‘รมต.กอบศักดิ์’ มอบบ้านมั่นคง ต.ดงขี้เหล็ก จ.ปราจีนบุรี 47 หลัง ดัน พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชน-ป่าไม้ ฯลฯ หนุนชุมชนเข้มแข็ง


เพิ่มเพื่อน    

 

ปราจีนบุรี : ‘กอบศักดิ์  ภูตระกูล’  รมต.สำนักนายกฯ เยี่ยมชุมชนต้นแบบ ‘ตำบลดงขี้เหล็ก’ จ.ปราจีนบุรี  จัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์มีเงินกว่า 103 ล้านบาท  นำเงินไปช่วยสมาชิกไถ่ถอนโฉนด  ปลดหนี้  ซื้อที่ดินสร้างบ้านให้ผู้เดือดร้อน  โดย รมต.กอบศักดิ์เป็นประธานมอบบ้านมั่นคงให้ชาวบ้าน 47 หลัง  เผยผลักดัน พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชนเพื่อปลดล็อคให้กลุ่มองค์กรการเงินของชาวบ้านมีสถานะเป็นนิติบุคคลและถูกกฎหมาย  นอกจากนี้ยังร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ เช่น  ป่าชุมชน  ธนาคารป่าไม้  ฯลฯ  เตรียมเสนอ สนช.พิจารณาให้ทันรัฐบาลชุดนี้  เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งตนเองได้

วันนี้ (27 ตุลาคม 2561)  ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้เดินทางมาเยี่ยมชมชุมชนต้นแบบที่ตำบลดงขี้เหล็ก  อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี  ซึ่งมีความโดดเด่นเรื่องการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  มีสมาชิกกว่า 2,700  คน  มีเงินหมุนเวียนกว่า 103  ล้านบาท  และนำเงินกองทุนมาช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ  เช่น  ไถ่ถอนโฉนดที่ดิน  ซื้อที่ดินเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัย  ฯลฯ  โดยมีนายพิบูลย์  หัตถกิจโกศล ผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี  นางสาวพรรณทิพย์  เพชรมาก  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ  ผู้นำชุมชน  และเครือข่ายขบวนองค์กรชุมชนจังหวัดต่างๆ  ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรมเนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลกประมาณ  200 คน

 

 

นายบุญศรี  จันทร์ชัย  ประธานอำนวยการสถาบันการเงินกลุ่มออมทรัพย์  กล่าวว่า  ตำบลดงขี้เหล็กมี 14 หมู่บ้าน  มีประชากรประมาณ 9,400  คน  สภาพเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่มีปัญหาหนี้สินจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว  คือ  ปลูกไผ่ตง  แต่เกิดปัญหาโรคระบาด  จึงต้องกู้ยืมเงินกู้นอกระบบ  ต่อมาในปี 2524 จึงเริ่มก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์มีเป้าหมายเพื่อสร้างแหล่งทุนในชุมชน  โดยการร่วมกันออมเงินเพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพและแก้หนี้นอกระบบ   เริ่มจากการออมเงินคนละ 10 -100  บาทต่อเดือน  เมื่อมีเงินมากขึ้นจึงนำเงินมาให้สมาชิกกู้ยืมคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 บาทต่อเดือน   ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 2,747 คน   มีเงินกองทุนหมุนเวียนทั้งหมดประมาณ 103 ล้านบาทเศษ  สมาชิกสามารถฝากเงินได้สูงสุดไม่เกินเดือนละ 5,000 บาท  และฝากประจำ 12  เดือนได้สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท  ดอกเบี้ย 2 % ต่อปี

“สำหรับสมาชิกที่เดือดร้อนด้านที่ดินที่อยู่อาศัย  เช่น  ที่ดินทำกินกำลังจะหลุดมือจากการจำนองที่ดินกับธนาคาร หรือเจ้าหนี้นอกระบบ   สถาบันการเงินฯ จะนำเงินไปไถ่ถอนและรับจำนองที่ดินแทน  โดยให้สมาชิกผ่อนรายเดือนได้ตามกำลังความสามารถและเสียดอกเบี้ยต่ำ  ที่ผ่านมาช่วยเหลือสมาชิกไปแล้ว  363 คน  รวมกว่า 100 โฉนด  เป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท”  นายบุญศรียกตัวอย่างการช่วยเหลือสมาชิก

นอกจากนี้ยังช่วยเหลือสมาชิกที่ขาดแคลนที่อยู่อาศัย  ไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง  โดยในปี 2558  สถาบันการเงินฯ ได้ซื้อที่ดินในตำบลเนื้อที่ 5 ไร่เศษ  ราคา 2.1 ล้านบาทเศษ  นำมาจัดสรรให้สมาชิกได้ 47 ครอบครัวๆ ละ 25 ตารางวา  เพื่อปลูกสร้างบ้านตามโครงการบ้านมั่นคงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) หรือ ‘พอช.’ เริ่มสร้างบ้านในปี 2561  โดย พอช.สนับสนุนงบประมาณสร้างบ้านรวม 1.8 ล้านบาท (ครัวเรือนละ 40,000 บาท)  งบสาธารณูปโภค 1.1 ล้านบาท  และงบบริหารจัดการ 3 แสนบาทเศษ  ขณะนี้มีผู้เข้าอยู่อาศัยแล้ว 8 ครอบครัว  ส่วนที่เหลือกำลังก่อสร้าง

