ไม่ง่ายพรรคเดียวมีเสียงข้างมาก พท.มีโอกาสไม่ได้เป็นรัฐบาล


เพิ่มเพื่อน    

 นพดล ปัทมะ แกนนำพรรคเพื่อไทย-อดีต รมว.ต่างประเทศ กล่าวถึงทิศทางของพรรคเพื่อไทยต่อการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยเฉพาะเป้าหมายจำนวนที่นั่ง ส.ส.หลังการเลือกตั้ง หลังจากถามว่าเพื่อไทยมีโอกาสจะได้ ส.ส.เกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ โดยบอกว่าไม่มีความสามารถในการประเมินอย่างชัดเจน ระบบเลือกตั้งใหม่เป็นระบบจัดสรรปันส่วนผสม และมีบัตรเลือกตั้งใบเดียว คราวนี้จะยากอยู่

“คิดว่าน่าจะเกิน 200 เสียง ส่วนจะถึง 250 หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องประเมินใกล้ๆ ไม่กังวล อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด”

สิ่งที่พรรคต้องทำ เราต้องเตรียมคน เตรียมแนวทางที่ตอบสนองโจทย์ประเทศ พรรคเพื่อไทยเมื่อเป็นสถาบันการเมือง อย่าไปกังวลว่าจะชนะหรือผลคะแนน ควรมองไปข้างหน้า เราจะนำประเทศชาติให้สงบสุข มีประชาธิปไตย มีความร่วมมือเศรษฐกิจ เราทำอะไรที่เป็นประโยชน์ได้ก็อยากจะทำ ไม่อยากให้สมาชิกพรรคไปซีเรียส กังวลใจกับที่นั่งจะได้ แต่ทำให้ดีที่สุด ฟังประชาชน และเคารพการตัดสินใจประชาชน

..สำหรับจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดูแล้วคงจะได้น้อยลง ถ้าพูดกันตรงๆ ถ้าได้ ส.ส.เขตมากแล้ว เพราะเป็นสัดส่วนแปรผัน สมมุติเราได้ 45 เปอร์เซ็นต์ เราก็ได้ ส.ส.ไม่เกิน 250 คน หลังจากได้คะแนนทั้งหมด มาดูว่าเขตได้กี่คน แต่ยังมองลำบาก แต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์คงลดลงแน่ๆ ถ้าพูดกันอย่างตรงไปตรงมา

                ถามถึงพื้นที่เลือกตั้งที่เพื่อไทยยังมีปัญหาเจาะไม่ค่อยได้เช่น ภาคใต้–กรุงเทพมหานครชั้นใน นพดล บอกว่ามีตัวแปรหลายเรื่อง เมื่อเราเลือกหัวหน้าพรรค อยู่ที่ว่าจะเป็นใคร เชื่อมโยงกับฐานเสียงที่สนับสนุนหรือไม่ การแบ่งงานรองหัวหน้าพรรคให้ดูแลพื้นที่ และขั้นตอนการเสนอแนวทางที่ตอบโจทย์คนเมือง แนวทางต่อไปไม่ใช่จะตัดเสื้อขนาดเดียวให้ทุกคนใส่ แต่มีการปรับแต่งเพื่อให้ตอบโจทย์คนในพื้นที่ให้ได้ด้วย โดยต้องมีทั้งคน พร้อมการคัดสรรผู้สมัครที่โดดเด่นตอบโจทย์ตามจังหวัดต่างๆ ด้วย แต่ไม่ใช่จะไปฮั้วกับพรรคหนึ่งพรรคใด

