กำหนดยิบยื่นบัญชีทรัพย์สิน


เพิ่มเพื่อน    

    “วัชรพล” ออกประกาศ ป.ป.ช.รวดเดียว 6 ฉบับ ว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน มีผลบังคับใช้ต้นเดือนธันวาคม กำหนดยิบเก้าอี้ที่ต้องแสดงฐานะ ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีถึงนายก อบต. องค์กรอิสระทุกองคาพยพไม่รอด “สสส.-ททบ.5-ไทยพีบีเอส-กสทช.-มหา’ลัยสงฆ์” ตำรวจตั้งแต่ ผบก.ขึ้นไป ข้าราชการตั้งแต่รองอธิบดี พร้อมตีเส้นหากชี้มูลปกปิดบัญชียื่นศาลฟันไม่เกิน 30 วัน พ่วงดัดหลังกรณีสามี-ภริยาหย่าแก้เกี้ยว
    เมื่อวันพฤหัสบดี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกระเบียบและประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.รวดเดียวลงในราชกิจจานุเบกษา 6 ฉบับเกี่ยวกับเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ประกอบด้วย ระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยการยื่นบัญชี การตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 158 และการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการยื่นบัญชี พ.ศ.2561, ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรส พ.ศ.2561, ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 พ.ศ.2561, ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (9) พ.ศ.2561, ประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 พ.ศ.2561 และประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2561 
สำหรับระเบียบคณะกรรมการ ป.ป.ช.ว่าด้วยการยื่นบัญชีฯ มีทั้งสิ้น 10 หน้า 39 ข้อ โดยจะมีผลบังคับใช้ 30 วันหลังจากวันที่ 1 พ.ย. ซึ่งหมวด 1 ได้กำหนดเรื่องการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน โดยเฉพาะข้อ 7 ที่ระบุว่า “ให้ผู้ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของตน คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ตามที่มีอยู่จริงในวันที่เข้ารับตำแหน่งและพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และทุกสามปีตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ โดยคู่สมรสให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสด้วย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนด”
    “การยื่นบัญชีฯ ในกรณีเข้ารับตำแหน่งให้ยื่นภายใน 30 วันนับแต่วันถัดจากวันเข้ารับตำแหน่ง กรณีพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ และกรณีทุก 3 ปีตลอดเวลาที่ยังดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้ยื่นภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันดำรงตำแหน่งครบทุก 3 ปี ส่วนกรณีมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้มีผลย้อนหลัง หรือกรณีคำสั่งแต่งตั้งให้มีผลย้อนหลัง ให้ยื่นบัญชีฯ ภายใน 60 วันนับแต่วันถัดจากวันที่มีพระบรมราชโองการ หรือวันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง” ข้อ 9 ของระเบียบกำหนดไว้
นิยาม"สามี-ภริยา"
    ระเบียบดังกล่าวยังมีกำหนดถึงกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติจงใจไม่ยื่นบัญชีฯ หรือยื่นบัญชีอันเป็นเท็จหรือจงใจปกปิดข้อเท็จจริงว่า ให้ผู้ตรวจสอบทรัพย์สินหรือผู้ที่ ป.ป.ช.มอบหมายส่งเรื่องให้อัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองโดยเร็ว แต่ต้องไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้ระเบียบยังมีบทเฉพาะกาลกำหนดว่า ในวาระแรกให้ผู้ยื่นบัญชีฯ ภายใน 60 วันหลังระเบียบมีผลบังคับใช้
    สำหรับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องหลักเกณฑ์ของผู้ซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาฯ นั้น มีเนื้อหาเพียง 1 หน้า จำนวน 4 ข้อ และให้มีผลบังคับใช้ 30 วันหลังจากวันที่ 1 พ.ย.เช่นกัน โดยเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ที่ข้อ 3 ที่นิยามคำว่า สามี-ภริยา ซึ่งระบุว่า ได้ทำพิธีมงคลสมรสหรือพิธีอื่นใดในทำนองเดียวกันกับเจ้าพนักงานของรัฐ โดยมีบุคคลในครอบครัวหรือบุคคลภายนอกรับทราบว่าเป็นการอยู่กินเป็นสามีภริยากันตามประเพณี, เจ้าพนักงานของรัฐแสดงให้ปรากฏว่ามีสถานะเป็นสามีภริยากัน หรือมีพฤติการณ์เป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะดังกล่าว และให้หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งจดทะเบียนสมรสกับเจ้าพนักงานของรัฐและต่อมาได้จดทะเบียนหย่าขาดจากกันตามกฎหมาย แต่ยังแสดงให้ปรากฏหรือมีพฤติการณ์ซึ่งเป็นที่รับรู้ของสังคมทั่วไปว่ามีสถานะเป็นสามีหรือภริยากันด้วย
    สำหรับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 นั้น มีทั้งสิ้น 17 หน้า จำนวน 7 ข้อ ซึ่งเนื้อหาที่น่าสนใจคือ ข้อ 4 ที่กำหนดให้ผู้ต้องยื่นบัญชีฯ ซึ่งได้แบ่งย่อยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อาทิ นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรี, สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.), สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.), ที่ปรึกษานายกฯ, เลขาธิการนายกฯ, โฆษกประจำสำนักนายกฯ, ที่ปรึกษาประธานรัฐสภา, โฆษก ส.ส., โฆษก ส.ว. และโฆษกผู้นำฝ่ายค้านฯ เป็นต้น
    นอกจากนั้นยังกำหนดให้ตุลาการรัฐธรรมนูญ, ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน, ข้าราชการตุลาการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ตั้งแต่อธิบดีผู้พิพากษา รวมทั้งตำแหน่งเทียบเท่าขึ้นไป, ข้าราชการตุลาการศาลปกครองตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองซึ่งดำรงตำแหน่งตั้งแต่อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นและเทียบเท่าขึ้นไป, ข้าราชการอัยการ ตั้งแต่อธิบดีอัยการขึ้นไป 
    ส่วนผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงที่กำหนดให้ยื่นบัญชีฯ มีทั้งหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง ทบวง กรม, หัวหน้าส่วนราชการที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล, ข้าราชการทหารตั้งแต่ปลัดกระทรวงกลาโหม, ผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้บัญชาการเหล่าทัพ, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้ว่าราชการจังหวัด, ปลัดกรุงเทพมหานคร, กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ, หัวหน้าหน่วยงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ, เลขาธิการ กกต., เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน, เลขาธิการ ป.ป.ช., เลขาธิการ กสม. 
    กรรมการและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอื่นของรัฐ ซึ่งจะเป็นกรณีกองทุนต่างๆ โดยประธาน, กรรมการ, เลขาธิการ, ผู้จัดการ และบอร์ดจะต้องยื่นบัญชีฯ อาทิ  กองทุนการออมแห่งชาติ, กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนประกันชีวิต, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์, กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร, กองทุนยุติธรรม, กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย, ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย, สถาบันคุ้มครองเงินฝาก และสถาบันพระปกเกล้า
มหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ไม่รอด
    ส่วนสถาบันอุดมศึกษาในกำกับของรัฐก็ต้องยื่นเช่นกัน โดยเฉพาะอธิการบดี นายกสภามหาวิทยาลัยและกรรมการสภามหาวิทยาลัย ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, มหามกุฏราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา รวมถึงองค์การมหาชนที่ประธาน, กรรมการ ผู้อำนวยการและผู้จัดการต้องยื่นบัญชีฯ อาทิ กองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.), กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ, คุรุสภา, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.), สถาบันอนุญาโตตุลาการ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, โรงพยาบาลบ้านแพ้ว และศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
    นอกจากนั้นยังให้ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในตำแหน่งอื่นๆ ต้องยื่นอีก ทั้งประธานกรรมการ กรรมการ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.), องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส), สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เป็นต้น
    ส่วนประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่องกำหนดตำแหน่งของเจ้าพนักงานของรัฐซึ่งจะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 103 พ.ศ.2561 นั้น มีทั้งสิ้น 21 หน้า จำนวน 6 ข้อ และมีผลบังคับใช้ 30 วันนับจากวันที่ 1 พ.ย.เช่นกัน ซึ่งประกาศฉบับนี้เป็นความต่อเนื่องจากสำหรับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.กำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 โดยเนื้อหาที่น่าสนใจอยู่ที่ข้อ 4 ที่ให้เจ้าพนักงานของรัฐยื่นบัญชีฯ ซึ่งเป็นการลงรายละเอียดยิบตั้งแต่ในส่วนของศาลยุติธรรม, อสส., กระทรวงต่างๆ ที่ให้ตั้งแต่ระดับรองอธิบดี, รองผู้อำนวยการ, รองเลขาธิการขึ้นไป, กองทัพต่างๆ ตั้งแต่รองผู้บัญชาการเหล่าทัพ, เสนาธิการ, ผู้ช่วย, เจ้ากรม หรือแม้แต่กรรมการผู้อำนวยการ ททบ.5 และระดับรองผู้อำนวยก็ต้องยื่นบัญชี ขณะที่ส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ให้ยื่นบัญชี ตั้งแต่จเรตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการ, รอง ผบช. และผู้บังคับการ รวมทั้งในส่วนของ กทม.นั้นก็ตั้งแต่รองปลัด กทม.และผู้อำนวยการสำนักฯ ต้องยื่น
    สำหรับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102 (9) พ.ศ.2561 นั้น มี 3 หน้า โดยมีผลบังคับใช้เหมือนประกาศก่อนหน้าเช่นกัน ซึ่งเป็นกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ทั้ง กทม., เมืองพัทยา, องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่ไล่มาตั้งแต่นายกฯ อบจ., รองนายกฯ อบจ., ที่ปรึกษาและเลขานุการนายกฯ อบจ. และสมาชิกสภา อบจ., เทศบาลนคร, เทศบาลเมือง, เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 
    ส่วนฉบับสุดท้ายประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช.เรื่อง กำหนดตำแหน่งของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ.2561 นั้น มีเนื้อหาเพียง 2 หน้า จำนวน 4 ข้อ ที่มีผลบังคับใช้ 30 วันหลังจากวันที่ 1 พ.ย.เช่นกัน ซึ่งมีเนื้อหาที่ใกล้เคียงกับประกาศก่อนหน้า โดยเป็นการกำหนดในกรณีผู้บริหารท้องถิ่นตั้งแต่ระดับ กทม.จนถึง อบต.เช่นกัน.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"