ไทยทำได้ !นักวิจัยมทส.พัฒนานวัตกรรม 'ซีเมนต์แบบฉีด' ทดแทนกระดูก


เพิ่มเพื่อน    

ทึ่งนักวิจัย มทส.โคราช พัฒนาวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดทดแทนกระดูกสำเร็จ เผยคุณสมบัติเด่นทางเคมีคล้ายกับกระดูกของมนุษย์ สามารถสลายได้ในร่างกาย ช่วยเสริมการเกาะของเซลล์กระดูกทำให้เนื้อเยื่อกระดูกใหม่เจริญเติบโตได้ดี มีความปลอดภัยต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต ขึ้นรูปได้ตามต้องการ อีกทั้งใช้วัตถุดิบในประเทศช่วยลดการนำเข้าและต้นทุนต่ำ มุ่งขยายโอกาสในการรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึง 

1 พ.ย.61 - รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เปิดเผยถึงผลงานวิจัยนวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก ณ ห้องประชุมสารนิเทศ อาคารบริหาร มทส. ว่า ผลงานวิจัยวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูกเป็นการพัฒนาโดย รศ.ดร.ศิริรัตน์ ทับสูงเนิน รัตนจันทร์ หัวหน้าสาขาวิชาวิศวกรรมเซรามิก สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วย นพ.บุระ สินธุภากร หัวหน้าสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส.

รศ.ดร.ศิริรัตน์ เปิดเผยถึง ผลงานวิจัย “นวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก” ว่า เป็นงานวิจัยภายใต้โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ซึ่งได้พัฒนาวัสดุทดแทนกระดูกที่มีคุณสมบัติคล้ายซีเมนต์ที่สามารถขึ้นรูปได้โดยการปั้นหรือการฉีดผ่านเข็มฉีดยาขนาดเล็ก โดยใช้เวลาในการศึกษาวิจัยมากว่า 10 ปี (พ.ศ. 2552 -2561)

ทั้งนี้ “ซีเมนต์กระดูก” ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่นี้มีมีองค์ประกอบทางเคมีคล้ายกับกระดูกของมนุษย์ (Calcium phosphate) สามารถสลายตัวได้ในร่างกาย ก่อตัวได้เองในสภาวะปกติของร่างกาย ไม่เกิดความร้อนในขณะก่อตัว สามารถนำเข้าร่างกายผ่านเข็มฉีดยาเพื่อรักษาบริเวณที่เป็นโพรงหรือบริเวณที่แคบ ช่วยส่งเสริมการเกาะของเซลล์กระดูก โดยการสลายตัวที่เกิดขึ้นจะเป็นไปอย่างช้าๆและให้รูพรุนที่เป็นโครงสร้าง (Scaffold) ให้เซลล์กระดูก เลือดและของเหลวในร่างกายเข้าไปภายใน ช่วยให้เนื้อเยื่อกระดูกใหม่เจริญเติบโตได้ดี มีความปลอดภัยต่อเซลล์สิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ ยังประกอบด้วยส่วนเสริมแรงจากเส้นใยพอลิเมอร์ธรรมชาติที่สามารถย่อยสลายได้ (Biodegradation) ทำให้เกิดความแข็งแรงเพียงพอในระหว่างที่เนื้อซีเมนต์บางส่วนสลายตัวไป

จุดเด่นอีกด้านของผลงานนวัตกรรม “ซีเมนต์กระดูก” คือ สามารถก่อตัวได้ที่อุณหภูมิห้อง จึงสามารถปั้นหรือขึ้นรูปให้มีรูปร่างตามต้องการได้ และสามารถพัฒนาต่อยอดนำมาขึ้นรูปที่ซับซ้อนแบบสามมิติ (3D printing) โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยออกแบบ จึงเหมาะสำหรับการทำกระดูกที่มีความซับซ้อนของผู้ป่วย โดยวัตถุดิบที่ใช้ในงานวิจัยผลิตในประเทศทั้งหมด ทำให้มีต้นทุนต่ำสามารถลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และมีโอกาสต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้มาก

