ทุ่ม1.3พันล.เลือก50ส.ว. เตือนห้ามเปิดชื่อผู้สมัคร


เพิ่มเพื่อน    

 กกต.ตีปี๊บจัดเลือก ส.ว.ทั่วประเทศ คาด 2 ม.ค.62 ส่ง 200 รายชื่อให้ คสช.คัดเหลือ 50 คน โต้ผลาญงบ 1.3 พันล้าน อ้างเป็นตัวแปรสำคัญเลือกนายกฯ 2 สมัย เตือนสื่อห้ามเปิดชื่อจนกว่าปิดรับสมัครระดับอำเภอ

    ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดแถลงข่าว “กกต.พร้อมจัดการเลือกตั้ง ส.ว.” เพื่อชี้แจงต่อสื่อมวลชนและผู้บริหาร กกต. ให้รับทราบถึงความพร้อมของสำนักงาน กกต. ในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และได้รับทราบเจตนารมณ์ของกฎหมายในการเลือก ส.ว. รวมทั้งรับรู้และเข้าใจข้อพึงระวังในการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในช่วงที่มีการเลือก ส.ว. 
    นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า การจัดเลือก ส.ว.ครั้งนี้เป็นครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ และเป็นครั้งแรกที่ กกต.ชุดนี้จะได้ปฏิบัติภารกิจสำคัญ โดยในวาระเริ่มแรก กำหนดให้ ส.ว.มี 250 คน มาจากการสรรหา และแต่งตั้ง 3 ส่วน ส่วนแรกคือ กกต.จัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และประดับประเทศ จาก 10 กลุ่มอาชีพ จากนั้นคัดให้เหลือ 200 คน เสนอรายชื่อให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกเหลือ 50 คน ขึ้นบัญชีสำรองอีก 50 คน ส่วนที่สองคือคณะกรรมการสรรหาที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. สรรหา ส.ว. 400 รายชื่อ และเสนอให้ คสช. คัดเลือกเหลือ 194 คน และส่วนที่สาม คือ ส.ว. ที่เป็นโดยตำแหน่ง 6 คน 
    "จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่ง ส.ว.ครั้งนี้ เป็นการเปิดกว้างให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้มากยิ่งขึ้น ทั้งการเป็นผู้สมัครเข้าเพื่อให้มีสิทธิเลือก ส.ว. หรือการเป็นผู้ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. โดยสามารถสมัครเองหรือให้องค์กรที่ กกต.รับรองเสนอชื่อเข้าร่วมคัดเลือก โดยจากการรับลงทะเบียนองค์กรทั้งสิ้น 476 องค์กร มีองค์กรที่ผ่านการตรวจคุณสมบัติ 436 องค์กร" นายอิทธิพรระบุ
    ทั้งนี้ กกต.จะเริ่มดำเนินการโดยจะเปิดรับสมัคร ส.ว. ในวันที่ 26-30 พ.ย.นี้ กำหนดวันเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ วันที่ 16 ธ.ค., ระดับจังหวัด วันที่ 22 ธ.ค. และระดับประเทศ วันที่ 27 ธ.ค. ซึ่งคาดว่าเสนอ 200 รายชื่อให้ คสช.พิจารณาคัดเลือกได้ภายในวันที่ 2-5 ม.ค.2562 อย่างไรก็ตาม การเตรียมการเลือก ส.ว.ขณะนี้ถือว่ามีความพร้อมทุกด้าน ทั้งการประสานงานกระทรวงมหาดไทย การจัดอบรมผู้ตรวจการเลือกตั้ง และจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมสำนักงาน กกต.จังหวัด พบว่ายังไม่มีจังหวัดใดมีปัญหา โดยจะมีการตั้งศูนย์อำนวยการประสานงานการเลือก ส.ว. ทั้งสำนักงาน กกต. ส่วนกลาง ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ และมีการตั้งศูนย์ประชาสัมพันธ์การได้มาซึ่ง ส.ว. เพื่อรับรายงานผลการเลือก ส.ว. รวมทั้งรายงานข้อมูลการเลือก ส.ว.ให้สื่อมวลชนได้รับทราบ 
