ต้านโกงหนุนกฎ‘ปปช.’ แฉอจ.รับจ๊อบซุกฐานะ


เพิ่มเพื่อน    

  “ป.ป.ช.” ถกทางออกนายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัยแจงทรัพย์สิน 13 พ.ย.นี้  “องค์กรต้านโกง” ออกโรงหนุนคงประกาศ ชี้หากปล่อยผีทำให้ยุทธศาสตร์ขจัดคอร์รัปชันชาติล้มเหลว  “อดีต ป.ป.ช.” อัดแก้ กม.ไปมาทำความศักดิ์สิทธิ์ลดวูบ เด็กบิ๊กป้อมแฉเหตุโวยเพราะมีนอมินีบิ๊กการเมืองฝากสมบัติอื้อ

  เมื่อวันอาทิตย์ยังคงมีความต่อเนื่องจากประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรื่องกำหนดตำแหน่งของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินตามมาตรา 102  พ.ศ.2561 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 1 พ.ย.61 โดยแหล่งข่าวจาก ป.ป.ช.เผยถึงกรณี  พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช.ได้ให้ฝ่ายกฎหมายดำเนินการรวบรวมข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ กรณีข้อท้วงติงเรื่องดังกล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายได้รวบรวมข้อมูลเกือบสมบูรณ์แล้ว โดยจะเสนอรายงานต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ในวันอังคารที่ 13 พ.ย.แน่นอน เพื่อพิจารณาประเด็นการขยายกรอบเวลาการบังคับใช้ ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 2 ธ.ค.นี้ออกไปก่อน 
"ส่วนกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินโดยตำแหน่ง รวมไปถึงสมเด็จพระสังฆราชและพระเถระชั้นผู้ใหญ่รูปอื่นที่เป็นในมหาวิทยาลัยสงฆ์นั้น เจตนารมณ์ของประกาศ ป.ป.ช.คือบังคับใช้กับฆราวาส ดังนั้นพระชั้นผู้ใหญ่ใช้กฎหมายแตกต่างกัน จึงเห็นควรให้ยกสถานะตามกฎหมาย  พ.ร.บ.คณะสงฆ์ และ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยสงฆ์ ซึ่งต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับกฎหมายทั้งสองฉบับ  โดย ป.ป.ช.จะมีมติอย่างไรต้องรอวันอังคาร 13 พ.ย.นี้ให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ได้หารือและพิจารณาก่อน" แหล่งข่าวระบุ
ขณะเดียวกัน ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า  กรรมการสภามหาวิทยาลัยล้วนเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ เก่งและเป็นคนดี แต่ก็ปรากฏข่าวสื่อมวลชนบ่อยครั้งว่ามีบางมหาวิทยาลัยที่ทุจริต เกื้อหนุนเกื้อกูลระหว่างผู้บริหารในมหาวิทยาลัยร่วมกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย โดยเฉพาะตัวนายกสภามหาวิทยาลัยสร้างปัญหาให้ระบบการศึกษาและงบประมาณของประเทศอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นว่าการคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่สร้างภาระให้คนไทยทุกคน ทำให้รัฐบาลนี้ต้องออกกฎหมายสร้างมาตรการมากมายมาควบคุม ส่งผลให้คนดีได้รับความเดือดร้อนไปด้วย
    ดร.มานะกล่าวต่อว่า มีรายงานของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ระบุว่าปัญหาคอร์รัปชันมีผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของไทย เริ่มตั้งแต่วิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอยากได้โครงการ สภามหาวิทยาลัยก็อนุมัติ พอสภามหาวิทยาลัยอยากได้งบประมาณหรือไปดูงานต่างประเทศ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็อนุมัติเช่นกัน คือเรียกว่าผลัดกันเกาหลัง ประกาศของ ป.ป.ช.ชุดนี้จึงเป็นสิ่งที่ ป.ป.ช.ต้องทำ และ ป.ป.ช.ได้ทำอย่างถูกต้องเหมาะสมตามกฎหมายแล้ว ดังนั้นคงต้องมาพิจารณาถึงข้อกังวลของแต่ละคนว่าคืออะไร ที่ทำให้ไม่สามารถเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินได้
