เปรมพบมหาเธร์ รำลึกความหลัง หนุนแก้3จว.ใต้


เพิ่มเพื่อน    

    "ป๋าเปรม" เปิดบ้านสี่เสาเทเวศร์ต้อนรับ "มหาเธร์" เพื่อนเก่า หลังไม่ได้เจอกัน 30 ปี แสดงความยินดีกลับมาเป็นนายกฯ อีกรอบ รำลึกความหลังนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศช่วงเวลาเดียวกันนานถึง 7 ปี หนุนแก้ปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
    เมื่อเวลา 10.55 น. วันที่ 25 ตุลาคม ที่บ้านพักรับรองสี่เสาเทเวศร์ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ให้การต้อนรับนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล  โดย พล.อ.เปรมได้เดินมารอคณะของนายมหาเธร์บริเวณด้านหน้าอาคารบ้านพัก 
    จากนั้นได้พูดคุยทักทายกัน ก่อนที่จะเดินเข้าไปในอาคารบ้านพักพร้อมกัน โดย พล.อ.เปรมสวมเสื้อผ้าไทยทรงพระราชทานสีม่วง และมีสีหน้ายิ้มแย้ม ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล สถานีตำรวจนครบาลสามเสน และเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารที่ดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณหน้าบ้านพักรับรองสี่เสาเทเวศร์ 
    ทั้งนี้ พล.อ.เปรมได้ใช้เวลาพูดคุยกับนายมหาเธร์  เป็นเวลาประมาณ 15 นาที จากนั้น พล.อ.เปรมได้มอบของที่ระลึกเป็นรูปภาพลายไทยพระนารายณ์ทรงสุบรรณลงรักปิดทอง ในส่วนของนายมหาเธร์ ได้มอบรูปทำเนียบฯ ของมาเลเซียเป็นของที่ระลึกให้ พล.อ.เปรมด้วยเช่นกัน โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่นเพราะทั้งสองบุคคลไม่ได้เจอกันนาน ก่อนที่คณะของนายมหาเธร์ โมฮัมหมัด จะเดินทางกลับ โดย พล.อ.เปรมได้เดินออกมาส่งขึ้นรถ
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ก่อนที่นายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะเดินทางมาถึง ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลจากประเทศมาเลเซียเดินทางเข้าไปยังบ้านพักรับรองสี่เสาเทเวศร์เพื่อดูแลมาตรการรักษาความปลอดภัย โดยมีเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการต่างประเทศในฐานะเป็นเจ้าภาพคอยกำกับดูแล
    พล.อ.พิศณุ พุทธวงศ์ หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กล่าวว่า พล.อ.เปรมพูดคุยถามสารทุกข์สุกดิบ รวมถึงสุขภาพของกันและกันหลังจากที่ไม่เจอกันนาน และแสดงความยินดีที่นายมหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้เป็นนายกรัฐมนตรีตามความต้องการของประชาชนมาเลเซีย 
    เขากล่าวว่า พล.อ.เปรมดีใจที่นายมหาเธร์มาพบ และดีใจที่กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ทั้งสองท่านได้รำลึกความหลังกัน โดยก่อนหน้านี้ พล.อ.เปรมได้ส่งจดหมายส่วนตัวผ่านช่องทางการทูตของกระทรวงการต่างประเทศ ไปแสดงความยินดีในช่วงที่นายมหาเธร์รับตำแหน่งใหม่ๆ
    พล.ท.พิศณุยังเปิดเผยถึงความสัมพันธ์ในอดีตระหว่าง พล.อ.เปรมกับนายกฯ มหาเธร์ว่า ทั้งสองท่านมีความใกล้ชิดกันมาก เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีพร้อมกันประมาณ 7 ปี ซึ่งในช่วงนั้นนายกรัฐมนตรีมหาเธร์ ขอให้ไทยช่วยสนับสนุนการแก้ไขปัญหาโจรจีนคอมมิวนิสต์ในประเทศมาเลเซีย ในขณะที่ พล.อ.เปรม ขอให้ทางมาเลเซียสนับสนุนแก้ไขปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ อีกมาก คาดว่าทั้งสองท่านไม่ได้เจอกันนานเกือบ 30
    หัวหน้าสำนักงานมูลนิธิรัฐบุรุษ พล.อ.เปรมฯ ยังเผยว่า พล.อ.เปรมสุขภาพแข็งแรงดี แต่จำเป็นต้องลดภารกิจลง เช่น งานสานใจไทยสู่ใจใต้ จะให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี ไปเป็นประธานเปิดและปิด เนื่องจากท่านเป็นประธานโครงการอยู่แล้ว แต่ พล.อ.เปรมยังเข้าประชุมทำเนียบองคมนตรี ซึ่งก่อนหน้านี้มีคนปล่อยข่าวว่า พล.อ.เปรมจะย้ายออกจากบ้านสี่เสาเทเวศร์ ยืนยันไม่เป็นความจริง ไม่ได้ย้ายไปไหน