    สำหรับการเลือก ส.ว.ในครั้งนี้ กกต.ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน 1,300 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ได้มาซึ่ง ส.ว. โดยหน่วยงานของ กกต.เองประมาณ 1,176 ล้านบาท และโดยหน่วยงานสนับสนุนอื่นๆ ประมาณ 126 ล้านบาท ทั้งนี้ กกต.จะใช้จ่ายให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งการเตรียมการทั้งหมด กกต.ได้ร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเชื่อและหวังว่าจะทำให้การเลือก ส.ว.ครั้งนี้เป็นไปอย่างสุจริตและเที่ยงธรรม 
    ด้าน พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า การเลือก ส.ว.จำนวน 200 คน เพื่อเสนอให้ คสช.เลือกเหลือ 50 คน และขึ้นบัญชีสำรอง 50 คนครั้งนี้ มีความสำคัญ เนื่องจาก ส.ว.ทั้ง 250 คน จะมีบทบาทร่วมกับ ส.ส.อีก 500 คน ในการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยในส่วนของ ส.ว.มีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี เท่ากับมีสิทธิเลือกนายกฯ ไม่น้อยกว่า 2 สมัย จึงไม่อยากให้มองว่าเลือกได้ ส.ว.แค่ 50 คน แต่ใช้งบประมาณ 1,300 ล้านบาท แล้วจะไม่คุ้มค่า เพราะเสียง ส.ว.หนึ่งเสียงมีความหมายในการเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย 
    อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการตื่นตัวของประชาชนในการเลือก ส.ว.ค่อนข้างน้อย เพราะผู้มีสิทธิเลือกไม่ใช่ประชาชน แตกต่างจากการเลือก ส.ส. จึงอยากให้สื่อมวลชนช่วยเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการเลือก ส.ว.ด้วย
    นายกฤช เอื้อวงศ์ รองเลขาธิการ กกต. ได้เตือนสื่อมวลชนในการเสนอข่าวการรับสมัคร ส.ว.ว่า จะไม่สามารถเปิดเผยชื่อหรือจำนวนผู้สมัครได้ จนกว่าจะปิดการรับสมัครในระดับอำเภอ เนื่องจากกฎหมายไม่ต้องการให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ
    ต่อมา นายอุดม รัฐอมฤต อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บรรยายสรุปหัวข้อ “เจตนารมณ์ของกฎหมายในการเลือก ส.ว.” ตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนบทบาท ส.ว.ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยง เพราะที่ผ่านมาวุฒิสภาของไทยทำหน้าที่ช่วยกรอง หรือช่วยเติมในสิ่งที่ขาดตกบกพร่อง แต่ช่วงที่ผ่านมาแทนที่จะเป็นการแต่งตั้งคนที่มีคุณวุฒิ แต่กลายเป็นการเลือกตั้ง ซึ่งทำให้ผู้ที่ลงสมัครเลือก ส.ว.จะต้องพึ่งพาคนที่เป็นมืออาชีพ คือพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมือง เพื่อให้ตัวเองได้รับเลือก พอเข้าสภาก็กลายเป็นกลุ่มของฝ่ายการเมืองกลุ่มของพรรคการเมืองไปเลย ดังนั้นจึงมองว่าบทบาทของสภาพี่เลี้ยงจึงควรลดบทบาทลงไป แต่ควรทำหน้าที่ช่วยกลั่นกรองมากขึ้น โดยคัดเลือกจากคนที่เป็นตัวแทนแต่ละอาชีพที่มีความหลากหลาย 