                นพดล-แกนนำพรรคเพื่อไทย ย้ำว่า เรื่องหัวหน้าพรรคเพื่อไทยที่จะมีการเลือกกันในวันที่ 28 ต.ค. เราตั้งเป้าให้เป็นคนที่โดดเด่น ถ้าไม่ใช่ก็จะเป็นจุดด้อยของเราที่แข่งขันกับพรรคอื่นไม่ได้ เช่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ก็มีตัวตนชัดเจน หัวหน้าพรรคเพื่อไทยต้องมีคุณลักษณะเนื้อเดียวกับพรรค เป็นตัวจริงเสียงจริง มีความรู้ความสามารถ มีจุดยืนประชาธิปไตยชัดเจน เป็นผู้นำสมาชิกพรรคไปสู่การเลือกตั้ง

ความเห็นผม ไม่จำกัดอายุ หนุ่มหรือแก่ แต่ต้องมีความรู้เศรษฐกิจทั้งระดับฐานราก มหภาค จะสร้างรายได้อย่างไรให้คนจน คนฐานราก เกษตรกรอย่างไร ต้องรู้เรื่องเศรษฐกิจ ระยะนี้เป็นวาระเศรษฐกิจ นักเศรษฐกิจ ต้องเข้าใจ ไม่จำเป็นต้องนักเศรษฐศาสตร์ และต้องมีจุดยืนประชาธิปไตยชัดเจน มีภาวะผู้นำการนำพรรค

- หัวหน้าพรรคต้องเป็นคนที่ต่อสู้กับพรรคมาตลอด

ไม่สามารถพูดแทนคนอื่นได้ เวลาดูใครต้องดูอดีตว่าปัจจุบันจะทำอย่างไร อนาคตจะเดินไปถึงไหน เป็นเรื่องปกติ ยิ่งหัวหน้าพรรคต้องพิจารณา มีทั้งจุดยืน มีภาวะผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ เราคงไม่กำหนดสเปกละเอียด ต้องอยู่กับพรรคมาทุกสัปดาห์ ทุกเดือน ทุกปี ไม่ขนาดนั้น และต้องเป็นคนที่ช่วยให้เราได้คะแนนเพิ่มขึ้น ดึงดูดทั้งสมาชิกเรา และคะแนนใหม่ และคะแนนที่ไม่เคยเลือกเรา เป็นเรื่องจำเป็น บางทีไปปรากฏตัวสื่อครั้งหนึ่ง ทำให้คะแนนนิยมเพิ่มขึ้นมา ในยุคโซเชียลมีเดีย คุณลักษณะของผู้นำพรรคมีความจำเป็น ผู้นำพรรคต้องมีเสน่ห์ดึงดูด มีบารมีการเมือง

- หัวหน้าพรรคต้องอยู่ใน 1 ใน 3 รายชื่อบัญชีนายกฯ?

ควรเป็นอย่างนั้น หัวหน้าพรรคเพื่อไทยถ้าลงบัญชีรายชื่อต้องเป็นหมายเลข 1 เว้นแต่ไปลงแบบเขต ควรอยู่ 1 ใน 3 ที่จะเป็นนายกฯ

เรื่องหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในพรรคไม่ได้ทะเลาะเบาะแว้งกัน อาจเป็นไปได้ พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคใหญ่ คนจะเป็นหัวหน้าพรรคต้องเป็นคนสำคัญ และถือว่าหัวหน้าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสเป็นนายกฯ สูงกว่าพรรคอื่น พรรคใหญ่ขับเคลื่อนอะไร ความเห็นหลากหลาย หากผ่านกระบวนการคัดสรร ซาวเสียงตามธรรมชาติ ทุกคนก็พร้อมให้ความสนับสนุน ให้ความร่วมมือ

- คนมาเป็นหัวหน้าพรรคต้องผ่านความเห็นชอบจากนายทักษิณ?

