พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่12


เพิ่มเพื่อน    

ภายหลัง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกขึ้น ดังนี้

วันที่ 4 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษก และเสด็จออกมหาสมาคม พระบรมวงศานุวงศ์ คณะองคมนตรี คณะรัฐมนตรี ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น พระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียร

วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 พระราชพิธีเฉลิมพระปรมาภิไธย พระนามาภิไธย และสถาปนาฐานันดรศักดิ์พระบรมวงศานุวงศ์ จากนั้น เสด็จเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค

วันที่ 6 พฤษภาคม พุทธศักราช 2562 เสด็จออก ณ สีหบัญชร พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ปราสาท พสกนิกรเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทถวายพระพรชัยมงคล จากนั้น เสด็จออก ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท คณะทูตานุทูตและกงสุลต่างประเทศเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคล

หากนับตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ได้มีการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาแล้วจำนวน ๑๑ ครั้ง ดังนี้

๑.พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จำนวน ๒ ครั้ง 

๒.พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จำนวน ๑ ครั้ง 

๓.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑ ครั้ง 

๔.พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๑ ครั้ง     

๕.พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ครั้ง     

๖.พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จำนวน ๒ ครั้ง 

๗.พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว     จำนวน ๑ ครั้ง 

๘.พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช จำนวน ๑ ครั้ง 

สาเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ๒ ครั้ง เพราะในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๑ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๖ แต่เป็นเพียงสังเขปเท่านั้น มิได้จัดเต็มตามโบราณราชประเพณี 

ทั้งนี้อาจเป็นเพราะยังคงติดขัดในเรื่องการสงคราม และเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๘ จึงโปรดเกล้าฯ ให้กระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอย่างเต็มตามแบบแผนโบราณราชประเพณี

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๑  เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๑๑ โดยในขณะนั้นพระองค์มีพระชนมายุเพียง ๑๕ พรรษา ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ดังนั้นจึงต้องแต่งตั้งสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ จนกว่าพระองค์จะมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา 

และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษา จึงทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒  เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๑๖

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงกระทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเฉลิมพระราชมณเฑียรตามโบราณราชประเพณี แต่งดการแห่เสด็จเลียบพระนครและการรื่นเริงต่างๆ เพราะอยู่ในช่วงของการไว้ทุกข์ในงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 

เมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว จึงทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมโภชอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่  ๒ ธันวาคม ๒๔๕๔ และได้ทรงเชิญพระราชอาคันตุกะ ซึ่งได้แก่ผู้แทนพระองค์ของพระมหากษัตริย์ในยุโรปเกือบทุกประเทศ ผู้แทนเหล่านี้ถ้าไม่ใช่พระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงก็จะได้แก่อัครราชทูตพิเศษ 

นอกจากนี้ยังทรงเชิญผู้แทนของประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา และผู้แทนพระองค์ของพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่นด้วย

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเพียงพระองค์เดียวที่ไม่ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  เพราะว่าเมื่อพระองค์เสด็จขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ ขณะนั้นมีพระชนมายุเพียง ๙ พรรษา ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะจึงต้องมีคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และเสด็จไปทรงศึกษาที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 

ช่วงระยะเวลาที่ทรงครองราชสมบัติ พระองค์เสด็จนิวัตพระนครเป็นการชั่วคราว ๒ เดือน คือในปี  พ.ศ.๒๔๘๑ และในปี พ.ศ.๒๔๘๘ อีกครั้งหนึ่ง และเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งบรมพิมานเมื่อวันที่ ๙  มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๙ พระองค์ได้เสด็จสวรรคตก่อนที่จะทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ประกอบด้วยขั้นตอนหลักสำคัญ ๔ ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นเตรียมพิธี พิธีเบื้องต้น พิธีบรมราชาภิเษก และพิธีเบื้องปลาย แต่ละขั้นตอนมีรายละเอียด ดังนี้

ขั้นเตรียมพิธี ประกอบด้วย การเตรียมน้ำอภิเษกและน้ำสรงพระมุรธาภิเษก ซึ่งเป็นน้ำที่ตักมาจากแม่น้ำสายสำคัญของประเทศและมาตั้งพิธีเสกที่พุทธเจดียสถานและวัดสำคัญต่างๆ ในแขวงนั้นๆ 

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จนถึงรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ใช้น้ำอภิเษกจากสถานที่ต่างๆ รวมทั้งหมด ๖ แห่ง ได้แก่

๑.สระเกศ สระแก้ว สระคงคา และสระยมนา แขวงเมืองสุพรรณบุรี

๒.แม่น้ำบางปะกง ตักที่บึงพระอาจารย์ แขวงเมืองนครนายก

๓.แม่น้ำป่าสัก ตักที่ตำบลท่าราบ แขวงเมืองสระบุรี

๔.แม่น้ำเจ้าพระยา ตักที่ตำบลบางแก้ว แขวงเมืองอ่างทอง

๕.แม่น้ำราชบุรี ตักที่ตำบลดาวดึงษ์ แขวงเมืองสมุทรสงคราม

๖.แม่น้ำเพชรบุรี ตักที่ตำบลท่าไชย แขวงเมืองเพชรบุรี

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๑ ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับในรัชกาลก่อนๆ แต่พระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๑๖ ได้เพิ่มน้ำจากปัญจมหานทีของอินเดีย คือ แม่น้ำคงคา แม่น้ำยมนา แม่น้ำมหิ แม่น้ำอจิรวดี และแม่น้ำสรภู เจือลงไปด้วย เพราะว่าเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศอินเดีย ทรงได้น้ำจากปัญจมหานทีมาด้วย ดังนั้นพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ จึงใช้น้ำอภิเษกทั้งหมด ๑๑ แห่ง

