เปิดไทม์ไลน์เลือกตั้งปี62 คาดพ.ค.ได้นายกฯคนใหม่


เพิ่มเพื่อน    

 "วิษณุ" เปิดไทม์ไลน์เลือกตั้ง คาดเข้าคูหาลงคะแนนเร็วสุด 24 ก.พ.62 ได้ "นายกฯ ใหม่" เดือน พ.ค.62 ระบุปลดล็อกการเมืองช่วงเดียวกับพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ ยัน "รัฐบาล-คสช." มีอำนาจเต็มจนกว่า ครม.ชุดใหม่ถวายสัตย์ "บิ๊กป้อม" ย้ำต่างชาติเข้าดูเลือกตั้งต้องขอรัฐบาลไทยก่อน ส่วน "กกต." บอก ตปท.ร่วมสังเกตการณ์เรื่องปกติ เตรียมลงนามแบ่งเขตเลือกตั้ง 9 พ.ย.นี้

    ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 8 พ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงปฏิทินการทำงานของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งว่า ปฏิทินนี้ได้หารือกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยวันที่ 9 ธ.ค. จะมีการจัดงานอุ่นไอรัก จากนั้นวันที่ 11 ธ.ค. พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.จะมีผลบังคับใช้เป็นวันแรก ซึ่งต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วันนับแต่วันนั้น ซึ่งจะไม่เกินวันที่ 9 พ.ค.62 โดยหลัง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้แล้ว กกต.จะต้องยกร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. และส่งให้ ครม.พิจารณาเพื่อนำความขึ้นทูลเกล้าฯ 
    นายวิษณุกล่าวว่า เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา ภายใน 5 วัน กกต.จะต้องออกประกาศกำหนดวันเลือกตั้ง วันรับสมัคร ส.ส. และจำนวน ส.ส.ในแต่ละเขต โดยใช้ระยะเวลา 5 วัน และกรอบการรับสมัครต้องออกมาไม่เกิน 25 วัน นับแต่ประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. ส่วนรายชื่อที่พรรคการเมืองจะเสนอเป็นนายกฯ 3 รายชื่อ จะต้องเสนอภายในกรอบระยะเวลา 5 วัน ที่เปิดรับสมัคร ส.ส. จากนั้นเมื่อมีประกาศใช้ พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว จะมีการปลดล็อกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในเวลาใกล้เคียงกัน 
    "ส่วนวันเลือกตั้ง จากการพูดคุยกับทุกฝ่าย คาดการณ์กันว่า กกต.จะประกาศให้เป็นวันที่ 24 ก.พ.62 เพราะเร็วกว่านั้นไม่ได้ เนื่องจากเตรียมการไม่ทัน และขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยว่าเป็นอย่างอื่น เมื่อเลือกตั้งแล้ว กกต.ต้องประกาศผลภายใน 60 วัน จะตรงกับวันที่ 24 เม.ย.62 ส่วนการเปิดประชุมสภาครั้งแรก จะมีขึ้นภายใน 15 วัน นับแต่ กกต.ประกาศผลการเลือกตั้ง จะตรงกับวันที่ 8 พ.ค.62 โดยจะมีการเสด็จฯ เปิดประชุมสภา หลังจากนั้นจะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา รวมถึงลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี" นายวิษณุกล่าว
    รองนายกฯ กล่าวว่า เมื่อได้นายกฯ แล้วจะนำรายชื่อกราบบังคมทูลฯ ซึ่งหลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา นายกฯ จะแต่งตั้ง ครม.เพื่อเสนอขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย และวันที่ ครม.ชุดใหม่เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง ครม.เดิม และ คสช.จะสิ้นสุดลงในวันนั้น โดย ครม.ชุดใหม่จะต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วันนับจากปฏิญาณตน คาดว่าจะเป็นช่วงเดือน มิ.ย.62
รัฐบาลยังมีอำนาจเต็ม