    “ปัจจุบันมีผู้ที่ต้องยื่นบัญชีอยู่แล้วเกือบ 40,000 คน ซึ่งประกาศ ป.ป.ช.ใหม่ทำให้มีผู้ต้องยื่นเพิ่มอีก 3,000 คน รวมถึงองค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นนักธุรกิจเอกชน พ่อค้า หรือนักวิชาการด้วย แต่กลับมีเสียงโต้แย้งเฉพาะกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ 81 มหาวิทยาลัยของรัฐ ประมาณ 500 ท่าน ดังนั้นจึงอยากให้ ป.ป.ช.ในฐานะเจ้าของกฎหมายและเจ้าของเรื่องทำงานเชิงรุก คือเดินสายไปชี้แจงและทำความเข้าใจกับผู้บริหารกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่างๆ  ว่าใครติดขัดไม่เข้าใจอะไร และทำความเข้าใจกัน อะไรที่คิดว่าเป็นเงื่อนไข เป็นวิธีการ หรือมีเอกสารที่ยุ่งยากเกินไป ป.ป.ช.จะได้รับทราบและแก้ไขทันที”
    เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ไทยเป็นสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นหลักการสากลที่สมาชิกพึงกระทำในเรื่องจริยธรรมของข้าราชการที่ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้ตรวจสอบได้ ซึ่งในรัฐธรรมนูญและแผนการปฏิรูปประเทศด้านการต่อต้านคอร์รัปชันก็ระบุไว้ด้วย เพราะฉะนั้นในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ และไม่อยากให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายดังกล่าว  เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ
หวั่นทำปราบโกงเหลว
    “ความพยายามต่อต้านคอร์รัปชันที่เรียกร้องความร่วมมือจากประชาชน ข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ทำกันมาตลอดในช่วงหลายปีจะสูญเปล่า ประชาชนก็จะเริ่มคิดว่าชนชั้นสูง คนมีอำนาจ คนร่ำรวยไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่อออกกติกาแล้วพอถึงเวลาไม่ชอบก็ไม่ยอมทำ แล้วอย่างนี้จะไปร่วมมือต่อต้านคอร์รัปชันได้อย่างไร อันนี้เป็นสิ่งที่เรากลัว และสิ่งที่จะตามมาคือคนรุ่นใหม่ก็จะเลือกทำในสิ่งที่เขาคิด เลือกทำในสิ่งที่มีโอกาส ตรงนั้นเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก” ดร.มานะระบุ
    นางสาวสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีต ป.ป.ช.กล่าวถึงข้อเสนอให้ใช้มาตรา 44 แก้ไขประกาศ ป.ป.ช.ว่าไม่เห็นด้วยเลย เพราะเมื่อกฎหมายออกมาแล้วก็ต้องใช้บังคับ ถ้าไปแก้ไขก็จะทำให้กฎหมายไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ หากจะแก้ไขมันก็ควรต้องแก้ตั้งแต่ขั้นตอนการร่างในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  (สนช.) แล้ว และประกาศ ป.ป.ช.ฉบับนี้ก็ไม่ได้ออกลอยๆ หรือคิดขึ้นเอง แต่ดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตกำหนดไว้ ต้องให้ความเป็นธรรมต่อกรรมการป.ป.ช.ด้วย
      “การแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ป.ป.ช.ควรกำหนดวิธีการการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินที่ง่ายและสะดวก สามารถกรอกแบบฟอร์มด้วยตัวเอง และไม่ควรใช้มาตรา 44 หรือยกเว้นบางตำแหน่งไม่ต้องยื่น เหมือนกรณียกเว้นคุณสมบัติขององค์กรอิสระที่บางองค์กรอยู่บางองค์กรพ้นไป” น.ส.สมลักษณ์กล่าว