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๓ ใช้น้ำอภิเษกเช่นเดียวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖ แต่ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.๒๔๕๔ ได้เพิ่มน้ำจากแม่น้ำและแหล่งน้ำอื่นๆ ตามมณฑลต่างๆ ที่ถือว่าเป็นแหล่งสำคัญและเป็นสิริมงคลมาตั้งทำพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ ได้แก่

๑.แม่น้ำป่าสัก ณ ตำบลท่าราบ ไปทำพิธีเสกน้ำที่พระพุทธบาทอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในมณฑลประเทศที่ตั้งกรุงละโว้และกรุงศรีอยุธยา    

๒.ทะเลแก้วและสระแก้ว แขวงเมืองพิษณุโลก ไปทำพิธีในพระวิหารพระพุทธชินราช วัดพระศรีมหาธาตุ จังหวัดพิษณุโลก อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีฝ่ายเหนือ

๓.น้ำโชกชมภู่ น้ำบ่อแก้ว น้ำบ่อทอง แขวงเมืองสวรรคโลก ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองสวรรคโลก อันเป็นมหาเจดียสถานโบราณราชธานีครั้งสมเด็จพระร่วง (ปัจจุบันอยู่ในเขตจังหวัดสุโขทัย)

๔.แม่น้ำนครไชยศรี ที่ตำบลบางแก้ว ไปทำพิธีที่พระปฐมเจดีย์ เมืองนครไชยศรี อันเป็นโบราณมหาเจดีย์ตั้งแต่สมัยทวารวดี

๕.บ่อน้ำวัดหน้าพระลาน บ่อวัดเสมาไชย บ่อวัดเสมาเมือง บ่อวัดประตูขาว ห้วยเขามหาชัย และน้ำบ่อปากนาคราช ในเมืองนครศรีธรรมราช ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุ เมืองนครศรีธรรมราช อันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในโบราณราชธานีนครศรีธรรมราช

๖.บ่อทิพย์ เมืองนครลำพูน ไปทำพิธีที่วัดพระมหาธาตุหริภุญไชย อันเป็นมหาเจดียสถานในแว่นแคว้นโบราณราชธานีทั้งหลายในฝ่ายเหนือ คือ นครหริภุญไชย นครเขลางค์ นครเชียงแสน นครเชียงราย นครพเยาว์ และนครเชียงใหม่

๗.บ่อวัดธาตุพนม ทำพิธีเสกที่พระธาตุพนม เมืองนครพนม มณฑลอุดรอันเป็นมหาเจดียสถานอยู่ในประเทศที่ตั้งโบราณราชธานีโคตรบูรพ์หลวง

นอกจากนี้ยังได้ตักน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ไปตั้งทำพิธี ณ วัดสำคัญในมณฑลต่างๆ อีก ๑๐ มณฑล คือ

๑.วัดบรมธาตุ เมืองชัยนาท มณฑลนครสวรรค์

๒.วัดมหาธาตุ เมืองเพชรบูรณ์ มณฑลเพชรบูรณ์

๓.วัดกลาง เมืองนครราชสีมา มณฑลนครราชสีมา

๔.วัดสีทอง เมืองอุบลราชธานี มณฑลอีสาน

๕.วัดยโสธร เมืองฉะเชิงเทรา มณฑลปราจีนบุรี

๖.วัดพลับ เมืองจันทบุรี มณฑลจันทบุรี

๗.วัดตานีนรสโมสร เมืองตานี มณฑลปัตตานี

๘.วัดพระทอง เมืองถลาง มณฑลภูเก็ต

๙.วัดพระธาตุ เมืองไชยา มณฑลชุมพร

๑๐.วัดพระมหาธาตุ เมืองเพชรบุรี มณฑลราชบุรี

รวมสถานที่ที่ทำน้ำอภิเษกทั้งหมด ๑๗ แห่ง และน้ำอภิเษกนี้ยังคงใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมาจนกระทั่งปัจจุบันนี้

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกที่หัวเมืองมณฑลต่างๆ รวม ๑๘ แห่ง สถานที่ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกในรัชกาลนี้เป็นสถานที่เดียวกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแต่เปลี่ยนจากวัดมหาธาตุเมืองเพชรบูรณ์ มาตั้งที่พระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และเพิ่มอีกแห่งหนึ่งที่บึงพระลานชัย จังหวัดร้อยเอ็ด

พระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ตั้งพิธีทำน้ำอภิเษกเช่นเดียวกับรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เพียงแต่เปลี่ยนสถานที่จากพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ มาเป็นที่พระธาตุแช่แห้ง จังหวัดน่าน

เมื่อได้น้ำอภิเษกที่ได้ตั้งพิธีเสก ณ มหาเจดียสถานและพระอารามต่างๆ แล้ว เจ้าหน้าที่จะนำส่งมายังพระนครก่อนหน้ากำหนดการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก แล้วเชิญตั้งไว้ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จนกว่าจะถึงวันงานจึงจะได้เชิญเข้าพิธีสวดพระพุทธมนต์ เสกน้ำ ณ พระที่นั่งดุสิดาภิรมย์

สำหรับพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเป็นการประกอบพระราชพิธีครั้งที่ ๑๒ . 
---------
อ้างอิง: เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศสำหรับพระมหากษัตริย์ที่ปรากฏในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกสมัยรัตนโกสินทร์ โดย น.ส.บุรยา ศราภัยวินิช


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"