ลุ้นต่อ"นวดไทย-ต้มยำกุ้ง"ขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรม ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ย้ำคนไทยต้องตื่นตัวรักษา"โขน"ให้รุ่นลูกรุ่นหลาน


เพิ่มเพื่อน    


30พ.ย. 61- วธ.เดินหน้าลุ้น'นวดไทย-ต้มยำกุ้ง'มรดกภูมิปัญญาวัฒนธรรมโลก 'วีระ'เผนยินดีช่วยเขมรฟื้นฟูละครโขน เลขาฯ มูลนิธิศิลปาชีพฯ ระบุโลกยกย่องโขนไทยสมบัติล้ำค่า คนในชาติต้องตื่นตัวรักษา    

หลังจากคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐบาล เพื่อการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ครั้งที่ 13 ประกาศรับรองให้“การแสดงโขนในประเทศไทย”  (Khon masked  dance drama in Thailand) เป็น มรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ หรือมรดกโลก ทางภูมิปัญญา  
เมื่อวันที่ 30 พ.ย. ที่หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวแถลงข่าวถึงผลการประกาศผลของยูเนสโกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แสดงความยินดีต่อการขึ้นทะเบียนดังกล่าว และขอให้ประชาชนได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงฟื้นฟูโขน ให้เป็นที่รู้จักของเยาวชนรุ่นใหม่และเผยแพร่สู่สายตาชาวไทยและต่างประเทศผ่านการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ที่ยิ่งใหญ่ ตระการตา พร้อมทั้งได้สั่งการให้ วธ.ดำเนินการสงวนรักษาคุ้มครอง และสืบสานการแสดงโขนให้คงอยู่คู่แผ่นดินไทยต่อไป  โขนเป็นศิลปะประจำชาติที่ได้สร้างสรรค์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยถธยา รวมศาสตร์และศิลป์หลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งกระบี่กระบอง หนังใหญ่ ดนตรีไทย การร่ายรำ และเครื่องแต่งกายอันงดงาม ผสมผสานกันอย่างลงตัว  โดยเฉพาะการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ได้ทำนุบำรุงโขนมาตลอด 11 ปีที่ผ่านมา  

นายวีระ กล่าวต่อว่า การนำเสนอมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในครั้งนี้ ประเทศไทยได้นำเสนอมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ไปจำนวน 2 รายการ ประกอบด้วย  การแสดงโขนในประเทศไทย และนวดไทย เพื่อให้ยูเนสโกได้พิจารณาประกาศรับรองให้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ยูเนสโกได้ให้คณะกรรมการของประเทศไทยเลือกเสนอรายการใดรายการหนึ่ง ทางไทยจึงได้เสนอรายการแสดงโขนในประเทศไทยเป็นอันดับแรกก่อน และให้รายการนวดไทยรอการพิจาณาขึ้นทะเบียนในครั้งถัดไป ถือว่าขณะนี้ประเทศไทยมีรายการเตรียมเสนอขึ้นทะเบียนดังกล่าวแล้ว หลังจากนวดไทยจะนำเสนอรายการสำรับอาหารไทย-ต้มยำกุ้ง ให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ต่อไป

“ การนำเสนอนวดไทยเพื่อเป็นมรดกโลกทางภูมิปัญญาที่จับต้องไม่ได้ในครั้งถัดไป ประเทศไทยจะเสนอภาพรวมของนวดไทย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการนวดไทย การนวดไทยต้นตำรับวัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามหรือวัดโพธิ์ ที่มีตำรามาจากฤาษีดัดตน รวมถึงจารึกวัดโพธิ์ที่รัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 3 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำขึ้นเนื่องจากนวดไทย เป็นเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาและมีการสืบทอดมาถึงปัจจุบัน อีกทั้งนวดไทยเป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่เดินทางมายังประเทศไทย ต่างต้องมาสัมผัสการนวดไทยที่วัดโพธิ์ ที่สำคัญคนไทยได้นำองค์ความรู้นวดไทยไปต่อยอดเปิดกิจการร้านนวดไทยในหลายประเทศทั่วโลก ทาง วธ.จึงเห็นว่า นวดไทยควรจะได้รับการสืบสานให้คนรุ่นต่อไปให้เรียนรู้ และเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อไป ”นายวีระ  กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า  การที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียน"ลครโขลของวัดสวายอันเด็ต" ประเทศกัมพูชา เพื่อสงวนรักษาอย่างเร่งด่วน นั้น ทางประเทศไทยจะมีส่วนร่วมช่วยฟื้นฟูโขนของกัมพูชาได้อย่างไรบ้าง นายวีระ กล่าวว่า  ยินดีจะร่วมผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การแสดงโขน หากจะเป็นประโยชน์ต่อการต่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของเพื่อนบ้าน และหากมีโอกาสจะเชิญคณะละครโขนของกัมพูชามาจัดแสดงที่ประเทศไทยด้วย อย่างไรก็ตาม การแสดงโขนของกัมพูชาและไทยมีแบบแผนเป็นของตัวเอง

ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ เลขานุการมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ  และประธานคณะกรรมการจัดการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจที่โขนได้รับการประกาศขึ้นบัญชีจากยูเนสโกเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ที่สำคัญเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงสนับสนุนให้มีการจัดแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ขึ้นทุกปีเพื่อเผยแพร่มรดกชั้นสูงอันเก่าแก่ของไทย  


รวมถึงจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนซึ่งเป็นการฟื้นฟูช่างปัก ช่างเขียน ช่างทอ ช่างทำหัวโขน รวมถึงมีการสร้างฉาก และเทคนิคการแสดงต่างๆ ให้มีความทันสมัยให้กับผู้ชม จะได้ไม่เบื่อการชมโขน พระองค์ทรงมีพระราชประสงค์ให้คนรุ่นใหม่และเยาวชนเข้ามาเรียนรู้การจัดสร้างและการแสดงโขน นอกจากชมการแสดงโขนฯ 


"อีกเรื่องสำคัญการแสดงทุกปีมีนักเรียน นักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลป์ทั่วประเทศอยากเข้ามาคัดเลือกเป็นนักแสดงตัวเอกในการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ตลอด 11 ปีที่ผ่านมา การจัดแสดงโขนฯ ได้รับการสนับสนุนจากคนไทยเสมอมา ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ มาดูโขนกันทั้งครอบครัว ทั้งยังมีเด็กเล็กสนใจเรียนนาฏศิลป์โขน โขนไทยได้รับการยกย่องในเวทีโลก จะทำให้คนไทยตื่นตัวมากขึ้น และตระหนักว่าโขนเป็นสมบัติล้ำค่าของไทย  ไม่ใช่ของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นสมบัติแผ่นดิน จะช่วยกันดูแลรักษาและสืบต่ออย่างยั่งยืน "ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์กล่าว.

 

 

 

 

 

 


เมื่อวานคุยเล่น  เรื่องลูกพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ "นายใหญ่" ส่งเมีย "คุณหญิงพจมาน" มาเป็น "ขอนไม้ดุ้นใหม่" ของพรรค ให้ลูกกบ-ลูกเขียดในพรรคได้เกาะ  วันนี้ ขอคุยซีเครียดซักนิด

อนาคต 'คนนินทาเมีย'
'โควิดคลาย-โรคอิจฉาคุ'
ไทย"เหนือคาดหมาย"เสมอ
วิสัยทัศน์"อินทรี-อีแร้ง"
"การ์ดเชิญ"๒๑ ตุลา.
เปิดประเทศ"เปิดตรงไหน?"