ด้าน นพ.บุระ สินธุภากร หัวหน้าสาขาวิชาออร์โธปิดิกส์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ มทส. เปิดเผยถึงการใช้ซีเมนต์กระดูกในการรักษาผู้ป่วยในปัจจุบันว่า โดยทั่วไปแพทย์จะใช้ซีเมนต์กระดูกเพื่อการเสริมความแข็งแรงของกระดูกในตำแหน่งใกล้ข้อ เพื่อช่วยเร่งการสร้างกระดูกในกรณีกระดูกหักหรือกระดูกติดช้า ช่วยถมตำแหน่งที่มีการขาดหายไปของกระดูก ตัวอย่างเช่นที่แพทย์แนะนำให้ผู้ป่วยใช้การรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์กระดูกในกระดูกสันหลัง หรือวิธี Vertebroplasty ในผู้ป่วยที่มีกระดูกสันหลังหักหรือทรุด กระดูกสันหลังผิดรูป หรือที่เกิดจากกระดูกสันหลังหักจากภาวะกระดูกพรุน รวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บทางกระดูกสันหลังโดยแพทย์จะกรีดผิวหนังบริเวณสันหลังเป็นรอยเล็กๆ เพื่อใส่เข็มที่จะฉีดซีเมนต์บริเวณกระดูกสันหลังภายใต้การควบคุมตำแหน่งโดยเครื่องถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ เมื่อฉีดซีเมนต์เรียบร้อยแล้ว แพทย์จะค่อยๆ ดึงเข็มออกและปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ ทั้งหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงต่อกระดูกสันหลัง 1 ชิ้น

ข้อดีของการรักษาด้วยวิธี Vertebroplasty คือ ลดระยะเวลาในการพักฟื้น โดยทั่วไปผู้ป่วยจะนอนพักในโรงพยาบาลเพียง 1 คืนเท่านั้น และลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในขณะที่รักษาโรคกระดูกพรุน โดยสารทดแทนกระดูกที่ใช้ในปัจจุบันซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ มีราคาอยู่ที่ 0.5 ซีซี ราคาโดยประมาณ 12,000 บาท

"หากใช้วัตถุดิบที่สามารถผลิตในประเทศไทยโดยฝีมือคนไทยจะสามารถลดต้นทุนการนำเข้า และขยายโอกาสในการรักษาผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึง หากงานวิจัยนวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดเพื่อทดแทนกระดูก ได้ถูกบรรจุเข้าบัญชีนวัตกรรมไทยมีความเป็นไปได้สูงที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ ซึ่งเป็นโครงการที่ทีมวิจัยจะได้ทำการศึกษาและพัฒนาต่อในอนาคต” นพ.บุระ กล่าว

รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มทส. กล่าวว่า ผลงานวิจัยนวัตกรรมซีเมนต์แบบฉีดทดแทนกระดูก ของนักวิจัยดังกล่าว เป็นผลงานนวัตกรรมที่น่าภาคภูมิใจ ทีมนักวิจัยของมหาวิทยาลัยได้คิดค้นขึ้นด้วยหลักทางวิชาการ และนำมาประยุกต์ใช้ได้จริงเกิดประโยชน์สู่ชุมชน สังคม และประเทศชาติ ตามนโยบายการบริหารงานมหาวิทยาลัย ที่ว่า “เราจะเป็นมหาวิทยาลัยที่สร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศ โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม” เป็นการบูรณาการองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ผสานเข้ากับทางการแพทย์ บนพื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ออกมาเป็นผลงานนวัตกรรมซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้านกระดูก ผู้สูงวัยที่ประสบปัญหาด้านกระดูกและตอบโจทก์ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน และสอดรับได้เป็นอย่างดีกับนโยบายสนับสนุนนักวิจัยในการสร้างสรรค์และพัฒนาผลงานวิจัยที่ตอบโจทก์และแก้ปัญหาของประเทศได้จริงของมหาวิทยาลัย


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"