เป็นข่าวที่เห็นในสื่อ ผมว่าในวันที่ 28 ต.ค. เราใช้กลไกข้อบังคับพรรค กฎหมายใหม่ ห้ามไม่ให้สมาชิกพรรคครอบงำพรรคอยู่แล้ว เราทำตามกฎหมายให้ถูกต้อง ตอนนี้ยังไม่เห็นใครจะเป็นหัวหน้าพรรค ยังมีเวลาที่เสนอตัว มีการดีเบต ซาวเสียง สรรหา เรื่องข่าวก็เป็นข่าว แต่ความเป็นจริงอยู่ที่สมาชิกจะโหวตในวันนั้น

นพดล บอกว่าเห็นด้วยที่คนจะมาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทยควรต้องแสดงวิสัยทัศน์ ไม่ต้องรอวันที่ 28 ต.ค.ก็ได้ ควรมีการแสดงวิสัยทัศน์กันสักสองครั้ง แต่ไม่ต้องลงคะแนน แต่ไม่รู้ว่าคำสั่ง คสช.ห้ามหรือไม่ แต่โดยหลักควรมี หรืออัดคลิปวิสัยทัศน์ให้สมาชิกดูในเว็บไซต์ ในวันที่ 28 ต.ค. มาโหวตกัน จะได้รู้ความคิดอ่านแต่ละคน และแต่ละคนจะได้โชว์กึ๋นความสามารถ แต่เรื่องนี้ยังไม่ได้เสนอใคร เป็นเพียงความคิดผม

สำหรับโครงสร้างของเพื่อไทยต่อจากนี้เห็นว่าต้องมีการปฏิรูปพรรคเป็นสถาบันการเมือง มีกลไกการทำงานชัดเจนขึ้น มีสำนักนโยบาย สำนักสื่อสารการเมือง สำนักเลขาธิการพรรค สำนักกฎหมาย เป็นต้น เป็นกลไกต่อเนื่อง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ แพ้เลือกตั้งแล้วเลิก ไม่ใช่อย่างนั้น จะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านจะต้องตามต่อไป เช่น เรื่องอีอีซีมีข้อบกพร่องอย่างไร ผลประโยชน์ให้ภาษีต่างชาติเยอะหรือไม่ อุตสาหกรรมด้านไหนไปลงทุน พรรคจะเป็นสถาบันการเมือง เป็นที่พึ่งหวังประชาชนระยะยาวได้ ขอให้ปลดล็อกการเมือง เรียกพรรคการเมืองแล้วทำข้อตกลงเซ็น อย่าไปทำความวุ่นวาย พรรคการเมืองพร้อมอยู่แล้ว เขาไม่มีเจตนาทำให้เกิดความวุ่นวาย ขอถือโอกาสนี้วิงวอนผู้มีอำนาจ คสช. พรรคการเมืองก็เป็นคนไทย เราจะปรองดอง พล.อ.ประยุทธ์บอกรับฟังทุกคน รับฟังผมด้วย พรรคการเมืองไม่ทำให้เกิดความวุ่นวาย

                นพดล ยังกล่าวถึงแบรนด์ทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยด้วยว่า ระหว่าง rebrand กับ reform ให้น้ำหนัก reform คือ ปฏิรูป รีแบรนด์เหมือนไปเปลี่ยนยี่ห้อ แต่รีฟอร์มคือเข้าไปในเนื้อหาสาระความเป็นองค์กรมากกว่ารูปแบบข้างนอก แต่สิ่งที่ทำเพิ่มคือ ทำนโยบายที่ดี เปิดทางคนรุ่นใหม่มากขึ้น ให้สมาชิกพรรคมามีส่วนร่วมทางการเมือง เป็นเจ้าของพรรคมากขึ้น รีบมีหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค สำนักต่างๆ ชัดเจน ผมว่าเราไปได้

- พันธมิตรทางการเมืองพรรคเพื่อไทย เช่น พรรคเพื่อธรรม พรรคประชาชาติ พรรคอนาคตใหม่?