    นายวิษณุกล่าวว่า ในส่วนการได้มาซึ่ง ส.ว.นั้น ในระหว่างวันที่ 16-27 ธ.ค. กกต.จะดำเนินการคัดเลือก ส.ว. ระดับอำเภอ จังหวัด และประเทศ ให้ได้ 200 คน ในวันที่ 2 ม.ค.62 เพื่อส่งรายชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 50 คน และมีสำรองอีก 50 คน พร้อมกันนี้ คสช.จะต้องตั้งคณะกรรมการสรรหา 9-12 คน เพื่อคัดเลือก ส.ว.ให้ได้ 400 คน ภายในวันที่ 9 ก.พ.62 เพื่อเสนอให้ คสช.พิจารณาให้เหลือ 194 คน โดยมีสำรอง 50 คน และ ส.ว.โดยตำแหน่งคือ ผบ.เหล่าทัพ อีก 6 คน รวมเป็น 250 คน โดยรายชื่อดังกล่าว คสช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 27 เม.ย.62 เพราะกฎหมายกำหนดให้ คสช.พิจารณาให้แล้วเสร็จภายหลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 3 วัน
    รองนายกฯ ยังชี้แจงเกี่ยวกับสถานะรัฐบาลปัจจุบันว่า รัฐบาลรักษาการจะเกิดขึ้นต่อเมื่อนายกฯ สิ้นสภาพ ครม.พร้อมใจกันลาออก มีการยุบสภาฯ หรือรัฐบาลอยู่ครบเทอม ซึ่งก่อนจะมีรัฐบาลใหม่จำเป็นที่รัฐบาลเดิมต้องอยู่รักษาการ แต่การเสนอโครงการใหม่ การแต่งตั้งข้าราชการ การอนุมัติงบประมาณ การใช้บุคลากรของรัฐ จะมีข้อจำกัด ต้องขออนุญาต กกต. แต่รัฐบาลชุดนี้ไม่ได้สิ้นสุดลง จึงไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ และยังมีอำนาจเต็ม 
    "บทเฉพาะกาลยังเขียนให้ ครม.ที่อยู่ในตำแหน่งก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 60 ทำงานจนกว่า ครม.ชุดใหม่จะเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตน ส่วนการปฏิบัติตัวของรัฐมนตรีใน ครม.ชุดปัจจุบัน ในส่วนที่ไปเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง ต้องระมัดระวังในการใช้เวลาราชการ ทรัพย์สิน บุคลากร และสถานที่ราชการ เพื่อใช้แก่พรรคการเมืองที่ตนไปสังกัด ส่วน ครม.ที่ไม่ได้เกี่ยวพันกับพรรคการเมืองก็ต้องวางตัวเหมือน ครม.ในอดีต ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าต้องเป็นกลาง" รองนายกฯ กล่าว
    นายวิษณุกล่าวว่า จากการพูดคุยกับประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีความเห็นตรงกันว่า รัฐบาลจะเสนอกฎหมายได้ถึงวันที่ 28 ธ.ค. จากนั้น สนช.จะไม่รับร่างกฎหมายเพิ่มแล้ว โดย สนช.จะพิจารณากฎหมายจนถึงวันที่ 15 ก.พ.62 หากมีเหตุจำเป็นต้องออกกฎหมาย รัฐบาลจะใช้วิธีออกเป็นพระราชกำหนด หรือคำสั่งตามมาตรา 44
    ถามถึงกรณีนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและท้องถิ่นจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จะต้องมีการประกาศให้หยุดปฏิบัติหน้าที่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เขาต้องลาออก ซึ่งเรื่องนี้ต้องดูอีกครั้ง บางทีการปฏิบัติหน้าไม่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 ก็ได้ เพราะปลัดจะทำหน้าที่รักษาการโดยอัตโนมัติอยู่แล้วตามกฎหมายปกติ แต่ที่จะมีปัญหา เนื่องจากบางแห่งนายกฯ อบต.และปลัดลาออกไปสมัครทั้งคู่ ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าใคร แต่เรื่องนี้อีกนาน
    ขณะที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการขอเข้าสังเกตการณ์การเลือกตั้งขององค์กรเอกชนและองค์กรนานาชาติว่า ขณะนี้ยังไม่เห็นว่ามีใครเรียกร้อง หากมีการเรียกร้องมาก็ให้รัฐบาลเป็นคนพิจารณาว่าจะเชิญหรือไม่ 
    "การเลือกตั้งเป็นเรื่องภายในของประเทศเรา อย่างไรก็ตาม หากต่างชาติมีความสนใจอยากจะเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งนั้นจะต้องขออนุญาตจากรัฐบาลไทยก่อน" พล.อ.ประวิตรกล่าว
    ถามว่า ขณะนี้มีการเปิดให้พรรคการเมืองลงพื้นที่เพื่อหาสมาชิกพรรค มีพรรคการเมืองใดที่มีแนวโน้มเข้าข่ายการหาเสียงหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงกำลังติดตามอยู่ ซึ่งขณะนี้มีทุกพรรคจะดำเนินการหาสมาชิกพรรค ต้องลงพื้นที่ในทุกจังหวัด แต่เราไม่ได้จับตาดูพรรคใดเป็นพิเศษ เพราะเป็นหน้าที่ของ กกต.
