ฟื้นเขาหัวโล้นอุทยานฯ ศรีน่าน นำร่อง 'บ้านห้วยเลา' ตามศาสตร์พระราชา


เพิ่มเพื่อน    

พื้นที่กสิกรรมนำร่องของวริศรา จันธี ในอุทยานฯ ศรีน่าน จ.น่าน  

 

     6 แสนไร่ของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่าน ยังเผชิญปัญหาชาวบ้านใช้ประโยชน์ทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งนี้ถึง 12,000 ไร่ การแผ้วถางรุกล้ำผืนป่าเพื่อทำเกษตรปลูกข้าวโพดยังมีอยู่ กลายเป็นพื้นที่เขาหัวโล้น อย่างไรก็ตาม มีความพยายามร่วมด้วยช่วยกันแก้ไขและฟื้นฟูป่าเมืองน่านให้กลับมาสมบูรณ์เหมือนอดีต รวมถึงขยายแนวคิดเปลี่ยนผู้บุกรุกเป็นผู้พิทักษ์ป่า

      เมื่อบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จับมือสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน จัดกิจกรรม "เอามื้อสามัคคี" ครั้งที่ 4 ในโครงการ "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน" ปี 6 ณ อุทยานฯ ศรีน่าน บ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย ถ่ายทอดตัวอย่างการประสบความสำเร็จผ่านพื้นที่กสิกรรมนำร่องของวริศรา จันธี ขนาด 6 ไร่ 2 งานในเขตอุทยานฯ มีทั้งป่า สวนผลไม้ นา หนองน้ำ ไม่นานพื้นที่นี้จะเขียวขจี มีผลผลิตให้พึ่งพาตนเองได้ และเตรียมขยายผลไปยังชาวบ้านที่สนใจในหมู่บ้าน

 

การออกแบบพื้นที่ มีป่า สวน โคก นา หนองน้ำ ตามศาสตร์พระราชา

     

     แรงกายแรงใจของกลุ่มที่เข้าร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีครั้งนี้รวม 600 คน ทั้งพนักงานและผู้บริหารเชฟรอน เครือข่ายโคกหนองนาทีมศรีน่าน กลุ่มชุมชนต้นน้ำน่าน กลุ่มนักศึกษาจาก ม.แม่โจ้ แพร่ กลุ่มเครือข่ายสระบุรี เครือข่ายฟื้นฟูป่าสัก เครือข่ายลุ่มน้ำบางปะกง ฉะเชิงเทรา  แล้วยังมีผู้สนใจสมัครมาทางสื่อออนไลน์ ช่วยกันปรับพื้นที่นี้ให้สมบูรณ์มากขึ้น ทั้งหมักดองดินเพื่อปรับสภาพดิน ขุดคลองไส้ไก่ และสร้างฝายชะลอน้ำ กระจายน้ำ แก้ไขหนองน้ำเดิมให้ใช้งานได้จริง ปั้นหัวคันนา ทำคอกหมักปุ๋ยจากเปลือกข้าวโพด รวมถึงหยอดเมล็ดพันธุ์ทั้งข้าวเปลือก ถั่วเขียว พริก มะเขือ และฟักทอง ให้เป็นปุ๋ยบำรุงดิน ในพื้นที่มีโปรยเมล็ดพันธุ์ดอกดาวกระจาย ดอกบานชื่น ล่อแมลงมาผสมเกสร เพิ่มผลผลิตให้พืชอีกด้วย 

 

วิวัฒน์ ศัลยกำธร รมว.เกษตรและสหกรณ์

 

      วิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ในพื้นที่จังหวัดน่านมีการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวบนพื้นที่เขาสูงชันจำนวนมหาศาล ทำให้เสียพื้นที่ป่าไม้ถึง 1.5 ล้านไร่ ซึ่งเป็นป่าต้นน้ำ เป็นต้นกำเนิดของน้ำร้อยละ 40 ของแม่น้ำเจ้าพระยา เกิดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งทำให้น้ำแล้ง น้ำท่วม จ.น่าน และภาคกลางของไทย การแก้ปัญหาจะต้องสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูงเปลี่ยนเขาหัวโล้นไปเขาหัวจุก เหตุที่เลือกพลิกฟื้นเขาหัวโล้นในอุทยานฯ ศรีน่าน ทั้งที่วิกฤติหนัก เพราะที่นี่มีชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) ที่ประสบผลสำเร็จในการใช้ศาสตร์พระราชาแก้ไขพื้นที่ อีกทั้งเป็นศูนย์ฝึกอบรมเปลี่ยนความคิดคนให้ทำกสิกรรมธรรมชาติเพื่อดำรงชีวิต อีกจุดแข็งมีนายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานฯ ศรีน่าน เป็นผู้นำขับเคลื่อน เคยประสบความสำเร็จจากการจัดการลุ่มน้ำโดยชุมชนมีส่วนร่วมที่บ้านน้ำมีด ต.เปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน ใช้แนวทางพระราชดำริในหลวง ร.9 ส่งเสริมปลูกข้าวไร่ ทำเกษตรสมัยใหม่ เขาก็ใช้ศาสตร์พระราชาทำต่อในพื้นที่อุทยานฯ ศรีน่าน

      " ในวิกฤติก็มีโอกาส ก็เลือกพื้นที่นี้ หากทำสำเร็จ การขยายตัวไปลุ่มน้ำอื่นๆ ก็ง่าย ที่ยากกว่านี้ก็ลุ่มน้ำป่าสัก จัดการยากที่สุดดังที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่ง แต่เราไม่ท้อ ทำรอบนอกลุ่มน้ำป่าสัก ล้อมเข้ามา กลับมาที่ลุ่มน้ำน่านเป็นลุ่มน้ำที่ใหญ่สุด 47% มีปริมาณน้ำกักเก็บถึง 9,500 ล้าน ลบ.ม. ขณะที่ 3 ลุ่มรวมกัน ปิง วัง ยม 53% เท่านั้น เขาหัวโล้น ฝนตก ตะกอนไหลลงเขื่อนเต็มไปหมด กรุงเทพฯ จะอยู่ยังไง จะเอาน้ำจากไหน พื้นที่ 1 ไร่ มีอัตราตะกอน 20 ตันต่อปี ล้านไร่ก็ 20 ล้านตัน แต่ถ้าป่าสมบูรณ์ น้ำที่ไหลลงมาจะไม่มีตะกอน อย่างป่าต้นน้ำมีดหลังดูแลรักษาป่ามีน้ำไหลลงน้ำน่าน 4 แสน ลบ.ม.ต่อวัน น้ำใสแจ๋ว เราต้องช่วยกันหยุดการทำลายป่า" นายวิวัฒน์กล่าว ทั้งยังฝากปัจจุบันในไทยมีหลายพื้นที่หลายหมู่บ้านเดินตามศาสตร์พระราชา แต่ยังไม่เข้าใจแก่นแท้ ฉะนั้น ต้องมาศึกษา เรียนรู้ และลงมือทำ เพื่อให้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่ได้จริง

 

สภาพพื้นที่ป่าอุทยานฯ ศรีน่าน มีชาวบ้านใช้ประโยชน์บนพื้นที่สูง

 

      ด้าน บัณฑิต ฉิมชาติ หน.อุทยานฯ ศรีน่าน กล่าวว่า ปัจจุบันการแก้ปัญหาชาวบ้านทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์มียุทธศาสตร์ชาติกำหนดให้ภาครัฐร่วมวางแผนกับชุมชนในป่าเพื่อดำเนินการอนุรักษ์ตามแนวพระราชดำริในหลวง ร.9 ได้ ในส่วนของกรมอุทยานฯ จะขับเคลื่อนต้นแบบคนอยู่กับป่าอย่างยั่งยืน 2 แห่งคือ อุทยานฯ ศรีน่าน จ.น่าน และอุทยานศรีล้านนา จ.เชียงใหม่ แนวคิดจะไม่ไล่ชาวบ้านที่มาทำกิน เพราะชาวบ้านอยู่มาก่อนจัดตั้งอุทยานฯ สิ่งที่ทำได้คือ ไม่ให้ชาวบ้านเปิดพื้นที่ แล้วใช้แนวทางปลูกป่าในใจคนตามพระราชดำริในหลวง ร.9 สำหรับที่บ้านห้วยเลา ตนลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน 10 เดือน มีชาวบ้านสมัครใจไปอบรมแล้ว 9 คน พร้อมที่จะลงมือทำตาม ส่วนพื้นที่กสิกรรมธรรมชาติของวริศรา จันธี ก็มาช่วยกัน  พาไปดูบ้านน้ำมีด ไปอบรม จะบอกชาวบ้านไม่ต้องพูดถึงว่าจะขายผลผลิต แต่ปลูกข้าวกิน มีข้าวเต็มยุ้ง ปลูกถั่ว ข้าวโพดหลังนา ปลูกพืชผักสวนครัว ถ้าทำตามศาสตร์พระราชา ป่าไม่หาย อุทยานฯ ได้พื้นที่ป่าเพิ่ม 