ไม่อยากมองระดับตัวบุคคล เช่น เคยคุยกับนายวันนอร์ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ นายธนาธร นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แล้วเป็นพันธมิตร ไม่ได้มองมิตินั้น แต่มองมิติอุดมการณ์ แนวนโยบาย ถ้าจุดยืนประชาธิปไตยไม่สนับสนุนนายกฯ คนนอก สิทธิเสรีภาพสำคัญ เราพร้อมทำงานการเมืองร่วมด้วย พันธมิตรเป็นคำเปิดกว้าง พันธมิตรของการตั้งรัฐบาลหรืออะไร แต่การจะร่วมรัฐบาลกับพรรคใดต้องเอาแนวนโยบายอุดมการณ์เป็นตัวตั้งดีกว่า แม้ทางนโยบายไม่เห็นตรงกัน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่นโยบายสำคัญๆ ต้องตรงกันถ้าจะเป็นรัฐบาลร่วมกัน

- โอกาสเพื่อไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์?

มันมี 3 คำตอบ 1.คุยกันไม่ได้เลย 2.คุยกันได้แน่ 3.เมื่อถึงเวลาเหมาะสม

คำถามนี้ตอบยาก ผมไม่ใช่ประเภทพูดเพื่อไปขับไสไล่ส่งคนอื่น หรือพูดแล้วไม่เข้าหูพรรคอีกฝ่าย ยังไม่ถึงเวลามาด่าทอ ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ก็มาบอก ถ้าอยู่ภายใต้อย่างนั้น อย่างนั้น ก็ทำงานร่วมกันไม่ได้ หรือลูกพรรคบางคนบอกถ้าเลือกจับมือเพื่อไทย จับมือทหารดีกว่า ผมพูดแบบนี้ดีกว่า จุดยืนประชาธิปัตย์หลังเลือกตั้ง ท่านใดจะเป็นหัวหน้าพรรค จุดยืนการทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยเป็นอย่างไร จุดยืนเศรษฐกิจเป็นอย่างไร ผมคิดว่า ดูเวลานั้นดีกว่า อย่าไปเปิดหรือปิดอะไร ยังไม่ใช่เวลาต้องมาตัดสินใจเวลานี้

พรรคประชาธิปัตย์บางคนมีคุณภาพ พูดจามีเหตุมีผล ผมก็เคยเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน เราไม่ได้ดูที่บุคคล เราดูว่าใครเป็นผู้นำ ถ้าหลังเลือกตั้งเขาสนับสนุนนายกฯ พรรคที่ได้เสียงข้างมากที่สุด พร้อมแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย เราก็ควรร่วมหรือไม่ อันนี้เป็นการยกตัวอย่าง แต่ยังไม่ไปไกลขนาด พรรคเพื่อไทยยกตำแหน่งนายกฯ ให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังไม่มี ให้เป็นไปตามธรรมชาติ

- พรรคเพื่อธรรม พรรคเพื่อชาติ พรรคประชาชาติ เป็นสาขาพรรคเพื่อไทย

พรรคประชาชาติ พรรคเพื่อธรรม ในแง่ปัจเจก นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ที่ออกไปแล้วไปตั้งพรรคเป็นเรื่องปกติของท่าน เป็นสิทธิเสรีภาพทางการเมือง แต่ไม่ได้มีการเป็นพรรคนอมินีหรือฮั้วกัน ทำไม่ได้ พรรคเพื่อไทยไปสั่งให้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ ผิดกฎหมาย เขาดำเนินการเป็นเอกเทศ ส่วนอุดมการณ์การเมืองตรงกันหรือไม่ อนาคตใหม่คงไม่มีใครกล่าวหา คุณธนาธรที่ได้รับฉายาไพร่หมื่นล้าน เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย แต่ดำเนินการโดยเอกเทศ แต่อุดมการณ์ใกล้เคียงกัน ทุกคนเป็นนิติบุคคล เป็นพรรคแยกออกจากกัน แน่นอน โอกาสอนาคตใหม่จับมือพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลก็ง่ายกว่า มีโอกาสพรรคเพื่อไทยจับมือพรรคประชาธิปัตย์ พรรคคุณไพบูลย์ นิติตะวัน แต่ทุกคนแยกออกจากกัน ไม่มีนอมินีซึ่งกันและกัน

