงการจำนำข้าว ที่หวือหวากว่าจริง แต่สุดท้ายจบลงด้วยอะไร มีทั้งคดีความ การขาดทุนมหาศาล ข้าวไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน ราคาข้าวที่ถูกกดทับโดยสต็อกข้าว สังคมก็มีการเรียนรู้

 จริงๆ แล้วตอนปี 2554 ประชาธิปัตย์เราขยับก่อนด้วยซ้ำ เรารู้ว่าค่าแรง เรื่องราคาพืชผลเรื่องสำคัญเพียงแต่ว่าเขาเกทับ และเขาเกทับโดยไม่ได้สนใจผลระยะยาวจะเป็นอย่างไร แต่วันนี้หลายคนยอมรับและเรียนรู้ว่าเรามีคำตอบที่มันยั่งยืนหรือไม่

                อภิสิทธิ์-ที่อยู่ระหว่างการลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาเศรษฐกิจในเวลานี้ว่า ควรต้องมีการปรับตั้งแต่วิธีการคิดและการกำหนดนโยบาย ที่จะต้องมุ่งแก้เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำและมุ่งสร้างรายได้ให้ผู้มีรายได้น้อยเป็นหลักเพื่อสร้างรากฐานทางเศรษฐกิจ ต้องไม่ให้เกิดสภาพแบบทุกวันนี้ที่ทางการดีใจ เศรษฐกิจประเทศจะโต 4 เปอร์เซ็นต์ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่ถามว่าแล้วที่โต 4 เปอร์เซ็นต์อยู่ที่ไหน ต้องปรับนโยบายเหล่านี้ เรื่องการลงทุนในการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ผมเป็นคนเริ่มต้นที่จะสร้างรถไฟที่เชื่อมกับต่างประเทศ เพราะผมไปพูดและผลักดันให้อาเซียนมีการเชื่อมโยงทั้งภูมิภาค ก่อนจีนจะทำเรื่อง หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) แต่วันนี้ประเทศไทย รถไฟอยู่ไหน การคิดแค่ว่าจะลงทุนโครงการขนาดใหญ่แต่กลับไม่ไปดูเชิงยุทธศาสตร์เช่นการเชื่อมโยงว่าสร้างแล้วชาวบ้านจะได้ประโยชน์อย่างไร ผมบอกว่าหากจะมีการสร้างแค่ไม่กี่กิโลเมตร จะสร้างทำไมเท่านั้น ผมสร้างเชื่อมจากหนองคายไปถึงเวียงจันทน์ดีกว่า ให้จีนเข้ามาถึงไทยได้ อย่างนี้เป็นต้น

                ดังนั้น วิธีการคิด กระบวนการทั้งหมดมันต้องเปลี่ยน การรื้อกฎหมายครั้งใหญ่เพื่อให้ธุรกิจใหม่ๆ  เช่น สตาร์ทอัพ ธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีมันเกิดได้ เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่ว่าผ่านมาสี่ปีกว่า เรามีกฎหมายออกมาร่วมสามร้อยฉบับ แต่พบว่าส่วนใหญ่เป็นการไปเพิ่มอำนาจให้ส่วนราชการทั้งนั้น ซึ่งไม่ใช่ทิศทางที่จะเดินต่อได้ 

                สำหรับสิ่งที่รัฐบาลทำไว้เช่น อีอีซี, บัตรสวัสดิการคนจน เราถามท่าที อภิสิทธิ์-แกนนำพรรคปชป. ว่าจะเอาอย่างไร เขาบอกว่าอย่างโครงการอีอีซี ดูแล้วไม่ได้มีปัญหา เพียงแต่ว่าต้องมีเงื่อนไขให้ชัดว่าคนที่มาลงทุนในโครงการจะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศ ให้กับคนไทยอย่างไร ไม่ใช่แค่ดูแค่ตัวเลขเข้ามาลงทุน แต่สุดท้ายไม่ได้สร้างงาน ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างชัดเจน

