'คืนความสุข'บู่ ปชช.ไม่ปลื้มพุ่ง หวังเร่งแก้'ศก.'


เพิ่มเพื่อน    

    “ลุงตู่-คสช.” คะแนนคืนความสุขร่วง ชาวบ้านสุขลดลงเพียบ บ้านเมืองสงบยังเป็นปัจจัยหากินหลัก ส่วนแก้ปากท้องฉุด อึ้ง 66% ไม่อยากลอยกระทงกับนักการเมือง 84% มอง 24 ก.พ.เหมาะเลือกตั้ง จี้ รัฐบาล-กกต.ออกมาแถลงให้ชัด เผยเลือก ส.ส.วันนี้ดูที่นโยบาย
    เมื่อวันอาทิตย์ มีการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็น (โพล) ทางการเมืองถึง 3 สำนัก โดยศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หรือนิด้าโพล ได้เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,250 ตัวอย่าง ในเรื่อง 4 ปี 6 เดือน คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 47.68% ระบุว่ามีความสุขเท่าเดิม เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง รองลงมา 30.64% ระบุว่ามีความสุขลดลง เพราะเศรษฐกิจปากท้องแย่ลง และ 21.2% ระบุว่ามีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะบ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยมากขึ้น 
    ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับผลการสำรวจ 4 ปี คสช.กับการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่สำรวจเมื่อเดือนพ.ค.2561 พบว่าสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเพิ่มขึ้นมีสัดส่วนลดลงจากเดิม 27.69% เป็น 21.2% ขณะที่สัดส่วนของผู้ที่มีความสุขเท่าเดิมมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จาก 46.85% เป็น 47.68% เช่นเดียวกับสัดส่วนของผู้ที่มีความสุขลดลงมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น จากเดิม 25.46% เป็น 30.64%  
    ด้านความคิดเห็นประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 4 ปี 6 เดือนของ คสช. ในประเด็นต่างๆ ที่ทำให้มีความสุขมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ 50.8% ระบุว่าเป็นเรื่องของบ้านเมืองสงบเรียบร้อย ไม่มีความวุ่นวายทางการเมือง, 24.32% ไม่มีประเด็นใดที่ทำให้มีความสุข, 8% จัดระเบียบสังคม, 4.56% ระบุว่าเป็นการมุ่งแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และ 3.52% เป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน เป็นต้น
    และเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินครบรอบ 4 ปี 6 เดือน ของ คสช. ในประเด็นต่างๆ ที่ยังไม่สามารถทำให้มีความสุข พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 33.44% ระบุว่าเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในภาพรวม, 17.52% ระบุว่าเป็นการแก้ไขปัญหาปากท้องเกษตรกร, 11.12% ระบุว่าไม่มีประเด็นใดที่ไม่มีความสุข, 11.04% ระบุว่าเป็นการที่ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และ 9.92% ระบุว่าเป็นการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพประชาชน เป็นต้น