นพดล-แกนนำเพื่อไทย เชื่อว่าการเมืองหลังเลือกตั้ง โดยเฉพาะการตั้งรัฐบาลจะยุ่งยากซับซ้อนกว่าการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้รัฐธรรมนูญเก่าๆ คงเป็นการยากที่จะมีเสียงข้างมากเด็ดขาด คงจะต้องหาพรรคร่วม ใช้เวลานานพอสมควร และเป็นรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย นอกจากนั้นยังมีเสียง ส.ว.มาร่วมช่วยเลือกนายกฯ ด้วย 250+126 เป็น 376 เลือกนายกฯ แล้วถ้าไม่มีเสียงข้างมากในสภาล่างจะบริหารประเทศอย่างไร คงดูไม่จืดพอสมควร

- โอกาสพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแต่ไม่ได้เป็นรัฐบาล

ถ้าตอบแบบตรงไปตรงมา มีโอกาสทั้งนั้นที่เราจะได้เป็นทั้งรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน ถ้าไม่มีใครมาร่วมกับเราก็เป็นฝ่ายค้าน แต่เราก็หวังว่าพรรคเพื่อไทยจะได้คะแนนเสียงมากพอสมควร รวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่เราก็จะพยายามผลักดันนโยบายให้ดี เพราะเชื่อว่าเป็นรัฐบาลดีกว่าเป็นฝ่ายค้านในการนำนโยบายที่หาเสียงไปแก้ปัญหาให้ประชาชน แต่พรรคการเมืองไม่ควรประกาศเหมือนบางพรรคการเมือง ที่ได้เป็นรัฐบาลแน่นอน เพราะจุดขายพรรคเพื่อไทยมีมากกว่าการได้เป็นรัฐบาล จุดยืนทั้งหลายทั้งปวงไม่ใช่มีแค่เอาชนะเลือกตั้งครั้งหน้าเท่านั้น มองอนาคตประเทศสำคัญกว่าอนาคตของพรรค

- ถ้าประชาชนเลือกพรรคหนึ่งพรรคใดมาเยอะแต่ ส.ว. 250 คนพยายามสกัด

ผมเห็นด้วยกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ว่า หวังว่า ส.ว.จะมองเจตนารมณ์ เสียงของประชาชน ให้ความสำคัญเรื่องนั้น ส.ว.เป็นผู้ใหญ่ ก็ต้องรอดู ตอนนี้การเมืองมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ สถานการณ์บ้านเมืองจะเป็นอย่างไร หวังให้เสียงประชาชนเป็นเสียงชี้ขาด มอบความไว้วางใจให้พรรคการเมืองใดบริหารประเทศ ถ้าให้กลุ่มใดมากๆ ก็ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพ

- ถ้าการตั้งรัฐบาลมีปัญหา มีโอกาสเกิดความวุ่นวาย

บางทีโหรชอบทำนาย ร้อนแน่ แต่ไม่อยากให้มองในแง่ร้าย หวังว่าจะมีทางออก แม้ไม่ง่ายที่พรรคหนึ่งจะมีเสียงข้างมาก แต่ประเทศไทยมีความยืดหยุ่น มีสติปัญญาในการหาทางออกให้เป็นประโยชน์กับคนส่วนใหญ่ ก็ต้องรอดูว่าจะเป็นอย่างไร

ถามถึงว่า มองโอกาสของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้ง นพดล ให้ความเห็นว่า

ผมยังไม่รู้ว่าท่านจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร จากโพลบางสำนักได้เสียงตั้ง 30% ท่านออกสื่อต่อเนื่อง คนรู้จักเยอะ ท่านก็มีโอกาส แต่พรรคเพื่อไทยหรือพรรคการเมืองทุกพรรคต้องนำเสนอคนในพรรคให้เป็นนายกฯ ต้องพยายามสร้างโอกาสให้แคนดิเดตให้ได้มากที่สุด