      " เราต้องเปลี่ยนความคิดชาวบ้านให้ได้ที่จะขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพื่อเอาเงินมาซื้อข้าวกิน ใช้ศาสตร์พระราชาทำจริงจัง 14 ปี สำเร็จที่บ้านน้ำมีด จะขยายผลมาบ้านห้วยเลา การรักษาและฟื้นฟูป่าต้องให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม เจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียวไม่มีทางดูแลผืนป่าทั้งหมด" หน.อุทยานฯ ศรีน่าน เผยความตั้งใจฟื้นฟูสภาพป่าต้นน้ำน่านด้วยศาสตร์พระราชา

 

อาทิตย์ กริชพิพรรธ แกนนำภาคเอกชนร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีที่น่าน

 

      สำหรับ กานต์-วริศรา จันธี อายุ 29 ปี ผู้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่อุทยานฯ บ้านห้วยเลา ที่เลิกปลูกข้าวโพดมาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ กล่าวว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำไร่ข้าวโพด มีนายทุนเอาเมล็ดข้าวโพดมาให้ แต่กำหนดราคาขายต่ำ ชาวบ้านไม่มีอำนาจต่อรอง ทำแล้วมีแต่หนี้ และยังมีปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ เพราะถางป่าขยายไร่ข้าวโพด ตัดไม้ขายใช้หนี้ ต้องซื้อข้าวกิน หมู่บ้านห้วยเลามี 52 ครัวเรือน อาศัยจริง 21 ครัวเรือน ประชากรกว่า 50 คน ทุกบ้านเป็นหนี้ไม่ต่ำกว่า 400,000 บาท ตนทำข้าวโพด 7 ไร่ มีรายได้ 30,000 บาทต่อปี หักค่าใช้จ่ายแล้วเหลือปีละ 10,000 บาทเท่านั้น มีแต่หนี้

     วริศรา เล่าอีกว่า เดิมชาวบ้านกับ จนท.อุทยานฯ ไม่ถูกกัน ทั้งด่าว่า สาบแช่ง อุทยานฯ รังแกรังควานชาวบ้าน จนหัวหน้าฉิมเข้ามาเป็นหัวหน้าอุทยานฯ เข้าพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้าน บอกว่ามีทางออก ไม่ต้องกู้เงินมาซื้อข้าวกิน ไม่ต้องปลูกข้าวโพด มาชวนให้ไปดูที่บ้านน้ำมีด กลับจากอบรมก็ลองทำ แม่ไม่เห็นด้วย ก็กลับไปอบรมที่ชุมชนต้นน้ำน่านอีกครั้ง พอกลับมาก็ขอแบ่งที่จากนางกัลยรัตน์ ติ๊บอ้าย ผู้เป็นแม่ 1 ไร่ ใช้จอบขุดปรับพื้นที่เดือนธันวาคม ปี 2560 ลงมือปลูกเดือนพฤษภาคม 2561 ชาวบ้านสบประมาทว่าจะมาช่วยเกี่ยวข้าว จะรอกินข้าว จะมาจับปลานะ เพราะน้ำไม่มี ท้อ หัวหน้าฉิมส่งคนมาช่วยปรับพื้นที่ แต่รูปแบบผิด จนเดือนกรกฎาคม มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติจัดทีมมาเอามื้อใหญ่ 30 คน ได้คลองไส้ไก่ ทำหนองเก็บน้ำจากฟ้า ตอนนี้กานต์ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ทำสวนผลไม้กว่า 50 ชนิด เงาะ มะขาม มะม่วง การเอามื้อครั้งนี้ก็ขุดคลองไส้ไก่ ขุดหนองให้ลึกขึ้น ทำฝายเพิ่มอีก 

