แรป‘ประเทศกูมี’ร้อนฉ่า ทำคสช.ป่วนปอท.จ่อฟัน


เพิ่มเพื่อน    

  แรปการเมือง "ประเทศกูมี" ป่วนรัฐบาลคสช. ยันเนื้อหาต้านเผด็จการ แต่รัฐบาลเสียใจ ระบุเป็นเพลงทำลายชาติ "ศรีวราห์" เผยห้าสิบ-ห้าสิบไม่ชัดเนื้อหาขัดคำสั่ง คสช.หรือไม่ แต่ "บก.ปอท." ทุบโต๊ะเบื้องต้นผิด พ.ร.บ.คอมพ์ ตามสูตรเนื้อเพลงเป็นที่ถูกใจของ จาตุรนต์-อนาคตใหม่ 

    หลังมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอเพลงแรป “ประเทศกูมี”   ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล คสช. มองประเทศไทยในแง่ลบ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ปฏิเสธที่จะตอบคำถามในเรื่องนี้ โดยเดินหนีสื่อมวลชน สะบัดมือพร้อมกับส่ายหน้า แต่พบว่ารัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจเตรียมดำเนินคดีกับผู้เผยแพร่ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ 
    นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลรู้สึกเสียใจในเรื่องนี้ เพราะคิดว่าเยาวชนน่าจะใช้ความรู้ความสามารถด้านดนตรีในทางที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง ต่อแผ่นดินเกิดของตัวเองมากกว่านี้ รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีแก่เยาวชนคนอื่น ไม่อยากให้คนคิดว่าทำแบบนี้แล้วเท่ เป็นเรื่องดี หรือเป็นเรื่องสนุก ซึ่งตนไม่แน่ใจว่าเยาวชนที่ทำคลิปดังกล่าว ทำเพราะความตั้งใจของตัวเองหรือมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ และขอฝากเตือนไปว่า คนที่เสียหายที่สุดไม่ใช่รัฐบาล แต่คือประเทศไทย
    “คลิปเผยแพร่ไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ และในคลิปมีซับไตเติลเป็นภาษาอังกฤษ ผมเห็นเนื้อหาเหมือนต่อว่ารัฐบาล แต่สุดท้ายคนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย อาจจะได้รับความสนุกสนาน สะใจในการใช้ข้อมูลตอบโต้หรือกล่าวว่ารัฐบาล แต่อยากให้ดูว่าสุดท้ายไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนที่เสียหายมากที่สุดคือประเทศไทย” รองเลขาฯ นายกฯ กล่าว
    นายพุทธิพงษ์กล่าวต่อว่า หลังจากคลิปดังกล่าวเผยแพร่ออกไป มีหลายฝ่ายสอบถามรัฐบาลว่าจะทำอย่างไร ซึ่งตนเชื่อว่ามีหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่ติดตามเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ในส่วนรัฐบาล เรารู้สึกเสียใจ เพราะสุดท้ายประเทศไทยต้องรับทุกอย่าง ประเทศไทยเป็นประเทศของเราเอง จึงไม่อยากให้เยาวชนทำร้ายประเทศไทยอีกแล้ว
    เมื่อถามว่า จะมีการสั่งห้ามเข้าถึงคลิปดังกล่าวหรือไม่ นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า การเผยแพร่คลิปในโซเชียลมีเดียสามารถไปได้หลายทาง แม้เราจะปิดต้นตอ แต่ภาพที่ออกไป แต่ละคนก็สามารถแชร์ต่อได้ การควบคุมจึงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่จากการตรวจสอบเชิงเทคนิค ทำให้รู้ได้ว่าคลิปมีที่มาจากแหล่งใด อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าใครจะเป็นคนทำคลิป หรือคลิปมาจากที่ใด ประเทศไทยคือผู้ที่เสียหาย
     พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เท่าที่ดูจากคลิปก็ห้าสิบ-ห้าสิบ แต่ต้องให้ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบอีกครั้งว่าเนื้อหาเข้าข่ายขัดคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือไม่ ส่วนคนที่อยู่ในคลิป ก็จะต้องเชิญตัวมาให้ปากคำว่ามีเจตนาที่จะทำให้เกิดความวุ่นวายหรือขัดคำสั่ง คสช.ด้วยหรือเปล่า และเตือนว่า คนที่ทำเพลง อย่าทำอะไรที่มันสุ่มเสี่ยงต่อกฎหมายบ้านเมือง เพราะไม่เป็นผลดีกับตัวเองและครอบครัว หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นการกระทำผิด
    ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ บก.ปอท. เปิดเผยว่า เบื้องต้น พ.ต.อ.ไพบูลย์ น้อยหุ่น รรท.ผบก.ปอท. สั่งการให้ฝ่ายสอบสวนประชุมพิจารณาว่าเข้าข่ายข้อกฎหมายใด และให้ฝ่ายสืบสวนตรวจสอบว่าผู้ปรากฏในคลิปเป็นใคร เพราะว่าเนื้อหาค่อนข้างให้ร้ายประเทศไทย ทำให้ประเทศเสียหายอยู่หลายเรื่อง เบื้องต้นจากการตรวจสอบน่าจะเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (2) ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน เพราะความเสียหายที่ปรากฏในเนื้อเพลงอาจกระทบกระเทือนกับเศรษฐกิจ อาจทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ส่วนจะเข้าข้อกฎหมายอื่นใดขอให้ฝ่ายสอบสวนพิจารณา 
    ทั้งนี้ หากพิจารณาแล้วเข้าความผิดตามมาตรา 14(2) ในเรื่องการร้องทุกข์กล่าวโทษ ก็จะแจ้งให้บุคคลที่ได้รับความเสียเข้ามาร้องทุกข์กล่าวโทษ และจะต้องเชิญกลุ่มศิลปินที่อยู่ในคลิปเข้ามาให้ข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาด้วย ส่วนกรอบระยะเวลาดำเนินการเรื่องนี้จะดำเนินการอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยค่อนข้างมาก และผู้บังคับบัญชาสั่งการลงมา
    พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ยังกล่าวถึงกรณีที่กลุ่มศิลปินหรือผู้ที่เกี่ยวข้องชี้แจงว่าเนื้อหาของเพลงเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว ไม่ได้พาดพิงถึงบุคคลใด หรือข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร ก็เป็นสิทธิที่จะกล่าวอ้างได้ แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องรวบรวมเป็นพยานหลักฐานและตรวจสอบว่าผิดหรือไม่ 
    นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรมว.ศึกษาธิการ ได้โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า " ชอบเพลง “ประเทศกูมี” ครับ เพลง “ประเทศกูมี” ไม่ดียังไง ทำไมถึงว่าขัด คสช. น่าสนใจ แต่ถึงยังไงผมก็ยังชอบเพลงนี้ ร้องเป็นแต่เพลงแหล่ แรปไม่เป็น ไม่งั้นจะหัดร้องบ้าง"
    นางศศิวิมล อยู่คงแก้ว หรือคุณเอื้อย ซึ่งเป็นภริยาของ พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยซีล ได้โพสต์แสดงความคิดเห็นถึงเรื่องดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก Sasivimon Youkongkaew
          โดยระบุว่า "ประเทศกูมี" เรื่องราวดีๆ มากมาย ทำไมไม่เอามาพูด ฟังแล้วเดือด มันล้างสมองด้วยเสียงเพลง เกมการเมืองยุค 4.0 อย่างไรก็ตาม ต่อมาได้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า เพลงนี้เกิดจากทัศนคติลบ มองโลกแคบ ชอบดูถูกประเทศตัวเอง ขณะที่บางความคิดเห็นแย้งว่า มีตรงไหนที่เพลงไม่ได้พูดความจริงบ้าง เป็นต้น
    ส่วนเพจเฟซบุ๊ก "อีเจี๊ยบ เลียบด่วน" ได้ออกมาวิจารณ์ว่า รัฐบาลพลาดมาก ที่ไปแตะเรื่องเพลงประเทศกู โดยส่วนตัวนั้นฟังมา 3-4 วัน ก็ไม่ได้สนใจปล่อยผ่านไป ไม่ได้ว้าว ไม่ได้แชร์อะไร เฉยๆ โดยย้ำว่าเพลงมันอยู่นิ่งๆ เงียบๆ แท้ๆ พอผู้ใหญ่ไปเตะ คนหันมาอยากฟังเพลงกันใหญ่ คนไม่เคยได้ยินก็ไปหาฟัง ก่อนหน้านี้มีอยู่แสนวิว พอผู้ใหญ่ในรัฐบาลบอกว่าสุ่มเสี่ยงจะเรียกมาคุยปุ๊บ ตอนนี้ยอดวิวปาไปล้านกว่าแล้ว 
    รายงานข่าวแจ้งว่า มิวสิกวิดีโอเพลงดังกล่าวเผยแพร่เมื่อวันที่ 22 ตุลาคมที่ผ่านมา มียอดวิวกว่าล้านครั้ง และมีผู้แสดงความคิดเห็นจำนวนมาก โดยหนึ่งในนั้นมีบัญชีผู้ใช้ที่ใช้ชื่อว่า “พรรคอนาคตใหม่” ได้เข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า “ขอคารวะในจิตวิญญาณนักสู้....” ด้วย