      วันเดียวกัน นายไพศาล พืชมงคล กรรมการผู้ช่วยรองนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยช่วงเช้าระบุว่า "ข้อกำหนดของ ป.ป.ช.ทำให้เห็นหลายอย่าง คือ 1.ทำให้เห็นว่าบางบิ๊กเป็นนายกสภา และกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง 2.มีเครือญาติบริวารบิ๊กการเมืองเข้าไปเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนมาก 3.กรรมการสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจมาก  สามารถอนุมัติจัดซื้อจัดจ้างระดับร้อยล้านได้ มีอำนาจแต่งตั้งผู้บริหาร ซึ่งผู้บริหารก็อาจเกรงใจต้องคล้อยตาม ทั้งที่ควรต้องยื่นบัญชีนานแล้ว และ 4.ทันทีที่ ป.ป.ช.ประกาศก็มีการเต้นเป็นเจ้าเข้า เพราะบางคนอาจถือครองทรัพย์สินของนักการเมืองระดับบิ๊กอยู่ก็ได้"
แนะสบช่องล้างบาง
ต่อมาในช่วงบ่ายนายไพศาลได้โพสต์ในหัวข้อ “อย่ามั่ว คสช.และ ครม.ไม่เกี่ยว” ระบุว่า "การยื่นบัญชีแสดงทรัพย์สินของกรรมการสภามหาวิทยาลัย กำลังเปิดความเน่าเฟะในระบบการจัดซื้อจัดจ้าง การแต่งตั้ง การบริหารงานบุคคลและผลประโยชน์เชิงงบประมาณที่หมักหมมมานานให้สังคมได้เห็น   แต่ระวังอย่าลากเอา ป.ป.ช.ลงเหวไปด้วย และต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของ ป.ป.ช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับรัฐบาล ครม.หรือคนในคณะรัฐบาลไม่มีอำนาจไปก้าวก่ายแทรกแซง  ป.ป.ช.จะผิดถูกชั่วดีประการใดต้องรับผิดชอบเอง การที่โซเชียลมีเดียและสื่อบางสำนักพาดหัวว่า คสช.และรัฐบาลให้เลื่อนการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นไม่เป็นความจริง ครม.และ คสช.ไม่ได้เกี่ยวข้องเรื่องนี้แต่ประการใด” นายไพศาลโพสต์
ต่อมาไม่ถึง 10 นาที นายไพศาลโพสต์อีกครั้งว่า "รัฐบาลควรใช้โอกาสที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ยอมยื่นบัญชีทรัพย์สินแล้วลาออกครั้งนี้ ปรับปรุงการแต่งตั้งกรรมการสภามหาวิทยาลัยให้เป็นผู้ที่ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาที่แท้จริง ส่งเสริมให้คนดีได้มามีอำนาจ กวาดล้างนักการเมือง บริษัทบริวารและญาติโยมในครอบครัวออกไปให้หมด ก็จะเป็นผลดีต่อระบบการศึกษาของชาติในอนาคต และต้องไม่จำนนต่อการข่มขู่ใดๆ ในเรื่องนี้ ซึ่งจะเป็นแบบอย่างให้เกิดการข่มขู่และละเมิดกฎหมาย หรือทำตัวอยู่เหนือกฎหมายหรือไม่ยอมรับกฎหมายดังที่เป็นอยู่ แผ่นดินประเทศไทยก็จะสูงขึ้น"
ขณะเดียวกัน นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผู้ประสานงานศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ (CHES) ซึ่งได้สร้างแคมเปญรณรงค์ใน change.org เพื่อขอรายชื่อสนับสนุนการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของฝ่ายบริหารและกรรมการสภามหาวิทยาลัยตั้งแต่วันที่ 9 พ.ย.นั้น ล่าสุดมีผู้ร่วมลงชื่อใกล้แตะ 1,500 คนแล้ว
ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยระบุว่า ในวันอังคารที่  13 พ.ย.จะเดินทางไปยื่นคัดค้านการแก้ไขประกาศ ป.ป.ช.เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ต้องยื่นบัญชี.


 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"