ส่วนพรรคเพื่อไทยต่อจากนี้ หลังจากที่ประชุมใหญ่เห็นชอบข้อบังคับพรรคไปเมื่อ ต.ค.ที่ผ่านมา ในฐานะพรรคการเมืองใหญ่ที่มีสมาชิกมากจะต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ ที่ผ่านมาปฏิบัติตามเงื่อนไข คสช. เตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง แต่ยังทำได้ไม่เต็มที่ ยังมีคำสั่ง คสช. 57/2557 คำสั่ง 3/2558 ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ห้ามชุมนุมการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ยังลงพื้นที่พบปะประชาชนไม่ได้ แม้คนจะบอกพรรคอื่นยังทำได้ แต่พรรคเราแค่แถลงข่าววันครบรอบ 4 ปี รัฐประหาร ยังถูกกล่าวหาชุมนุมการเมือง เราเลยเกร็งและระมัดระวังเป็นพิเศษ แต่จะเดินหน้าเตรียมเลือกตั้งในอีก 4 เดือนเศษอย่างเต็มที่ ขั้นตอนต่อไป การเลือกหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ในวันที่ 28 ต.ค. และแต่งตั้งกรรมการสรรหาผู้สมัคร เราจะทำทุกสิ่ง เดินหน้าไปสู่วันเลือกตั้ง เตรียมทั้งนโยบาย คน และยุทธศาสตร์

- นโยบายของพรรคเพื่อไทยที่จะใช้ในการหาเสียงหลักๆ?

ขอพูดเป็นความเห็นส่วนตัว เรียกว่าเป็นแนวทางดีกว่า เพราะตอนนี้กฎหมายยังไม่ให้ทำ เพราะอาจจะขัดคำสั่ง 13/2561 โดยหลัก มุมมองทางการเมืองของพรรค ต้องสร้างเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง ประชาชนเผชิญความยากลำบาก เรารู้ว่าวันข้างหน้าเรื่องวาระเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญทั้งฐานราก ปากท้องของประเทศ จะทำให้เต็มศักยภาพ กระจายความมั่งคั่งอย่างเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ

ส่วนเรื่องการศึกษา ทางพรรคก็ให้ความสำคัญ สร้างโอกาส สร้างอนาคต ตามเทคโนโลยีให้ทัน ทั้งเอไอ หุ่นยนต์ เรามองประเทศเหมือนกับองค์รวม เมื่อเวลามาถึง ที่ทำตามกฎหมายได้ จะมีการนำเสนอต่อไป แนวทางของพรรคเห็นว่าเรื่องไหนสำคัญ เราจะจัดความเร่งด่วน เศรษฐกิจเพื่อพี่น้องเกษตรกร มีในรายละเอียดหมด รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้ตั้งแต่ฐานราก เพราะเราเห็นว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้

ในแง่หลักการ ผมพูดในแง่มุมมองของผม ต้องย้ำว่าไม่ใช่นโยบาย ซึ่งสิ่งที่เราจะทำคือ ประชาธิปไตยที่กินได้ ช่วยปลดปล่อยพลังในการขับเคลื่อน ทำให้คนมีเสรีภาพทางรัฐธรรมนูญ สิทธิสื่อมวลชน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารประชาชนในการตรวจสอบภาครัฐ ทำให้การทำงานมีธรรมาภิบาลอย่างโปร่งใส คนอยู่อย่างมีความสุข สะดวกสบาย มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความปลอดภัย มีสิทธิเสรีภาพ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นแนวคิดที่รับช่วงกันต่อมาจนถึงยุคเพื่อไทย เรื่องประชาธิปไตยเป็นจุดยืนสำคัญของพรรคอยู่แล้ว

...เราจะปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แผนยุทธศาสตร์ชาติอย่างเข้มงวด ก่อนที่จะมีการแก้ไข บางคนบอกยุทธศาสตร์ชาติจะไปยกเลิก แต่ตราบใดที่ไม่แก้ไขก็ต้องปฏิบัติตามไปก่อน แต่อันไหนที่ไม่ทันสมัย ล้าหลัง ไม่ทันกับกระแสโลกค่อยไปปรับปรุง

               - ทางพรรคเพื่อไทยจะประกาศล้างมรดก คสช.หรือไม่?