    สำหรับเพลง "ประเทศกูมี" เป็นเพลงแรปที่แต่งและร้องโดยกลุ่มนักร้องเพลงแรป Rap Against Dictatorship (แรปต่อต้านเผด็จการ) โดยใช้นามแฝง อาทิ Jacoboi, Liberate P และ ET ซึ่งมีแนวคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยม (Liberal) เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ต.ค.2561 โดยเอ็มวีใช้ฉากหลังจำลองเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ที่กลุ่มผู้ประท้วงใช้เก้าอี้พับตีร่างของนักศึกษาที่ชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หนีออกนอกประเทศในเหตุการณ์ 14 ตุลา 16
          เนื้อร้องเพลงดังกล่าว เป็นการพูดถึงเหตุการณ์บ้านเมืองในยุคที่ปกครองโดย พล.อ.ประยุทธ์เป็นหลัก เช่น กรณีเสือดำ, นาฬิกาหรู พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ, บ้านพักตุลาการ โดยเฉพาะการเมืองในยุคปกครองโดยรัฐบาลทหาร โจมตีว่าไม่มีสิทธิเสรีภาพ พรรคการเมืองถูกแบ่งเป็นสองขั้ว พลเมืองแบ่งเป็นสองข้าง ผ่านมา 4 ปีแล้วยังไม่มีการเลือกตั้ง โดยตอนท้ายใส่ประโยคว่า "การแบ่งแยกประชาชน คือไม้ตายของอำนาจรัฐที่ฝักใฝ่เผด็จการ เมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น อำนาจทั้งหมดของประชาชนจะถูกพรากจากไป ด้วยความระลึกถึงทุกชีวิตที่ตกเป็นเหยื่อจากอาชญากรรมโดยรัฐ ทุกเหตุการณ์"
          กลุ่ม Rap Against Dictatorship ให้สัมภาษณ์กับ วอยซ์ออนไลน์ สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายนายทักษิณ ชินวัตร ว่า เพลงนี้มีแรปเปอร์ 10 คนร่วมกันเขียนเนื้อร้อง ธีมหลักคือต่อต้านเผด็จการ แล้วพูดถึงว่าประเทศมีอะไรในสายตาของแรปเปอร์แต่ละคน และอ้างว่าตั้งใจรวบรวมคนที่คิดไม่เหมือนกันเข้ามาอยู่ในเพลงนี้ ซึ่งมีจุดร่วมกันคือไม่เอาเผด็จการ โดยกลุ่ม Rap Against Dictatorship เป็นโปรเจ็กต์ที่อยากให้คนพูดเพลงการเมืองเข้ามาร่วมงาน ซึ่งซิงเกิลต่อไปอาจจะมีศิลปินหมุนเวียนมา
          ส่วนที่ถามว่า เพลงนี้สุดโต่งไปหรือไม่ พวกเขากล่าวว่า ไม่ได้สุดโต่งขนาดนั้น อ้างว่าประนีประนอมอย่างมากแล้ว โดยตั้งเป้าไม่ได้ต้องการเป็นศัตรูประชาชนด้วยกันเอง แต่พูดถึงอำนาจรัฐเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นคนฝั่งไหน และอ้างว่าคนที่มองว่าสุดโต่งนั้นกลัวเกินเหตุ มั่นใจว่าเพลงนี้ไม่มีอะไรเกินกว่ากฎหมาย เท่ากับว่าคนในประเทศนี้ถูกจัดตั้งให้เกิดความรู้สึกบางอย่างที่ไม่ปกติ ส่วนอำนาจรัฐจะมองว่าสุดโต่งหรือไม่ก็ช่างเขา เนื้อหาในเพลงใครเขาก็ด่ากัน แต่ถ้าเอาเนื้อหาแต่ละคนไปค้นหา จะพบว่ามีทุกประเด็นที่คนพูดถึงไปหมดแล้ว
       "ที่ใช้เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นพื้นหลังในเพลง มันสะท้อนภาพชัดที่สุดแล้วในสภาวะที่องค์กรของรัฐเข้ามาสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชน ก็เกิดการแบ่งฝ่ายที่หนักมากกว่ายุคนี้ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ  ก็อาจจะเกิดแบบนั้นขึ้นก็ได้ จึงเลือกจุดที่มันหนักที่สุดขึ้นมา ภาพมันจะได้ชัดว่ามันคือจุดที่คนถูกรัฐทำให้แตกแยกจากกัน พอคนมันฟาดกันเองในระดับนั้น รัฐก็เข้ามาฉวยโอกาส ตอนนั้นมันก็เป็นเผด็จการฝ่ายขวาแบบคลาสสิกเต็มตัวแบบที่ขวาที่สุดเท่ากับที่บ้านเราเคยมี" ตัวแทนกลุ่ม Rap Against Dictatorship ระบุ.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"