ส่วนบัตรสวัสดิการคนจนก็คงสร้างต่อ แต่ผมไม่เข้าใจแต่แรกว่าทำไมไม่โอนเงินหรือจ่ายเงินสดให้เขา นึกภาพมีคนที่ถือบัตรร่วม 14 ล้านคน มีการให้เงินเขาเดือนละตั้งแต่ 200 บาทถึง 500 บาท คิดดูว่าเป็นเงินเดือนละเท่าไหร่ หากให้เขาใช้เงินได้อย่างอิสระ คนในชุมชน หมู่บ้าน ก็จะนำเงินไปใช้ในร้านขายของชำ ตลาดสดจำนวนหนึ่ง พอแม่ค้า ร้านขายของในชุมชนได้เงิน เขาก็นำเงินมาใช้ มันก็เกิดการหมุนเวียน แต่เขาคิดได้อย่างไรให้เงินทั้งหมดไปกองไว้ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐ จ่ายรอบเดียว เงินดูดเข้าไปในร้าน แล้วเจ้าของร้านจะใช้เงินได้สักเท่าไหร่ คนที่เคยค้าขายกับคนยากคนจนเลยจนเองด้วย ถ้าไม่ได้เป็นร้านธงฟ้า เพราะการซื้อของถูกดูดไปอยู่ที่ร้านธงฟ้าหมด นี่คือตัวอย่าง ผมไม่ได้บอกว่าจะเลิก แต่ต้องทำให้ดีกว่านี้ ต้องตอบโจทย์คนธรรมดาให้มากกว่านี้ ต้องมีการปรับเพื่อให้ผู้ถือบัตรมีอิสระในการใช้จ่าย ไม่ใช่ให้เอาเงินไปกองไว้

-หากหลังเลือกตั้งมีอำนาจทางการเมือง จะดำเนินการอย่างไรกับสิ่งที่ คสช.ทำไว้ เช่น  พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นต้น?

กฎหมายบางฉบับต้องปรับปรุง เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ หากไม่ทำให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้จะเกิดปัญหากับเสรีภาพ และอาจสุ่มเสี่ยงกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอินเทอร์เน็ต ดังนั้นอะไรที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยต้องมีการแก้ไข

ส่วนกรณียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ จะไม่นำเรื่องนี้เป็นความขัดแย้ง จะไม่ตั้งต้นว่าจะล้มล้าง ผมมองว่าหากสิ่งที่ผมเสนอเป็นเรื่องดี แต่มีคนเห็นว่าสิ่งที่ผมเสนอขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ ผมจะคุยกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติว่าสิ่งที่ห้ามไว้เป็นอุปสรรคและขอให้แก้ไข แต่หากเขาไม่ยอมแก้แล้วเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ อาจถึงจุดที่ผมก็อาจบอกว่าจะไม่เอาแล้วกับอุปสรรคที่จะมาขวางกั้นการทำงานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ  เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญยอมรับว่ามีหลายบทบัญญัติที่ต้องแก้ไข แต่ยังไม่เห็นประโยชน์ที่จะต้องตั้งต้นล้างผลาญทุกมาตรา เพื่อให้เกิดความขัดแย้งรอบใหม่ เพราะการที่บอกว่าจะแก้ทุกมาตรา ถามว่ามีหลักประกันให้ประชาชนหรือไม่ว่าไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง อะไรที่มีความจำเป็นต้องแก้เพื่อแก้ไขปัญหา จะทำ แต่จะหลีกเลี่ยงการหยิบเรื่องต่างๆ ขึ้นมาแล้วเกิดความขัดแย้ง คิดว่าพอแล้วสำหรับการเมืองแบบนั้น

ถามย้ำว่าพรรคประชาธิปัตย์พร้อมจะชูแนวทางการปฏิรูปประเทศหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาสี่ปี คสช.ทั้งที่มีอำนาจเต็มแต่ก็ปฏิรูปไม่สำเร็จ อภิสิทธิ์ กล่าวตอบว่า บอกมาตั้งแต่ต้นแล้วว่าทำไม่สำเร็จหากไม่รู้ว่าการปฏิรูปของตนเองคืออะไร การปฏิรูปไม่ใช่การเขียนข้อย่อย 10 ด้าน 20 ด้าน แบบนั้นไม่ได้เรียกปฏิรูป แต่ความจริงจะต้องมีหลักว่าจะปฏิรูปไปทิศทางไหน ซึ่งประชาธิปัตย์ประกาศชัดเจน คือ ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน อย่างการปฏิรูปท้องถิ่น ตอบได้เลยว่าคือการเพิ่มอำนาจให้ประชาชนมากขึ้น แต่ต้องมีการกำกับเรื่องธรรมาภิบาล อีกทั้งเรื่องการบริหารมหานครในเมืองหลักของทุกภูมิภาค  การเลือกผู้บริหารสูงสุดในจังหวัด ส่วนด้านการศึกษา โรงเรียนต้องมีอิสระในการบริหารจัดการมากขึ้น

-แนวทางเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรงทั่วประเทศ พร้อมจะพูดในการหาเสียงหรือไม่?

