ผ่านร่างพรบ.ยาเสพติด ไฟเขียวปลดล็อกกัญชา


เพิ่มเพื่อน    

     ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ ไฟเขียวกัญชาใช้ทางการแพทย์ ให้ ปปส.มีอำนาจกำหนดพื้นที่ทดลองปลูก โยนอำนาจ สธ.ควบคุม 5 ปี  "ประวิตร" ชี้ยังไม่ปลดล็อกแค่คลายล็อก ทดลองใช้ 5 ปี ระบุกัญชายังเป็นยาเสพติดประเภทที่ 5 พร้อมปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ยา เปิดทางตั้งผู้เชี่ยวชาญเคาะหลักเกณฑ์ขึ้นบัญชี แทน อย. เน้นรวดเร็ว-ทันสมัย 
     เมื่อวันอังคาร นายพุทธิพงษ์ ปุณณกัณต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่.. พ.ศ. ... โดยร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีสาระสำคัญคือ 1.ให้สามารถนำเข้าหรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 ได้ในกรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ทางราชการ โดยได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต 2.เพื่อกรณียกเว้นให้มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 ไว้ในครอบครอง ไม่เกินจำนวนที่จำเป็น สำหรับการใช้รักษาโรคเฉพาะ หรือสำหรับใช้ในการปฐมพยาบาล หรือกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน 3.เพิ่มเติมให้ใช้ยาเสพติดประเภท 5 ได้ หากกระทำเพื่อการรักษาโรค ตามคำสั่งของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบโรคศิลปะ หรือเพื่อการศึกษาวิจัย 4.กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตสามารถจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ได้ เฉพาะสถานที่ที่กำหนดเท่านั้น 
    ขณะเดียวกันยังมีความเพิ่มเติมในส่วนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.)ให้มีอำนาจให้กำหนดเขตพื้นที่ เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็น หรือให้ผลผลิตที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิต และทดสอบยาเสพติดประเภท 5 ได้ตามพื้นที่ที่กำหนด โดยให้ รมว.สาธารณสุข อาจจะประกาศให้ท้องที่ใดเป็นท้องที่ที่เสพพืชกระท่อมได้ โดยไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว 
     นายพุทธิพงษ์กล่าวว่า สาระสำคัญที่กล่าวมาจะเป็นการปลดล็อกเฉพาะในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องคือหมอและคนไข้ เป็นการยกเว้นให้ว่าจะไม่มีความผิด  โดยในที่ประชุมเน้นย้ำว่า เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้นว่าทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อการรักษาและใช้ในการทางการแพทย์เท่านั้น โดยในเรื่องของพื้นที่ปลูกคณะกรรมการ ป.ป.ส. จะเห็นชอบร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้กำหนด ไม่ใช่ใครจะไปปลูกหลังบ้านตัวเองได้ และกระบวนการผลิตก็ต้องระบุว่า ใครจะสามารถนำไปผลิตได้ และนำมาจากที่ไหน โดยมีการควบคุมอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่นำไปปลูก และนำไปใช้ได้อย่างอิสระ 
    อย่างไรก็ตาม เมื่อ ครม.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจากที่สภานิติบัญญัติฯ (สนช.) ส่งมาแล้ว ครม.ได้มีการเพิ่มเติมว่ากระบวนการทั้งหมด หลังจากพ.ร.บ.ฉบับนี้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนด และควบคุมไว้อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 5 ปี เนื่องจาก ครม.มีข้อห่วงใยว่า ช่วงระยะ 5 ปีแรก อาจจะมีการปรับเปลี่ยนดูแลอย่างใกล้ชิด และหลังจาก 5 ปี จะมาทบทวนอีกครั้งว่าควรปรับปรุง อนุญาต หรือปรับลดเพิ่มเติมอะไรได้บ้าง ขณะที่พืชกระท่อมได้ปรับจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 มาอยู่ที่ประเภท 2 ทั้งนี้ เมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วจะส่งร่างดังกล่าวพร้อมแนบความคิดเห็นกลับไปยัง สนช.พิจารณาอีกครั้ง
     ด้าน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องดังกล่าวกำลังคลายล็อก เรื่องนี้ไม่ใช่การปลดล็อก เพราะกัญชายังเป็นยาเสพติดที่อยู่ในประเภทที่ 5 เพียงแต่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาในเรื่องของการรักษาโรค ว่าควรจะจำกัดจำนวนเท่าไหร่ในการใช้ ซึ่งจะใช้เป็นบทเฉพาะกาลในระยะเวลา 5 ปีก่อน ซึ่งจะต้องส่งกลับไปให้ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
    นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า จากข่าวที่กรมทรัพย์สินทางปัญญามีความชัดเจนที่ว่าสารสกัดจากกัญชาตามธรรมชาติเป็นสารสกัดจากพืช เป็นสิ่งที่กฎหมายสิทธิบัตรของไทยไม่ให้ความคุ้มครองอยู่แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่ต่างชาติจะได้รับสิทธิบัตร ตามกฎหมายการยื่นจดสิทธิบัตรสารที่สกัดจากพืชนั้น กฎหมายไทยทำไม่ได้อยู่แล้ว กรมทรัพย์สินฯ ออกมาแจ้งนั้น ก็จะทำคนไทยทั้งประเทศได้รับความชัดเจนขึ้นว่า ถ้าในอนาคตมีการปลดล็อกกัญชาให้ใช้ทางการแพทย์ได้ สารสกัดจากกัญชาจะไม่ตกอยู่ในมือของต่างชาติ จะไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดจะเป็นเจ้าของสิทธิบัตรในสารสกัดจากกัญชา ตามกฎหมายสิทธิบัตร ทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิที่จะวิจัยและนำมาใช้ประโยชน์ได้ 
    "ในอีกด้านเชื่อว่าประชาชนก็จะรอความชัดเจนจากผลการหารือร่วมกันระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับกระทรวงพาณิชย์จะได้ผลสรุปออกมาในทางที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนคนไทย ที่จะได้มีการศึกษาวิจัยเพื่อนำประโยชน์จากสารสกัดของกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์เพื่อการรักษาต่อไป” นพ.วรรณรัตน์กล่าว
    นอกจากนี้ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ แถลงด้วยว่า ครม.เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอแก้ไขปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ยา ให้มีความทันสมัย เหมาะสมกับการนำไปใช้จริงหลังจากที่ยังไม่ได้มีการปรับปรุงมาตั้งแต่ปี 2510 จึงได้มีการเพิ่มเติมข้อกำหนดในการแต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขเพื่อให้ได้มาซึ่งผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ และการจัดขึ้นบัญชียาต่างๆ การเพิ่มผู้เชี่ยวชาญ องค์กรผู้เชี่ยวชาญ หน่วยงานรัฐ และเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ในกระบวนการพิจารณาอนุญาต นอกเหนือจากเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้กระบวนการพิจารณารวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดให้ รมว.สาธารณสุข สามารถประกาศกำหนด แก้ไข และยกเลิกมาตรการสำหรับการผลิต ขาย นำเข้ายา โดยใช้มาตรการจากต่างประเทศ หรือระหว่างประเทศ ให้ อย.ไม่ต้องนำส่งขึ้นบัญชีผู้เชี่ยวชาญ ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ จัดผู้ที่ยื่นคำขอในกระบวนการอนุญาตให้แก่คลัง 
     “ที่ผ่านมา เวลาใครจะขึ้นบัญชียาต่างๆ จะต้องผ่าน อย.หน่วยงานเดียว แต่ พ.ร.บ.ฉบับที่จะปรับปรุงแก้ไขนี้ จะอนุญาตให้ อย.มีสิทธิ์แต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ ฯลฯ มาเป็นหน่วยงานกลั่นกรองบัญชียาใหม่ๆ ทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นในการรับรองบัญชียา จะเป็นจุดสำคัญในการแก้ปัญหา แต่สุดท้ายก็ต้องผ่านความเห็นชอบของ อย.ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านๆ มาอาจจะมีความล่าช้าในเรื่องการรับรองมาตรฐาน ที่มา แหล่งผลิตต่างๆ ครั้งนี้ อย.จะทำงานได้เร็วขึ้น และประชาชนจะได้ใช้ยารวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทันสมัย” นายพุทธิพงษ์กล่าว
     นอกจากนี้ ในท้าย พ.ร.บ.ยังมีการแก้ไขบทกำหนดลงโทษ การแก้ไขอัตราค่าธรรมเนียม เช่น ใบอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน จากเดิม 10,000 บาท จะแก้ไขเป็น 50,000 บาท ซึ่งจะเป็นเพียงการกำหนดอัตราเพดานขึ้นสูงเอาไว้เท่านั้น ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีการไปออกกฎหมายรับรองให้รอบคอบ เพื่อกำหนดจาก 10,000 บาท ว่าควรจะเพิ่มเป็นเท่าไหร่ แต่ไม่เกินเพดานที่ 50,000 บาท ขณะเดียวกันร้านขายยาแผนปัจจุบันต่างๆ ที่เคยมาขอใบอนุญาต จากเดิมมีค่าธรรมเนียม 3,000 บาท ก็จะกำหนดใหม่ที่เพดานไม่เกิน 5,000 บาท และยังมีกำหนดการขึ้นทะเบียนตำหรับยา หรืออายุของยาทุกๆ 5 ปีด้วย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"