ยสท.กับบุหรี่ซองเรียบ


เพิ่มเพื่อน    


    จากรัฐวิสาหกิจชั้นหนึ่ง ที่นำส่งรายได้เข้ารัฐเป็นกอบเป็นกำมาโดยตลอด ล่าสุดผ่านไปเพียง 1 ปี การยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) หรือ โรงงานยาสูบเดิม ก็มีแนวโน้มเปลี่ยนสภาพกลายเป็นรัฐวิสาหกิจเกรดเอ กลายเป็นรัฐวิสาหกิจที่อาจจะต้องขอเข้าสู่กระบวนการขอรับแผนฟื้นฟูจากรัฐบาลเสียแล้ว
    ผลกระทบก็มาจากอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ตั้งแต่ปลายปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่ง ยสท.ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ทำให้เสียส่วนแบ่งการตลาดไปเป็นจำนวนมาก ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ เพียงแค่จุดเริ่มต้นของอัตราภาษีใหม่ คือ เก็บตามปริมาณ 1.20 บาท/มวน และตามมูลค่า 20% สำหรับราคาบุหรี่ที่ไม่เกินซองละ 60 บาท และ 40% สำหรับบุหรี่ที่ราคาเกินซองละ 60 บาท ยังทำให้ผลการดำเนินงานของ ยสท.ย่ำแย่ กำไรลดลง 90% จากเดิมกำไรกว่าปีละ 9,000 ล้านบาท ลดลงเหลือเพียง 900 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2561 จนตอนนี้ไม่มีเงินเหลือพอที่จะนำเงินส่งคืนรัฐ
    อันที่จริงนี่เป็นเพียงปฐมบทของสิ่งที่ ยสท.จะต้องเจอ เพราะยังมีอีกหลายอุปสรรคที่จะต้องเผชิญ และก็เห็นเค้าลางแล้วว่า คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ทั้งในแง่ของอัตราภาษีเอง ที่วันที่ 1 ต.ค.2562 จะเก็บภาษีตามมูลค่า 40% เท่ากันทุกราคา ที่จะทำให้ราคาบุหรี่ ปรับขึ้นเป็นมากกว่า 90 บาท ทุกยี่ห้อ 
    แค่ระดับ 60 บาท ยังเสียส่วนแบ่งการตลาดไปเป็นจำนวนมาก แล้วหากราคาปรับไปเป็น 90 บาท คิดว่าบุหรี่ของ ยสท.จะแข่งขันกับบุหรี่ต่างประเทศได้หรือไม่? อันนี้เป็นคำถามที่มีคำตอบค่อนข้างชัดแล้วว่า สู้ไม่ได้แน่ เพราะเดิมทีกลุ่มลูกค้าของ ยสท.คือกลุ่มระดับกลาง-ล่าง ซึ่งบุหรี่ที่มีราคาเกิน 90 บาท น่าจะไม่ใช่เป้าหมายในการซื้อเพื่อบริโภค และเดาว่าคนกลุ่มนี้ก็อาจจะหันไปซื้อบุหรี่เถื่อนที่ขาย 20 บาท/ซอง หรือยาเส้นที่ราคา 10-20 เพิ่มขึ้นแทน
    ไม่เท่านั้นยังมีวิกฤติเด้งที่สอง ที่น่าจับตาอย่างมาก นั่นก็คือ เรื่องของการผลักดันประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับหีบห่อผลิตภัณฑ์ยาสูบ และผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรต พ.ศ.2561 หรือประกาศซองบุหรี่แบบเรียบ ซึ่งเรื่องนี ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ และบรรดานักลงทุนต่างประเทศก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก  
    เนื่องจากตัวกฎหมายค่อนข้างมีผลกระทบกับผู้ประกอบการบุหรี่เป็นวงกว้าง ไม่ใช่เฉพาะแค่บุหรี่ต่างประเทศเท่านั้น แต่บุหรี่ของ ยสท.ก็ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ เนื่องจากสาระสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขตัวนี้ก็คือ การบังคับให้ซองบุหรี่ห้ามแสดงเครื่องหมายทางการค้า รวมถึงการกำหนดรูปแบบ ขนาด สีของตัวอักษร และสีของซองบุหรี่ และตัวกล่องจะต้องมีภาพคำเตือนตามที่ สธ.ประกาศเท่านั้น ซึ่งก็หมายความว่า ซองบุหรี่จะมีแต่ภาพคำเตือน และชื่อแบรนด์สินค้าที่เป็นฟรอนต์มาตรฐานเท่านั้น ไม่ใช่โลโก้สินค้าเหมือนอย่างในปัจจุบัน
    โดยในมุมของสาธารณสุขบอกว่า การทำซองบุหรี่แบบเรียบนั้นจะช่วยลดการบริโภคบุหรี่ลง แต่มันก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่า มันได้ผลจริงหรือไม่ ซึ่งทาง สธ.เองต้องการให้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในทวีปเอเชียและประเทศที่ 11 ของโลก ที่บังคับใช้กฎหมายนี้
    ประเด็นข้อกฎหมายเรื่องนี้ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมไปยังผู้ประกอบธุรกิจยาสูบเป็นอย่างมาก และจะกระทบไปยังเกษตรกรผู้ปลูกใบยาด้วย รวมถึงยังอาจกระทบต่อการตัดสินใจเข้ามาลงทุนของต่างประเทศด้วย โดยสิ่งที่หลายคนในวงการเป็นห่วง โดยเฉพาะตัว ยสท.เอง ซึ่งมีแบรนด์บุหรี่ที่คนจดจำได้มายาวนาน แต่พอเป็นบุหรี่ซองเรียบแล้ว แบรนด์ที่มีคนรู้จักก็จะหายไป ยิ่งทำให้กระทบต่อยอดขายบุหรี่ของ ยสท.เข้าไปอีก
    แม้จะเข้าใจว่า สธ.ต้องการจะคุมนักบริโภคหน้าใหม่ ไม่ให้เข้ามายุ่งกับของที่ทำลายสุขภาพ แต่ยังมีอีกหลายแนวทางที่จะรณรงค์ให้คนลด ละ เลิก บุหรี่ แต่การเลือกใช้แนวทางนี้ ซึ่งยังไม่มีข้อแน่ชัดว่า การทำซองเรียบแล้ว จำนวน ผู้สูบจะลดลงหรือไม่ ขณะเดียวกันก็เสี่ยงที่จะมีคดีความฟ้องร้องระหว่างรัฐและเอกชน ทั้งไทยและต่างชาติ นำไปสู่การกระทบความเชื่อมั่นในการลงทุน และที่สำคัญที่สุด มันจะกลายเป็นการเปิดช่องให้มิจฉาชีพทำการปลอมแปลงสินค้าได้ง่ายขึ้น และทำให้มีบุหรี่เถื่อน บุหรี่ปลอมทะลักเข้ามาในประเทศไทยอีกมหาศาล ดังนั้นต้องตัดสินใจให้รอบคอบ ก่อนที่จะผลักดัน กม.ออกมา. 

ลลิตเทพ ทรัพย์เมือง


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"