 

 

ดร.กอบศักดิ์  ภูตระกูล  รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า  ตำบลดงขี้เหล็กถือเป็นต้นแบบในการพัฒนาชุมชนที่ชุมชนลุกขึ้นมาดำเนินการเอง  โดยมีสถาบันการเงินชุมชนเป็นของตนเอง  เพื่อปลดหนี้นอกระบบ  ปัจจุบันมีเงินกว่า  100 ล้านบาท  และนำเงินมาช่วยเหลือสมาชิกในด้านต่างๆ  ขณะที่ชุมชนอื่นๆ  ก็มีกองทุนในระดับหลายสิบล้านบาทเหมือนกัน  แต่กลุ่มองค์กรหรือสถาบันการเงินต่างๆ เหล่านี้  ปัจจุบันยังไม่มีสถานะเป็นนิติบุคคล  และยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย  การทำนิติกรรมต่างๆ  เช่น  ซื้อที่ดิน  ซื้ออาคาร  จึงใช้ชื่อคณะกรรมการเป็นเจ้าของ  ทำให้มีปัญหาในการบริหารจัดการ  รัฐบาลจึงได้ร่าง พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชนขึ้นมาเพื่อสนับสนุนภาคประชาชน

“ขณะนี้มีสถาบันการเงินชุมชนทั่วประเทศแล้วประมาณ 30,000 แห่ง  แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือยังทำไม่ถูกกฎหมายและไม่ได้รับการรองรับจากทางรัฐบาล  เช่น  เมื่อซื้อที่ดิน  ซื้ออาคารเป็นของสถาบันการเงินชุมชนของตนเองแล้ว  แต่เมื่อสถาบันการเงินไม่ได้เป็นนิติบุคคล  ไม่ได้รับรองทางกฎหมาย  ต้องใช้ชื่อกรรมการเป็นผู้ถือครอง  ทำให้ประชาชนเริ่มกังวลใจว่าที่ดินเหล่านั้นเป็นของใคร  แม้กระทั่งการปล่อยสินเชื่อและการเอาที่ดินมาค้ำประกัน  ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการบริหารจัดการขึ้นมา  เกิดความไม่โปร่งใส  สิ่งที่ดีๆ ก็เลยเดินต่อไปไม่ได้   รัฐบาลจึงจัดทำ พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชนขึ้นมาเพื่อปลดล็อกสิ่งที่พี่น้องประชาชนทำให้สำเร็จ  ซึ่งอีกไม่นาน พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็จะผ่านกฏษฏีกาและเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ต่อไป”  ดร.กอบศักดิ์กล่าว

 

 

นอกจาก พ.ร.บ.สถาบันการเงินชุมชนแล้ว  ดร.กอบศักดิ์กล่าวว่า  ยังมี พ.ร.บ.อีกหลายฉบับที่รัฐบาลกำลังร่างและนำมาใช้เพื่อให้ทันรัฐบาลชุดนี้  เช่น  พ.ร.บ.ป่าชุมชน  เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนสามารถเข้าไปดูแลป่าไม้และใช้ประโยชน์ได้  เนื่องจากเดิมยังทำไม่ถูกกฎหมาย  แต่ พ.ร.บ.นี้จะทำให้พี่น้องประชาชนทั่วประเทศกว่า 20,000  แห่งดูแลและใช้ประโยชน์จากป่าชุมชนได้, พ.ร.บ.ธนาคารต้นไม้  เพื่อให้ประชาชนที่ปลูกไม้หวงห้ามต่างๆ ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์  เช่น  สัก  ยางนา  เต็ง  ประดู่  สามารถตัดและนำไปขาย  รวมทั้งยังใช้เป็นสินทรัพย์และค้ำประกันเงินกู้ได้, พ.ร.บ.สวัสดิการชุมชน  เพื่อสนับสนุนให้ชุมชนจัดสวัสดิการช่วยเหลือกันเองและรัฐร่วมสมทบเงินหรือสนับสนุน  ฯลฯ  ซึ่ง พ.ร.บ.ต่างๆ นี้จะช่วยสนับสนุนให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนตลอดไป

ทั้งนี้ในการร่วมกิจกรรม’วันที่อยู่อาศัยโลก’ ซึ่งทางสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนฯ ร่วมกับเครือข่ายองค์กรชุมชนจัดงานขึ้นที่ตำบลดงขี้เหล็ก  อ.เมือง  จ.ปราจีนบุรี  ดร.กอบศักดิ์ได้เป็นประธานในการมอบบ้านมั่นคงให้แก่ชาวบ้าน ต.ดงขี้เหล็ก รวม 47 ครอบครัว  และมอบงบประมาณสนับสนุนต่างๆ ให้แก่ชาวบ้านด้วย

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"