ไม่ได้ลงรายละเอียดขนาดนั้น แต่กฎหมายใดที่เป็นอุปสรรค ข้อจำกัดของเอกชน ประชาชน ในการทำมาหากินควรจะถูกยกเลิก กฎหมายใดลิดรอนสิทธิเสรีภาพ เช่น พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ควรจะแก้ไข ซึ่งที่พูดมาเป็นเพียงแนวคิดของผม ไม่ใช่นโยบายของพรรค

                คืออะไรที่ดีไม่ควรยกเลิก อย่าถึงขนาดล้มโดยไม่พิจารณาข้อดีข้อเสีย อย่างอีอีซี ขอพูดในแง่หลักการ ถ้าดีไม่จำเป็นต้องไปยกเลิก ส่วนบัตรสวัสดิการนั้นยังไม่ขอลงรายละเอียด แต่เราจะไปดูกลไกในการสร้างรายได้ให้คน ทำได้หลายกรณี เช่น สร้างงาน พักหนี้ เรื่องนี้คงรอให้ทีมเศรษฐกิจมาพูดเมื่อถึงเวลาดีกว่า เรื่องเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส ที่เคยเป็นสโลแกนในอดีต ต้องมาปัดฝุ่นดู เช่น เรียนฟรีนั้นฟรีจริงหรือไม่ หรือควรมีทุนการศึกษาให้นักเรียนอาชีวะสาขาที่ขาดแคลนหรือไม่ มีเงินสนับสนุนให้ครอบครัวตามที่ลูกเขามาเรียนหรือไม่ ไม่ใช่แค่เรียนฟรี แค่แบบเรียน มีชุดนักเรียน ควรไปไกลถึงขั้นมีเงินค่าโดยสาร อาหาร ถึงที่บ้านหรือไม่ คงต้องไปคิดกันต่อ

“ขอชื่นชมนโยบายรัฐบาลปัจจุบันที่ไปปลดล็อกให้คนใช้ที่ดินปลูกไม้มีค่า ไม้ชิงชัน ประดู่ ยางนา ตัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ถือว่าเป็นความคิดที่ดี เราต้องส่งเสริม อย่าไปยกเลิก รัฐบาลแม้มาจากการยึดอำนาจก็ไม่ใช่ว่าทำอะไรไม่ดีไปหมด อย่าไปเหมารวม ที่เขาทำไว้ต้องยกเลิกหมด”

ส่วนเรื่องนโยบายต่างประเทศ แนวคิดของผมนั้นที่จะเสนอเพื่อให้สอดรับกับข้อบังคับ คือ เราต้องเป็นมิตรกับเพื่อนบ้าน ไม่นำประเด็นเขตแดนมาสร้างกระแสคลั่งชาติ มาล้มรัฐบาล ต้องสร้างความสมานฉันท์ ไทยต้องมีบทบาทโดดเด่นในเวทีโลก ปกป้องทั้งคนงาน นักลงทุนที่ไปลงทุนหรือทำงานทั่วโลก ต้องดำเนินการต่างประเทศเชิงรุก และมีความสัมพันธ์อย่างแน่นแฟ้น เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เร่งรีบเจรจาเขตการค้าเสรีที่ค้างอยู่ โดยเฉพาะในภาคยุโรปที่ในวันนี้ไม่เจรจากับรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง.

...................................

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"