    ที่มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ วันเดียวกันนี้ นายมหาเธร์บรรยายพิเศษในหัวข้อ “Malaysia - Thailand Bilateral Relations in the context of ASEAN” ตอนหนึ่งว่า หลังจากที่ประเทศมาเลเซียได้ดิ้นรนจนได้รับเอกราชมาจากอังกฤษ และต้องต่อสู้กับภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์นั้น ประเทศไทยก็เป็นอีกประเทศที่คอยช่วยเหลือมาเลเซียมาโดยตลอด เช่นเดียวกับปัญหาในชายแดนภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซียรู้สึกว่าเป็นหน้าที่ และเราก็ได้ช่วยเหลือประเทศไทยแก้ปัญหาความไม่สงบมาโดยตลอดเช่นกัน โดยใช้วิธีพูดคุยกับกลุ่มที่ก่อความไม่สงบ เพื่อหวังจะให้สถานการณ์ดีขึ้น
    เช่นเดียวกับกรณีการแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากร ประเทศไทยกับมาเลเซียนั้น ก็มีความตกลงกันว่าจะมีการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติที่ได้มาในพื้นที่พัฒนาร่วมกันอย่างเหมาะสม โดยมีการก่อตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย มีวัตถุประสงค์เพื่อการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย โดยมีหลักการที่สำคัญคือ บรรดาค่าใช้จ่ายขององค์กรร่วมที่จ่ายไป และผลประโยชน์ที่องค์กรร่วมได้มา จากกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย รัฐบาลทั้งสองจะแบ่งปันโดยเท่าเทียมกัน (50:50)
    จากนั้นในช่วงตอบข้อซักถามจากผู้ร่วมงาน มีคำถามว่า ประเทศไทยนั้นไม่เห็นนโยบายที่จะลดความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน ถ้าเป็นมาเลเซียจะมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างไรบ้าง นายมหาเธร์ตอบว่า การลดความเหลื่อมล้ำก็คือการสร้างนโยบายให้คนยากจนได้พัฒนาตัวเอง ให้มีโอกาสในการที่จะเข้าถึงการศึกษาในระดับสูง อาทิ ครอบครัวคนจน ถ้าไม่สามารถส่งลูกเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ลูกก็จะไม่ได้เรียนสูงๆ และจะไม่ได้ทำงานดีๆ ในที่สุดเขาก็จะกลับไปสู่ความยากจน ไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนนี้ไปได้ ดังนั้น จึงต้องส่งเสริมให้เขาเข้าถึงการศึกษาตรงนี้ให้ได้
    ขณะที่คำถามถึงปัญหาของกลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาที่สนับสนุนการก่อการร้ายทั่วโลก รวมไปถึงปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ของประเทศไทย นายมหาเธร์แจงว่า ปัญหาเรื่องความขัดแย้งความไม่สงบนั้น รากเหง้าไม่ได้เกิดมาจากเนื้อหาของศาสนา แต่เกิดมาจากผู้ที่ได้รับความอยุติธรรม เช่น ประเทศที่ถูกฝั่งตะวันตกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม เขาก็ต้องต่อสู้เพื่อแสดงออก ซึ่งจะให้เขาไปต่อสู้แบบปกติก็คงไม่ได้ เพราะว่าคุณภาพอาวุธสู้ผู้ที่กดขี่เขาไม่ได้ ดังนั้นเขาก็ต้องหาแนวทางต่อสู้อื่นๆ เพื่อแสดงความไม่พอใจที่เขาได้รับ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นต้นเหตุการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั่วโลก ปัญหาเรื่องความแตกแยกในโลกนั้นไม่ได้มีสาเหตุมาจากเรื่องศาสนา แต่เป็นเพราะว่าผู้ที่โกรธแค้นจากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม
    ส่วนคำถามประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน คาดหวังอะไรบ้าง นายมหาเธร์กล่าวว่า หากดูจากข้อมูลจะพบว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้นต้องนำเข้าสินค้าโดยเฉพาะจากประเทศจีนเป็นหลัก แต่ก็หวังว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนนั้นจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้มากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการผลิตสินค้าต่างๆ เพื่อการบริโภค ถ้าเราเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ผลิตสินค้า มากกว่าที่จะเป็นผู้นำเข้าสินค้าเพียงอย่างเดียว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"