"ใช่ครับ ทั่วประเทศ" และไม่ต้องมาพูดเรื่องนำร่องเฉพาะจังหวัดที่พร้อมก่อน เพราะจังหวัดที่พร้อมค่อนข้างไปด้วยดีแล้ว จังหวัดที่มีปัญหามากคือจังหวัดที่ไม่พร้อม พอไม่พร้อมพูดตามตรงว่าคนที่ไปเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดก็ไม่อยากอยู่ตรงนั้น แต่ไปเพื่อรอจังหวัดที่ใหญ่กว่าพร้อมกว่า ผมยังเคยพูดเล่นๆ ว่าต้องทำในจังหวัดที่ไม่พร้อมก่อนด้วยซ้ำจะได้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ แต่คิดว่าเป็นทิศทางที่น่าจะเป็นนโยบายทำได้ทั่วประเทศ

-จะมีแนวคิดลงกิโยตินสิ่งที่เกิดในยุค คสช. เช่น มาตรา 44 หรือไม่?

ไม่ใช่แค่มาตรา 44 แต่เป็นเรื่องที่ต้องดูกฎหมาย กฎ ระเบียบ ซึ่งเรามีเป็นแสน เชื่อว่ามีอย่างน้อยครึ่งหนึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกได้ และไม่ใช่แค่กิโยติน แต่ต่อไปนี้วิธีที่เขียนกฎหมายใหม่ก็ต้องคิด เพราะวิธีที่เราเขียนกฎหมายแบบเดิม เราอยู่บนสมมุติฐานว่าโลกไม่ได้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก  และเราก็คิดว่าเมื่อโลกเปลี่ยนจึงค่อยกลับมาแก้กฎหมาย วันนี้ไม่ใช่ แต่ต้องเขียนกฎหมายให้ยืดหยุ่น ไม่ควบคุม และชัดเจนว่าต้องการป้องกันอะไร เพื่อให้เป็นกฎหมายที่ส่งเสริมมากกว่าการตีกรอบจนที่สุดขยับอะไรไม่ได้

เมื่อขอให้วิเคราะห์การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นว่าสุดท้ายแล้วจะเป็นการหาเสียง การเลือกในลักษณะที่คนจะดูเรื่องไหน ระหว่างพิจารณาจากนโยบายพรรค หรือรายชื่อแคนดิเดตนายกฯ ของแต่ละพรรค อภิสิทธิ์-อดีตนายกฯ ให้ความเห็นว่าเดาใจประชาชนไม่ได้ แต่ตั้งใจว่าไม่ต้องการให้ผมหรือพรรคถูกลากเข้าไปในเกมการเมืองเดิมๆ ที่พูดกันว่าจะช่วยใคร หรือสนับสนุนฝ่ายใด แบบนั้นไม่เอา

"บอกกันตรงๆ ว่าประเทศไทยต้องเดินให้พ้นจากสภาพการทุจริต พ้นจากสภาพปัญหาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้ายังติดกันอยู่กับปัญหาแบบนี้ ผมเชื่อว่าหลังการเลือกตั้งจะเกิดความวุ่นวายอีก แต่ถ้าเราตัดสินใจให้ประเทศเดินไปในทิศทางที่ชัดเจน ว่าจะแก้ปัญหาประชาชน แบบนั้นจะเป็นวิธีการที่จะทำให้หลุดพ้นจากความขัดแย้ง อีกทั้งจะเป็นการปรองดองอย่างแท้จริง"

ผมก็จะเชิญคนมาเสนอ อย่างถ้าพรรคพลังประชารัฐเชื่อในแนวนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ ก็ให้พลังประชารัฐมาเสนอแนวนโยบายแข่งกับประชาธิปัตย์ หากคิดว่าการรวมศูนย์อำนาจดี การเอาราชการเป็นตัวนำในการพัฒนาเป็นเรื่องดี ก็เสนอมา ส่วนผมก็เสนอลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน หากพรรคเพื่อไทยมีจุดยืนเหมือนเดิม ก็เสนอเลยว่าจะนำประชานิยมกลับมาอีก แล้วสุดท้ายก็เลือกกันว่าจะให้เส้นทางไหนเป็นเส้นทางหลักของประเทศ.

..................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"