    ด้าน ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยซูเปอร์โพล ได้เผยผลสำรวจภาคสนามเรื่อง ลอยกระทงกับความอยากเลือกตั้ง จากประชาชน 1,148 คน โดยเมื่อถามถึงนักการเมืองที่อยากลอยกระทงด้วยมากที่สุด พบว่า ส่วนใหญ่ 66.3% ไม่อยากลอยกระทงกับนักการเมืองคนใดเลย ในขณะที่ 33.7% อยากลอยกระทงกับนักการเมือง เช่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส, นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, คุณหญิง   สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และนายชัชวาลย์ คงอุดม เป็นต้น 
    เมื่อถามถึงระดับความสุขเมื่อเห็นนักการเมืองเคลื่อนไหว พบว่า ก้ำกึ่งกัน โดย 50.2% ระบุมีความสุข แต่ 49.8% ไม่มีความสุข โดยส่วนใหญ่ 69.2% ระบุข้อเสนอต่อนักการเมืองทำชาวบ้านมีความสุขสู่การเลือกตั้งด้วยภาพความรัก ความสามัคคี มากกว่าความวุ่นวาย, 57.8% เสนอให้บอกประชาชนว่าจะช่วยแก้เดือดร้อนอย่างไร ชาวบ้านได้อะไร และ 54.4% เสนอให้นักการเมืองมีสติ ระวังตกเป็นเหยื่อเกมรุนแรง 
     ที่น่าพิจารณาอย่างยิ่งคือ ส่วนใหญ่ 84.4% ระบุวันที่ 24 ก.พ. เหมาะสมแล้วที่จะเป็นวันเลือกตั้ง ในขณะที่มีเพียง 9.4% ระบุว่าเร็วเกินไป และ 6.2% ระบุว่าช้าเกินไป และเมื่อถามถึงรายได้หลังเลือกตั้งจะเป็นอย่างไร พบว่า 47.4% คาดว่ารายได้จะดีขึ้น ในขณะที่ 44.9% คาดว่าจะเหมือนเดิม และ 7.7% คาดว่าจะแย่ลง
    ส่วนสวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้เผยผลสำรวจประชาชน 1,117 คน ในหัวข้อประชาชนคิดอย่างไรกับข่าวการเมือง โดยเมื่อถามถึงกระแสข่าวจะมีการเลื่อนเลือกตั้ง พบว่า 51.28% รัฐบาลหรือ กกต.ควรออกมาประกาศย้ำให้ชัดเจนอีกครั้ง, 35.9% หากเลื่อนเลือกตั้ง น่าจะส่งผลด้านลบต่อรัฐบาลและเศรษฐกิจแน่นอน และ 24.36% ควรให้เป็นหน้าที่ของ กกต.พิจารณา    
    เมื่อถามว่า ประชาชนคิดอย่างไรกับกระแสข่าวคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น 56.32% มีคนรุ่นใหม่ลงเล่นการเมืองมากขึ้น เป็นทางเลือกใหม่มีผู้สมัครหลากหลายมากขึ้น, 29.24% เป็นสิ่งที่ดี ทำให้มีการแข่งขัน อาจเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และ 21.72% ต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ประวัติ คุณสมบัติ วิสัยทัศน์ นโยบาย 
    ส่วนเมื่อถามว่า คิดว่าวันนี้เกมการเมืองเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคต่างๆ เป็นอย่างไร พบว่า 50.32% แข่งขันกันลงพื้นที่หาเสียง มีผู้นำพรรค/แกนนำพรรคเป็นผู้นำทีม, 34.46% โจมตีกันไปมา เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน ต้องการเอาชนะ และ 27.24% แต่ละพรรคมีการปรับกลยุทธ์ เตรียมพร้อมเพื่อความได้เปรียบ ส่วนเมื่อถามว่าคิดอย่างไรกับการย้ายพรรคของอดีต ส.ส.ส่วนใหญ่ 48.17% ระบุเป็นสิทธิของผู้สมัคร มีสิทธิ์เลือก เป็นการตัดสินใจเอง, 38.20% ระบุย้ายพรรคเพื่อประโยชน์ เพื่อตำแหน่งทางการเมือง และ 25.56% ระบุต้องการอยู่กับพรรคที่มีอนาคต ก้าวหน้า มั่นคง อุดมการณ์เดียวกัน ทั้งนี้ เมื่อถามถึงสิ่งที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือก ส.ส.วันนี้ พบว่า ส่วนใหญ่ 47.4% มองที่นโยบาย วิสัยทัศน์ แนวทางการทำงานของทั้งผู้สมัครและพรรคการเมืองที่สังกัด, 35.51% ประวัติส่วนตัว ประวัติการทำงาน ผลงานของผู้สมัคร, 29.50% พฤติกรรม นิสัยใจคอ ความซื่อสัตย์ สุจริตของผู้สมัคร และ 20.43% พรรคที่สังกัดและหัวหน้าพรรค.    


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"