ตปท.เข้าดูเลือกตั้งปกติ
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การเข้าสังเกตการณ์เลือกตั้งขององค์กรเอกชน และองค์กรนานาชาติเป็นเรื่องปกติ เพราะการเลือกตั้งของไทยทุกครั้งที่ผ่านมาจะมีผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง โดย กกต.ได้เชิญประเทศต่างๆ ในอาเซียนเข้ามา ซึ่งออกค่าใช้จ่ายให้บางส่วนเหมือนอย่างในกรณีของการเลือกตั้งที่กัมพูชา หรือมาเลเซีย ที่ได้เชิญ กกต.ไทยร่วมสังเกตการณ์ เรื่องนี้จึงเป็นเหมือนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ส่วนกรณีของสหภาพยุโรปหรืออียูนั้น ส่วนตัวยังไม่ทราบรายละเอียดในส่วนนี้
    พ.ต.อ.จรุงวิทย์กล่าวว่า ในส่วนการแบ่งเขตเลือกตั้งขณะนี้อยู่ในระหว่างการตรวจสอบความเรียบร้อยการแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 77 จังหวัด รวมถึงตรวจสอบเรื่องร้องคัดค้านเกี่ยวกับรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อส่งให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กกต.พิจารณาในวันที่ 9 พ.ย.นี้ ซึ่งขึ้นกับดุลยพินิจของที่ประชุม กกต. แต่คาดว่าในวันที่ 9 พ.ย. ประธาน กกต.จะสามารถลงนามรูปแบบการแบ่งเขตและประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้  
    "เรื่องที่อดีต ส.ส.เปิดเผยว่าพบพฤติกรรมการแจกเงิน-แจกของในหลายพื้นที่นั้น ขณะนี้ กกต.ได้รับเรื่องร้องเรียนแล้วบางส่วน" เลขาฯ กกต.กล่าว
    น.ส.วิชชุดา เมฆานุวงศ์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ กทม. กล่าวถึงการเสนอแบ่งเขตเลือกตั้ง 30 เขตของกรุงเทพมหานครว่า ทาง กทม.เสนอรูปแบบเลือกตั้ง 1 ใน 3 รูปแบบให้ กกต.ได้พิจารณา ไม่มีการเสนอรูปแบบที่ 4 ตามที่มีกระแสข่าว จนนำไปสู่การร้องเรียนของอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย แต่ขอไม่เปิดเผยว่าเสนอรูปแบบใด โดยรอให้มีการประกาศรูปแบบเขตเลือกตั้งพร้อมกันทั้ง 77 เขต ส่วนการร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งนั้น กกต.กทม.มีเข้ามาเพียงเรื่องเดียว
    วันเดียวกัน นายนพดล ปัทมะ อดีต รมว.การต่างประเทศ และสมาชิกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยที่จะให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งว่า การเลือกตั้งในอดีตก็มีคนมาสังเกตการณ์และการมาดูการเลือกตั้ง ไม่ใช่การมายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซงกิจการภายใน ถ้าต่างชาติเห็นว่าการเลือกตั้งในไทยเสรีและเป็นธรรม จะเป็นผลดีต่อภาพลักษณ์และเกียรติภูมิของประเทศด้วยซ้ำ ดังนั้นถ้าเรามั่นใจในศักยภาพการจัดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปปิดกั้น
    เช่นเดียวกับ นางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งหน้านี้ถ้ารัฐบาลกล้าเปิดโอกาสให้ทุกองค์กรและสื่อมวลชนต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์ได้ จะป่าวประกาศให้สังคมโลกรับรู้ว่า ประเทศไทยกำลังก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยแล้ว เป็นการฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศกลับมาอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องลงทุนเลย เพราะสื่อที่มาต่างก็ออกค่าใช้จ่ายเอง และการนำเสนอข่าวผ่านสื่อทุกแขนงไปทั่วโลกเราก็ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นผลได้ที่เกินคุ้ม นักธุรกิจ นักลงทุน และนักท่องเที่ยวทั่วโลกจะได้เห็นความงดงาม ความโปร่งใส ของการเลือกตั้งของประเทศไทยว่าเป็นไปตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นหัวใจในการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 
    "ถ้ารัฐบาลนี้ไม่อนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้ง ก็จะยิ่งสร้างความสงสัยต่อความโปร่งใสและเป็นธรรมในการเลือกตั้งของประเทศไทยต่อสังคมโลก วันนี้ยังไม่สายเกินไปที่รัฐบาลจะเปลี่ยนท่าทีใหม่" โฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าว.
 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"