เปลี่ยนพฤติกรรมคนไทย สวีเดนโมเดลลดอุบัติเหตุ


เพิ่มเพื่อน    


    อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในประชากรไทย โดยมีอัตราเสียชีวิตเฉลี่ย 32 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่องค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) วิงวอนให้ประเทศสมาชิกหาทางลดการสูญเสียดังกล่าวลงมาครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ.2020 ซึ่งนับว่าเป็นประเด็นท้าทายของเมืองไทยว่าจะทำสำเร็จหรือไม่ ด้วยแนวทางส่งเสริมความปลอดภัยบนท้องถนน และปลูกฝังพฤติกรรมขับขี่ปลอดภัยตั้งแต่วัยเด็กอย่างจริงจัง โดยใช้โมเดลของประเทศสวีเดนเป็นแนวทาง 
    เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ห้องภิรัช 2 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับองค์การอนามัยโลก สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับโลกว่าด้วยการป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ครั้งที่ 13 (Safety 2018-The 13th World Conference on Injury Prevention and Safety Promotion) เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,500 คนจากทั่วโลก

(ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์)

    ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า สสส.มีภารกิจในการสร้างเสริมสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนไทย ในประเด็นความปลอดภัยเป็นงานสำคัญที่ สสส.ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายมาโดยตลอด ทั้งการสนับสนุนเชิงวิชาการ นโยบาย และการสร้างจิตสำนึกให้แก่สาธารณะ โดยสนับสนุนคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) และศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก (CSIP) เพื่อสร้างความปลอดภัยในเด็ก 
    การเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม Safety 2018 ครั้งนี้ สสส.ได้นำบทเรียนการทำงานสื่อสารกับกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็กและเยาวชน รวมทั้งประเด็นที่เกี่ยวข้องมาเผยแพร่ให้นานาชาติศึกษาเรียนรู้ เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทภายในประเทศของตนเอง 
    “สสส.ร่วมกับ สอจร. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สร้างศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบด้านความปลอดภัยทางถนน เพื่อส่งเสริมความรู้เรื่องวินัยจราจรให้กับเด็กและผู้ปกครอง ล่าสุดมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 30 แห่งที่กำลังดำเนินการ โดยอยู่ในความดูแลของ 16 อปท. และเตรียมจะขยายผล อีกทั้งยังร่วมกับ CSIP พัฒนาศูนย์เด็กเล็กปลอดภัย ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อมในศูนย์ให้ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก เช่น สนามเด็กเล่นปลอดภัย และของเล่นปลอดภัย รวมทั้งดำเนินงานป้องกันเด็กจาก IT Media การป้องกันเด็กจมน้ำ และการไม่สนับสนุนให้เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่รถจักรยานยนต์ (15 ไม่ขี่)” ผู้จัดการกองทุน สสส.กล่าว
    ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร รองประธานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์โลก ผ่านเวทีอภิปรายหลัก หัวข้อ “การป้องกันความรุนแรงและการบาดเจ็บ: ความก้าวหน้าระดับโลก ภาวะหยุดชะงัก และโอกาส” ว่า ล่าสุดทั่วโลกมีประชากรเสียชีวิตจากความรุนแรง 1.6 ล้านคน จากอุบัติเหตุรถชน 1.3 ล้านคน ผู้สูงวัยเสียชีวิตจากการลื่นล้มกว่า 600,000 คน และเด็กจมน้ำเสียชีวิตอีกกว่า 300,000 คน 
    ขณะที่ประเทศไทยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) อุบัติเหตุทางถนนทำให้ประชากรเสียชีวิตสูงสุด รองลงมาเป็นการพลัดตก หกล้ม การทำร้ายตัวเอง การถูกทำร้าย การตกน้ำจมน้ำ สัมผัสกับแรงเชิงวัตถุสิ่งของ สัมผัสกระแสไฟฟ้า รังสี สัมผัสความร้อนควันไฟ เปลวไฟ สัมผัสพิษจากสัตว์หรือพืช ตามลำดับ 