 

 

กานต์-วริศรา จันธี เปลี่ยนจากผู้บุกรุก มาทำเกษตรตามศาสตร์พระราชา

 

      " 11 เดือนที่ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็เห็นผล ได้กินพืชผักสวนครัว มีถั่วฝักยาว มะเขือ แตงกวา ผัก พริก ชะอม ชะพลู บนดอยก็ปลูกผักกูด จากที่แม่ให้ 1 ไร่ ก็ยกให้เลย 6 ไร่ 2 งาน ตอนนี้พักชำระหนี้ทั้ง ธ.ก.ส.และกองทุนหมู่บ้าน ประมาณ 500,000 บาท อยากปลดหนี้ให้ได้ภายใน 5 ปี แต่สำคัญสุดไม่สร้างหนี้เพิ่มแล้ว ไม่ต้องจ่ายค่าเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ค่าปุ๋ย ค่าหยอด พ่นยา แต่ในพื้นที่ยังมีชาวบ้านทำไร่ข้าวโพด ตนก็นำเศษเปลือกทำเป็นปุ๋ย แล้วยังมีอาชีพเสริมเลี้ยงด้วงมะพร้าว รายได้ 2,500 บาทต่อเดือน เชื่อมั่นว่าจะทำได้สำเร็จ และจะใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์เรียนรู้ของชาวบ้านด้วย " กานต์-วริศรา ไม่ย่อท้อและจะชักชวนชาวบ้านทำตามศาสตร์พระราชาให้กว้างขวาง 

 

เปลี่ยนจากข้าวโพดเป็นทำนาปลูกข้าวไร่พันธุ์มัดน้ำ

 

      เชฟรอนภาคเอกชนที่ขับเคลื่อนโครงการ "พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน" จนเข้าสู่ปีที่ 6 อาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวภายหลังร่วมกิจกรรมเอามื้อสามัคคีสร้างหลุมขนมครกบนที่สูงที่อุทยานฯ ศรีน่านว่า เป้าหมายของโครงการในปี 6 ยังคงเน้นการขยายพื้นที่การพัฒนาจากลุ่มน้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำอื่นๆ ตามแนวคิดแตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชาที่เกิดจากความห่วงใยราษฎรของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ผ่านมาจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีแล้วใน 4 พื้นที่ ได้แก่ กรุงเทพฯ จันทบุรี สระบุรี และน่าน แต่ละพื้นที่สภาพภูมิสังคมต่างกัน เพื่อจะสร้างต้นแบบที่หลากหลาย เป็นแรงบันดาลใจในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

      " 6 ปีผลของโครงการคืบหน้าเกินคาด แต่ละพื้นที่ลงมือทำเพื่อพิสูจน์ศาสตร์พระราชาและกสิกรรมธรรมชาติไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางหลักนำพาชีวิตชาวบ้าน เกษตรกรรอดปลอดภัย มีแหล่งอาหารแหล่งน้ำของตัวเอง  จะขยายผลต่อไปเพื่อแก้ปัญหาจัดการน้ำของประเทศ และให้ทีมงานเกาะติดสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ เพื่อเข้าไปแนะนำ ปรับแก้ หนุนเสริม จัดการปัญหาคอขวดให้ได้ นอกจากนี้ เชฟรอนยังสนับสนุนโครงการวิจัยเพื่อติดตามประเมินผลการปรับปรุงพื้นที่ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรทฤษฎีใหม่ งานวิจัยจะสิ้นสุดปีนี้ ผลวิจัยและการถอดบทเรียนต่างๆ ถือเป็นความรู้ทางวิชาการ หวังใช้ขยายผลให้พื้นที่ต่างๆ นำไปใช้ในอนาคต" อาทิตย์ ผู้บริหารเชฟรอนยืนยันจะร่วมเผยแพร่ความรู้ศาสตร์พระราชาสานต่อพระราชปณิธานในการทำงานไม่รู้จบ

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"