เงินเฟ้อพุ่ง1.23% เหตุนํ้ามันแพงขึ้น ดัชนีทำธุรกิจร่วง


เพิ่มเพื่อน    

    “พาณิชย์” เผยเงินเฟ้อเดือน ต.ค.เพิ่มขึ้น 1.23% ในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 2 แต่ยังขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน สาเหตุหลักจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นเดือนที่ 23 ติดต่อกัน   และอาหารสำเร็จรูปและเคหสถานเพิ่มขึ้น เวิลด์แบงก์เผยผลจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจปี 62 ร่วง 1 อันดับมาอยู่ที่ 27 จากปีก่อนอยู่ที่ 26 จากทั้งหมด 190 ประเทศ สวนทางคะแนน EODB เพิ่ม 
    เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (เงินเฟ้อ) เดือน ต.ค.2561 เท่ากับ 102.63 เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2561 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.2560 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงเป็นเดือนที่ 2 จาก 1.33% ในเดือน ก.ย.2561 แต่ก็ยังเป็นการขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 ติดต่อกัน ส่วนเงินเฟ้อรวม 10 เดือนของปี 2561 (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 1.15%
    สาเหตุที่ทำให้เงินเฟ้อเดือน ต.ค.2561 เพิ่มสูงขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของราคาในหมวดพลังงาน โดยเพิ่มขึ้น 8.11% เพิ่มต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 23 และยังมีการเพิ่มขึ้นของอาหารสำเร็จรูปในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล และหมวดเคหสถาน เช่น ค่าเช่าบ้าน หอพัก เพิ่มจากการขึ้นราคาของเจ้าของเพื่อทดแทนการที่รัฐบาลให้เก็บค่าน้ำค่าไฟตามจริง แต่หมวดอาหารสด ลดลง 1.48% ตามการเพิ่มขึ้นของผลผลิตภาคการเกษตร และการชะลอตัวลงของหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ที่การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตไม่ได้ส่งผลต่อราคาแล้ว
    สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อที่สูงขึ้น มาจากดัชนีหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 1.79% สินค้าสำคัญที่ราคาแพงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่ม 11.98%, ค่าเคหสถาน เพิ่ม 0.59%, หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า เพิ่ม 0.47% ส่วนหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.41% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 0.26% สินค้าที่ราคาแพงขึ้น เช่น ข้าวแป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง เพิ่ม 4.87%, อาหารบริโภคนอกบ้านเพิ่ม 2.15% ในบ้านเพิ่ม 0.94%, เครื่องประกอบอาหาร เพิ่ม 2.06%, เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่ม 1.77% ส่วนผักและผลไม้ ลด 8.33%
     สำหรับเงินเฟ้อทั้งปี 2561 คาดว่าจะอยู่ในกรอบที่ตั้งไว้ 0.8-1.6% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 1.25% แต่จากการประเมินเงินเฟ้อไตรมาส 4 ที่มีแนวโน้มขยายตัวในกรอบ 1.28-1.5% ทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อน่าจะเพิ่มขึ้น 1.17-1.21% ต่ำกว่าค่ากลางเล็กน้อย โดยมีสมมติฐานมาจากอัตราขยายตัวเศรษฐกิจ 4.2-4.7% น้ำมันดิบตลาดดูไบ 68-73 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 32-34 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาสินค้าเกษตรลดลง 6.5-7.5% การบริโภคภาคเอกชนเพิ่ม 4.1% และการส่งออกเพิ่มกว่า 8%
    ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (เงินเฟ้อพื้นฐาน) เดือน ต.ค.2561 ที่หักสินค้าอาหารสดและพลังงานออก เท่ากับ 102.29 เพิ่มขึ้น 0.04% เทียบกับ ก.ย.2561 เพิ่มขึ้น 0.75% เมื่อเทียบกับ ต.ค.2560 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน 10 เดือน เพิ่มขึ้น 0.72% 
    ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ได้เผยแพร่รายงานอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) ของประเทศทั่วโลกประจำปี 2562 โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ ด้วยคะแนน Ease of Doing Business Score (EODB) รวมทุกด้าน 78.45 คะแนน เพิ่มขึ้น 1.06 คะแนน แต่อันดับลดลง 1 ขั้น จากอันดับ 26 ในปี 2561
     นางมารา วาร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ เปิดเผยว่า การจัดอันดับนั้นเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และทำให้เกิดการแข่งขัน โดยนำไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ถึงแม้ประเทศไทยจะทำดีขึ้น แต่ประเทศอื่นๆ ก็ทำดีขึ้นเช่นกัน และเชื่อว่ารัฐบาลพยายามที่จะเดินหน้าปฏิรูปประเทศอย่างเข้มแข็งกันต่อไป
     “หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ พบว่าด้านการขอเริ่มต้นธุรกิจของไทย ถ้าเป็นเมื่อ 16 ปีก่อน จะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แต่ขณะนี้ลดลงเหลือ 7 วัน แต่นิวซีแลนด์ใช้เวลาแค่ครึ่งวัน ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลายของไทยใช้เวลา 1 ปีครึ่ง มาเลเซีย 1 ปี และมองโกเลีย 4 ปี เป็นต้น ซึ่งการจัดอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจนี้ จะเป็นเครื่องมือที่ผู้บริหารประเทศจะนำไปใช้ในการกำหนดนโยบายต่อไป” นางมารากล่าว
    ทั้งนี้ นิวซีแลนด์ ได้อันดับ 1 ในรายงาน Doing Business ประจำปีนี้ ตามมาด้วย สิงคโปร์, เดนมาร์ก, ฮ่องกง และเกาหลีใต้ ส่วนสหรัฐ อยู่ที่อันดับ 8 ลดลงจากอันดับ 6 ในปีที่แล้ว ส่วนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น สิงคโปร์ได้อันดับ 2 จากการสำรวจประเทศทั่วโลก ไม่เปลี่ยนแปลงจากปีก่อน ขณะที่มาเลเซียอยู่ที่อันดับที่ 15 เพิ่มขึ้น 9 อันดับ, ไทยอันดับที่ 27 ลดลง 1 อันดับ, บูรไนอันดับที่ 55 เพิ่มขึ้น 1 อันดับ, เวียดนามอันดับที่ 69 ลดลง 1 อันดับ, อินโดนีเซียอันดับที่ 73 ลดลง 1 อันดับ, ฟิลิปปินส์อันดับที่ 124 ลดลง 11 อันดับ, กัมพูชาอันดับ 138 ลดลง 3 อันดับ, สปป.ลาวอันดับที่ 154 ลดลง 13 อันดับ และเมียนมาอันดับที่ 171 ไม่เปลี่ยนแปลง.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"