    “สถิติของประเทศไทยสวนทางกับสถิติโลก โดยมีปัจจัยหลักมาจากสภาพสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงรายได้ของประชากรที่แตกต่างกัน ซึ่งการประชุม Safety 2018 นี้ เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยและทั่วโลกจะได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานป้องกันการบาดเจ็บและการส่งเสริมความปลอดภัย ทั้งการแก้ปัญหาสังคม ปัญหาสุขภาพ การจัดการด้านความปลอดภัยทางถนน การป้องกันความรุนแรงในเด็กและสตรี การป้องกันการบาดเจ็บในผู้สูงอายุ ความปลอดภัยจากการกีฬา และประเด็นอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) และมากไปกว่านั้นคือการคาดหวังว่าในอนาคตทั่วโลกจะช่วยกันลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงให้เป็นศูนย์ได้” นพ.อนุชากล่าว
    นพ.อีเทียน ครูกก์ ผู้อำนวยการกองการจัดการโรคไม่ติดต่อ ความพิการ การป้องกันความรุนแรงและการบาดเจ็บ องค์การอนามัยโลก กล่าวว่า นับเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทยที่เร่งดำเนินงานแก้ไขปัญหาจากอุบัติเหตุ โดยมีนโยบายที่ชัดเจน เช่น การป้องกันอุบัติเหตุทางถนน การป้องกันความรุนแรงแรงในเด็ก และการป้องกันเด็กจมน้ำ เป็นต้น แต่การขับเคลื่อนยังดำเนินไปค่อนข้างช้า เนื่องจากต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องมีการสื่อสารและเพิ่มฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการให้ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม
    ขณะที่ นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกด้านวิกฤติบำบัดและอุบัติเหตุ และประธานคณะทำงานป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สนับสนุนโดย สสส. กล่าวในเวทีอภิปรายหลักหัวข้อ “ความสำเร็จด้านการป้องกันการบาดเจ็บที่เกิดโดยไม่ตั้งใจ” ว่า อุบัติเหตุทางถนนจัดอยู่ใน 10 ประเภทของอุบัติเหตุที่เกิดโดยไม่ตั้งใจ และเป็นสาเหตุอันดับ 1 ของการเสียชีวิตในประชากรไทย สถิติล่าสุดพบว่ามีอัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 32 คนต่อประชากร 100,000 คน ขณะที่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ภายในปี 2020 กำหนดให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกลดอัตราการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่งของตัวเลขเดิม นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งสำหรับไทย เนื่องจาก 90% ของการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจาก “พฤติกรรมคน” ที่ควบคุมได้ยาก
    “สอจร. ยึดนโยบาย Vision Zero ของประเทศสวีเดนในการปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อของประชาชนและผู้ปฏิบัติงานเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่ระบุว่า อุบัติเหตุทางถนนล้วนป้องกันได้ เพราะไม่ใช่เรื่องบังเอิญหรือเคราะห์กรรม แต่เกิดจากความบกพร่องของระบบโดยรวม ทั้งปัจจัยคน รถ ถนน และสิ่งแวดล้อม เมื่อเกิดเหตุขึ้นผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลระบบแต่ละด้านต้องร่วมกันรับผิดชอบ ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหา โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการกำจัดอุบัติเหตุทางถนนไม่ให้เกิดขึ้นเลย ซึ่งความสำเร็จจากการที่ประเทศสวีเดนมีวิสัยทัศน์นี้ ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงอยู่ที่เฉลี่ย 3 คนต่อประชากร 100,000 คน และรัฐบาลสวีเดนยังได้กำหนดเป้าหมายภายในปี 2050 ต้องไม่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน” นพ.วิทยากล่าว 
    นพ.วิทยากล่าวต่อว่า การสร้างพฤติกรรมการขับขี่อย่างถูกต้องปลอดภัยนั้น Vision Zero เน้นความสำคัญกับการให้ความรู้ตั้งแต่วัยเด็ก ขณะที่วัยผู้ใหญ่ควรได้รับการรณรงค์ชี้ให้เห็นโทษการทำผิดวินัยจราจร ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยอาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่น การติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วทุกจุดเสี่ยง และเก็บสถิติการกระทำความผิด เพื่อป้องกันการทำผิดซ้ำ ซึ่งสวีเดนพิสูจน์แล้วว่ามาตรการเหล่านี้มีผลกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมคนมากที่สุด 
    “นอกจากการประยุกต์ใช้วิสัยทัศน์ของสวีเดนแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องแก้ปัญหาเชิงระบบ ทุกหน่วยงานควรแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขต้นตอปัญหา ซึ่งที่ผ่านมา สสส.มีส่วนสำคัญในการสานพลังเชื่อมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ให้นำสถิติข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บมาแลกเปลี่ยนกัน เพื่อถอดบทเรียนการทำงานและหาทางแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุด พร้อมกันนี้ยังประสานให้ สอจร.และเครือข่ายสื่อภูมิภาค เป็นผู้นำให้ความรู้และสื่อสารกับกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กและเยาวชน กลุ่มแรงงาน และผู้ใช้รถจักรยานยนต์ทั่วไป เพื่อร่วมกันสร้างวินัยการขับขี่ถูกต้อง จนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบชุมชนปลอดภัยในหลายจังหวัดทั่วประเทศ” นพ.วิทยากล่าว.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"