"หมอธีระวัฒน์"ชี้กรมทรัพย์สินทางปัญญา  ไม่ควรรับจดทะเบียนกัญชา ถือว่ายังเป็นยาเสพติดผิดกม.


เพิ่มเพื่อน    

12 พ.ย.61- เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มีการประชุมคณะกรรมการปฏิรูประเทศด้านสาธารณสุข โดยมี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เป็นประธาน โดยมีนพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) และศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นหนึ่งในกรรมการปฏิรูปฯ เสนอต่อที่ประชุมเกี่ยวกับประเด็นสิทธิบัตรกัญชา 

ต่อมาเวลา 11.00 น. ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า  คณะกรรมการปฏิรูปด้านสาธารณสุข หน้าที่หนึ่ง  คือ ทำอย่างไรให้คนไทยได้ประโยชน์จากการใช้สมุนไพร  ซึ่งกรณีกัญชา ถือเป็นพืชที่มีสารสำคัญในธรรมชาติที่สามารถนำมาใช้บำบัดรักษาโรคได้   ทางคณะกรรมการปฎิรูปฯ  จึงเห็นว่าต้องมีความชัดเจนในเรื่องนี้ เพื่อประโยชน์ของผู้ป่วย เนื่องจากการรับยื่นคำขอสิทธิบัตรกัญชา เมื่อพิจารณาแล้วมีความผิดชัดเจนตั้งแต่  ม.9 (1) ห้ามยื่นสิทธิบัตรสารธรรมชาติในกัญชา และม.9(4) ห้ามยื่นสิทธิบัตร ที่เป็นการถือสิทธิในการใช้บำบัดโรค  แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับฝ่าฝืนตรงนี้ ดังนั้น คณะกรรมการปฏิรูปฯ เห็นว่า ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาต้องมีความชัดเจนกว่านี้

“ผมได้เห็นคลิปที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา ออกมาแถลงแบบถ่ายคลิปวิดีโอแจง ถามว่า  แถลงแบบนี้ได้อย่างไร บอกว่าปฏิเสธการรับคำขอสิทธิบัตรไม่ได้ ส่วนตัวผมมีความเห็นว่า  1. ไม่ควรรับจด เพราะเป็นยาเสพติดผิดกฎหมายในประเทศไทย ตราบใดที่พ.ร.บ.ยังไม่ได้แก้ไขเป็นอย่างอื่น 2. พ.ร.บ.สิทธิบัตร ม.9(1) ระบุว่า "สารสกัดจากพืชรับจดสิทธิบัตรไม่ได้"  การรับจดจึงผิดกฎหมายนี้ด้วย  และ3.เมื่อกรมฯไปรับการยื่นขอจดสิทธิบัตรเอาไว้แล้ว จะมีทางออกอย่างไร  แนะนำให้ใช้อำนาจอธิบดียกเลิกในขั้นตอนขอจดทะเบียนไปก่อน แทนที่จะปล่อยให้ไหลไปตามกระบวนการขั้นตอน ที่สำคัญเรื่องนี้ไม่ต้องคิดมากเลย เพราะผิดตั้งแต่ต้น ก็ต้องเป็นโมฆะตั้งแต่ต้นแล้ว” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว และว่า เรื่องนี้ถ้าไม่ได้ข้อสรุป จริงๆ ทั้งองค์การเภสัชกรรม(อภ.) และ กพย. ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคล ควรยื่นฟ้องศาลเพื่อขอความเป็นธรรมเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะทำการศึกษาหรือสกัดสารกัญชาทางการแพทย์ไม่ได้  เพราะติดสิทธิบัตร

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวอีกว่า ส่วนคำแถลงของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่บอกว่าไม่ส่งผลกระทบใดๆ จริงๆไม่ใช่ เพราะหากพิจารณาตัวกฎหมายพ.ร.บ.สิทธิบัตรฯ จะทราบทันทีว่า มีม.36 ระบุว่าได้รับการคุ้มครองแล้ว แม้จะยังไม่ได้รับเลขสิทธิบัตร ดังนั้น ในระยะเวลา 5 ปีที่เป็นช่วงการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีความใหม่หรือไม่นั้น แต่ช่วงระยะเวลานี้ก็ถือว่าได้รับการคุ้มครองไปแล้ว ซึ่งก็ไม่มีประโยชน์ ถามว่าใครจะมาวิจัยพัฒนาอีก เพราะเสี่ยงว่าจะทำไปเพื่ออะไร เนื่องจากใครจะยืนยันว่า  เมื่อกฎหมายให้ใช้ทางการแพทย์ได้  และมีการพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ใช้ทางการแพทย์ที่มีการควบคุม แต่สุดท้ายติดสิทธิบัตร ที่ลงทุนไปทั้งหมดใครรับผิดชอบ อันนี้ไม่ใช่เสียหายแค่เรื่องงบประมาณ แต่จะเสียหายตรงผู้ป่วยเสียโอกาสการรักษาด้วย 

ด้าน นพ.โสภณ  กล่าวในฐานะประธานบอร์ดอภ. ว่า ขณะนี้ได้มอบให้ทางฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่า ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เพราะจากถ้อยคำแถลงออกก็ยังไม่มั่นใจว่า จะส่งผลกระทบหรือไม่อยู่ดี อย่างตอนนี้บอร์ด อภ.อนุมัติงบไปแล้ว 120 ล้านบาท แม้งบฯจะยังไม่ได้ใช้  แต่ตามขั้นตอนผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม(อภ.) จะต้องไปแจงต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  เรื่องการใช้งบดังกล่าว เพราะมีการเปลี่ยนแปลงใช้งบ เดิมเป็นงบผลิตยาทั่วไป แต่เปลี่ยนมาใช้ในเรื่องโรงงานสกัดสารกัญชาทางการแพทย์ ส่วนเครื่องสกัดสารกัญชาที่จะนำเข้าจากต่างประเทศนั้น ใช้งบฯ 8 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการทำทีโออาร์ ซึ่งหากซื้อเข้ามาแล้วใช้ไม่ได้ ก็คงต้องนำมาใช้สกัดอย่างอื่น ซึ่งทำได้ แต่ไม่ดีเท่าสกัดสารกัญชา 

ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องชะลอการใช้งบประมาณไปก่อนหรือไม่ เพราะยังไม่มั่นใจว่าจะติดสิทธิบัตร นพ.โสภณ กล่าวว่า ก็กังวลอยู่ จึงให้นักกฎหมายช่วยกันระดมความคิดเห็นและสอบถามผู้รู้ เพราะแม้กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะบอกว่าไม่เป็นอะไร และไม่ให้สิทธิบัตรสารธรรมชาติในกัญชา แต่ความเป็นจริงก็มีการรับยื่นคำขอไปแล้ว ตนก็กังวลว่า ถ้าไม่ชัดเจน หรือไม่มีหนังสือใดๆอย่างเป็นทางการจะส่งผลกระทบหรือไม่ หากส่งผลกระทบก็ต้องชะลอเรื่องนี้ แต่ตอนนี้ก็ยังไม่ยืนยัน เพราะไม่มีความชัดเจนเลย อยากให้ผู้รู้ผู้เชี่ยวชาญหรือนักกฎหมายท่านใดออกมาให้ความชัดเจนเรื่องนี้ เพราะการสร้างโรงงานสกัดสารกัญชา ใช้งบ 120 ล้านบาท ทุกอย่างต้องมีความชัดเจน ไม่เช่นนั้นกระทบต่อประเทศชาติแน่ๆ ที่สำคัญ อภ.ก็ต้องแบกรับความเสี่ยง.
------------------


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"