    ส่วนเรื่องอำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ในช่วง 5 ปีแรก ส.ว.และ ส.ส.จะต้องร่วมพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว สำหรับการไม่ให้วุฒิสภาทำหน้าที่ถอดถอนนั้น เพราะเป็นบทบาทที่ทำให้วุฒิสภาล่อแหลมต่อการถูกครอบงำทางการเมือง จะทำให้ถูกวิ่งเต้นจากคนที่ถูกถอดถอน และที่ผ่านมามีคนที่ถูกถอดถอนได้เพียงแค่คนเดียวเท่านั้น แต่เรายังยืนยันให้อำนาจ ส.ว.ในการให้ความเห็นชอบกรรมการองค์กรอิสระและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการกลั่นกรองคนเข้าไปดำรงตำแหน่งสำคัญ
      นายอุดมกล่าวว่า บทบาทในการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่มาร่วมเลือกนายกฯ ช่วง 5 ปีแรกนั้น ตนมองว่า ส.ว.หลังจากนี้ในบททั่วไป หาก ส.ว. 200 คนมีส่วนเลือกนายกฯ ด้วยคงจะเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการที่ให้ ส.ว. 250 คนในช่วง 5 ปีแรกมาร่วมเลือกนายกฯ ได้นั้น ไม่ใช่การสืบทอดอำนาจที่จะให้คนในรัฐบาลปัจจุบันไปมีตำแหน่งอะไร แต่เป็นการทำให้ช่วงเปลี่ยนผ่าน ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติ 
    อย่างไรก็ตาม การมองว่า 250 ส.ว.จะไปรวมกับ ส.ส. เพื่อให้ได้เสียง 375 เสียงขึ้นไปก็ได้นายกฯ นั้น แต่จะบริหารได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเสียงของ ส.ส.ส่วนใหญ่ เพราะหลักการเลือกตั้งทั่วไปยังต้องพึ่ง ส.ส. ไม่ใช่ไปพึ่งพิง ส.ว. แต่ 250 เสียง ส.ว. อาจจะต้องทำหน้าที่ประคับประคองบ้านเมืองด้วยซ้ำไป เพราะ 250 ส.ว. ไม่ใช่จะไปรวมกับใครก็ได้ให้ได้ 375 เสียง แล้วเป็นรัฐบาล แต่ต้องรวมกับกลุ่มที่บริหารประเทศได้ ดังนั้นจึงเป็นการประคับประคองกันไปในช่วงเวลา 5 ปีแรก ส่วนเรื่องนายกฯ คนนอกหรือคนใน ขึ้นอยู่กับ ส.ส.ทั้งนั้น ทั้งนี้ การเลือก ส.ว.ครั้งนี้น่าจะเป็นบททดสอบรัฐธรรมนูญ ที่จะทำให้เห็นว่าการเมืองแบบสร้างสมดุลที่เราออกแบบให้มีตัวแทนของประชาชนมาดุลและคานอำนาจกลุ่มการเมืองจะเป็นไปได้หรือไม่ หากไม่ดีสามารถเปลี่ยนไปใช้รูปแบบอื่นได้ 
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังนายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการ กกต. ได้บรรยายสรุปกระบวนการขั้นตอนการเลือก ส.ว.เสร็จสิ้น ได้ตอบข้อซักถามของผู้สื่อข่าวกรณีที่มีค่าใช้จ่ายในการเลือก ส.ว.จำนวนมากถึง 1,300 ล้านบาทว่า ค่าใช้จ่ายในการสรรหา ส.ว.ส่วนใหญ่คือค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ที่ประจำแต่ละหน่วยจำนวน 928 อำเภอทั่วประเทศ ตั้งแต่ช่วงรับสมัครจนถึงเวลาเลือกผู้สมัคร โดยรวมไปถึงการเลือกระดับจังหวัดด้วย 
    มีรายงานว่า การสรรหา ส.ว.ที่กำหนดให้ กกต.จัดการเลือก ส.ว.ให้ได้ 200 คน ให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 15 วัน และส่งรายชื่อให้ คสช. คัดเลือก 50 คน และขึ้นบัญชีสำรอง 50 คนนั้น กกต.มีกำหนดส่งรายชื่อ 200 คน ในวันที่ 2 ม.ค.62 ขณะเดียวกัน คสช.ได้วางปฏิทินในการสรรหา ส.ว. 400 คน เพื่อคัดเลือกให้เหลือ 194 คน และสำรอง 50 คน ไว้ในวันที่ 9 ก.พ.62 และกำหนดที่จะประกาศรายชื่อ ส.ว. 250 คน หลังประกาศผลการเลือกตั้ง ส.ส.ภายใน 3 วัน หรือในวันที่ 27 เม.ย.


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"